อย่างที่เรารู้กันหรือเคยได้ยินกันว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” หากสุขภาพจิตไม่ดีย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายอย่างแน่นอน และในทางกลับกันเมื่อสุขภาพกายไม่ดี ก็ย่อมส่งผลต่อความไม่สบายใจจนอาจจะนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพจิตต่อไปได้
เพื่อให้ทุกท่านได้รับความรู้ ความเข้าใจปัญหา เกี่ยวกับโรคที่เกิดกับจิตใจ ที่อาจจะเกิดขึ้นอยู่รอบๆ ตัวคุณ และเมื่อได้รับความรู้แล้ว ย่อมทำให้เกิดการยอมรับมากขึ้น รวมถึงการตระหนักว่าปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นนั้น เมื่อขาดการเยียวยารักษาที่ดี และปล่อยให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า
“โรค” (Disease หรือ Disorder) นั้นย่อมไม่เป็นสิ่งที่ใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างแน่นอน
เคยมีหน่วยงานภาครัฐทำการสำรวจสุขภาพจิตของคนไทยนับหมื่นคน เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา พบว่าเกือบร้อยละ 70 ของคนไทยมีความเครียด และยังมีการสำรวจเพิ่มเติมอีกครั้งพบว่า ประมาณร้อยละ 25 มีปัญหาทางสุขภาพจิตถึงขั้นเจ็บป่วยเป็นโรคทางจิตเวช (Mental Disorder) เช่น วิตกกังวลและโรคซึมเศร้า
โดยสาเหตุของปัญหาหลักๆ ก็เกิดมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ การเงิน การทำงาน ปัญหาสังคมและการเจ็บป่วยทางกาย
นอกจากนี้ บางรายพบว่ามีปัญหาถึงขั้นป่วยเป็นโรคจิต (Psychosis) ตามสถิติของผู้ป่วยนอก ที่มารักษาที่ รพ.จิตเวชของรัฐพบว่า ส่วนใหญ่มีอาการประสาทหลอน เช่น หูแว่ว หวาดระแวง ฯลฯ
ผู้ป่วยเหล่านี้ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว มักใช้วิธีการแก้ปัญหา ด้วยการพึ่งพาตนเองก่อนพึ่งพาผู้อื่น รวมถึงไสยศาสตร์และหมอดู แต่ไปใช้บริการจากภาครัฐและภาคเอกชนน้อยมาก
ดังนั้น สิ่งที่เราคนไทยจะเห็นอยู่บ่อยๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ก็คือ เรื่องการฆ่าตัวตาย ไม่ว่าจะเดี่ยวๆ หรือหมู่ รวมถึงการฆ่าผู้อื่น ซึ่งรวมถึงปัญหาการก่อคดีอาชญากรรมมากมาย ก็บ่งชี้ถึงการมีปัญหาสุขภาพจิตเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องการใช้สารเสพติดที่มีจำนวนไม่น้อย ควบคู่กับการใช้ความรุนแรงในระดับครอบครัว และสังคมก็เป็นตัวที่แสดงให้เห็นว่า
บุคคลเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีปัญหาสุขภาพจิตทั้งสิ้น ถ้าลองคำนวณคร่าวๆ พบว่าคนไทยไม่ต่ำกว่า 3-5 ล้านคน เป็นผู้มีปัญหาสุขภาพจิต และจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม
สุขภาพจิต (Mental Health) คืออะไร
ถ้าจะถามว่าสุขภาพจิตคืออะไร จะมีสักกี่คนที่เข้าใจได้อย่างแท้จริง หรือแค่พอเข้าใจบ้าง บางคนก็บอกว่า หมายถึง สุขภาพจิตที่ดี
หลายคนมีความคิดว่า การมีความสุข หรือคุณภาพชีวิตที่ดีนั้น หมายถึงการมีวัตถุที่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตได้ ยิ่งมีเงินทองมากเท่าไรยิ่งหมายถึงว่ามีความสุขมากเท่านั้น รวมทั้งการที่มีคนรอบข้างคอยให้ความรัก ความเอาใจใส่ในตัวเรามาก ก็แสดงถึงเราคงจะมีความสุขมาก
ทั้งหมดนี้ล้วนแล้ว แต่เป็นความเข้าใจที่ผิดทั้งสิ้น เพราะสิ่งเหล่านี้ คือสิ่งที่เราได้รับมาจากภายนอก ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความไม่ยั่งยืนเกิดที่ขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา และหากเราไม่เคยให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต ที่สามารถเกิดขึ้นจากการจัดการในใจของเราเองโดย ที่ไม่จำเป็นต้องรอปัจจัยภายนอกมาคอยเอื้ออำนวยให้เราจะอยู่บนโลกนี้อย่างมีความสุขได้อย่างไร
ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้ความหมายว่า
สุขภาพจิต หมายถึง ความสมบูรณ์ทางด้านจิตใจ ปราศจากอาการของโรคทางจิตเวช หรือลักษณะที่ผิดปกติอื่นๆ ทางด้านจิตใจ และยังหมายความรวมถึงการที่บุคคล ที่มีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมโดยไม่มีข้อขัดแย้งภายในใจ มีความสุขอยู่กับสังคมและ สิ่งแวดล้อมได้ดี ทำให้สามารถที่จะมีสัมพันธภาพอันดีกับบุคคลอื่น และดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความสมดุลอย่างสุขสบาย
สำหรับข้าพเจ้าเองค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่อง
“การปรับตัว” ว่า เป็นเรื่องบ่งบอกสุขภาพจิตของคนคนนั้นได้เป็นอย่างดี เพราะต้นตอของความทุกข์ มักมาจากการสูญเสียหรือไม่สมหวัง
ดังนั้น หากมีความทุกข์แล้วปรับตัวได้เร็ว ก็น่าจะเป็นตัวบ่งบอกถึงการมีสุขภาพจิตที่ดีได้
สิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ที่จะนำเราไปสู่การมีสุขภาพจิตดีได้ก็คือ
การรู้จักตัวเอง และเมื่อรู้จักตัวเองแล้ว ก็ควรจะเริ่มเรียนรู้ที่จะเข้าใจคนอื่นบ้าง เพื่อทำให้เราไม่ตัดสินว่า
ใครดีไม่ดี ไปก่อนด้วย “ความคิด” หรือ “อคติ” ของเราเอง และความคิดเหล่านั้น ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรามีความทุกข์ได้มาก
ดังนั้น หากเราสามารถที่จะเข้าใจตัวเอง เข้าใจคนอื่น รวมถึงการให้อภัยคนอื่นได้ ความสุขคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอีกมากมาย ที่ทำให้เรามีสุขภาพจิตที่ไม่ดีได้นั่นก็คือ “ความเจ็บป่วยทาง จิตเวช” (Mental Disorder) ซึ่งเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จัก และต้องบำบัดรักษาโดยบุคลากรทางการแพทย์ แต่ทัศนคติของการมาพบบุคลากรทางการแพทย์ยังน้อยอยู่มาก ซึ่งต้องรีบเร่งในการสร้างความรู้ความเข้าใจปัญหาสุขภาพจิตให้มากขึ้น
ปัจจุบันมีการศึกษามากขึ้นว่า อาการของโรคทางด้านจิตเวชนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากความผิดปกติในสมอง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง หรือส่วนประกอบภายในที่เรียกว่า
สารสื่อประสาท (Neurotransmitter) ที่ผิดปกติ อันส่งผลให้เกิดความผิดปกติด้านการแสดงออก หรือพฤติกรรมผิดปกติได้มากมาย จนเป็นโรคหรือปัญหาสุขภาพจิตได้
โรคทางจิตเวชมีมากมายเป็นร้อยๆ โรค ซึ่งถ้าจะนำมาลงเสนอทั้งหมดคงไม่ไหว ซึ่งสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชรา นำมาเสนอเฉพาะที่เจอบ่อยๆ เช่น
1. โรคจิต (Psychotic disorder) เป็นโรคที่เกิดจากแนวความคิดที่ผิดปกติ ซึ่งอาการแสดงออกที่เห็นได้บ่อยๆ คือ หวาดระแวง กลัวคนมาทำร้าย คนคิดไม่ดีหรือปองร้ายกับตนเอง หรือคนที่เกี่ยวข้อง
บางรายมีอาการหูแว่วเป็นเสียงมาด่ามาว่าหรือมาทำร้าย ทำให้ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ถ้าปล่อยไว้ไม่รักษา อาการก็จะยิ่งแย่ลง และมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่นได้ ช่วงอายุที่สามารถเกิดโรคได้ ก็จะเริ่มตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งมักจะเริ่มเป็นที่อายุไม่เกิน 45 ปี
2. โรคอารมณ์แปรปรวน (Mood or affective disorder) ผู้ป่วยกลุ่มนี้ ก็จะมีปัญหาในเรื่องของอารมณ์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ง่าย หรือที่เรียกว่า “แปรปรวน” เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ซึ่งอาการก็จะมีทั้งซึมเศร้า ร่าเริง หรือซึมเศร้าสลับร่าเริง ที่เรียกว่าไบโพลาร์ มีอาการพูดมาก ใช้เงินมากเกินความจำเป็น ความคิดเร็ว บางช่วงเศร้าจนมีความคิดอยากทำร้ายตนเองก็มี ช่วงที่อาการสงบก็อาจจะใกล้เคียง หรือเหมือนคนปกติทั่วๆไป แต่มักจะเกิดซ้ำๆ เป็นช่วงๆ
บางรายก็เป็น ปีละหลายๆ ครั้ง ส่วนช่วงอายุที่เริ่มป่วยก็คล้ายๆ กับกลุ่มที่เป็นโรคจิต
3. โรควิตกกังวล (Anxiety disorder) ผู้ที่เป็นโรคนี้ มักมีอาการวิตกกังวลง่าย ย้ำคิดย้ำทำ กังวลไปล่วงหน้า บางรายก็จะกังวลไปทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของตนเองก็เก็บมากังวล ขาดความมั่นใจในตัวเอง
บางรายพบว่า เวลามาพบแพทย์จะมีอาการต่างๆ มากมาย เช่น ใจสั่น จุกแน่นหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย ท้อแท้ เหมือนตัวเองจะขาดใจ หรือกำลังจะเป็นบ้า มักจะมีสาเหตุมาจากปัญหาด้านพัฒนาการจิตใจ การเลี้ยงดูในวัยเด็ก ก็ส่งผลถึงอาการของโรคในปัจจุบันด้วย และมีการศึกษาพบว่าผู้ที่เป็นโรคเหล่านี้ ก็เกิดจากมีความผิดปกติ ของสารสื่อประสาทบางตัวที่อยู่ในสมองด้วย สำหรับอายุที่เริ่มเป็นก็มักจะเริ่มตั้งแต่วัยผู้ใหญ่ตอนต้นและมักจะติดต่อกันยาวนานหลายสิบปี ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเพียงพอ บางรายเป็นต่อเนื่องไปจนถึงวัยชราก็มี
4. โรคติดสารเสพติด (Substance use disorder) กลุ่มนี้ก็พบมากและมักจะอยู่ร่วมกับโรคอื่นๆ ดังกล่าวมาข้างต้น เนื่องจากผู้ป่วยหลายๆ รายเข้าใจผิดว่าการใช้สารเสพติดเหล่านั้น จะช่วยให้ความทุกข์ใจ ไม่สบายใจหายไป แต่ความจริงแล้วก็เพียงชั่วคราว แต่สิ่งที่ตามมานั้น ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจในทางที่แย่ลงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นร่างกายทรุดโทรม สมองถูกทำลายไปเรื่อยๆ
บางรายก็มีอาการโรคจิตเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ หรือถาวรไปเลยก็มี การรักษาหรือบำบัดผู้ติดสารเสพติด เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก ต้องอาศัยความเข้มแข็งอดทนของผู้ป่วย และกำลังใจจากครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ
5. โรคจิตเวชของเด็ก เช่น สมาธิสั้น ออทิสติก บกพร่องทางสติปัญญา หรือเดิมเรียกว่าปัญญาอ่อน เด็กมีปัญหาเรื่องการเรียน (Learning disorder) บางราย พ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่ทราบว่าเป็นความเจ็บป่วยทางสมอง แต่ไปคิดว่าเป็นปัญหาทางด้านพฤติกรรมของเด็ก ที่นิสัยไม่ดี ไม่รักดี หรือบางครอบครัวก็โทษว่าเป็นเรื่องการเลี้ยงดู โดยโยนความผิดใส่กัน เช่น ตามใจมากจนเกินไป เป็นต้น ความจริงแล้วความผิดปกติเหล่านี้ เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นในสมองเป็นส่วนใหญ่
นอกจากนี้ ยังมีโรคอื่นๆ ที่เกิดจากปัญหาของผู้เลี้ยงดูเป็นสำคัญ ที่ไม่สามารถฝึกให้เด็กๆ เหล่านั้นเป็นเด็กที่มีวินัย หรือฝึกการรู้จักควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้ เมื่อปล่อยทิ้งไว้นานวัน ปัญหาเหล่านี้ก็หมักหมม จนกลายเป็นปัญหาพฤติกรรมในวัยผู้ใหญ่ต่อไป
6. บุคลิกภาพผิดปกติ (Personality Disorder) อันนี้มิใช่โรค แต่เป็นปัญหาสุขภาพจิตชนิดหนึ่ง คำว่าบุคลิกภาพในทางด้านจิตวิทยา มิใช่แค่ภาพลักษณ์อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องแนวคิดในการตัดสินใจ การแก้ปัญหา การควบคุมอารมณ์ การปรับตัวเมื่อต้องเผชิญกับความเครียด เป็นต้น มีลักษณะที่คล้ายกับคำว่า “ความฉลาดทางอารมณ์” หรือที่คุ้นเคยกับคำว่า “อีคิว” นั่นเอง ซึ่งผู้ที่มีบุคลิกภาพผิดปกติ จะมีการแสดงออกทางด้านอารมณ์ พฤติกรรม การแก้ปัญหา การปรับตัวที่ไม่ดี
บางรายถึงขั้นกลายเป็นอาชญากร หรือกระทำความผิดได้ อาการมักจะเด่นชัดหลังจากอายุ 18 ปีขึ้นไป แต่บางรายสามารถเห็นปัญหาเหล่านี้มาตั้งแต่วัยรุ่นแล้วก็มี ยิ่งปล่อยทิ้งไว้นานๆ ยิ่งแก้ไขได้ยากขึ้นเรื่อยๆ
7. โรคความเสื่อมของสมอง ส่วนใหญ่มักเกิดหลังอายุ 60-65 ปีขึ้นไป อาการที่ดูเหมือนว่าจะเป็นโรคทางจิตเวช เพราะมีการแสดงออกทางด้านพฤติกรรมที่ผิดปกติ และความจำที่ผิดปกติที่พบบ่อยๆ คือ โรคสมองเสื่อม (Dementia) ที่หลายๆ คนรู้จักโรคหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มนี้ก็คือ อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) นั่นเอง ในความเป็นจริงแล้ว โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของสมอง ซึ่งจะเรียกได้ว่าเป็นโรคทางกายมากกว่า เพียงแต่ว่าผู้ป่วยมักจะมีอาการแสดงออกมาทางด้านพฤติกรรมและความคิด
บางรายมีอาการซึมเศร้า สับสนวุ่นวาย หวาดระแวง รักษาไม่หาย แต่ชะลอความเสื่อมได้บ้าง