เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์วัดเกตการาม

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ วัดเกตการาม

สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบศึกษาเรื่องศิลปวัฒนธรรม นอกจากแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งที่รู้จักกันเป็นอย่างดีแล้ว ยังมีพิพิธภัณฑ์อีกแห่งหนึ่งที่อยากเชิญชวนให้ไปเที่ยวชม คือ พิพิธภัณฑ์วัดเกตการาม ถนนเจริญราษฎร์ อำเภอเมืองเชียงใหม่

วัดเกตการาม เป็นวัดเก่าแก่ของเมืองเชียงใหม่ สร้างในปีพ.ศ.1971 สมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน ย่านวัดเกต อยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ถือเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญของเชียงใหม่มาตั้งแต่อดีต ปัจจุบันย่านวัดเกตเป็นทั้งย่านที่อยู่อาศัย และย่านท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่รู้จักวัดแห่งนี้ว่า เป็นวัดที่มีพระเกศแก้วจุฬามณี เจดีย์องค์จำลอง ซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีเกิดสำหรับคนเกิดปีจอ

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ โฮงตุ๊เจ้าหลวง

พิพิธภัณฑ์วัดเกตการาม ก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของญาติโยมที่มีจิตศรัทธา เมื่อปีพ.ศ.2542 มีคณะกรรมการวัดเกตการามเป็นผู้ดูแลอาคารของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เคยเป็นกุฏิพระครูชัยศีลวิมล (พ.ศ.2429 ถึง พ.ศ.2500) เรียกกันว่า “โฮงตุ๊เจ้าหลวง”

ก่อนจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ คณะกรรมการวัดได้ไปดูการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์วัดร้องเม็งมาก่อน และเห็นว่าชุมชนวัดเกตการามมีวัตถุทางวัฒนธรรมที่สามารถจัดแสดงได้เช่นกัน จึงจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นเพื่อเก็บรักษาวัตถุที่มิได้ใช้ในชีวิตประจำวันในปัจจุบันแล้ว ข้าวของที่จัดแสดงส่วนใหญ่เป็นของที่ได้รับบริจาคเพิ่มเติมมาในระหว่างที่มีการก่อตั้ง ผู้บริจาคคนสำคัญคือ คุณจรินทร์ เบน และคุณอนันต์ ฤทธิเดช (เจ้าของเฮือนรัตนา หางดง) มีรูปภาพเมืองเชียงใหม่ในอดีต ถ่ายโดยคุณบุญเสริม สาตราภัย (ภาพที่จัดแสดงเป็นสำเนาภาพ พร้อมคำอธิบายที่มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยคุณสุรพงษ์ ภักดี) มีนักวิชาการ และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏ เชียงใหม่ เข้ามาช่วยในการทำป้ายอธิบาย

เมื่อเดินเข้าสู่อาคารพิพิธภัณฑ์ ห้องจัดแสดงส่วนแรก เป็นโถงกว้างจัดแสดงหิ้งพระ และพระพุทธรูปศิลปะแบบพม่า เครื่องใช้ในครัวเรือน และเครื่องดนตรีล้านนา

จากโถงจัดแสดงด้านนอก เมื่อเดินเข้าไปจะแบ่งห้องจัดแสดงไว้ 3 ห้อง ห้องแรก มีสิ่งของจำนวนมากและหลากหลาย เช่น ผ้า หนังสือเก่า เครื่องแก้ว ถ้วยโถโอชาม พัดลมเพดาน เครื่องปั๊มน้ำ สิ่งของร่วมสมัยอื่นๆ ซึ่งมีอายุไม่เก่ามากนักแต่มิได้ใช้งานแล้ว

ห้องที่สอง จัดแสดงภาพเก่า พระพุทธรูป พระพิมพ์ ตาลปัตร พัดยศของพม่า หนังสือวรรณกรรมเกี่ยวกับล้านนา เทวรูปมีทั้งที่ทำด้วยไม้ หิน และปูน ตุ๊กตาจีน เครื่องชั่งตวงในสมัยก่อน เทป แผ่นเสียงเก่า

ห้องที่สาม เน้นการแสดงสิ่งของที่ทำจากผ้า ได้แก่ ธงต่างๆ ธงมังกร ผ้ากำปี (ผ้าคัมภีร์) เครื่องแต่งกาย มีทั้งที่จัดแสดงไว้ในตู้และขึงบนผนัง

ได้ไปเที่ยวมาแล้ว ขอบอกว่าคุ้มค่าจริงๆ ถ้ามีเวลาก็จะไปอีกอย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น