‘อิวาเตะ’ ชั่วยาม

ปิดหูปิดตาหนีให้พ้นไปจากเมืองไทยไปที่จังหวัด"อิวาเตะ"เมืองที่มีพื้นที่ใหญ่และมีประชากรเบาบางที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของญี่ปุ่นรองจาก "ฮอกไกโด" ที่อยู่ทางตะวันออกสุดของเกาะ "ฮอนชู"

บางพื้นที่ของที่นี่ได้รับผลกระทบจากสึนามิเช่นเดียวกับที่อื่นในช่วงเดือน มี.ค.ปีที่ผ่านมา ส่งผลทำให้การท่องเที่ยวของที่นี่ รวมทั้งญี่ปุ่นทั้งประเทศเสียหายไป เพราะคนมาเที่ยวน้อยลงกว่า 50% ความเสียหายจากสึนามิที่ร้ายแรง ส่งผลให้อุตสาหกรรมอื่นๆ เสียหายไปมากกว่าน้ำท่วมบ้านเราหลายร้อยเท่านัก

ช่วงที่ผ่านมาญี่ปุ่นทำการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกชนิดในโลก ด้วยการเดินสายไปบอกกล่าวผู้คนในประเทศต่างๆ ให้มาเที่ยวญี่ปุ่น เพราะเขาถือว่าการได้เงินอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องลงทุนมาก ก็มีแต่การท่องเที่ยวเท่านั้นที่ทำได้ง่ายที่สุด วันนี้ถึงขั้นจะให้วีซ่าให้คนที่มาเที่ยวญี่ปุ่นอยู่ได้นานขึ้น หลายครั้งขึ้น แทนการเข้มงวดดังแต่ก่อน



"อิวาเตะ"ยามนี้เป็นรอยต่อระหว่างฤดูใบไม้ผลิกับฤดูร้อน ไม่ใช่ฤดูหนาวที่หฤโหด ซึ่งอยู่ในเดือน ธ.ค.-ก.พ. ใบไม้ที่เขียวสดใสจึงปรากฏให้เราเห็นทั่วไปในท่ามกลางแดดจ้า แม้จะมีเมฆหมอกเป็นม่านบังฟ้าอยู่บ้าง แต่ไม่นานก็หายไป เพราะการเป็นเกาะกลางทะเลทำให้ลมพัดไปไวมาไว ฤดูนี้จะเห็นเด็กและคนชราออกมากลางแดดเพราะไม่หนาว แถมมีอากาศสดใสด้วย ส่วนคนหนุ่มสาวก็ใส่เสื้อผ้าที่บางเบาตามท้องถนน

อิวาเตะ เป็นเมืองเกษตร เราจึงเห็นเกษตรกรแต่งกายสีเทาดำสบายๆ ไปทำงานในไร่อยู่เป็นระยะๆ ส่วนในนาเต็มไปด้วยกล้าเขียวเป็นทิวแถว

โรงแรมแรกที่เราเข้าไปเช็กอินก็คือโรงแรม APPI ที่หลายคนเอามาหัวเราะกันว่าชื่อโรงแรมอัปรีย์ ซึ่งไม่เป็นมงคลนักในภาษาไทย แต่เป็นโรงแรมสกีรีสอร์ตที่ใช้ได้แห่งหนึ่งของญี่ปุ่นทีเดียว โรงแรมนี้มีฟาร์มเลี้ยงวัวของตัวเอง ดังนั้นไอศกรีมของที่นี่จึงอร่อยม้ากมาก

โรงแรมที่ 2 คือ เดอะพาร์ก (เรียวกัง) เป็นโรงแรมออนเซ็นที่เอาน้ำทะเลมาเคี่ยวให้คนอาบ ข้างล่างของโรงแรมสวยมาก เป็นหน้าผา เป็นจุดชมวิวที่สวยงาม

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Hanamaki Onsen

โรงแรมที่ 3 คือ โรงแรมฮานามากิออนเซ็น ซึ่งมีน้ำพุร้อนให้แช่กันหลายจุด โรงแรมนี้นอกจากมีสวนกุหลาบและดอกไม้หลากหลายสายพันธุ์ให้ดูแล้ว พนักงานสาวที่ชื่อ "ข้าวเหนียว" ยังพูดภาษาไทยได้เก่ง แถมอัธยาศัยดีอีกด้วย เธอมาอยู่ที่เชียงใหม่ได้ระยะหนึ่งก่อนกลับไปบ้านเดิมของเธอ โรงแรมพาเราไปร้องคาราโอเกะแบบญี่ปุ่นในโรงแรม พร้อมกับผู้จัดการหลายๆ แห่งที่มาต้อนรับเราด้วย

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Chuson-ji

วัดซูออนจิ หรือวัดสีทองแห่งเมืองฮิราอิซูมิของจังหวัดอิวาเตะ เป็นวัดที่สร้างขึ้นเมื่อ 900 ปีที่ผ่านมา เมืองนี้เป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่นในสมัยที่เกียวโตเป็นเมืองหลวง ผมเคยมาวัดนี้ตอนไปดูเขาปั้นหิมะที่ซัปโปโรกับป้าอ้อยแห่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ติดหนี้รูปภาพเขามาจนทุกวันนี้

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ วังโกะโซบะ

วังโกะโซบะ คือบะหมี่พื้นเมืองที่เราไปกินกันก่อนกลับ เป็นอาหารท้องถิ่นของเมืองโมริโอกะแห่งจังหวัดอิวาเตะที่"ไม่เหมือนใคร"และ"ไม่มีใครเหมือน"ด้วยการเสิร์ฟของพนักงานสาวที่เทโซบะขนาดพอคำลงมาให้คุณทันทีที่คุณดูด (หรือกลืนโดยไม่ต้องเคี้ยว) เข้าปาก คุณจะกินสักร้อยชามพันชามก็ได้ถ้าคุณมีความสามารถและไม่กลัวที่จะตายไปแบบ"ชูชก"คนเก่งที่สุดกินได้ 570 ชาม

ก่อนลงมือกินจะมีพนักงานมาบอกกฎกติกามารยาทให้ทราบ โดยเฉพาะที่ว่าถ้าปิดฝาชามเมื่อไหร่ หมายถึงจะยุติการเสิร์ฟทันที

การเสิร์ฟทีละคำแบบนี้ นับแล้ว 15ชาม เท่ากับชามปกติ 1 ชาม ซึ่งพนักงานจะแนะนำว่าให้กินแต่โซบะ เอาน้ำที่เหลือทิ้งไปในถังที่เขาเตรียมเอาไว้ ส่วนใหญ่ผู้ชายกินได้เฉลี่ย 50-60 ชาม ผู้หญิงกินได้ประมาณ 30-35 ชาม

กติกามีอยู่ว่าคุณเผลอไปปิดชามเมื่อไหร่ก็จะหมดโอกาสกินเมื่อนั้น ร้านที่เราไปกินชื่อร้าน Azumaya อยู่กลางเมือง คนไปกินเยอะมาก โดยเฉพาะหนุ่มสาวที่ชอบความท้าทาย

ที่เมืองโมริโอกะและเมืองฮานามากิ จะมีการจัดการแข่งขันกินวังโกะโซบะกันทุกๆ ปี คนที่กินได้สูงสุด 570 ชาม ส่วนจะคิดเป็นกี่ชามปกติเท่าไหร่ก็เอา 15 หารเอาเอง คณะเรากินได้สูงสุดแค่ 32 ชาม ซึ่งก็ได้รับรางวัลจากเจ้าของร้าน เป็นโซบะแห้งติดไม้ติดมือกลับมา แต่ปรากฏว่าถูกพรรคพวกแซวว่าหลังจากนี้จะไม่นัดไปเจอที่ร้านอาหารเด็ดขาด เพราะกลัวการกินจุของเธอ คนที่กินน้อยสุด 12 ชาม เขาคิดค่าหัวคนละ 3,150 เยน กินแค่ 12 ชาม เมื่อคิดเป็นเงินไทยก็แพงมาก ( 100 เยน ประมาณ 40-41 บาท) ทริปนี้ชิบ (ที่ไม่หาย) กินวังโกะโซบะแพงที่สุด ตกคำละเท่าไหร่คิดเอาเอง

พนักงานที่ยืนค้ำหัวเราะอยู่ ถ้ามองในแง่ดีถือว่าเอาใจใส่ลูกค้า (เพราะเป็นหญิงสาวหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสและเชิญชวนชิมมาก) แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่งก็เป็นการกดดันลูกค้า ให้สูดเส้นบะหมี่เข้าปากเร็วๆ บะหมี่อร่อย มีปลาดิบและไก่สับพร้อมผักแกล้มให้ด้วย แต่กินหมดแล้วหมดเลย ไม่มีเสิร์ฟให้อีก กินเสร็จเขาจะนับชาม จากนั้นจะเขียนลงในใบประกาศนียบัตรให้แต่ละคนไปเป็นที่ระลึก ก๋วยเตี๋ยวเรือไทยก็เคยทำแบบนี้ แต่ไม่เป็นทางการ พวกเราขอถ่ายรูปหนุ่มสาวชาวอาทิตย์อุทัยเขมือบโซบะแบบชามเปล่าวางบนโต๊ะเพียบ ซึ่งแต่ละโต๊ะไม่เบาเลยทีเดียว นับแบบยังกินไม่เสร็จ สองคนตกเกือบ 200 ชาม แถมยังถามกลุ่มคนไทยด้วยว่ากินคนละกี่ชาม พอพวกเราบอกหนุ่มญี่ปุ่นถึงกับส่ายหน้า เพราะอย่างมากก็แค่ 30 กว่าชาม จิ๊บจ๊อยสิ้นดี เขายังตั้งคำถามด้วยว่าทำไมพวกยูกินแพงจัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น