สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) ก่อตั้งธรรมยุต

สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) ก่อตั้งธรรมยุต บรรลุพระนิพพาน

สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) เกิดเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2349 ซึ่งเป็นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ถิ่นฐานเดิมของท่านอยู่แถวๆ วัดเทวราชกุญชรในปัจจุบัน

ไม่มีหลักฐานว่า ท่านบรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่เมื่อไหร่ ทราบแต่ว่า ท่านบรรพชาที่วัดสังเวชวิศยาราม ย่านบางลำพู เมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งต่อมาขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างวัดราชโอรสขึ้นก็โปรดให้ท่านไปอยู่ที่วัดราชโอรส

ในปี 2369 หรือรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 3 นั่นเอง ท่านได้อุปสมบทที่วัดเทวราชกุญชรแล้วไปอยู่ในสำนักวัดราชาธิวาส โดยไปศึกษาที่วัดเบญจมบพิตรบ้าง วัดชนะสงครามบ้าง

สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) รูปนี้ มีความสำคัญนัก เพราะท่านเป็น 1 ใน 10 รูป ที่ร่วมกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเป็นพระวชิรญาณเถระก่อตั้งวงศ์พระธรรมยุตขึ้นในประเทศไทย ครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระผนวช และประทับอยู่ที่วัดสมอราย หรือวัดราชาธิวาส นั้น ทรงศึกษาและปฏิบัติแล้วพบว่า "หลักการปฏิบัติสับสน ขาดหลักอ้างอิงที่แน่นอน เป็นแต่เพียงรับฟังคำบอกเล่าของโบราณาจารย์ ปฏิบัติไปก็ยิ่งห่างไกลจากความรู้" หลังตั้งพระทัยว่าจะศึกษาให้แตกฉาน ก็ทรงสอบระเบียบแบบแผนและคัมภีร์ต่างๆ แล้วพบว่า "ศาสนวงศ์อันตรธานมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งโน้นแล้ว" จึงทรงตั้งสัจจกิริยาธิษฐานในอุโบสถวัดมหาธาตุฯ ว่า "ข้าพเจ้าออกบวชด้วยความเชื่อ ความเลื่อมใส มิได้เพ่งต่ออามิส สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นต้น ถ้าวงศ์บรรพชาอุปสมบทมีเนื่องมาแต่สุคตทศพลยังมีอยู่ ณ ประเทศใด ทิศใด ขอให้ประสบหรือได้ยินข่าวให้ได้ภายในสามวันหรือเจ็ดวัน ถ้าไม่เป็นดังนั้น ข้าพเจ้าก็จักเข้าใจว่า ศาสนวงศ์นั้นสิ้นแล้ว" ไม่กี่วันหลังจากนั้น พระองค์ก็ได้พบพระเถระชาวรามัญผู้รู้ข้อวัตรปฏิบัติแตกฉานในพระไตรปิฎก

หลังจากนั้นทรงได้อุปสมบทใหม่ เพราะสงสัยว่า การอุปสมบทในคราวก่อนนั้นจะมีความผิดพลาดไม่สมบูรณ์อยู่ หรือที่เรียกว่า ทัฬหีกรรม อุปสมบทที่สีมาน้ำวัดสมอราย มีพระรามัญ 20 รูป ทุกรูปมีกาลพรรษาล่วง 20 พรรษา มาเป็นพระอุปัชฌาย์และพระคู่สวด โดยให้สลับพระอุปัชฌาย์และพระคู่สวดทุกหนึ่งจบรวม 6 ครั้ง

เมื่อทรงผนวชเสร็จแล้ว ก็ทรงให้ศิษย์หลวง 9 รูปร่วมอุปสมบทใหม่ในพิธีนั้นด้วย หนึ่งในนั้นคือ สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ)

นั่นเป็นการอุปสมบทครั้งที่ 4 ของท่าน ซึ่งไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เพราะตามประวัติ สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) อุปสมบทถึง 7 ครั้ง หลังบวชครั้งที่ 4 และเรียนพระปริยัติในสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ต่อมาท่าน "ไม่สู้ชอบใจพระกรรมวาจาจารย์ของท่าน" ท่านจึงเข้าอุปสมบทใหม่ซ้ำอีก เพื่อให้แน่ใจว่า การอุปสมบทของท่านบริสุทธิ์จริงๆ

ครั้นต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบว่า การอุปสมบทแบบรามัญนั้นไม่มีการสวดบุพพกิจ ท่านจึงอุปสมบทใหม่อีกเป็นครั้งที่ 6 ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อท่านไปนมัสการพระปฐมเจดีย์แล้วได้ปฏิญาณตนเป็นอุปสัมบันภิกษุต่อพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอุทิศบรรพชา และเป็นการบรรพชาครั้งที่ 7 ของท่าน ศิษย์รุ่นหลังได้วิเคราะห์ไว้ว่า การที่ท่านได้อุปสมบทถึง 7 ครั้งนั้นชี้ให้เห็นว่า "ท่านมุ่งความบริสุทธิ์ในชีวิตพรหมจรรย์มากเพียงไร" นอกจากเรื่องนี้แล้ว เรื่องราวความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยของท่านนั้นปรากฏตกทอดมาอีกเรื่องหนึ่งคือ ปกติท่านจะจำวัดผู้เดียวในกุฏิใหญ่คณะ 5 แต่มีคืนหนึ่งอสุรกายปรากฏขึ้นในรูปหญิงสาว นับแต่นั้นมาท่านจึงให้พระเณรมานอนเป็นเพื่อน เพราะเกรงว่าจะมีผู้พบแล้วเข้าใจผิด นอกจากศึกษาปริยัติแล้ว สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) ยังมุ่งปฏิบัติโดยเฉพาะอสุภกรรมฐาน แม้แต่ภาพถ่ายของท่านที่ตกมาถึงคนรุ่นหลังก็ยังเป็นรูปที่ท่านกำลังนั่งพิจารณากองกระดูกอยู่

ตามประวัตินั้นบ่งชัดว่า สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) เป็นผู้มั่นคงในพระรัตนตรัยมาก ท่านจะสวดมนต์ไหว้พระวันละ 3 ครั้ง กล่าวคือ หลังฉันเช้าแล้วจะไหว้พระสวดมนต์ที่กุฏิเพียงลำพัง พอ 4 โมงเช้าจะไหว้พระในพระอุโบสถพร้อมพระภิกษุสามเณร พลบค่ำก็จุดเทียนไหว้พระพร้อมกับลูกวัด ครั้งหนึ่งซึ่งพิเคราะห์กันแล้วเชื่อว่าจะเป็นสมัยรัชกาลที่ 5 มีพระราชพิธีจัดสวดมนต์ในวังหลวง สังฆการีได้มานิมนต์ท่านเข้าไปร่วมสวดมนต์ด้วย โดยนิมนต์ท่านให้เข้าวังในเวลา 4 โมงเย็น ท่านก็ตอบว่า "4 ทุ่มข้าจะไป" เพราะที่วัดโสมนัสฯ สวดมนต์เย็นไหว้พระเสร็จกันตอน 3 ทุ่ม พอพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก พระภิกษุทั้งหลายก็เข้าประจำที่ ขาดแต่สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เลยทรงถามสังฆการี ว่า ไปนิมนต์ท่านอย่างไร ท่านถึงยังไม่มา สังฆการีก็กราบทูลตามความดังกล่าว จึงมีรับสั่งว่า "ท่านไม่อยากเข้าวังแล้ว ทีหลังอย่าไปนิมนต์ท่าน" พอสังฆการีไปกราบเรียนให้สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) ทราบ สมเด็จฯ ท่านจึงว่า "เออ ข้างๆ วัดของข้านี้ก็อิ่มแล้ว"

สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) เป็นที่ได้รับการยกย่องอย่างยิ่งจากพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 3 รัชกาล คือ รัชกาลที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 คราวรัชกาลที่ 5 ทรงผนวชนั้น ท่านได้รับนิมนต์ให้เข้าไปประจำที่พระพุทธรัตนสถาน ซึ่งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อถวายพระธรรมปริยายแด่พระองค์จนกระทั่งลาผนวช และในรัชกาลนั้นเองที่ทรงสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระวันรัต โดยปรากฏในประกาศทรงแต่งตั้งตอนหนึ่งว่า "มีพรรษายุกาลเจริญมาก ประกอบด้วยรัตตัญญูมหาเถระธรรมยั่งยืนมานานปละมีปฏิภาณปรีชาตรีปิฎกกลาโกศลฉลาดในธรรมโมบาย ขวนขวายในการสั่งสอนนิกรบรรษัททั้งคฤหัสถ์บรรพชิต เป็นพาหุลกิจนิตยสมาทานมิได้ย่อหย่อน เป็นที่มหานิกรนับถือ เป็นปูชนียฐานบุญเขตที่ควรเคารพบูชา และมีสุตาคมและศีลาธิคุณมั่น..." กล่าวกันว่า สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) นั้น เป็นที่นับถือของหมู่พระสงฆ์ธรรมยุตมากเป็นพิเศษ ภาษาสมัยใหม่ก็คงเรียกว่า นับถือท่านเป็นไอดอลของพระธรรมยุต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น