สมเด็จพระเทพฯ พระราชทานภาพฝีพระหัตถ์ "ปีกุนหมูอยู่ยั่งยืน" ส.ค.ส. ปีใหม่


สมเด็จพระเทพรัตนฯ พระราชทาน ส.ค.ส. ปีใหม่ พ.ศ. 2562 กับภาพฝีพระหัตถ์ "ปีกุนหมูอยู่ยั่งยืน" พร้อมกับพระราชทานพรปีใหม่ให้แก่ปวงชนชาวไทย 
วันนี้ (25 ธ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า เนื่องในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2562 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานบัตรอวยพรปีใหม่ ซึ่งเป็นภาพฝีพระหัตถ์ “ปีกุนหมูอยู่ยั่งยืน” ในการนี้ยังพระราชทานพรปีใหม่แก่พสกนิกรชาวไทย 
โดยบัตรอวยพรปีใหม่ดังกล่าว ประกอบด้วยภาพฝีพระหัตถ์ เป็นภาพหมูตัวอ้วนกลมสีชมพู หน้าตาสดใส ดวงตาเป็นประกาย สวมหมวกสีฟ้าที่มีข้อความ “ภูฟ้า” ซึ่งหมายถึง “ร้านภูฟ้า” ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของโครงการพัฒนาต่างๆ หนึ่งในโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร มีฐานะยากจน ให้มีอาชีพเสริมเพิ่มรายได้
พร้อมด้วยข้อความพระราชดำรัสพระราชทานพรปีใหม่แก่ปวงชนชาวไทย ความว่า “สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๒ สวัสดีปีกุนหมูอยู่ยั่งยืน เรื่องหมูหมูอย่าคิดว่าเป็นหมู พิเคราะห์ดูไม่มีอะไรง่าย รายละเอียดซับซ้อนและมากมาย ปัญญาฉายส่องให้ทำได้ดี ปีกุนหรือปีหมูดูให้แน่ ว่าของแท้งามเลิศเกิดศักดิ์ศรี กุศลกรรมเป็นทุนหนุนชีวี ให้สุขีปีหมูอยู่ยั่งยืน” และทรงลงพระนามาภิไธย “สิรินธร”

ポイ捨て禁止 อย่าทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง (นะจ้ะ)


วันหยุดปีใหม่นี้ เตรียมตัวออกเที่ยวตามที่ต่างๆ แล้ว ขอเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียง อยากชวนให้ไปเที่ยวแบบมีจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม ฝากทุกคนช่วยกันดูแลสถานที่ท่องเที่ยว รักษาความสะอาดกันด้วยน๊าาา เพราะแค่การละเลยของเรานิดเดียว ก็สามารถสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเพื่อนร่วมโลกเราได้มากมายเลยค่ะ 🐳🐾🐘🦌

ポイ捨て禁止

poi sute kinshi

อย่าทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง (นะจ้ะ)


=====


ポイ poi เสียงทิ้งของ เป็น 擬音語 kiongo หรือคำเลียนเสียงในภาษาญี่ปุ่น (ซึ่งในที่นี้เป็นเสียงทิ้งของแบบเรี่ยราด หรือเสียงของหล่นนั่นเองค่ะ)

捨てる suteru ทิ้ง

禁止 kinshi ห้าม

อวยพรคริสต์มาสทั้งทีต้องอ่านว่าอย่างไรหว่า???


ด้วยความคุ้นเคยที่พูดต่อๆ กันมานาน เชื่อว่าคนไทยหลายคน จะต้องอ่าน Merry Christmas ว่า "เมอร์รี่คริสต์มาส" เก๊าเองก็เคยอ่านแบบนี้มานาน แต่รู้หรือไม่คะ ว่าแท้จริงแล้วคำคำนี้ อ่านว่า "แมรี่" เช่นเดียวกันกับคำว่า strawberry ก็อ่านว่า สตรอว์แบรี่เช่นกัน 

หลังจากนี้ จะอวยพรวันคริสต์มาสให้ใคร ให้พูดชัดๆ ดังๆ ไปเลย ว่า แมรี่คริสต์มาส Merry Christmas แฮ๊ปปี้ๆ นะคะทุกคน

พระพุทธมหาจักรพรรดิ วัดนางนอง

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ พระพุทธมหาจักรพรรดิ วัดนางนอง

พระประธานในพระอุโบสถ คือ พระพุทธรูปสำริดปิดทอง เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัยพระนาม “พระพุทธมหาจักรพรรดิ” พระพักตร์พุทธศิลป์อย่างสมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง 2 เมตร 25 เซนติเมตร เครื่องทรงที่ประดับทุกชิ้นแยกออกจากองค์พระ สวมทับลงไว้ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีปั้นลายปิดทองประดับกระจก เป็นงานประติกมากรรมชิ้นเยี่ยมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีความงามวิจิตรอลังการปลูกความเลื่อมใสศรัทธาแก่ผู้เข้ามาสักการะ 

มีประวัติสำคัญคือ ได้มีการนำมงกุฎของพระพุทธรูปที่วัดนางนอง ไปประดิษฐานยังยอดของตรีศูลพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ภายหลังจึงมีการสร้างถวายคืนให้ในรัชกาลของพระองค์

นางสนองพระโอษฐ์


นางสนองพระโอษฐ์ (lady-in-waiting) หมายถึง สตรีผู้ช่วยส่วนพระองค์ในราชสำนัก ซึ่งถวายการรับใช้แด่สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี เจ้าฟ้าหญิง หรือสตรีสูงศักดิ์ 

นางสนองพระโอษฐ์ มักจะมีพื้นหลังมากจากครอบครัวที่มีฐานะทางสังคมสูง แต่มีฐานันดรต่ำกว่าสตรีที่ตนรับใช้ ซึ่งแม้ว่านางสนองพระโอษฐ์คนใด จะรับค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม มักจะไม่ถูกพิจารณาว่าเป็นคนรับใช้หรือข้าราชบริพาร

นางสนองพระโอษฐ์ ยังหมายถึง กลุ่มของสตรีผู้มีฐานะครอบครัว บรรดาศักดิ์ และตำแหน่งหน้าที่ทางการที่หลากหลาย ซึ่งความแตกต่างกันในฐานะ บรรดาศักดิ์ และตำแหน่งหน้าที่เหล่านี้ มักจะมีเกียรติศักดิ์สูง 

พระบรมวงศานุวงศ์หญิง หรือสตรีผู้สูงศักดิ์ อาจทรงสามารถเลือกนางสนองพระโอษฐ์ได้ด้วยพระองค์เองหรือไม่ก็ได้ แต่แม้ว่าจะทรงมีสิทธิในการเลือกนางสนองพระโอษฐ์ได้อย่างเสรี หากตามประวัติศาสตร์แล้ว การตัดสินใจดังกล่าว มักจะได้รับอิทธิพลจากองค์พระมหากษัตริย์ พระราชบิดา-พระราชมารดา พระราชสวามี หรือเหล่าเสนาบดีของพระมหากษัตริย์

สำหรับในราชสำนักไทยนั้น นางสนองพระโอษฐ์เป็นตำแหน่งของสุภาพสตรีสูงศักดิ์ ที่เกี่ยวข้องกับราชสำนัก จากความหมายของพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ระบุว่า คุณพนักงานหญิงที่แต่งงานแล้ว มีหน้าที่รับพระราชเสาวนีย์ ไปปฏิบัติหรือเชิญพระราชเสาวนีย์ไปติดต่อข้อราชการตามพระราชประสงค์ของพระราชินี

ผู้ที่เป็นนางสนองพระโอษฐ์ท่านแรกในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ก็คือ ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร* และ ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ (สนิทวงศ์) บุนนาค** ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวานที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2494 หลังจากนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนางสนองพระโอษฐ์เพิ่มเติมอีก 24 ท่าน

โดยท่านผู้หญิงอรนุช อิศรางกูร ณ อยุธยา*** คือนางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ที่เป็นคนสุดท้ายในรัชกาลที่ 9 คือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2545 เพราะหลังจากนั้น ก็ไม่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งนางสนองพระโอษฐ์อีกเลยตลอดรัชสมัย

จวบจนกระทั่งวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ รัชกาลที่ 10 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ท่านผู้หญิงรวิจิตร์ สุวรรณบุบผา**** เป็นนางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ซึ่งนับเป็นนางสนองพระโอษฐ์ท่านแรกในรัชกาลที่ 10 และเมื่อวานนี้ (23 ธันวาคม 2559) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ หม่อมหลวงอรจิตรา (ทวีวงศ์) สนิทวงศ์ ณ อยุธยา***** ผู้อำนวยการสถาบันสิริกิติ์ เป็นนางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 จึงเป็นนางสนองพระโอษฐ์ท่านที่ 2 ที่ได้รับการแต่งตั้งในรัชกาลที่ 10


หมายเหตุ
* เป็นธิดาเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) สมรสพระราชทานกับพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (ก๊าด วัชโรทัย) มีบุตรชายชื่อ ''แก้วขวัญ วัชโรทัย'' กับ ''ขวัญแก้ว วัชโรทัย''

**เป็นน้องสาวร่วมบิดามารดาเพียงท่านเดียวของหม่อมหลวงบัว กิติยากร พระชนนีในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ....ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ฯ สมรสกับนายสุรเทิน บุนนาค

***เป็นภรรยาของ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เลขาธิการพระราชวังและผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

**** นามราชสกุลเดิม ''วรวรรณ''

*****นามราชสกุลเดิม ''ทวีวงศ์'' เป็นภรรยาของ พล.ต.อ.อิสระพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (บุตรชายของ หม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ สมาชิกวงลายคราม และวง อ.ส. วันศุกร์ วงดนตรีแจ๊สส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช )


ปล.
นางจีรนันทน์ ลัดพลี หรือ ''จีรนันท์ เศวตนันทร์'' อดีตนางสาวไทย พ.ศ. 2508 และอดีตรองนางงามจักรวาล พ.ศ.2509 ในการประกวดที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนางสนองพระโอษฐ์ฯ ในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2523 เป็นนางสนองพระโอษฐ์ฯ เพียงท่านเดียวที่ไม่ได้มีคำนำหน้านามเป็น ''คุณหญิง'' หรือ ''ท่านผู้หญิง''....ปัจจุบัน ''จีรนันท์ เศวตนันทร์'' ได้กราบบังคมทูลลาออกจากการเป็นนางสนองพระโอษฐ์แล้ว

อยากเป็นพ่อที่ดี

ทำไมม้าลายถึงมีลาย?

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ม้าลาย

นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่
1. ลายของม้าลายมีไว้พรางตัว
ถ้าเราใส่ชุดที่มีลายเหมือนม้าลายไปเดินห้างหรือตลาด เราคงจะเด่นมาก แต่สำหรับสัตว์ผู้ล่าของมันอย่างสิงโตที่ตาบอดสีแล้ว ลายของม้าลายช่วยให้มันดูกลมกลืนไปกับต้นหญ้ารอบๆ ที่ใบเรียงเป็นเส้นๆ ตั้งตรงคล้ายกับลายม้าลาย

ยิ่งไปกว่านั้น ม้าลายมักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ลวดลายบนตัวจะช่วยให้พวกมันดูกลมกลืนกันไปหมดจนผู้ล่ามองแล้วแยกไม่ออกว่าตัวไหนเป็นตัวไหน ยิ่งเมื่อพวกมันเคลื่อนไหว สัตว์ผู้ล่าก็ยิ่งมึน ซึ่งการแยกม้าลายแต่ละตัวไม่ออกนั้นยากต่อการวางแผนเคลื่อนไหวและไล่ล่า หรือแม้แต่การพยายามมองหาม้าลายที่ดูอ่อนแอ


2. ลายของม้าลายมีไว้กันแมลง
Tim Caro นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ทำการทดลองกับพื้นผิวที่มีลายอย่างม้าลายด้วยความกว้างของลายที่แตกต่างกันจนพบว่าแมลงที่มาดูดเลือดสัตว์มักจะไม่ชอบพื้นผิวที่เป็นแถบสีสลับกัน แต่พวกมันจะชอบเกาะตามพื้นผิวสีเข้มหรือสีอ่อนเพียงอย่างเดียวมากกว่า

แมลงดูดเลือดหลายชนิดมีโรคที่ทำให้ถึงตายแถมมาด้วย ลวดลายที่ช่วยลดโอกาสในการถูกดูดเลือดย่อมช่วยให้ม้าลายมีโอกาสรอดเพิ่มขึ้นอย่างมาก

คำถามที่ยังค้างคาอยู่คือ แล้วทำไมแมลงจึงไม่ชอบพื้นผิวลายบาร์โค้ดของม้าลาย
งานวิจัยบางชิ้นอธิบายว่า สีขาวและสีดำส่งผลต่อสภาพการโพลาไรซ์ของแสงซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการมองเห็นของแมลง ส่งผลให้แมลงไม่ชอบร่อนลงมาเกาะนั่นเอง


3. ลายของม้าลายมีไว้เพื่อปรับอุณหภูมิร่างกาย
นักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งเชื่อว่าบริเวณลายสีดำจะมีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณสีขาวเล็กน้อย ส่งผลให้เกิดกระแสอากาศไหลเล็กๆ ทำให้ร่างกายของม้าลายเย็นลง

นักวิทยาศาสตร์ทำการเก็บข้อมูลอุณหภูมิร่างกายของม้าลายในธรรมชาติด้วย thermometer gun จึงไม่ต้องไปสัมผัสกับร่างกายของม้าลายโดยตรง จนพบว่าร่างกายของมันมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยแล้วต่ำกว่าสัตว์กินพืชที่มีขนาดใกล้เคียงกันในบริเวณนั้น (แต่ลายตรงอวัยวะอย่างขาที่ไม่ได้โดนแสงแดดโดยตรงอาจไม่ได้ช่วยในการปรับอุณหภูมิร่างกาย แต่อาจมีหน้าที่หรือประโยชน์อย่างอื่น)



แล้วทฤษฎีไหนถูกต้อง?
ปัจจุบันโลกของวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้ฟันธงลงไปอย่างชัดเจน คำตอบที่ถูกต้องอาจมีมากกว่าหนึ่ง และที่น่าสนใจคือ ทุกทฤษฎีที่กล่าวมานี้ล้วนมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ปฏิเสธคัดง้าง

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่า ถ้าลายของม้าลายมีประโยชน์จริงๆ อย่างที่ทฤษฎีต่างๆ ว่ามา (หรืออาจจะด้วยเหตุผลอื่น) แล้วทำไมม้าทุกตัวถึงไม่มีลายอย่างม้าลาย? คำตอบอาจเป็นเพราะม้าลายนั้นดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายและแตกต่างไปจากม้าพันธ์ุอื่นๆ



เกร็ดแถมท้าย
แม้ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์จะยังไม่มีความชัดเจนว่าลายของม้าลายเกิดขึ้นมาเพื่ออะไร แต่สิ่งที่มนุษย์เรารู้แน่ๆ คือ ม้าลายนั้นไม่เหมาะต่อการนำมาขี่

การพยายามฝึกม้าลายให้เชื่องนั้นยากมาก มันเป็นสัตว์ที่อารมณ์แปรปรวน ถิ่นกำเนิดและที่อยู่อาศัยของมันคือแอฟริกาซึ่งศัตรูโดยธรรมชาติคือสิงโต เสือชีตาร์ และพวกหมาไน ม้าลายจึงมีสัญชาติญาณสัตว์ป่าที่พยายามเอาตัวรอดสูง ส่งผลให้มันมีความระแวดระวัง จนถึงโต้ตอบด้วยการถีบหรือกัดอย่างรุนแรงหากใครพยายามจะไปจับมันเข้า


เราจึงไม่เห็นใครขี่ม้าลายกันเป็นเรื่องปกติเหมือนการขี่ม้านั่นเอง

ชวนย้อนอดีต ที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี”

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี

“พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี” เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2534 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งมีการจัดแสดงนิทรรศการถาวรที่เน้นเรื่องราวของท้องถิ่น ทั้งทางด้านธรณีวิทยา โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรมพื้นบ้าน ชาติพันธุ์วิทยา และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดราชบุรี ประกอบไปด้วยอาคารสำคัญ 2 หลัง ได้แก่ 

“อาคารทำเนียบสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์” (ช่วง บุนนาค) ปัจจุบันเป็นอาคารส่วนบริการโดยชั้นล่างเป็นพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการหมุน เวียนและกิจกรรมพิเศษต่างๆ ส่วนชั้นบนใช้เป็นสำนักงานและคลังจัดเก็บศิลปะโบราณวัตถุเพื่อการศึกษาของพิพิธภัณฑ์

ส่วนอาคารอีกหลังก็คือ “อาคารนิทรรศการถาวร” (ศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังเดิม) ภายในจัดแสดงเรื่องราวของท้องถิ่นตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 5 หัวข้อ จำนวนทั้งหมด 12 ห้อง เริ่มที่หัวข้อแรกคือ “สภาพภูมิศาสตร์และธรรมชาติวิทยา” จัดแสดงอยู่ในห้องที่ 1 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับด้านภูมิประเทศของจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียง (กาญจนบุรีและเพชรบุรี)

หัวข้อต่อมาคือ “ประวัติศาสตร์และโบราณคดีของราชบุรี” จัดแสดงอยู่ตั้งแต่ห้องที่ 2 - 6 เรียงลำดับตามยุคสมัยดังต่อไปนี้ ห้องที่ 2“สมัยก่อนประวัติศาสตร์” จัดแสดงหลักฐานที่สำคัญทางโบราณคดีของมนุษย์ในยุคที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยบริเวณจังหวัดราชบุรี ต่อมาที่ห้องที่ 3 “วัฒนธรรมทวารวดี” จัดแสดงเรื่องราวและหลักฐานต่างๆ ของวัฒนธรรมทวารวดีที่พบในจังหวัดราชบุรีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 - 16 โดยเฉพาะเรื่องราวของเมืองโบราณคูบัว และเทือกเขางู

ห้องที่ 4 “อิทธิพลวัฒนธรรมเขมร” จัดแสดงเรื่องราวและหลักฐานของวัฒนธรรมเขมร หรือ “ลพบุรี” ที่ปรากฏในจังหวัดราชบุรี ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 - 18 โดยมีโบราณวัตถุที่สำคัญภายในห้องจัดแสดงนี้ ได้แก่ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี พบที่บริเวณจอมปราสาท เมืองโบราณโกสินารายณ์ เป็น 1 ในจำนวน 5 องค์ ที่พบในดินแดนประเทศไทย

ห้องที่ 5 และห้องที่ 6 “สมัยสุโขทัย - อยุธยา - กรุงธนบุรี” จัดแสดงเรื่องราวของจังหวัดราชบุรีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 - 24 จากหลักฐานชื่อเมืองราชบุรีที่ปรากฏในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย ราชบุรีเป็นเมืองท่า เมืองหน้าด่านและเส้นทางการเดินทัพในสมัยอยุธยา โดยจัดแสดงหลักฐานด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม เครื่องถ้วยจีนและเครื่องปั้นดินเผา

ห้องที่ 7 “สมัยรัตนโกสินทร์” จัดแสดงเรื่องราวของจังหวัดราชบุรีในช่วง พุทธศักราช 2325 - 2475 แสดงถึงความสำคัญของเมืองราชบุรี ในด้านการเมืองการปกครองการพัฒนาท้องถิ่น ต่อเนื่องจากสมัยกรุงธนบุรีจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 7)


หัวข้อที่สามคือ “กลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดราชบุรี” จัดแสดงในห้องที่ 8 จัดแสดงเรื่องราวของกลุ่มชนชาติพันธุ์ของจังหวัดราชบุรี ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์เป็นลักษณะเด่นของจังหวัด ได้แก่ ชาวไทยพื้นถิ่นภาคกลาง ชาวไทยจีน ชาวไทยยวน ชาวไทยมอญ ชาวไทยกะเหรี่ยง ชาวไทยลาวโซ่ง ชาวไทยลาวเวียง และชาวไทยเขมรลาวเดิม

หัวข้อที่สี่คือ “ห้องมรดกดีเด่นของจังหวัดราชบุรี” จัดแสดงตั้งแต่ห้องที่ 9-11 เริ่มที่ห้องที่ 9 “มรดกทางวัฒนธรรม” เช่น หนังใหญ่วัดขนอน, พระเครื่อง, โอ่งมังกร, อาหารพื้นบ้านอย่าง นมสดหนองโพ หัวผักกาดหวานเค็ม และหัตถกรรมพื้นบ้าน จำพวกเครื่องจักรสาน การทอผ้า เป็นต้น

ห้องที่ 10 “ห้องมรดกทางธรรมชาติ” มรดกทางธรรมชาติของจังหวัดราชบุรีมีทั้งสถานที่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ได้แก่ ธารน้ำร้อนบ่อคลึง, โป่งยุบ, ค้างคาวร้อยล้านที่เขาช่องพราน, ถ้ำจอมพล ฯลฯ และสถานที่ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ทางธรรมชาติ เช่น อุทยานหินเขางู เป็นต้น


ห้องที่ 11 “บุคคลสำคัญ” ได้แก่ บุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงและทำคุณประโยชน์ให้แก่จังหวัดในด้านต่าง ๆ เช่น ปูชนียบุคคลที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญทางด้านทหาร การเมืองและการปกครอง รวมทั้งบุคคลสำคัญทางด้านวัฒนธรรมและศิลปินเพลงพื้นบ้านต่าง ๆ
หัวข้อสุดท้ายจัดแสดงอยู่ในห้องที่ 12 คือ “ราชบุรีในปัจจุบัน” ซึ่งจัดเป็นเรื่องราวของ “ราชบุรี ราชสดุดี” จัดแสดงเรื่องพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่มีต่อจังหวัดราชบุรีในด้านต่างๆ


“พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองฝั่งตะวันตก ใกล้กับหอนาฬิกา (สนามหญ้า) ถ.วรเดช ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี เปิดให้บริการวันพุธ-วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชมชาวไทย 20 บาท (เด็กเข้าชมฟรี) ชาวต่างชาติ 100 บาท (นักเรียนนักศึกษาในเครื่องแบบ เข้าชมฟรี) สอบถามเพิ่มเติมโทร. 0-3232-1513