ชวนย้อนอดีต ที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี”

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี

“พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี” เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2534 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งมีการจัดแสดงนิทรรศการถาวรที่เน้นเรื่องราวของท้องถิ่น ทั้งทางด้านธรณีวิทยา โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรมพื้นบ้าน ชาติพันธุ์วิทยา และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดราชบุรี ประกอบไปด้วยอาคารสำคัญ 2 หลัง ได้แก่ 

“อาคารทำเนียบสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์” (ช่วง บุนนาค) ปัจจุบันเป็นอาคารส่วนบริการโดยชั้นล่างเป็นพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการหมุน เวียนและกิจกรรมพิเศษต่างๆ ส่วนชั้นบนใช้เป็นสำนักงานและคลังจัดเก็บศิลปะโบราณวัตถุเพื่อการศึกษาของพิพิธภัณฑ์

ส่วนอาคารอีกหลังก็คือ “อาคารนิทรรศการถาวร” (ศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังเดิม) ภายในจัดแสดงเรื่องราวของท้องถิ่นตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 5 หัวข้อ จำนวนทั้งหมด 12 ห้อง เริ่มที่หัวข้อแรกคือ “สภาพภูมิศาสตร์และธรรมชาติวิทยา” จัดแสดงอยู่ในห้องที่ 1 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับด้านภูมิประเทศของจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียง (กาญจนบุรีและเพชรบุรี)

หัวข้อต่อมาคือ “ประวัติศาสตร์และโบราณคดีของราชบุรี” จัดแสดงอยู่ตั้งแต่ห้องที่ 2 - 6 เรียงลำดับตามยุคสมัยดังต่อไปนี้ ห้องที่ 2“สมัยก่อนประวัติศาสตร์” จัดแสดงหลักฐานที่สำคัญทางโบราณคดีของมนุษย์ในยุคที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยบริเวณจังหวัดราชบุรี ต่อมาที่ห้องที่ 3 “วัฒนธรรมทวารวดี” จัดแสดงเรื่องราวและหลักฐานต่างๆ ของวัฒนธรรมทวารวดีที่พบในจังหวัดราชบุรีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 - 16 โดยเฉพาะเรื่องราวของเมืองโบราณคูบัว และเทือกเขางู

ห้องที่ 4 “อิทธิพลวัฒนธรรมเขมร” จัดแสดงเรื่องราวและหลักฐานของวัฒนธรรมเขมร หรือ “ลพบุรี” ที่ปรากฏในจังหวัดราชบุรี ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 - 18 โดยมีโบราณวัตถุที่สำคัญภายในห้องจัดแสดงนี้ ได้แก่ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี พบที่บริเวณจอมปราสาท เมืองโบราณโกสินารายณ์ เป็น 1 ในจำนวน 5 องค์ ที่พบในดินแดนประเทศไทย

ห้องที่ 5 และห้องที่ 6 “สมัยสุโขทัย - อยุธยา - กรุงธนบุรี” จัดแสดงเรื่องราวของจังหวัดราชบุรีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 - 24 จากหลักฐานชื่อเมืองราชบุรีที่ปรากฏในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย ราชบุรีเป็นเมืองท่า เมืองหน้าด่านและเส้นทางการเดินทัพในสมัยอยุธยา โดยจัดแสดงหลักฐานด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม เครื่องถ้วยจีนและเครื่องปั้นดินเผา

ห้องที่ 7 “สมัยรัตนโกสินทร์” จัดแสดงเรื่องราวของจังหวัดราชบุรีในช่วง พุทธศักราช 2325 - 2475 แสดงถึงความสำคัญของเมืองราชบุรี ในด้านการเมืองการปกครองการพัฒนาท้องถิ่น ต่อเนื่องจากสมัยกรุงธนบุรีจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 7)


หัวข้อที่สามคือ “กลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดราชบุรี” จัดแสดงในห้องที่ 8 จัดแสดงเรื่องราวของกลุ่มชนชาติพันธุ์ของจังหวัดราชบุรี ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์เป็นลักษณะเด่นของจังหวัด ได้แก่ ชาวไทยพื้นถิ่นภาคกลาง ชาวไทยจีน ชาวไทยยวน ชาวไทยมอญ ชาวไทยกะเหรี่ยง ชาวไทยลาวโซ่ง ชาวไทยลาวเวียง และชาวไทยเขมรลาวเดิม

หัวข้อที่สี่คือ “ห้องมรดกดีเด่นของจังหวัดราชบุรี” จัดแสดงตั้งแต่ห้องที่ 9-11 เริ่มที่ห้องที่ 9 “มรดกทางวัฒนธรรม” เช่น หนังใหญ่วัดขนอน, พระเครื่อง, โอ่งมังกร, อาหารพื้นบ้านอย่าง นมสดหนองโพ หัวผักกาดหวานเค็ม และหัตถกรรมพื้นบ้าน จำพวกเครื่องจักรสาน การทอผ้า เป็นต้น

ห้องที่ 10 “ห้องมรดกทางธรรมชาติ” มรดกทางธรรมชาติของจังหวัดราชบุรีมีทั้งสถานที่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ได้แก่ ธารน้ำร้อนบ่อคลึง, โป่งยุบ, ค้างคาวร้อยล้านที่เขาช่องพราน, ถ้ำจอมพล ฯลฯ และสถานที่ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ทางธรรมชาติ เช่น อุทยานหินเขางู เป็นต้น


ห้องที่ 11 “บุคคลสำคัญ” ได้แก่ บุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงและทำคุณประโยชน์ให้แก่จังหวัดในด้านต่าง ๆ เช่น ปูชนียบุคคลที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญทางด้านทหาร การเมืองและการปกครอง รวมทั้งบุคคลสำคัญทางด้านวัฒนธรรมและศิลปินเพลงพื้นบ้านต่าง ๆ
หัวข้อสุดท้ายจัดแสดงอยู่ในห้องที่ 12 คือ “ราชบุรีในปัจจุบัน” ซึ่งจัดเป็นเรื่องราวของ “ราชบุรี ราชสดุดี” จัดแสดงเรื่องพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่มีต่อจังหวัดราชบุรีในด้านต่างๆ


“พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองฝั่งตะวันตก ใกล้กับหอนาฬิกา (สนามหญ้า) ถ.วรเดช ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี เปิดให้บริการวันพุธ-วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชมชาวไทย 20 บาท (เด็กเข้าชมฟรี) ชาวต่างชาติ 100 บาท (นักเรียนนักศึกษาในเครื่องแบบ เข้าชมฟรี) สอบถามเพิ่มเติมโทร. 0-3232-1513


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น