หมู่บ้านของคนระลึกชาติ

บทความโดย... อ.ตุ้ย วรธรรม

ไม่น่าเชื่อว่าที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งใน อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์ จะมีคนที่ระลึกถึงชาติเก่าของตัวเองได้ปริมาณ 50 คน (ตามข่าวว่าอย่างนั้น) ซึ่งก็ต้องบอกว่าเป็นจำนวนที่มาก บางคนจำอดีตชาติของตัวเองได้อยู่ว่าชาติก่อนเกิดเป็นใคร ชื่ออะไร อยู่ที่ไหน สามารถจำและบอกเรื่องราวในอดีตชาติของตนเองได้เกือบทั้งหมด รู้กระทั่งว่าตนเองตายด้วยสาเหตุอะไร เป็นต้น 

บางคนก็มีพยานรู้เห็นสามารถที่จะยืนยันในเรื่องราวต่างๆ ได้ บางคนมีวัตถุและหรือสถานที่ ซึ่งเป็นหลักฐานพิสูจน์ในสิ่งที่พูดถึงว่ามีอยู่จริง เช่น ศาลเจ้าที่ วัด ต้นไม้หมู่บ้าน เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ระลึกชาติเก่าของตัวเองได้ ไม่แน่ว่าจะจำอดีตชาติของตัวเองได้ตลอดอายุ บางคนเรื่องราวในอดีตชาติรางเลือนไปบ้างแล้ว จำได้บ้างไม่ได้บ้าง และก็จำไม่ได้เลยก็มี บางคนจำอดีตชาติของตัวเองได้ในขณะที่ยังเป็นเด็ก แต่พอเติบโตขึ้นมาเป็นหนุ่มสาวจำไม่ได้ก็มี ซึ่งจะเป็นด้วยเหตุใดนั้นไม่ทราบได้ 

เกี่ยวกับชาติ (การเกิด) นั้น พึงทราบว่า คนเราเกิดแล้วตายครั้งหนึ่งนั้นนับเป็นชาติหนึ่ง สมมติเกิดเมื่อปี 2513 แล้วตายในปี 2540 เช่นนี้ถือเป็นชาติหนึ่ง ต่อมาเกิดใหม่ในปี 2545 ก็ถือเป็นชาติที่ 2 เป็นต้น 

ทั้งนี้ การที่คนเราเกิดมามีความสามารถในการนึกทวนคืนไปในหนหลัง เพื่อสืบสาวเรื่องราวของตนที่เป็นมาแล้วในอดีตชาติ สามารถที่จะรู้ว่า ตัวเองเคยเกิดเป็นอะไรมาบ้างอย่างละเอียด ในสาระสำคัญของชีวิต เช่น มีกำเนิดเป็นอะไร มีชื่อและนามสกุลอย่างไร มีผิวพรรณอย่างไร มีอาหารอย่างไร เสวยทุกข์สุขอย่างไร อยู่ ณ ที่ไหน มีความกำหนดอายุเท่าไร ตายจากอัตภาพนั้นไปเกิดเป็นอะไร ดังนี้เป็นต้น 

อย่างนี้เรียกว่า มีความสามารถในการระลึกอดีตชาติของตัวเองได้ ซึ่งความสามารถในการนึกทวนอดีตชาตินี้ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปตามกำลังสมควรแก่กำลังญาณอันเนื่องด้วยวาสนาบารมี ตั้งแต่หนึ่งชาติไปจนถึงจำนวนหลายอสงไขยกัป 

จึงมีบางคนระลึกชาติก่อนของตัวเองได้แค่ชาติเดียว บางคนระลึกได้ 2 ชาติ บางคนระลึกได้ 3 ชาติ บางคนระลึกย้อนหลังไปได้ร้อยชาติ พันชาติ แสนชาติ แต่บางคนระลึกได้หลายอสงไขยแสนกัป เช่น พระพุทธเจ้า เป็นต้น 

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนสติอบรมจิตในอดีตชาติ และหรือในปัจจุบันชาติได้ดีแค่ไหนอย่างไร ถ้าฝึกฝนอบรมจิตดีเท่าใดก็จะระลึกชาติได้หลายชาติ เช่น พระสาวก และพระพุทธเจ้า เป็นต้น 

ส่วนผู้ที่ระลึกชาติเก่าก่อนของตัวเองได้ที่หมู่บ้านตะคร้อ ต.ตะคร้อ อ.ไพศาลี นั้น เท่าที่ทราบเป็นการระลึกชาติได้ที่ไม่ได้ละเอียดนัก เพราะบางคนระลึกเรื่องราวในอดีตชาติของตนเองได้บ้างเป็นบางช่วงตอนของชีวิต ไม่ได้ทั้งหมด บางคนเรื่องราวในอดีตชาติได้เลือนหายไปแล้ว กล่าวคือ ตอนเด็กจำได้แต่พอโตขึ้น เรื่องราวในอดีตเหล่านั้นก็เลือนหายไป 

ทั้งนี้ ที่เป็นเช่นนั้นเป็นเพราะการฝึกฝนอบรมจิตในอดีตชาตินั้นที่ยังไม่ดีถึงขั้นอุกฤษฏ์ 

อย่างไรก็ตาม การระลึกถึงชาติในอดีตของคนเรานั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้และมีอยู่จริง ซึ่งก็ปรากฏมีข่าวให้เห็นทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ว่าการระลึกชาติได้ของคนในหมู่บ้านตะคร้อแห่งนี้ก็ต้องบอกว่าเป็นความอัศจรรย์และแปลกกว่าที่อื่นๆ ก็ตรงที่มีคนระลึกชาติได้ร่วม 50 คน ซึ่งคงหาดูที่ไหนไม่ได้แล้วในโลกนี้

บ้านขุหลุในนิทานท้องถิ่น


ต.ขุหลุ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี เป็นอีกหนึ่งในหลายท้องถิ่นที่มีนิทานตำนานพื้นบ้านเล่าเรื่องราวที่มา ดังปรากฏอยู่ในจารึกประวัติบ้านขุหลุ หน้าอุโบสถ วัดศรีโพธิ์ชัย ที่เรียบเรียงโดย พระครูสิริธรรมากร เจ้าอาวาสวัดศรีโพธิ์ชัยรูปปัจจุบัน กล่าวว่า บ้านขุหลุตั้งขึ้น พ.ศ.2290 “ท้าวเซียงกู๋” ผู้เป็นหัวหน้านำลูกหลานมาตั้งเป็นบ้านขุหลุ โดยอพยพมาจากลุ่มแม่น้ำเซบังเหียง แขวงเวียงจันทร์ (ประเทศลาว) ครั้งแรกมาตั้งบ้านเรือนเป็นหมู่บ้านอยู่ริมฝั่งขวาของห้วยขุหลุ ปัจจุบันเป็นทุ่งนาของบ้านขุหลุ บ้านคำไหล

ต่อมาเกิดเดือดร้อน ประชาชนป่วยเป็นโรคฝีดาษ “โรคห่า” ท้าวเซียงกู๋จึงนำลูกหลานอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ฝั่งซ้ายของห้วยขุหลุ โดยอาศัยหนองคอมเป็นที่ทำมาหากิน หนองคอมก็คือหนองขุหลุปัจจุบัน เนื่องจากคนสมัยนั้นเชื่อเรื่อง นิทานในวรรณคดี 

ดังนั้น จึงเชื่อว่าหนองคอมก็คือหนองขุหลุ ตามนิทานในวรรณคดีท้าวคันธนาม (คันธกุมาร) ที่ได้ปราบยักษ์ขุมคำ ยักษ์ยอมแพ้จึงได้ถวายทองคำแด่ท้าวคันธนามพร้อมด้วยแม่แจ่ม

ทั้งหมดจึงพากันหาบทองคำมาถึงบ้าน (ปัจจุบันเป็นบ้านเกษม) และมาดูว่าแม่และลูกหาบได้คนละเท่าไหร่ (ตวงดูน้ำหนัก) ท้าวตันธนามหาบได้สามแสนสี่หมื่น แม่แจ่มเจ้าหาบได้สี่พัน ครั้นรอนแรมมาถึงหมู่บ้านระหว่างกลางทางสายคุขาดอีกเลยใช้วิธีคอนเอา ซึ่งหมู่บ้านที่สายคุขาดให้ชื่อว่า “บ้านคอนสาย” ปัจจุบันเป็น ต.คอนสาย

เมื่อเดินทางมาถึงหมู่บ้าน ซึ่งเป็นบ้านขุหลุทุกวันนี้ ท้าวคันธนามได้สั่งให้ท้าวแก่เกวียนร้อยเล่มซึ่งเป็นคนรับใช้ไปตักน้ำ แล้วคุหลุดลงไปก้นบ่อคุทะลุ (คุรั่ว) ถูกน้ำพัดไปตามรูน้ำซึ่งเชื่อมต่อกับหนองคอม คุใบนั้นจึงไปโผล่ขึ้นที่กลางหนองคอมชาวบ้านจึงเรียกว่า “หนองขุหลุ”

ต่อมาท้าวเซียงกู๋ได้เอานามของคุหลูมาตั้งชื่อหมู่บ้าน เรียกว่า “บ้านคุหลู” นานวันไปเสียงกร่อนเพี้ยนเป็น “ขุหลุ” จึงเรียกว่าบ้านขุหลุ หนองขุหลุ ตราบเท่าทุกวันนี้

จาก "จำปากอ" สู่ "บาเจาะ" หนองน้ำแห่งเมืองนรา

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ อำเภอบาเจาะ เมืองนรา

อ.บาเจาะ ตั้งอยู่เหนือสุดของจ.นราธิวาส มีพื้นที่ติดต่อกับ อ.สายบุรี และ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี รศ.ประพนธ์ เรืองณรงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวัฒนธรรมภาคใต้ อธิบายว่า “บาเจาะ” อาจมาจากคำว่า “เบินจะห์” ซึ่งหมายถึง หนองน้ำ หรือ “บือเจาะ” ที่แปลว่า ที่ชื้นแฉะ ในภาษามลายูก็ได้

เดิม บาเจาะ เป็นส่วนหนึ่งของสายบุรี ต่อเมื่อในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2451 ได้รับการยกฐานะเป็นกิ่ง อ.จำปากอ และ อ.จำปากอ ตามลำดับ “จำปากอ” หรือ “จือปากอ” หมายถึง ต้นดอกจำปา (บุหงาจำปากอกูนิง) หรือต้นดอกจำปี (บุหงาจำปากอปูเต๊ะฮ์)

ต่อมาในพ.ศ.2460 เปลี่ยนชื่อจาก อ.จำปากอ มาเป็น อำเภอ “บาเระหนือ” (คำว่า “บาเระ” ในภาษามลายู แปลว่า แถว หรือ แนว) หลังจากนั้นมีการย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่ ต.บาเจาะ จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น อ.บาเจาะ 1 ใน 13 อำเภอของ จ.นราธิวาส มาจนถึงปัจจุบัน

เปิดตำนานนักสืบ "คงเดช ชูศรี"

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ คงเดช ชูศรี

นับตั้งแต่เกษียณอายุราชการอำลาจากวงการสีกากีมาเมื่อหลายปีก่อน ชื่อเสียงของ "อาจารย์คง" หรือ พล.ต.ต.คงเดช ชูศรี ที่ผู้คนส่วนใหญ่คุ้นเคย อดีตนายตำรวจมือปราบก็ค่อยๆ เงียบหายไปจากหน้าสาธารณะ หันไปใช้ชีวิตเรียบง่ายทำไร่เลี้ยงสัตว์อย่างสุขสงบใน อ.ไทรโยค จ.กาญจบุรี

แม้จะล่วงเข้าสู่ปัจฉิมวัยแล้วก็ตาม แต่ทุกครั้งที่ขนานนามอาจารย์คง หลายคนพานให้นึกถึงวีรกรรมในอดีตที่ผ่านมาแล้วอย่างโชกโชน ตั้งแต่การเปิดโปง "เปรตกู้" จอมลวงโลก คดี "เสริม สาครราษฎร์" ฆ่าหั่นศพนักศึกษาแพทย์แฟนสาว ตลอดจนคดีปราบปรามมือปืนรับจ้างมามากมายชนิดจาระไนไม่หมด แต่ในจำนวนนี้มีอยู่เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ที่รู้สึกภาคภูมิใจทุกครั้งเมื่อหวนนึกไปถึง นั่นคือคดีฆ่า "แสงชัย สุนทรวัฒน์" อดีตผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท) อันครึกโครม "คดีนี้มีการระดมนักสืบทุกหน่วยงานมาร่วมทำคดี และเป็นที่จับตามองของสื่อมวลชนและคนทั้งประเทศ จึงกดดันมาก"

เมื่อปี 2539 อาจารย์คงดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการตำรวจนครบาลเหนือ ได้รับมอบหมายให้เข้ามาคลี่คลายคดีตั้งแต่ต้น ควบคู่ไปกับชุดสืบสวนจากกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) และตำรวจภูธรภาค 1 (บช.ภ.1) มีการใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับงานสืบสวนสอบสวนทุกอย่างมาคลี่คลายคดีหาเบาะแสมือปืน ชนวนเหตุ และผู้จ้างวาน ประวัติคนรอบข้างที่เกี่ยวพันกับแสงชัยถูกตรวจสอบละเอียดยิบ แต่ก็มีปัญหาอุปสรรคติดขัดอยู่ตลอดเวลา ท่ามกลางการทำงานอย่างทุ่มเท มีความกดดันจากทุกทาง จนชุดทำงานแทบไม่เป็นอันกินอันนอน กระทั่งได้เบาะแสว่าประเด็นสังหารน่าจะมาจากการขัดผลประโยชน์ในบอร์ดบริหาร อสมท

"ชุดสืบสวนแต่ละชุดต่างมีเป้าหมายของตัวเอง ทั้งหมดพุ่งไปที่ผู้บริหารในบอร์ด อสมท กลุ่มหนึ่ง ซึ่งก็ทำได้แค่สงสัย มีการเชิญผู้บริหารกลุ่มนั้นรวมถึงอดีตทหารมาสอบปากคำหลายคน แต่ก็ขาดหลักฐานเชื่อมโยง เวลาล่วงเลยไปกว่าเดือนเศษ คดีไม่มีความคืบหน้า ชุดสืบสวนเองก็รู้สึกเครียดมาก เพราะคดีถูกจับตามองอยู่ทุกๆ นาที ผู้บังคับบัญชาโทรมาสอบถามทุกชั่วโมง พอไม่มีความคืบหน้าก็โดนตำหนิ ตอนนั้นรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจเหมือนกัน เพราะเราทำงานเต็มกำลัง งานอื่นที่สำคัญน้อยกว่าเราก็ชะลอไปก่อน ทีมสืบสวนของผมไม่ได้หลับไม่ได้นอนกันเลย"

ในที่สุดอาจารย์คงก็ได้เบาะแสหนึ่ง คือ พฤติกรรมของมือปืนสันนิษฐานได้ว่า น่าจะเป็นมือปืนหน้าใหม่ ?!!
แสงชัยถูกยิงเสียชีวิตขณะกลับจากรับประทานอาหารกับวัชรี สุนทรวัฒน์ ภรรยาที่ร้านอาหารย่านเมืองทองธานี โดยเขานั่งอยู่เบาะหลังมีวัชรีเป็นคนขับ กระสุนขนาด 9 มม.ทะลุกระจกถูกแสงชัยเสียชีวิตคาที่ มือปืนยังพยายามฆ่าวัชรีด้วย แต่เดชะบุญกระสุนขัดลำกล้องเธอจึงรอดตายหวุดหวิด ด้วยเหตุนี้ชุดสืบสวนของอาจารย์คงจึงเริ่มพุ่งเป้าไปที่มือปืนหน้าใหม่ และลงมือตรวจสอบตามซุ้มมือปืนต่างๆ อย่างเร่งด่วน

ขณะที่การสืบสวนค่อยๆ คืบหน้าไปทีละขั้นๆ ไม่นานก็มีคดีสังหาร "นรุตม์ สัตยาศัย" เจ้าของกิจการส่งออกเครื่องสุขภัณฑ์หน้าหมู่บ้านสัมมากร ท้องที่ สน.บางชัน โดยคนร้ายใช้ปืนขนาด 9 มม.แล้วเกิดอาการขัดลำกล้องเช่นเดียวกับคดีแสงชัย อาจารย์คงพร้อมชุดสืบสวนลงพื้นที่ไปตรวจสอบและเริ่มมั่นใจว่า น่าจะเป็นมือปืนคนเดียวกัน โชคดีอย่างที่คนร้ายทำถุงกระดาษตกอยู่ในที่เกิดเหตุ มีกระดาษแผ่นหนึ่งเขียนระบุห้องเลขที่ 405 ศิริสุขอพาร์ตเมนต์ ย่านรามคำแหง ชุดสืบสวนสงสัยว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับมือปืน จึงไปตรวจสอบและติดตามไปจับกุมตัวได้ยกทีมในเวลาต่อมา

"คดีนี้เป็นคดีแรกๆ ที่มีการนำเอานิติวิทยาศาสตร์เข้ามาคลี่คลายคดี เพราะเป็นการขยายผลจากคดีอื่น แล้วเชื่อมโยงมาถึงคดียิงคุณแสงชัย เป็นการให้ความสำคัญกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งสมัยนั้นยังไม่ค่อยนำมาใช้กันมากนัก ผมทำคดีตั้งแต่ต้นและใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับงานสืบสวนสอบสวนทั้งหมดเลยรู้สึกภูมิใจ ส่วนคดีเปรตกู้เป็นเรื่องหลอกลวงต้มตุ๋นธรรมดา ในโรงเรียนนายร้อยตำรวจก็มีการสอนวิธีจับผิดคนพวกนี้อยู่แล้ว เพียงแต่สื่อให้ความสนใจมากเลยเป็นที่รู้จัก แต่ส่วนตัวแล้วไม่ได้รู้สึกอะไร" อาจารย์คงเล่า

ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ล้วนมีจุดจบแตกต่างกันไป ทั้งถูกลอบสังหาร ถูกจับกุมคุมขังอยู่ในเรือนจำถึงทุกวันนี้ !?!
"บนถนนชีวิตตำรวจบอกได้เลยว่า ทุกวินาทีที่เราเผชิญหน้ากับคนร้ายมันเสี่ยง ถ้าพลาดหมายถึงชีวิต สำหรับผมแล้วไม่มีงานไหนที่เสี่ยงที่สุด เพราะทุกครั้งอันตรายและเสี่ยงไม่มากไม่น้อยไปกว่ากัน" อาจารย์คงพูดถึงชีวิตในการทำงานคลี่คลายคดีสำคัญๆ

หลายคนสงสัยสมญานาม "อาจารย์คง" มีที่มาอย่างไร ?
คำตอบที่ได้ไม่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน คือ ครั้งหนึ่งเคยเป็นอาจารย์สอนวิชาสืบสวนสอบสวนให้แก่นักเรียนนายร้อยตำรวจเป็นเวลานานสองนาน เลยได้สมญานามดังว่า 

นอกจากนี้ เพื่อนร่วมรุ่นยังเคยเรียกว่า "หมอคง" ด้วยซ้ำ เกิดจากพฤติกรรมชวนขันสมัยเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ โรงเรียนนำนักกีฬารักบี้เข้านมัสการหลวงปู่พรหมโมลี วัดไร่ขิง จ.นครปฐม นักเรียนนายร้อยตำรวจคงเดช เป็นคนเดียวที่หลวงปู่เคาะหัวให้พร ทว่าลงมือเคาะได้ 2 ที ยังไม่ทันจะครบดีก็ถอยหนีบอกว่าเจ็บ ทำท่าจะไม่ยอมให้เคาะอีก ทั้งที่คนอื่นๆ อยากได้โอกาสนี้กลับไม่ได้ ท้ายที่สุดก็ยอมให้เกจิดังเคาะหัวจนครบ 3 ครา ตั้งแต่นั้นมาเพื่อนๆ เลยเรียกขานติดปากว่า "หมอคง"

นักสืบ...นักจ้อผ่านสื่อ
ในสายตาของอดีตมือปราบที่ผ่านงานมาโชกโชนหลายรูปแบบ พล.ต.ต.คงเดช ชูศรี มีมุมมองเกี่ยวกับงานสืบสวนของตำรวจยุคปัจจุบันว่า อยู่ในภาวะตกต่ำมาก หากปล่อยไว้เช่นนี้นักสืบที่แท้จริงจะหายไปจากวงการตำรวจ เนื่องจากนักสืบจำเป็นต้องมีประสบการณ์การทำงานอย่างโชกโชน เริ่มต้นปูทางตั้งแต่การเป็นพนักงานสอบสวนสัก 4-5 ปีก่อน แล้วค่อยขยับมาทำงานสืบสวน แต่ปัจจุบันไม่ใช่อย่างนั้น นักสืบส่วนใหญ่ไม่ได้ผ่านงานมาแบบเป็นขั้นเป็นตอน จึงทำงานไม่เป็นเลยสักนิดเดียว

"ผมพูดได้เต็มปากเต็มคำเลยนะว่า ทุกวันนี้สายสืบทำงานแบบเอาตัวรอดไปวันๆ มีคำตอบนอกนายให้ไปแถลงต่อสื่อมวลชนก็เป็นอันจบงานในวันนั้นๆ อย่างคดีลอบยิงนายสนธิ ลิ้มทองกุล นักสืบสมัยก่อนไม่มีหรอกที่จะออกมาเปิดเผยข้อมูลรายวันแบบนี้ แนวทางการสืบสวนคนร้ายรู้หมด เพราะทุกวันนี้ใครๆ ก็อยากพูดต่อหน้าสื่อ เนื่องจากจะได้รู้ว่าเป็นผลงานของตัวเอง ตรงกันข้ามกับเมื่อก่อน จับได้แล้วค่อยแถลง หรือไม่ก็ให้ข่าวเบี่ยงเบนประเด็นไปเลย เช่น คนร้ายชื่อนายไก่อยู่ลพบุรีเราจะบอกนักข่าวว่า คนร้ายชื่อนายหมูกบดานอยู่ที่เชียงใหม่เป็นต้น แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีจริงๆ"

พล.ต.ต.คงเดชกล่าวทิ้งท้ายว่า ทุกวันนี้อยากให้ตำรวจทำหน้าที่ที่พึงปฏิบัติ บำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชน อย่าเข้าไปอยู่ในเกมการเมือง เพื่อหวังลาภยศอำนาจ เพราะหน้าที่ของเราคือการดูแลประชาชน !?!

เรือกับวิถีชีวิตไทย

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ แม่น้ำลำคลอง

เรือกับวิถีชีวิตไทย แม่น้ำลำคลอง เป็นเส้นทางสำคัญในการสัญจรติดต่อไปมาค้าขาย ซึ่งกันและกันมาแต่บรรพกาล

เรือ จึงเป็นพาหนะสำคัญในวิถีชีวิตของชาวไทย ที่เกิดจากภูมิปัญญาของบรรพชนแต่บรรพกาล ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้ในการสัญจรระหว่างบ้านและชุมชน

เรือ เป็นพาหนะที่มีบทบาทสำคัญแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ทั้งในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การคมนาคมขนส่ง ตลอดจนก่อให้เกิดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามแห่งสายน้ำของสยามประเทศ

ด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ เป็นพื้นฐานของศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตอันดีงามของชาวไทย ในฤดูน้ำหลาก ว่างเว้นจากการเพาะปลูก ปักดำทำนา ในเทศกาลงานบุญประเพณีออกพรรษา ด้วยนิสัยรักสนุก อันเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย ก่อให้เกิดการละเล่นทางน้ำ

อาทิ การเล่นเพลงเรือ และการแข่งขันเรือยาวประเพณีขึ้น อันเป็นกีฬาชาวบ้านในชุมชนชนบทไทย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาชาติขึ้นทุกลุ่มน้ำแห่งสยามประเทศ

ปะด่อง-แม่ฮ่องสอน

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ปะด่อง-แม่ฮ่องสอน

กะเหรี่ยงคอยาว หรือปะด่อง ชนกลุ่มนี้เข้าสู่ประเทศไทยด้าน จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อราวปลายปีพ.ศ.2527 ในช่วงที่กองกำลังทหารพม่าทำการกวาดล้างชนกลุ่มน้อยเผ่าคะยา บริเวณพรมแดนไทย-พม่า การสู้รบทำให้ชนกลุ่มน้อยต่างๆ รวมทั้งชาวปะด่องจำนวนหนึ่ง อพยพเข้ามาในประเทศไทยที่หมู่บ้านใหม่ในสอย 

ต่อมามีแนวคิดเรื่องการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว จึงเปิด “ศูนย์ท่องเที่ยวหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว” หลายแห่งใน จ.แม่ฮ่องสอน

พื้นที่ใน จ.แม่ฮ่อนสอน เป็นตะข็บชายแดนที่มีผู้คนต่างชาติ ต่างภาษาเดินทางไปมาหาสู่กันมาตั้งแต่ครั้งยังไม่มีเส้นพรมแดน หรือแม้แต่ในช่วงที่เจ้าอินทวิชยานนท์ ครองนครเชียงใหม่ ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ยังมีหลักฐานว่า บริเวณที่เป็นจังหวัดแม่ฮ่องสอนในปัจจุบันคือหมู่บ้านของชาว “ไทยใหญ่” ซึ่งอพยพมาจาก “รัฐฉาน” ของพม่า

บริเวณดังกล่าวเป็นเขตที่เจ้าเมืองเชียงใหม่ ส่งเจ้านายไปจับช้างป่า เพื่อฝึกไว้ใช้งานต่างๆ เมื่อชุมชนขยายตัวใหญ่ขึ้น จึงมีการสถาปนาหมู่บ้านแถบนั้นเป็นเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งมาจากคำว่า “แม่ร่องสอน” ที่หมายถึงร่องน้ำอันเป็นสถานที่ฝึกสอน (ช้างป่า) นั่นเอง

ปล. สำหรับประเด็นชนกลุ่มน้อยนี้ บอกได้เลยว่า เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อเรื้อรังมานาน และยังไม่มีทีท่าจะจบลงโดยง่าย แม้ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ และสมควรที่จะได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน!

"สวนพฤกษศาสตร์สากลภาคใต้" (ทุ่งค่าย) ท่องสะพานเรือนยอดไม้แห่งเดียวในไทย

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ สวนพฤกษศาสตร์สากลภาคใต้

"สวนพฤกษศาสตร์สากลภาคใต้" (ทุ่งค่าย) ตั้งอยู่ในเขต "ป่าสงวนแห่งชาติป่าทุ่งค่าย" ต.ทุ่งค่าย อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2536 ตามดำริของ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) ที่ต้องการจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์มาตรฐานสากลในภาคใต้

ปัจจุบันสวนพฤกษศาสตร์ดังกล่าวอยู่ในสังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีจุดประสงค์เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ไม้ท้องถิ่นเมืองใต้

สภาพภูมิประเทศของสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้เป็นป่าดิบชื้นที่ลุ่มต่ำ มีเนื้อที่ประมาณ 2,600 ไร่ หรือ 4.16 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างตัวอำเภอเมืองตรังไปทางทิศตะวันตก ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 404 ถนนสายตรัง-ปะเหลียน ห่างจากตัวเมืองไปประมาณ 11 กิโลเมตร

ปัจจุบันมีพันธุ์ไม้มากกว่า 200 ชนิด ทั้งยังมีการปลูกพันธุ์ไม้ป่าจากแหล่งต่างๆ แยกเป็นหมวดหมู่หรือตามวงศ์ ประกอบด้วย
1.สวนรวมพันธุ์ไม้แห่งความรัก 
2.สวนพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน 
3.สวนอนุกรมวิธาน (แหล่งรวมพันธุ์พืชถิ่นใต้) 
4.สวนสัณฐานวิทยา (เรียนรู้ลักษณะต่างๆ ของพืช) 
5.สวนกล้วยไม้ 
6.สวนพืชทนแล้ง (แหล่งรวมพืชที่ปรับได้) 
7.สวนเฟิร์น 
8.พืชกินแมลง (ซึ่งพบมากบริเวณรอบนอกพื้นที่ป่าพรุ) 

ตลอดจนวงศ์ยาง และวงศ์ปาล์ม ทั้งปาล์มเจ้าเมือง ปาล์มหลังขาว ปาล์มพระราหู กระพ้อสี่สิบ และปาล์มช้างร้องไห้ เป็นต้น

ทั้งนี้ภายในสวนพฤกษศาสตร์ยังมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว สวนรุกขชาติ สวนสมุนไพร พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด และห้องประชุมทางวิชาการ รวมทั้งพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรม และค่ายพักแรม

ทั้งยังมีเส้นทางท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติให้เลือกหลากหลายเส้นทาง โดยเฉพาะ "เส้นทางสะพานศึกษาธรรมชาติเรือนยอดไม้" (Canopy Walkway) ซึ่งถือเป็นแห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศไทย

เส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2546 มีความยาว 175 เมตร มีหอคอยเชื่อมต่อระหว่างสะพานแต่ละช่วง 7 หอ จากชั้นต่ำที่สุดไปจนถึงชั้นสูงที่สุดรวม 3 ระดับ และมีความสูงตั้งแต่ 10-18 เมตร

เส้นทางนี้สามารถมองเห็นป่าได้ในอีกมุมมองหนึ่ง คือ สังคมของพืชบริเวณเรือนยอดไม้ที่มีความสูงจากพื้นดินมาก โดยสีสันของพืชเรือนยอดไม้จะมีความสวยงามเป็นพิเศษในช่วงหน้าแล้ง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิ

บนเรือนยอดไม้สูงลิบ นักท่องเที่ยวยังจะได้ชมวิถีชีวิตของสัตว์ป่า เช่น นก กระรอก กระแต ฯลฯ ซึ่งจะกระโดดโลดเต้นให้เราได้เห็นอย่างติดขอบจอ

ธวัช ติงหงะ หัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้ (ทุ่งค่าย) กล่าวว่า หลังจากเปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติเรือนยอดไม้ก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง (อบจ.ตรัง) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตรัง ได้ร่วมกันทำประชาสัมพันธ์สวนพฤกษศาสตร์จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น

ส่วนแนวทางพัฒนาสวนพฤกษศาสตร์ได้มีการจัดหา "พันธุ์กล้วยไม้" มาเกาะไว้ตามต้นไม้ในระหว่างเส้นทางเดินเพื่อเพิ่มความหลากหลายของพันธุ์ไม้ ทั้งยังเพิ่มความสวยงามให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

กิจ หลีกภัย นายก อบจ.ตรัง กล่าวถึงแนวทางประชาสัมพันธ์ว่า พยายามชูดจุดขาย คือ สะพานเรือนยอดไม้ ซึ่งมีเป็นแห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศเป็นฉากหลังของป้ายประชาสัมพันธ์งานต่างๆ ของ อบจ.ตรัง จนสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

เจดีย์ศรีพุทธคยา วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ นครสวรรค์

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ จังหวัดนครสวรรค์

วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ วัดแรกและวัดเดียวในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ภายในวัดประกอบด้วยสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ศรีพุทธคยา สร้างถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ทรงเจดีย์ศรีพุทธคยาจำลองแบบมาจากเจดีย์พุทธคยา รัฐพิหาร เป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หนึ่งในสังเวชนียสถานในประเทศอินเดีย โดยย่อขนาดลงมามีความสูง 28 เมตร เสมือนพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนในการก่อสร้าง

วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ เป็นพุทธสถานที่คณะศิษย์สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ นำโดย พระเทพโมลี สร้างถวายสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ในโอกาสที่อายุครบ 80 ปี เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2529 ชื่อ "วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์" นี้ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม ตั้งชื่อเพื่อถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สร้างเป็นรูปเรือหลวง มีความหมายถึงพาหนะที่จะช่วยขนสัตว์ที่ตกอยู่ในห้วงแห่งสังสารวัฎ (ทะเลวน) ให้พ้นจากโอฆะสงสาร ห้วงน้ำคือกิเลส โดยมีชื่อเรียกว่า "ราชญาณนาวาทีฆายุมงคล" เพราะสร้างขึ้นในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ 60 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ต่อมากรมธนรักษ์ให้ใช้พื้นที่ 96 ไร่ 2 งาน 58 ตารางวา เพื่อสร้างวัดขึ้นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา และได้รับพระราชทานวิสุงคามเสมาในปี 2548

เจดีย์ศรีพุทธคยา สร้างขึ้นเพื่อเป็นการแสดงกตัญญูกตเวทิตาแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเจดีย์ได้จำลองแบบมาจากเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย โดยย่อขนาดลงมาเพื่อให้เหมาะสมกับสถานที่ มีความสูง 28 เมตร เสมอเหมือนพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ได้มีการวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณาบริจาคทุนทรัพย์ส่วนพระองค์และทรงรับเป็นองค์ประธานงานสร้างเจดีย์ และเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2550 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์เป็นวัดในพระองค์

ความเชื่อและวิธีการบูชา เชื่อว่าหากได้มานมัสการเจดีย์ศรีพุทธคยาอันเป็นสังเวชนียสถานที่ตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสักครั้งในชีวิต ย่อมให้อานิสงส์และมงคลชีวิตเช่นเดียวกับได้สักการะสังเวชนียสถานแห่งองค์สัมมาสัมพุทธเจ้ายังประเทศอินเดีย

เจดีย์ศรีพุทธคยา มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมทรงกรวยยอดเจดีย์เป็นทรงระฆังคว่ำ ประดับลวดลายปูนปั้น ทางเข้าสู่เจดีย์จะเป็นโทรณะ หรือซุ้มประตูปราสาทพรสำหรับผู้ที่เข้าไปสักการะองค์เจดีย์ มีลักษณะเป็นเสาสลักลวดลายแบบอินเดีย เมื่อเข้าถึงเจดีย์จะผ่านประตูชั้นล่าง จะมีซุ้มพระพุทธรูปยืนศิลปะอินเดียทั้งสองข้าง มีหน้าบันใหญ่อยู่ด้านบนประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งและรอบๆ จะเป็นซุ้มพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ มีซุ้มพระพุทธรูปนั่งอยู่รอบฐานเจดีย์

ชั้นที่สอง มีลักษณะเป็นมุขเด็จทั้งซ้ายขวาในระดับนี้มีการตกแต่งแผงกลาง 4 ทิศ รายรอบด้วยมุมพระพุทธรูป ส่วนเหนือขึ้นไป ตรงกลางจะเป็นหน้าบันประดิษฐานพระพุทธรูปตามมุม แกะลวดลายปูนปั้นหน้ากาล เป็นเครื่องเตือนสติว่า ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เพราะกาลเวลากลืนกินทุกอย่างแม้แต่ตัวเอง องค์พระเจดีย์แต่ละด้านประดับด้วยหน้าบัน ซุ้มพระ และหน้ากาลลดหลั่นกันไปถึงยอด

ภายในองค์เจดีย์จะมีทั้งสิ้น 4 ชั้น ชั้นที่ 1 เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธเมตตาสันติภาพ เนื้อสำริด ขนาดหน้าตักกว้าง 89 นิ้ว สูง 4.19 เมตร ชั้นที่ 2 เป็นห้องที่ประดิษฐาน พระศรีอริยเมตไตรยศรีศากยสิงห์ ขนาดหน้าตัก 108 นิ้ว สูง 4 เมตร การตกแต่งด้านนอก ซึ่งในแต่ละชั้นจะตกแต่งประดับด้วยพระพุทธรูปปูนปั้นประดับซุ้มหน้ากาลโดยรูปพระสถูป 4 ปาง คือ ปางปฐมเทศนา ปางมารวิชัย ปางประทานพร และปางสมาธิ ที่งดงามตามแบบอย่างเจดีย์พุทธคยา ที่เมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย จำนวน 284 องค์