เรื่องราว ‘แม่ฟ้าหลวง’ ที่หลายคนไม่เคยรู้


เรื่องราวแวดล้อมในชีวิตของในหลวงรัชกาลที่ 9 หนึ่งในเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องผูกพัน สวยงาม และมีพลังอย่างที่สุด คือเรื่องราวการทำงานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือที่เราเรียกพระนามติดปากว่า ‘สมเด็จย่า’ ผู้ทรงริเริ่มองค์กรแม่ฟ้าหลวง และเริ่มต้นภารกิจปลูกป่าบนเขาหัวโล้น เพื่อพลิกชีวิตชาวเขาและคนไทยพื้นราบนับหมื่นให้อยู่ดีกินดี หลุดพ้นจากปัญหายาเสพติดและความยากจน จนประสบความสำเร็จอย่างงดงามแม้ในวันที่สมเด็จย่าทรงจากพวกเราไปกว่า 21 ปีแล้ว

สิ่งที่หลายคนไม่ทราบคือ วิสัยทัศน์การทำงานขององค์กรแม่ฟ้าหลวง เกิดขึ้นภายใต้เข็มทิศปรัชญาจากสมเด็จย่า และองค์ความรู้ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงศึกษาคิดค้น ทั้งสองพระองค์ทรงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิด ความรู้ เกิดเป็นสายสัมพันธ์งดงาม 

หลักปรัชญา ที่องค์กรแม่ฟ้าหลวงน้อมนำมาใช้ได้รับการยกย่องโดย UN บนเวทีโลก และเป็นเข็มทิศที่หลายประเทศกำลังเดินตามในปัจจุบัน

เที่ยวพิพิธภัณฑ์อาวุธ เขาค้อ เล่าประวัติพื้นที่วีรบุรุษปราบคอมมิวนิสต์


พิพิธภัณฑ์อาวุธ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ในปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษา ร่องรอยประวัติศาสตร์การสู้รบระหว่างทหาร ในการปราบปรามกลุ่มคอมมิวนิสต์ ในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์พิษณุโลกและจังหวัดเลย เมื่อเราได้มาลองศึกษาประวัติของฐานยิงสนับสนุนอิทธิพบว่า คนไทยในอดีตต้องเสียสละทั้งชีวิตและกำลังทรัพย์เพื่อปกป้องทุกตารางนิ้วของประเทศไทยเอาไว้จากกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์

สำหรับประวัติของพิพิธภัณฑ์อาวุธแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ใน พท. กองทัพภาคที่ 3 บริเวณรอยต่อ 3 จังหวัด พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลยมีประวัติการสู้รบมากกว่า 10 ปี ตั้งแต่ปี 2511 ฝ่ายรัฐบาลสูญเสียกำลังพล และยุทโธปกรณ์จำนวนมากเพื่อล้มล้างอิทธิพล ผู้ก่อการคอมมิวนิสต์ หรือ ผกค. ในพื้นที่ปี 2524 พตท. 1617 ซึ่งมีหน้าที่ต่อสู้เอาชนะ ผกค. ในเขตพื้นที่เขาค้อได้เปิดยุทการ “ผาเมืองเผด็จศึก 1” เพื่อยึดและขับไล่ ผกค.

15659043_10154866199799288_161358897_o

บริเวณเขาค้อ การปฏิบัติฝ่ายเราสามารถยึดเขาค้อได้ภายใต้ การยิงสนับสนุนของปืนใหญ่ จากฐานยิงสนับสนุนสมเด็จ (ฐานยิงสนับสนุนสมเด็จนี้เป็นฐานยิงของ พัน ป.3404 วัดกำลังพลและยุทโธปกรณ์จาก ป.พัน 4 นครสวรรค์ และ ป.พัน 104 พิษณุโลก ฐานยิงสนับสนุนสมเด็จตั้งห่างจากเขาค้อ 7 กม.) ความสำเร็จนี้ ทำให้เราได้ก่อสร้างทางและขยายอิทธิพลเข้ามาในดินแดน ผกค. อย่างรวดเร็ว

การที่จะเอาชนะ ผกค. ในเขตงานเขาค้อได้โดยเด็ดขาดนี้ จำเป็นต้องใช้กำลังฝ่ายเราที่มีทั้งหมดโจมตีฐานที่มั่นของ ผกค. บริเวณเขาห้วยทราย ทุ่งสะเดาะพง – เขาตะเคียนโง๊ะ – เขาปู่ และบ้านหนองแม่นา ดังนั้น พตท. 1617 จึงมีนโยบายเปิดยุทธการ “ผาเมืองเผด็จศึก 2” ขึ้นเพื่อโจมตีฐานที่มั่น ผกค. ดังที่กล่าวมาแล้ว เพื่อให้การยิงปืนใหญ่เป็นไปอย่างต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่ปฎิบัติการจำเป็น ต้องย้ายปืนจากฐานยิงสนับสนุนสมเด็จมาตั้งยิงบนเขาค้อ (ฐานยิงสนับสนุนอิทธิปัจจุบัน) ได้เคลื่อนย้าย ปกค. 115 มม. 1 กระบอก ได้ตั้งยิงเมื่อ 17 ก.พ. 2524 และเคลื่อนย้าย ปกค. 105 มม. แบบ XM 618 ที่ ศอว.ทบ. เป็นผู้ผลิตและให้ ป.พัน 4 ทดลองใช้ในสนามจำนวน 2 กระบอก ดังนั้น พตท. 1617 จึงเปิดยุทการ “ผาเมืองเผด็จศึก 2”

15658894_10154866197864288_1448801700_o

อาวุธปืนใหญ่ขนาดกลาง กระสุนวิถีโค้ง 03 ขนาด 155 มม. ชื่อว่าพระยาตานี และปืนใหญ่เขา กระสุนวิถีโค้ง 95 ขนาด 105 มม. ชื่อ อินทรีกลืนช้าง ที่ใช้เป็นฐานยิงสนับสนุนทำให้การยิงให้หน่วยดำเนินกลยุทธในพื้นที่จนสามารถยึดและทำลายที่มั่น ผกค. เขตงานเขาค้อได้อย่างสิ้นเชิง

ฐานยิงฯ แห่งนี้ทำการยิงให้หน่วยดำเนินกลยุทธ์ ในพื้นที่จนสามารถยึดและทำลายที่มั่น ผกค. งานเขาค้อได้อย่างสิ้นเชิง ต่อมาฐานยิงนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า “ฐานยิงสนับสนุนอิทธิ” เป็นอนุสรณ์แก่พันเอกอิทธิ สิมารักษ์ ผช.ผอ. พตท 1617 ซึ่งเสียชีวิตจาการบัญชาการรบที่เขาค้อ เพื่อนำผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตออกจาก พื้นที่การต่อสู้

การสู้รบระหว่างกำลังทหารกับ ผกค. บริเวณเขาค้อ เขาย่า ทุ่งสะเดาะพง เขาปู่ และหนองแม่นา ยุติลงสิ้นเชิงในปี พ.ศ. 2525 นับเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่มิใช่ฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งแต่เป็นของประชาชนชาวไทยทั้งปวงที่สามารถยุติความขัดแย้งและการใช้ กำลังอาวุธ ตัดสินปัญหามาสู่สันติและการร่วมมือกันพัฒนาประเทศ

ปัจจุบัน ฐานอิทธิ ได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงก่อสร้างเพิ่มเติมให้เป็นพิพิธภัณฑ์อาวุธ โดยกองพันการปืนใหญ่ที่ 30 จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์การต่อสู้ของกองกำลังฝ่ายบ้านเมืองกับ ผกค.

15628834_10154866197889288_849124541_o

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ภายในอาคารมีการจัดแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ และเสื้อผ้าสิ่งของต่างๆ ที่เป็นของนักรบไทย ของ ผกค. ไว้มากมายทั้งเครื่องยิงจรวด RPG-2 ของจีนแดง เครื่องแต่งกายของ พลท.ไพโรจน์ จันทร์อุไร แม่ทัพภาคที่ 3 ซึ่งใช้ในยุทธการ “หักไพรี” ตั้งแต่ 8 -18 ธ.ค. 24 และยุทธการ “ผาเมืองเกรียงไกร” ตั้งแต่ 9 พ.ค – 6 มิ.ย. 25 ขณะดำรงตำแหน่ง ผบ.ม.3 และ ผอ.พตท.33 เครื่องแต่งกายของ พล.อ.สีมา ปาณิกบุตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งใช้ในยุทธการ “

อนุสรณ์สถานผู้เสียสละเขาค้อ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ หมู่ที่ 13 ต.ทุ่งสมอ อ.เขาค้อ เป็นยอดเนินเขาสูงสุดของเขาค้อ เราก็มาถึงยอดเขาค้อที่มีหินอ่อนรูปทรงสามเหลี่ยม ตั้งตะหง่านอยู่ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความเสียสละของพี่น้องทหารหาญของชาติไทย ที่ต้องเสียสละทั้งชีพ และเลือดเนื้อเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทยแห่งนี้ไว้ให้รอดพ้นจากภัยของผู้หลง ผิดคิดร้ายต่อประเทศชาติ

อนุสรณ์แห่งนี้องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานให้เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2527 เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจคนไทยทั้งชาติว่า “ยามใดที่คนไทยขัดแย้งกัน จะต้องมีการสูญเสียอย่างผู้กล้า 1,171 ชีวิต จารึกกับองค์อนุสรณ์ จงอย่าให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก”

อนุสรณ์แห่งนี้ สร้างโดยกองพันทหารช่างที่ 4 ออกแบบโดย ศาสตราจารย์ กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ก่อสร้างโดยความร่วมมือและเงินบริจาคของประชาชนและ ข้าราชการทุกฝ่าย เป็นเงินประมาณ 6 ล้านบาท
ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์อาวุธ และอนุสรณ์สถานผู้เสียสละเขาค้อ ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้มาศึกษาประวัติศาสตร์ของการปกป้องประเทศ จากกลุ่มคนที่จะคิดแบ่งแยก หรือยึดครองประเทศไทยของเราและในช่วงนี้เป็นช่วง high season ของการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งพิพิธภัณฑ์อาวุธก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกของนักท่องเที่ยว ที่จะแวะมาเที่ยวชม ถ่ายภาพ เพราะมีจุดชมวิวที่สวยงามใหลายแห่ง ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังอำเภอเขาค้อสำหรับการเข้าชมสถานที่ จะเสียค่าบำรุงสถานที่คนละ 10 บาท เปิดให้เข้าชม ตั้งแต่เวลา 7.00- 17.00 น

70 ปี กับแสตมป์พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของในหลวงภูมิพลรัชกาลที่ 9

ตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์ยาวนานกว่า 70 ปี เราคุ้นตากับแสตมป์จดหมายซึ่งมีพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของในหลวงภูมิพลรัชกาลที่ 9 ทุกดวงออกแบบและผลิตอย่างประณีต โดยบริษัทไปรษณีย์ไทย 

รู้ไหมว่า...
ในช่วงเวลาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ถือเป็นช่วงเวลาที่การสร้างสรรค์ตราไปรษณียากรเฟื่องฟูและก้าวหน้าที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยทีเดียว คุณวิบูลย์ เสรีชัยพร ผู้จัดการ และคุณสมส่วน ชินวิชา หัวหน้าส่วนพิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร ของฝ่ายตลาดตราไปรษณียากร บอกเล่าความสำคัญของการผลิตแสตมป์พระบรมฉายาลักษณ์ว่า
แสตมป์กำเนิดขึ้นในฐานะการเป็นค่าฝากส่ง เหมือนเป็นใบเสร็จรับเงิน การบรรจุรูปประมุขของประเทศลงในแสตมป์จึงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติแรกเริ่มมาตั้งแต่แสตมป์ชุดแรกของโลก (แนวคิดเดียวกับการบรรจุภาพประมุขลงธนบัตร)
นอกจากนี้ ยังเป็นเพราะแสตมป์เปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของประเทศที่ไม่ซ้ำใคร ต้องแสดงถึงอัตลักษณ์ตัวตน

วิบูลย์แบ่งปันเกร็ดความรู้น่าสนใจว่า
การเรียกว่า แสตมป์พระบรมฉายาลักษณ์ (ซึ่งแปลว่าแสตมป์ภาพถ่าย) ไม่ใช่คำที่ถูกต้องที่สุด เพราะแสตมป์ยุคแรก เริ่มเป็นภาพวาด เหตุผลที่ใช้ภาพวาด คาดว่าเนื่องจากเทคโนโลยีการถ่ายภาพสมัยนั้นยังไม่คมชัดเท่าที่ควร ทั้งภาพวาดยังสวยงามมากกว่า เก็บรายละเอียดได้ดีกว่า ภาพวาดที่วาดจากภาพถ่ายของกษัตริย์ ควรเรียกอย่างถูกต้องว่า แสตมป์พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ 
แต่วงการแสตมป์ก็ใช้คำว่าแสตมป์พระบรมฉายาลักษณ์จนเป็นธรรมเนียมไปแล้ว

ในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีแสตมป์ผลิตออกมารวมแล้ว 1,000 กว่าชุด และเป็นแสตมป์พระบรมฉายาลักษณ์ถึง 70 ชุดด้วยกัน ถือเป็นจำนวนที่มากที่สุด เพราะมีช่วงเวลาครองรัชสมัยยาวนาน และเป็นช่วงที่การสะสมแสตมป์เป็นที่นิยม
การออกแบบแสตมป์ไทยในช่วงนี้ได้พัฒนาไปมาก มีการสร้างสรรค์งานศิลปะ เพื่อบรรจุเรื่องราวลงแสตมป์แผ่นน้อย จากที่เคยมีแต่แสตมป์สำหรับใช้งานเท่านั้น ก็เริ่มมีการผลิตแสตมป์ที่ระลึกตามวาระโอกาสสำคัญต่างๆ

การสร้างสรรค์แสตมป์พระบรมฉายาลักษณ์ ต้องผ่านขั้นตอนการออกแบบและตรวจทานอย่างละเอียด
ใช้เวลาราว 1 ปีขึ้นไป โดยมีทีมงานสำคัญอย่างคณะกรรมการจัดสร้างตราไปรษณียากรคอยดูแล
ขั้นตอนสุดท้าย คือ การนำความขึ้นกราบบังคมทูลในหลวงภูมิพล ซึ่งทุกดวงที่เกี่ยวข้องกับพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ ล้วนผ่านสายพระเนตรก่อนจะผลิตออกมา ให้ประชาชนอย่างเราได้สะสม

แน่นอนว่าแสตมป์เหล่านี้ไม่ใช่กระดาษธรรมดา แต่มีคุณค่าในการเป็นเครื่องบันทึกประวัติศาสตร์ของชาติ

ไปรษณีย์ไทยจึงคิดค้นเทคนิคใหม่ๆ ในการพิมพ์เพื่อเพิ่มความสวยงามในฐานะสื่อวัฒนธรรมของประเทศ และเพื่อถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตลอดมา
“แสตมป์ที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ท่าน ไม่เพียงแต่บรรจุเรื่องราวมากมาย ในเวลากว่า 70 ปีมีแสตมป์ 70 ชุด รวมแล้ว 341 ดวง จำนวนพิมพ์ประมาณ 2 พันกว่าล้านดวง ถือเป็นจำนวนที่มากที่สุด และเป็นคอลเลกชันสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์แสตมป์ไทย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบพิเศษ เทคนิคพิเศษ คนไปรษณีย์ทุ่มเทจิตใจลงไปทำถวายพระองค์ เราคิดเยอะแยะมากมาย เพื่อให้สมพระเกียรติ ให้สมเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของประเทศ”
แสตมป์พระบรมฉายาลักษณ์ที่ระลึก แบ่งออกเป็นหมวดต่างๆ คือ แสตมป์ฉลองครบรอบพระชนมายุ แสตมป์พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ แสตมป์พระราชกรณียกิจและพระอัจฉริยภาพ แสตมป์ราชาภิเษกสมรส และแสตมป์อื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง 

นี่คือชุดแสตมป์ตัวอย่าง ในแต่ละหมวดที่เราชื่นชอบในความสวยงาม และเทคนิคแพรวพราวจนอยากแบ่งปันให้ชมกัน

หมวดแสตมป์ใช้งาน
1. พระบรมฉายาลักษณ์ ร.9 ชุด 1 (สยาม) พ.ศ. 2490


2. พระบรมฉายาลักษณ์ ร.9 (ชุด 3) พ.ศ. 2504


3. พระบรมฉายาลักษณ์ ร.9 (ชุด 5) พ.ศ. 2515


หมวดแสตมป์ที่ระลึกแสตมป์ฉลองครบรอบพระชนมายุ

4. ฉลองราชนิติภาวะ แสตมป์ที่ระลึกชุดแรกในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นแสตมป์ในวาระการบรรลุนิติภาวะ พระชนมายุ 20 พรรษาพอดี และยังถือเป็นแสตมป์เฉลิมพระชนมพรรษาชุดแรก เพราะออกในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2490 ออกช้ากว่าแสตมป์ใช้งานชุดแรกเพียง 20 วันเท่านั้น


5. เฉลิมพระชนมพรรษาครบ 4 รอบ


6. มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ (ชุด 1) จุดเริ่มต้นการใช้เทคนิคพิเศษครั้งแรกของวงการแสตมป์ไทย พิมพ์ด้วยแผ่นทองคำแท้และปั๊มดุนนูนเพื่อให้สมวาระมหามงคล และยังเป็นครั้งแรกที่ออกแสตมป์ที่ระลึกชุดลำดับถัดไปให้สะสมพร้อมกันด้วย




7. มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ (ชุด 3)


8. มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ (ชุด 3)


9. มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ (ชุด 1) แสตมป์ 7 เหลี่ยมด้านเท่าดวงแรกของโลก ในชุดประกอบด้วยแสตมป์ 7 ดวง ชื่อชุดสัตตมหามงคล ภูมิพลมหาราชา ภาพในแสตมป์พิมพ์เหมือนผนึกเหรียญเข้าไปในแสตมป์ ใช้ต้นแบบจากเหรียญที่ระลึกจริง


10. มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา (ชุด 2) แสตมป์ชุดนี้เป็นการร้อยเรียงภาพในช่วงพระชนมายุที่เคลื่อนผ่านทีละ 10 ปี ตรงกลางเว้นเป็นภาพระหว่างในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระผนวช ใช้เทคนิคภาพโฮโลแกรม 3 มิติ


11. วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2552


12. วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2553 เมล็ดข้าวบนแสตมป์เป็นเมล็ดข้าวจริง และเป็นเมล็ดข้าวเปลือกมงคลจากพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในวันพืชมงคล พิมพ์และบรรจงติดเมล็ดข้าวด้วยมือทุกดวงจนครบ 1 ล้านดวงที่ฝรั่งเศส




แสตมป์พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ

13. รัชดาภิเษก


14. รัชมังคลาภิเษก (ชุด 1) (รัชมังคลาภิเษกหมายถึงวาระการครองราชย์ยาวนานที่สุดในราชวงศ์จักรี)


15. งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี (ชุด 1) ชุดนี้พิมพ์ด้วยทองคำแท้และปั๊มดุนนูน


แสตมป์พระราชกรณียกิจและพระอัจฉริยภาพ
16. โครงการที่ดำเนินการตามพระราชดําริ


17. การเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริ


18. พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย


แสตมป์ราชาภิเษกสมรส
19. ราชาภิเษกสมรสครบ 15 ปี


20. ราชาภิเษกสมรสครบ 50 ปี


21. 60 ปี ราชาภิเษกสมรส แสตมป์รอยปรุรูปหัวใจ ประดับด้วยคริสตัลแท้จากสวารอฟสกี้ ดวงละ 6 เม็ด เม็ดหนึ่งแทนเวลา 10 ปี จัดทำเป็นชุดตั้งโชว์ นอกจากนี้ยังผลิตหนึ่งชุดพิเศษซึ่งประดับด้วยเพชรแท้รูปหัวใจแทนคริสตัล เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายในหลวงรัชกาลที่ 9


อื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง

22. เอเชียนเกมส์ครั้งที่ 6 (ชุด 2)


23. ครบรอบ 60 ปี คณะลูกเสือไทย


24. ครบรอบ 100 ปี ธนบัตรไทย


25. 100 ปี งานวิจัยข้าวไทย เป็นแสตมป์ชุดสุดท้ายในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9


ยังมีแสตมป์พระบรมฉายาลักษณ์ที่งดงามอีกหลายชุด ใครอยากชมอย่างเต็มอิ่ม ตามไปดูให้ครบ 70 ชุดที่พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน ซึ่งกำลังมีนิทรรศการ ‘ทุกดวงตราจารึกไว้ สถิตใจไทยนิรันดร์’ จัดแสดงตราไปรษณียากรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอดรัชสมัยของพระองค์

ภาพ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

ตะลอนชิมผักพื้นเมือง ที่หลาดใต้โหนด พัทลุง


ลงใต้ไปสัมผัสชีวิตยามเช้าของชาวพัทลุง ที่หลาดใต้โหนด ตลาดนัดที่จัดทุกเช้าวันอาทิตย์ ที่รุ่มรวยด้วยผักพื้นบ้านหลากชนิด ไว้ให้เลือกซื้อหากันมากละลานตาที่สุด

มาหาคำตอบกันว่าในเวลาแค่ 1 ปี ชาวบ้านที่นั่นทำยังไง ให้หลาดใต้โหนดแห่งนี้ เป็นมากกว่าแค่พื้นที่ซื้อขายของกิน แต่คือชุมชนที่ทุกคนมีส่วนร่วม และมองเห็นเหมือนกันว่า อาหารเหล่านี้มีคุณค่าที่สะท้อนความมั่นคงของวัฒนธรรมการกินในบ้านเรา

ความหมายของตลาดใต้ต้นตาลโตนด หรือที่คนพื้นถิ่นเรียกว่า ‘หลาดใต้โหนด’

“ไก่พวกนี้เป็นไก่เถื่อนนะ รู้จักไหม ไก่เถื่อน (หัวเราะ)​“ เธอหมายถึงไก่สดเนื้อสีเทาอ่อนที่วางขายอยู่ระหว่างทาง เราขมวดคิ้วมองตาม เพราะเดาความหมายของ ‘เถื่อน’ ในที่นี้ไม่ออก

“เถื่อนหมายถึงป่า เพราะไก่ที่วางขายในตลาดนี้ส่วนมาก เป็นไก่พันธุ์ผสมระหว่างไก่ป่าและไก่บ้าน เนื้อเหนียวนุ่มคล้ายนกกระทา ชาวบ้านเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ นานๆ ถึงมีมาขายสักตัว” คำอธิบายจากปากแม่ค้าช่วยไขความข้องใจของเราจนกระจ่าง ซึ่งนี่อาจเรียกว่าเป็นจุดขายของหลาดใต้โหนดก็ไม่ผิดด้วย 

‘ผักพื้นบ้าน’ ละลานตานั้น ไล่เรียงมาตั้งแต่ผักจากป่า ผักจากท้องนา และผักริมรั้ว ที่พ่อค้าแม่ค้าเด็ดมาวางขายกันสดๆ “อาหารใต้ต้องมีผักแกล้มเสมอ เพราะรสจัดจ้าน เขาเรียกกันว่าผักเหนาะ” ระหว่างเลือกซื้อผักพื้นบ้านราคาน่ารักใส่ตะกร้า “ขมิ้นนี่ขาดไม่ได้เลยในอาหารใต้ หลายจังหวัดถึงกับมีแกงขี้หมิ้น (คำเรียกขมิ้นในภาษาใต้) เป็นจานเด็ด เพราะขมิ้นช่วยขับลม ดับกลิ่น ช่วยปรับสมดุลร่างกายสำหรับคนที่อาศัยอยู่แถบร้อนชื้น ริมชายฝั่ง”

“ขมิ้นก็มีหลายแบบ หัวใหญ่แบบนี้เรียกแม่ขมิ้น เป็นส่วนหัวของขมิ้นเล็กๆ แบบที่เราเจอตามตลาดทั่วไป มีกลิ่นรสจัดจ้านกว่า มีสรรพคุณเยอะกว่า” แน่นอนว่าไม่ใช่แค่แม่ขมิ้น แต่ผักอีกหลายชนิดในตลาดแห่งนี้ก็มีสรรพคุณมากกว่าที่เราคิดเช่นกัน เช่น มะไฟป่าสีแดงก่ำรสเปรี้ยวสดชื่น ที่แม่ค้าลองยื่นให้เราชิม “อาหารใต้มักมีผักหรือผลไม้รสเปรี้ยวแกล้มเกือบทุกเมนู”

นอกจากวัตถุดิบสดใหม่จากป่า นา เล ถัดไปไม่ไกล ยังมีอาหารพร้อมกินเรียงรายไว้รอเสิร์ฟ ทั้งร้านข้าวแกงห้ามพลาด ร้านขนมพื้นบ้านที่หากินยากจากที่อื่น ทั้งขนมลืมกลืนหอมกลิ่นกะทิ ขนมต้มข้าวเหนียวดำห่อด้วยใบกะพ้อทรงสามเหลี่ยมน่ารัก หรือขนมตาลสีเหลืองละมุน ซึ่งปรุงจากผลตาลที่ร่วงอยู่เต็มลานใต้ต้นตาลโตนดแห่งนี้

ข้าวสังข์หยด ข้าวพันธุ์พื้นบ้านของดีเมืองพัทลุง หอยกาบจากทะเลใต้ และ ‘สาคูต้น’ ผลิตผลจากต้นสาคู พืชพื้นถิ่นของภาคใต้ ต้นใหญ่คล้ายมะพร้าว เป็นต้นทางของขนมสาคู ที่เราหลงรักกันทั้งประเทศ ทว่าขนมสาคูส่วนใหญ่มักทำจากแป้งมันสำปะหลัง ด้วยเมล็ดสาคูแท้นั้นหายาก แต่โชคดีที่มีมากในแถบจังหวัดพัทลุง จึงมีวางขายอยู่แทบทุกร้านในตลาดใต้โหนดแห่งอำเภอควนขนุน

“ข้าวยำ” หยิบข้าวสังข์หยด รวมถึงผักพื้นบ้านนับสิบชนิดตามลงไป พลางใช้ไม้พายคลุกทุกอย่างให้เข้ากัน “การคลุกช่วยดึงน้ำมันหอมระเหยในวัตถุดิบออกมา ทำให้กลิ่นรสของอาหารเข้มข้นขึ้น อร่อยขึ้น” แม่ครัวว่าอย่างนั้นระหว่างยีเนื้อปลาดุกร้า วัตถุดิบจาก ‘ทะเลน้อย’ ทะเลสาบน้ำจืดใจกลางเมืองพัทลุงที่มีปลาดุกชุกชุม จนกลายเป็นของฝากขึ้นชื่อของชุมชน “ปลาดุกร้าของพัทลุงพิเศษมาก เขาจะล้างปลาดุกสดให้สะอาด แช่น้ำให้เนื้อปลาพองฟู ถึงนำไปตากแดด ก่อนนำไปหมัก แล้วเอาออกมาตากแดดอีกรอบ จนได้เนื้อปลาดุกรสเค็มอ่อนๆ หอมอร่อย” ไม่นานเมนู ‘ข้าวสังข์หยดคลุก’ ก็พร้อมเสิร์ฟเคียงกับลูกตะลิงปลิงสีเขียวสด และผักเหนาะอีกกระจาดใหญ่ เราไม่รอช้าคว้าช้อนมาตักชิม แนมกับผักสดชนิดนั้นนิดชนิดนี้หน่อย เพื่อเติมความอร่อยขึ้นอีกระดับ ส่วนผสมในจานข้าวคลุกนั้นหลากหลาย จึงได้รสแต่ละคำไม่ซ้ำกัน และจะอร่อยล้ำถ้ากินทุกคำให้หมดจาน

“ยำแป้งสาคูหอยกาบกับยอดผุด” แค่ฟังชื่อเราก็ร้องถามว่าคืออะไร แม่ครัวตรงหน้ายกยิ้ม ก่อนเริ่มนำเมล็ดสาคูมากวนจนเป็นวุ้นใส แล้วใช้ช้อนตักสาคูออกเป็นคำๆ คลุกกับข้าวสังข์หยดอบกรอบ กุ้งแห้งป่น และขี้มอด (ข้าวคั่ว น้ำตาล งาคั่ว บดรวมกัน เป็นเครื่องปรุงในอาหารใต้) ก่อนนำไปยำกับเครื่องเคราครบรส ทั้งส้มแขก ตะลิงปลิง หอยกาบลวก และยอดผุด ผักพื้นบ้านสีชมพูสวย รสเย็นๆ คล้ายขิงหรือข่า กระทั่งได้ออกมาเป็นจานยำรสแปลกลิ้นแต่อร่อยล้ำ และทำให้เราเข้าใจรสชาติของอาหารแดนใต้ได้ภายในไม่กี่คำ

“อาหารใต้คือรสชาติของ ป่า นา เล” 

เราสรุปความกับแม่ครัวว่าอย่างนั้น และป่า นา เล ดังกล่าวก็อาจอนุมานได้ถึงรสชาติของ ‘บ้าน’ ที่ประกอบสร้างจากวัตถุดิบที่งอกงามขึ้นจากผืนดินด้ามขวาน

โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูย่านเก่าให้มีชีวิต


สถาบันอาศรมศิลป์ เล่าเรื่องโครงการบูรณะอาคารและย่านเก่าเพื่อฟื้นคืนชีวิตชีวาให้ชุมชนทั่วประเทศไทย ทำให้รู้จักหน้าที่อีกอย่างของสถาปนิก ที่ไม่ค่อยคุ้นชินกันอย่างการอนุรักษ์และฟื้นฟูย่านเก่า

เขาพาไปดูตัวอย่างการทำงาน ทั้งการบูรณะคุกเก่าให้เป็นสวนสาธารณะกลางเมืองเชียงราย จับมือร่วมกับบ้านพักประวัติศาสตร์หลวงราชไมตรี และการบูรณะศาลาเรียนที่วัดคูเต่า จังหวัดสงขลา ที่ที่ทีมงานและชาวบ้านร่วมกันคืนคุณค่าประวัติศาสตร์ สมัยบรรพบุรุษกลับมาให้ลูกหลานจับต้องได้อีกครั้ง ทำให้มองอาคารเก่าๆ ใกล้บ้านเราเปลี่ยนไปไม่น้อยเลยล่ะ

สิ้นบุญ "โกฮง" พงษ์ ถาวรวิวัฒน์บุตร เทรนเนอร์คู่บารมี "เขาทราย"


“โกฮง”พงษ์ ถาวรวิวัฒน์บุตร เทรนเนอร์คู่บารมี เขาทราย แกแล็คซี่ อดีตแชมเปี้ยนโลกขวัญใจชาวไทย สิ้นลมแล้ว ..

เมื่อวันที่ 25 ก.ค.59 รายงานข่าวแจ้งว่า นายพงษ์ ถาวรวิวัฒน์บุตร หรือ “โกฮง” เสียชีวิตอย่างสงบที่พัก แฟลต อาคารพึ่งบุญ รามอินทรา 79 ท่ามกลางภรรยาและญาติ หลังจากป่วยด้วยโรคชรา และมีโรคความดัน เบาหวาน หลายโรครุมเร้ามานานหลายปี ซึ่งเจ้าตัวไม่สามารถช่วยตัวเองได้มานานหลายเดือน ต้องนอนอยู่บนที่นอน กระทั่งสิ้มลมไปอย่างสงบ เมื่อช่วงเวลาประมาณ 18.00 น. วันจันทร์ที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา

ญาติจะนำร่างไปทำพิธี ที่วัดพระยาสุเรนทร์ เขตคลองสามวา กทม. ทำพิธีรดน้ำศพ 16.00 น. วันอังคารที่ 26 ก.ค. สวดพระอภิธรรม เวลา 19.00 น. ก่อนฌาปนกิจ วันอาทิตย์ที่ 31 ก.ค. เวลา 16.00 น.

โกฮง คือเทรนเนอร์คู่บารมี เขาทราย แกแล็คซี่ อดีตแชมป์จูเนียร์แบนตั้มเวต สมาคมมวยโลก (WBA) และเด่นเก้าแสน กระทิงแดงยิม อดีตแชมป์โลก รุ่นฟลายเวต WBA เคยสร้างสรรค์นักมวยไทยอีกมากมาย ภายใต้การร่วมมือกับ “แชแม้” นิวัฒน์ เหล่าสุวรรณวัฒน์ โปรโมเตอร์คนดังแห่งศึกพลังหนุ่ม และ แกแล็คซี่ โปรโมชั่น

พงษ์ เกิดเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2484 อายุ 75 ปี เป็นบุตรนายเต็ง และนางตี่ ซึ่งอพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน ตัวโกฮงเป็นคนสุดท้อง และเป็นชายทั้งหมด

พื้นเพเป็นชาวอุทัยธานี ติดตามพี่ชาย “ศักดิ์ณรงค์ ลูกสุรินทร์” มาอยู่ค่ายเมืองสุรินทร์ แต่เนื่องด้วยร่างกายใหญ่โตจึงไม่ได้ชกมวย ทว่าก็ยังคลุกคลีอยู่ในค่าย ยุคที่ ครูมนู สมพันธ์ เป็นเจ้าของ และได้ศึกษาวิธีการเทรนเนอร์เก็บเกียวประสบการณ์จากครูมนูจนหมดสิ้น จนอายุ 25 จึงย้ายไปเป็นเทรนเนอร์เต็มตัวที่ค่าย”สิทธิบุญเลิศ” ก่อนจะย้ายมาตั้งค่ายตัวเองชื่อ “ศักดิ์ณรงค์” สร้าง เนตรศักดิ์ณรงค์ และ ณรงค์น้อย ศักดิ์ณรงค์ เป็นยอดมวยไทยชื่อดังคู่บารมี กระทั่งเลิกรา และยุบค่ายไปในที่สุด

จนปี พ.ศ.2528 ได้รับการติดต่อจาก “แชแม้”นิวัฒน์ เหล่าสุวรรณวัฒน์ ให้มาเป็นเทรนเนอร์ เขาทราย รับช่วงต่อจาก “ครูเฒ่า ชนะทรัพย์แก้ว” สร้างสรรค์ขัดเกลาวิชามวยจนเขาทราย กลายเป็นแชมเปี้ยนโลกขวัญใจชาวไทยตลอดกาล และเป็นแชมป์โลกระดับตำนาน ถือเป็นคู่หู คู่บารมีของกันและกัน

ช่วงบั้นปลายเคยได้รับการดึงตัวจาก นริส สิงหวังชา ให้เข้ามาช่วยเทรนเนอร์ เด่นเก้าแสน กระทิงแดงยิม จนกลายเป็นแชมป์โลกอยู่ระยะหนึ่งก่อนโกฮงจะเลิกราไปเนื่องจากสภาพร่างกายไม่อำนวย ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดัน ก่อนจะเสียชีวิตอย่างสงบในที่สุดด้วยวัย 75 ปี

ยาหอมหวานที่หอมนานนับร้อยปี


เพียงเดินเข้าไปในซอยเทศา ย่านเสาชิงช้า ก็ได้กลิ่นเครื่องยาสดชื่น และได้ยินเสียงเพลงย้อนยุคลอยมาจากบ้านสไตล์โคโลเนียลแบบตะวันตก ป้ายเขียนด้วยตัวอักษรไทยว่า บำรุงชาติสาสนายาไทย

ที่นี่ คื อสถานที่ผลิตและจำหน่ายยาแผนโบราณ ‘ตราหมอหวาน’ ที่ก่อตั้งโดยหมอหวาน รอดม่วง แพทย์โบราณที่มีชื่อเสียงในรัชกาลที่ 6 ผู้ตั้งใจสืบสานภูมิปัญญาและรับการแพทย์ตะวันตก มาปรับใช้
พัฒนารูปแบบยาไทยที่เดิมใช้ แต่การต้มมาเป็นยาหอมแบบเม็ดคล้ายตะวันตก 

บรรยากาศไม่เหมือนร้านขายยาทั่วไป มีขวดยาตกแต่งเรียงรายบนตู้รอบร้าน เหมือนพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมที่จัดแสดงความเป็นมาของยาหอมไทย 

ได้ชมที่มาของวัตถุดิบต่างๆ ที่ชวนอึ้งไม่น้อย เช่น เห็ดจากนมเสือโคร่งแม่ลูกอ่อน อำพันทองจากอสุจิปลาวาฬ ชมอุปกรณ์เครื่องมือแบบโบราณ และขั้นตอนการหุ้มเม็ดยาด้วยทอง ที่จริงแค่ได้เห็นความสวยงามของบ้านก็เกินคุ้ม ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

Mowaan.com

มัสยิดขนาดใหญ่ที่เหมือนดอกไม้บาน


สถาปัตยกรรมแสนสวยหน้าตาเหมือนดอกไม้ที่ซ่อนอยู่กลางเมืองใหญ่ ในซอยรามคำแหง 2 ใกล้สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ รามคำแหง คือ มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ถูกสร้างตั้งแต่ปี 2527 เพื่อเป็นศาสนสถานของชาวมุสลิม ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ แทนที่จะเป็นซุ้มโค้งโดมแบบที่เราเห็นตามมัสยิดทั่วไป กลับออกแบบให้เป็นหลังคารูปหกเหลี่ยมหรือรังผึ้ง มีเสาตรงกลาง
มองจากด้านข้างจึงสวยงามราวกับดอกไม้บานรับแสง ความโค้งของเพดานที่สูงโปร่งทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศ เหมาะแก่การสงบจิตใจของชาวมุสลิมรวมถึงผู้มีจิตศรัทธาต่างศาสนา 

ประธานมูลนิธิฯ กระซิบบอกเราว่า ความสวยหวานของสถานที่แห่งนี้ ยังทำให้ถูกจองคิวจัดงานแต่งเกือบทุกสัปดาห์เลยนะ

Thaiislamicenter.com

ห้องเรียนธรรมชาติไร้ชีวิตที่ยังมีชีวา


ตึกชีววิทยา 1 หรือตึกขาว เป็นอาคารเก่าของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นไปชั้น 2 ภายในห้อง 203 หลังประตูไม้บานใหญ่คือ พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ซึ่งเป็นที่จัดแสดงสัตว์สตัฟฟ์ไม่กี่แห่งในประเทศไทย รวบรวมจากของสะสมของอาจารย์ในคณะหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ทะเล หรือสัตว์ปีก ก็มีสตัฟฟ์ไว้ให้ศึกษาอย่างหลากหลาย รวมถึงสัตว์สงวนหาดูยาก

สัตว์สูญพันธุ์ ที่เราไม่มีโอกาสได้เห็นอีก ที่ภาคชีววิทยานี้ ยังมีพิพิธภัณฑ์เต่าและตะพาบ พิพิธภัณฑ์หอยทาก และพิพิธภัณฑ์ผีเสื้อสตัฟฟ์ หลายสายพันธุ์ที่ยังคงความสวยงามของปีกเอาไว้อย่างสมบูรณ์ 

เข้ามาเรียนรู้ธรรมชาติกันฟรีๆ ได้ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น คนชอบชีววิทยาควรหาเวลาเข้ามาให้ได้

ห้องสมุดเด็กสุดน่ารักในบ้านเก่าสไตล์โคโลเนียล


บ้านไม้เก่า 2 ชั้น กลางซอยวัดม่วงแค หรือซอยเจริญกรุง 34 เป็นที่ตั้งของห้องสมุดเด็กปฐมวัยแห่งแรกของกรุงเทพมหานครชื่อ ห้องสมุดเด็กดรุณบรรณาลัย 

คุณสุธาทิพ ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการห้องสมุด ผู้ใจดีเล่าว่า ในสมัยรัชกาลที่ 6 บ้านหลังนี้เป็นของข้าราชการท่านหนึ่ง ซึ่งภายหลังได้กลายมาเป็นสำนักงานของหน่วยงานราชการ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กราชานุกูล (วัดม่วงแค) แล้วปรับปรุงใหม่ให้กลายมาเป็นห้องสมุดหนังสือภาพ สำหรับเด็กปฐมวัยของมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ออกแบบโดยสถาปนิกหนุ่มสาวจาก Plan Architect พวกเขาเริ่มต้นศึกษาตัวอย่างห้องสมุดเด็กในต่างประเทศ แล้วสร้างสรรค์ห้องสมุดแห่งนี้ด้วยแนวคิด ‘บ้านต้นไม้’ ซึ่งให้บรรยากาศอบอุ่น น่ารัก ปลอดโปร่ง และทำให้เด็กได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากที่สุด 

จุดที่น่าสนใจที่สุดของที่นี่คือ ‘บันไดสายรุ้ง’ ซึ่งเชื่อมห้องสมุดไปสู่สนามหญ้าเทียมด้านนอกบ้าน แล้วยังมีเนินหลังคาเตี้ยๆ เหนือร้านกาแฟ ให้เด็กได้นั่งอ่านหนังสือเล่นด้วย
ห้องสมุดแห่งนี้เปิดใช้บริการเมื่อต้นปี 2559 เปิดทุกวันพุธถึงอาทิตย์ ที่นี่เหมาะกับครอบครัวที่อยากชวนเด็กๆ มาทำกิจกรรมดีๆ ร่วมกันในวันหยุด แต่ถ้าใครยังไม่มีลูกหลาน แค่มาเดินดูตึกเก่าสวยๆ และรายละเอียดของการออกแบบ ที่ตั้งใจคิดมาเพื่อเด็กแทบจะทุกจุดก็สนุกแล้ว

ขนมจีนราดวัฒนธรรมไทย-โปรตุเกส


ขนมจีนแกงไก่คั่ว คือ หนึ่งในอาหารหลักดั้งเดิม ที่ใช้ในเทศกาลและงานมงคลของชาวกุฎีจีน 

ปัจจุบัน เหลือร้านที่ยังทำได้เพียง 3 เจ้าเท่านั้น หนึ่งในนั้นคือ เฮโลนมสด ร้านอาหารบรรยากาศอบอุ่นริมแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าโบสถ์ซางตาครู้ส
 
ร้านนี้อยู่ในบ้านไม้ของครอบครัว ที่สืบทอดวัฒนธรรมของตระกูล จากทวดที่เป็นคนโปรตุเกสและคนจีน
สูตรขนมจีน ซึ่งเป็นมรดกสืบทอดกันมาคือ ขนมจีนเส้นสดเหนียวนุ่ม ราดด้วยเนื้อไก่ ตับ กึ๋น ในน้ำยารสละมุนลิ้น คลุกเคล้ากับพริกเหลือง อร่อยจนรู้สึกว่าคุ้มค่ากับการเดินมาจนเหงื่อซึม

พระตำหนักน้อยแสนรื่นรมย์ของรัชกาลที่ 6


ไม่ค่อยมีใครรู้ว่า ด้านหลังพระราชวังพญาไท ที่ตั้งตระหง่าน สวยงาม และหรูหรา มีพระตำหนักหลังน้อยแอบอยู่ริมสระน้ำ

พระตำหนักเมขลารูจี เป็นพระตำหนักรูปทรงคลาสสิก คล้ายบ้านกระท่อมในยุโรป ตัวเรือนเป็นไม้สักทาสีฟ้า มุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา สร้างขึ้นเป็นที่ประทับชั่วคราวของรัชกาลที่ 6 ระหว่างการก่อสร้างพระราชวังพญาไท ชั้นบนติดกระจกโดยรอบตามพระประสงค์ เพื่อทอดพระเนตรการก่อสร้างพระราชวังด้วยพระองค์เอง
เมื่อพระราชวังพญาไทก่อสร้างเสร็จ จึงเปลี่ยนมาใช้เป็นสถานที่ทรงเครื่องใหญ่ (ตัดผม) พร้อมบรรเลงมโหรี บรรยากาศที่รื่นรมย์ส่งผลให้รัชกาลที่ 6 ทรงประพันธ์บทพระราชนิพนธ์ต่างๆ ที่พระตำหนักแห่งนี้
ปัจจุบัน พระตำหนักได้รับการอนุรักษ์ไว้ให้คนทั่วไปเดินชมได้จากภายนอก

ร้านอาหารไทยสุดชิกที่ซ่อนตัวมานานกว่า 20 ปี


กลางซอยเจริญกรุง 34 มีร้านอาหารไทยร้านหนึ่ง ที่ทางเข้าดูแสนจะธรรมดา แต่ทว่าสังเกตดีๆ จะเห็นความแตกต่างจนต้องร้องว้าวออกมา เพราะแค่เดินเข้าร้าน ก็รู้สึกเหมือนได้เข้ามาอีกโลกหนึ่งเลย

Harmonique ร้านอาหารไทยขวัญใจฝรั่งแห่งนี้ เกิดจากการสร้างสรรค์ของ 3 สาวพี่น้องเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ห้องแถวแบบจีนโบราณกับครอบครัว พอเพื่อนบ้านเริ่มย้ายออก เลยเซ้งห้องแถวทุกคูหาทั้งด้านในและนอก เปิดเป็นร้านอาหารไทยมานานกว่า 20 ปี โดยเปลี่ยนทางเดินตรงกลางระหว่างบ้าน เป็นพื้นที่วางโต๊ะให้ลูกค้าทานอาหาร แถมมีการตกแต่งแบบแปลกประหลาดอย่างไม่น่าจะเข้ากันได้ ทั้งรูปปั้นและของเก่าสไตล์จีน ไทย และยุโรป ที่ครอบครัวสะสม ถูกนำมาวางตกแต่งทั่วร้านละลานตาไปหมดสิ่งของคนละแนว ถูกจัดวางอย่างลงตัวจนน่าประหลาดใจ มองไปทางไหนก็ดูน่าค้นหา

ทางเข้ามีต้นไทรใหญ่ ที่ม่านรากไทรห้อยลงมาเป็นซุ้มประตู แสงไฟสลัวสีนวลตัดกับผนังปูนเก่าของตัวบ้าน สร้างบรรยากาศให้น่าหลงใหลยิ่งขึ้น
พระเอกของร้าน คือ อาหารไทยหน้าตาแปลก รสชาติอร่อยแบบฉบับชาวกรุงจนต้องลิ้มลอง เช่น เมนูอาหารไทยชุดสุดคูล ที่หาทานได้แค่ที่นี่ และแกงกะหรี่ปูรสชาติกลมกล่อม เนื้อปูเต็มจาน เนื้อแน่นละลายในปาก จนต้องร้องว้าวออกมาอีกรอบเลย

นิทรรศการ ‘พม่าระยะประชิด’


มิวเซียมสยามมีนิทรรศการใหม่ทีไร เราก็อดตื่นเต้นไม่ได้ว่า คราวนี้จะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของไทยและเพื่อนบ้านในแง่มุมไหน

พอเห็นนิทรรศการ ‘พม่าระยะประชิด’ ที่จัดช่วง 15 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2559 เนื้อหาคือการสลายอคติฝังลึกของคนไทย ที่มีต่อคนพม่าผ่านคอนเซปต์เกสต์เฮาส์เอาใจวัยรุ่นชอบเที่ยว ก็ยิ่งอยากรู้ว่าจะมีอะไรสนุกๆ ให้เราเข้าไปเล่นกันบ้าง 

คุณทวีศักดิ์ วรฤทธิ์เรืองอุไร นักจัดการความรู้อาวุโสจากมิวเซียมสยามจะเป็นคนเปิดประตู และพาเราเช็กอินนิทรรศการนี้ทุกซอกทุกมุม “ภารกิจของมิวเซียมสยาม คือ ทำความรู้จักเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน ตุลาคมปีที่แล้วเราเปิดด้วยนิทรรศการ ‘ประสบการณ์หู สู่อาเซียน’ เสียงฉันเสียงเธอ เสียงของเรา ต่อมาก็ต้องเริ่มทำความรู้จักประเทศต่างๆ เราเลือกพม่าเพราะมีเรื่องราวเยอะ และเป็นประเทศที่ต้องเคลียร์กันมากที่สุด ซึ่งมิวเซียมสยามก็มีงานวิจัยที่ทำไว้อยู่แล้ว ว่าอคติที่คนไทยมีต่อคนพม่าจริงๆ แล้วเกิดจากอะไร แต่งานวิจัยมันไม่สนุก ก็ต้องเซอร์เวย์เพิ่มว่า คนพม่าในไทยเขาอยู่กันยังไง นั่งรถตู้ตามกลับไปดูบ้านเขาที่หงสาวดี เพราะอยากรู้ว่าแล้วครอบครัวเขาที่พม่าเป็นยังไง”

นิยามของคนพม่าที่ทันสมัยสุดคืออะไร
คำที่ถูกต้องจริงๆ คือแขกที่ได้รับเชิญ เพราะเราขอให้รัฐบาลพม่าส่งคนมาทำงานในไทย เมืองไทยก็เป็นบ้าน เราเลยเอาสองคำคือ Guest กับ House มารวมกันเป็นเกสต์เฮาส์ เป็นธีมที่น่าจะทำให้เกิดบรรยากาศสบายๆ พร้อมที่จะเรียนรู้แขกคนอื่น เหมือนเวลาเราไปพักเกสต์เฮาส์ จะฟังเพลงก็ต้องใส่หูฟังใช่ไหม มันต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เราก็ต้องปฏิบัติตัวแบบนี้กับคนพม่าในไทย

ก่อนจะได้ธีมเกสต์เฮาส์ มี 2 ธีมที่ล้มไปคือ งานวัด ซึ่งเราคิดต่อยอดด้วยว่าจะจัดงานกฐินไปที่พม่าจริงๆ เป็น Living Exhibition ให้คนได้มาเรียนรู้ มีส่วนร่วมมากกว่าแค่อ่านข้อมูล เราชอบกันมากแต่ต้องล้มไปเพราะเดี๋ยวนี้วัยรุ่นที่ไหนจะมาเดินงานวัดทำบุญล่ะ

อีกคอนเซปต์ที่คิดได้คือ ‘ตามทองไทยไปพม่า’ อิงกับประวัติศาสตร์ที่ถูกตอกย้ำว่าพม่าเผาอยุธยาแล้วเอาทองไปสร้างเจดีย์ชเวดากอง เราจะเล่นประเด็นนี้แต่ปรับความคิดใหม่ว่าทองใน พ.ศ. นี้คือคนพม่าเข้ามาทำงาน แล้วเก็บหอมรอมริบเงินทองกลับไปประเทศเขา ซึ่งก็ล้มเพราะแรงไปและเข้าใจยาก คนอาจคิดว่าต้องถือดาบเข้ามาดูนิทรรศการเรา

พอได้ธีมเกสต์เฮาส์แล้ว ในเรื่องการดีไซน์ เราลดรูปเกสต์เฮาส์ลงมา ไม่ได้เป็นแบบเรียลิสติก อย่างห้องเช่าสองกะที่คนพม่าเขาแบ่งกันอยู่ 2 ครอบครัวก็จัดแสดงเป็นห้องนอนจริงๆ ข้าวของในชีวิตประจำวันของชาวพม่า เช่น แป้งทานาคา ใบเกิดของเด็กก็ใส่ไว้ในล็อกเกอร์เหมือนที่มีในเกสต์เฮาส์ แต่จะมีที่เราอัญเชิญยอดฉัตรจากเจดีย์ทรงพม่าที่กาญจนบุรีมาประดิษฐาน ซึ่งหลุดจากธีมเกสต์เฮาส์ วิธีแก้ก็คือทำเหมือนว่าคนดูวาร์ปออกไปเลย

อคติที่เรามีต่อพม่าก็เหมือนกับเลนส์อะไรบางอย่างบังตาเราไว้ เราจะแจกคีย์การ์ดให้ผู้เข้าชมทุกคน ที่การ์ดจะมีฟิล์มสีแดงซ่อนอยู่ตลอด ส่วนจัดแสดงจะมีคำที่เราพิมพ์ด้วยสีเขียวซ้อนกับสีแดง ถ้ามองด้วยตาเปล่าจะเห็นคำหนึ่ง แต่ถ้ามองผ่านฟิล์มสีแดงก็จะเห็นอีกคำที่เราซ่อนไว้ เช่น เห็นคำว่า ตักตวง คนพม่าเข้ามาตักตวงผลประโยชน์จากเมืองไทย แต่ถ้ามองผ่านฟิล์มนี้จริงๆ มันคือคำว่า ตามฝัน เห็นคำว่า ขัดสน แต่พอส่องแล้วกลายเป็นคำว่า สะสม ให้เห็นว่าเราลองมองชาวพม่าด้วยสายตาอีกมุมนึงดีไหม

เราคิดไว้ว่านิทรรศการต้องมีส่วนให้คนไทยกับคนพม่าได้พูดคุยทักทายกัน น้องนำชมนิทรรศการเลยเป็นคนพม่า เท่ากับว่าเราได้ประชิดกันตั้งแต่เดินเข้ามาแล้ว ซึ่งนิทรรศการเราไม่ได้มีเนื้อหาอะไรให้อ่านมาก อาจมีแบบเรียนพม่าวางไว้อยู่ ถ้าอยากรู้ว่ามันเป็นยังไงก็ลองเข้าไปถามน้องนำชมสิ

อีกส่วนที่เราตั้งใจคือผู้เข้าชมน่าจะมีได้มีส่วนร่วมทางสังคมกับชาวพม่าด้วย ที่วัดมหามัยมุณีจะมีพิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุณีกันทุกวันตอนตี 4 ทีนี้เราก็อยากให้ชาวไทยได้มีโอกาสร่วมพิธีนี้เหมือนกัน เลยเตรียมท่อนไม้ทานาคาให้ผู้เข้าชมร่วมกันฝนแป้งสะสมไว้ในโถ จบนิทรรศการก็จะส่งให้ทางสถานทูตพม่าไปใช้ในพิธีต่อไป

เราไม่อยากให้คนมาดูแล้วรู้สึกสงสารชีวิตคนพม่า เพราะเขาไม่ได้รู้สึกทุกข์ใจอะไรเลย อาจทำงานหนักแต่เขาก็อยู่กันได้ นิทรรศการนี้เลยตั้งใจชวนคนไทยมามองประวัติศาสตร์รอบด้านมากขึ้น เพราะประวัติศาสตร์ก็เป็นแค่พล็อตที่เขียนขึ้นมาเพื่อรับใช้อะไรบางอย่างในสมัยนั้น แต่เราหยิบมาเรียงลำดับใหม่ให้เนื้อหาตอบรับกับยุคสมัย เราไม่ได้พูดว่าจงลบอคติที่มีต่อคนพม่าไปเลยนะ เพราะเข้ามาดูนิทรรศการแค่ 20 นาทีคงทำไม่ได้ แต่เราให้ข้อมูลที่เขาอาจไม่เคยรู้มาก่อน ดูแล้วเราน่าจะรู้จักตัวเองมากขึ้น รู้จักชาวพม่ามากขึ้นด้วย

www.museumsiam.org