เรียนรู้สังคมสยามจากประชุมประกาศรัชกาลที่ 4

ในภาพอาจจะมี หนึ่งคนขึ้นไป, ผู้คนกำลังยืน และข้อความ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อาจเป็นพระมหากษัตริย์ที่คนไทยมีความรู้เกี่ยวกับพระองค์ท่านน้อยที่สุด เมื่อพิจารณาจากปริมาณหนังสือและงานวิชาการเกี่ยวกับพระองค์ท่าน นอกจากเรื่องสนธิสัญญาบาวริ่ง สุริยุปราคาที่หว้ากอ และเรื่องแต่งของแหม่มแอนนาแล้ว นับว่าความรับรู้เกี่ยวกับพระองค์ท่านในสังคมไทยค่อนข้างพร่าเลือน

ประชุมประกาศกว่า 343 ฉบับซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงคัดเลือก เพื่อตีพิมพ์ครั้งแรกในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง... การค้าเสรียุคแรก การเปลี่ยนสถานภาพของรัฐ และการจัดรูปสังคมวัฒนธรรม ฯลฯ รอการเรียนรู้จากผู้คนในสังคมไทย เรื่องราวเหล่านี้กำลังรอการเรียนรู้จากผู้คนในรุ่นหลัง "เพราะเราคิดว่าเรารู้เรื่อง แต่เอาเข้าจริงแล้วเราอาจจะไม่รู้ก็ได้ เพราะเราก็ท่องกันมา เรามักพูดถึงเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เรื่องของการหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคม นั่นเป็นประเด็นที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเรียนของกระทรวงศึกษาฯ เป็นส่วนใหญ่ แต่เอาเข้าจริงเราก็เห็นว่าเรื่องมันมีมากมายกว่านั้นอีก"

"เราเรียนรู้อะไรจากประชุมประกาศ"

ความสับสนอ่อนแอทางความรู้ความเชื่อเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและยุคสมัยของพระองค์ในสังคมไทยปัจจุบัน

ประการแรก ประวัติศาสตร์ทั้งการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ เราจะหมายถึงรัชกาลที่ 123 แล้วเราก็หยุด เมื่อเราอธิบายถึงยุคสมัยการปฏิรูปการปกครอง เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ตามแบบตะวันตกเราอธิบายถึงรัชกาลที่ 5 ต่อด้วย 6และ7 แล้วรัชกาลที่ 4 อยู่ที่ไหน ความเลือนลางในการเรียนรู้เกี่ยวกับพระจอมเกล้าที่เด่นชัดมากคือ หนังสือหรือหนังสือวิชาการการค้นคว้าเกี่ยวกับพระจอมเกล้ามีน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับรัชกาลอื่นๆ ในพระบรมราชจักรีวงศ์

อีกตัวอย่างของความสับสนอ่อนแอในการรับรู้เกี่ยวกับรัชกาลที่ 4 คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า ประชุมประกาศกว่า 343 ฉบับที่รวมเล่มตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่านี้ มิใช่ประกาศทั้งหมดของพระองค์ในช่วงรัชสมัย 17 ปี ของพระองค์ แต่เป็นการคัดสรรโดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ "คำถามก็คือว่ามีประกาศอีกจำนวนเท่าไหร่ มากแค่ไหนที่อยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ นี่อาจเป็นสภาวะเซื่องซึมของกระทรวงวัฒนธรรมที่ไม่กระทำอะไรเลยเกี่ยวกับช่วงเวลา 200 ปีของพระองค์" ดูเหมือนยิ่งใหญ่แต่ลางเลือน

ประกาศ ร.4 ความรู้ คือ อำนาจ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้ที่สถาปนาองค์ความรู้มากมาย

ดังนั้น จึงเป็นพระองค์เองที่กำหนดว่าอะไรถูกอะไรผิด 

ซึ่งประกาศรัชกาลที่ 4 นั้น ได้รับการคัดเลือกโดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อตีพิมพ์ครั้งแรกในปลายรัชกาลที่ 6 ปี พ.ศ. 2464 และถูกติพิมพ์ซ้ำมาอีกหลายครั้ง เนื้อหาของประชุมประกาศที่ได้รับการตีพิมพ์นั้น เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญา ทั้งเรื่องภาษาวรรณคดี เรื่องราวทางสังคม และรัชกาลที่ 4 ได้มีการฟื้นฟูประเพรีสมัยอยุธยา และหากจะวิเคราะห์ ทางวิชาการจริงๆ แล้ว หลายสิ่งในประชุมประกาศเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น


ความรู้ที่ถูกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 และทรงอิทธิพลต่อสังคมไทยปัจจุบันว่า

"รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างวาทกรรมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ประเพณีสมัยอยุธยา โดยที่ก่อนหน้านั้นเอาเข้าจริงแล้ว เราในยุคปัจจุบันไม่มีทางรู้จริงๆ ว่าอยุธยาเป็นอย่างไร ซึ่งหลักวิชาการทางมานุษยวิทยาสังคมวิทยา เรียกว่าเป็นประเพณีประดิษฐ์ ซึ่งเป็นประเพณีที่เราถือมาสืบทอดกันอยู่ในปัจจุบัน ก็ล้วนมาจากวาทกรรมของ ร. 4 แทบทั้งสิ้น"

ประกาศ ร. 4 การสื่อสารคืออำนาจ


เราจะเห็นว่าพระจอมเกล้า ทรงใช้ประกาศเป็นเครื่องมือสื่อสาร ระหว่างพระองค์กับผู้อยู่ใต้ปกครองของพระองค์ กลุ่มต่างๆ อย่างที่ไม่เคยมีจารีตเช่นนี้มาก่อนในสยาม และประเด็นต่อไปคือ ประกาศเหล่านี้มีความกว้างขวางและสารสื่อเข้าถึงราษฎร และผู้รับสารโดยเฉพาะได้มากกว่าสมัยก่อน 

ทั้งนี้ เพราะการมีเครื่องพิมพ์ของหลวงเองในสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นี่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมากของสยามที่มีเครื่องพิมพ์เข้ามา

หากรัชกาลที่ 4 ท่านอยู่ในบริบทของเรา สิ่งที่ท่านทรงพระราชปฏิสันถาร (Dialogue) กับราษฎร ก็จะคล้ายๆ กับรายการคุยกับประชาชนวันเสาร์ ถ้าเป็นของอเมริกาก็คือ รายการของประธานาธิบดี แฟรงคลินท์ ดีรูสท์เวลท์ คือ การคุยกับราษฎรในทุกๆ เรื่อง

ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 สะท้อนว่า ผู้ปกครองในขณะนั้น เริ่มคิดถึงเรื่องการสื่อสาร ถ่ายทอดถึงความต้องการ อำนาจ หรือเป้าหมายลงไปยังคนจำนวนมาก และในกรณีของรัชกาลที่ 4 หลังจากขึ้นครองราชย์แล้วสิ่งที่ปรากฏในประชุมประกาศ เอกสารสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราชกิจจานุเบกษา เป็นการบอกเน้นความต้องการว่า ต้องการสื่อสาร ข้อความและจดหมายทางการเมืองเหล่านั้น ไปถึงผู้รับคือราษฎรซึ่งก็คือผู้อยู่ใต้ปกครองโดยทางตรง ไม่ต้องผ่านตัวแทน ไม่ต้องผ่านพิธีกรรมตามประเพณีเดิม

การพยายามสื่อสารทางตรงนี้เอง เป็นสิ่งแสดงว่า กลุ่มผู้เริ่มปกครองเริ่มมองเห็นการก่อรูปขึ้น ของผู้อยู่ใต้ปกครองที่เป็นนามธรรมมากขึ้น 

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบประชุมประกาศกับกฎหมาย ที่เคยประกาศใช้ก่อนหน้านี้ซึ่งปรากฏว่า กฎหมายก่อนหน้าประชุมประกาศ จะระบุถึงผู้อยู่ใต้ปกครอง ที่มีลักษณะเป็นรูปธรรมมาก เช่น ข้า ทาส บ่าว ไพร่ ทุกคนมีสังกัดแน่นอน แต่แนวคิดใหม่ที่มากับรัฐใหม่ที่เกิดขึ้น ระบุถึงผู้อยู่ใต้ปกครองที่เป็นนามธรรม คือ คำว่าพลเมือง ซึ่งระบุไม่ได้ว่าใครอยู่ตรงไหน

ทั้งนี้ การที่ผู้ปกครองสามารถมองเห็นผู้อยู่ใต้ปกครอง อย่างเป็นนามธรรมได้ เพราะเขารู้ว่าตัวเองมีเทคโนโลยี หรือมีความสามารถในการทำให้การสื่อสารนั้น ลงไปถึงมวลราษฎรเกิดเป็นจริงได้ และเทคโนโลยี หรือเครื่องมือที่สร้างอำนาจ ในการสื่อสารในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็คือ แท่นพิมพ์ เทคโนโลยีการพิมพ์สมัยใหม่ที่มาพร้อมหมอบรัดเลย์...และจากนั้นไป การคิดเรื่องใหม่ๆ ก็จะตามมา เพราะการพิมพ์นั้นจะสร้างมาตรฐาน หรือระเบียบทั่วไปของเรื่องนั้นขึ้นมา เช่น การเขียน การสะกดการันต์ ไปจนถึงการสร้างนโยบายต่างๆ
"ความฝันของบรรดารัฐสมัยใหม่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นตะวันออกหรือตะวันตก คือ ความสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้อยู่ใต้ปกครอง ด้วยแนวคิดทั่วไปได้ อำนาจที่แท้จริงของผู้ปกครอง ไม่ต้องถูกตัดทอน แบ่งแยก ตีความและแอบอ้างโดยคนของรัฐอีกต่อไป นี่คือทฤษฎีในทางปฏิบัติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันก็ยังไม่สามารถทำได้ถึงขนาดนั้น" 
อย่างไรก็ตาม การสนทนากับประชาชนนั้น ถ้าผู้ทำการสนทนาไม่มีเป้าหมายที่เด่นชัด ก็จะไม่เกิดผลประโยชน์เท่าใดนัก แต่สิ่งที่รัชกาลที่ 4 ทรงกระทำนั้น มีความพยายามและมีผลงานออกมา จนกระทั่งเป็นรากฐานของการปกครองในปัจจุบันนี้หลายเรื่อง เช่น การพิมพ์ราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อจะแก้การที่มีคนโกง และใช้อำนาจตามอำเภอใจ สร้างความไม่เป็นธรรม ทำให้ราษฎรไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วกฎหมายเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นการพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาก็คือ การกำกับอำนาจการปกครองให้เป็นมาตรฐานอันเดียวกัน ให้เกิดความรับรู้ทั่วไป ชาวบ้านก็รู้ได้ แล้วก็รู้กันเองด้วย ไม่ใช่รู้ด้วยปากเป่า แค่การไปป่าวประกาศไม่พอ เพราฉะนั้นทุกคนต้องขวนขวายที่จะรู้ที่จะอ่าน
"รัชกาลที่ 4 ทรงพยายามที่จะแก้ปัญหาเกี่ยวกับความไม่รู้ และเข้าใจผิด โดยทรงพยายามสร้างความเข้าใจและความจริง ทว่าสิ่งที่พระองค์เพียรกระทำนั้น บรรลุผลหรือไม่ เป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เป็นหลักการตามตัวหนังสือ" 
ซึ่งไม่อาจชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของความพยายาม หากบรรลุตามที่รัชกาลที่ 4 ต้องการ ผลของการที่รัชกาลที่ 4 ทรงพยายามสร้างความรู้และการสื่อสาร จะต้องยกระดับการเมืองให้สูงขึ้นไป กว่าที่เป็นอยู่นี้ในระดับที่สูงมาก แต่ก็จะพบว่าหลังรัชกาลที่ 5 มา ก็จะพบว่าระบบเศรษฐกิจและการเมืองเริ่มจะถอยหลัง 

ฉะนั้น พระอัจฉริยภาพของรัชกาลที่ 4 เมื่อประเมินกับระบบการเมืองที่เป็นจริงแล้วนั้นก็เป็นปัญหา เหมือนกับปัญหาทางประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับระบบทางการเมืองของเรา ซึ่งก็เป็นระบบบนลงล่างอยู่ตลอดมา......
"การสื่อสารคืออำนาจ ทั้งความรู้คืออำนาจและการสื่อสาร คือ อำนาจนำไปสู่กระบวนการผลิตซ้ำทางสังคม นับตั้งแต่หลังจากพระองค์เสด็จสวรรคต โดยการตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาในสมัยรัชกาลที่ 5 และตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ใช้เป็นคู่มือแบบเรียนของชนชั้นนำทางสังคมจนกระทั่งถึงปัจจุบัน.. .ถ้าเราอยากรู้ว่าตัวตนของเราคืออะไรในปัจจุบัน อ่านประชุมประกาศรัชกาลที่ 4" 
คำว่า "อำนาจ" ของประชุมประกาศรัชกาลที่ 4...อำนาจที่ส่งผลกำกับ "ความเป็น" ของคนไทยและสังคมไทยตราบกระทั่งปัจจุบัน

การสถาปนารัฐสมัยใหม่ และการกำหนดช่วงชั้นทางสังคม


การทำความเข้าใจประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ต้องพิจารณาจากบริบทความเปลี่ยนแปลง 2 ด้าน คือ

ด้านแรก ตัวประชุมประกาศเอง แสดงให้เห็นบริบททางการเมือง ที่เปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 2 ระดับด้วยกัน
- การเปลี่ยนแปลงระดับแรก คือ การเปลี่ยนรูปรัฐมาเป็นรัฐบาล จากรัฐที่ครั้งหนึ่งไม่จำเป็นต้องมีบริการ (Service) และการควบคุม (Control)

ก้าวสู่ความเป็นรัฐบาลด้วยการบริการและควบคุม รัฐดั้งเดิมที่ปราศจากการบริการและการควบคุมนั้นจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น หากจินตนาการถึงรัฐแบบอยุธยา คือ รัฐที่มีการเก็บส่วยไป แต่ไม่ต้องสร้างโรงพยาบาล การเริ่มเปลี่ยนมาเป็นรูปจากรัฐ มาเป็นรัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ 4 หมายถึง การสร้างงานขึ้นมาอย่างน้อย 2 ด้าน คือ 
  • การบริการและควบคุม (Service และ Control) ซึ่งเห็นชัดจากประชุมประกาศฯ เช่น การประชุมประกาศที่เก็บภาษี เพื่อสร้างบริการ 
  • คำว่าทำนุบำรุงบ้านเมือง หรือทำให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข ก็คือความหมายของการเปลี่ยนรูปเป็นรัฐบาลที่ต้องทำหน้าที่บริการและควบคุม 
เราจะเห็นได้ชัดว่าการเปลี่ยนรูปของรัฐมาเป็นรัฐบาล โดยเฉพาะด้านการควบคุม เป็นร่องรอยแรกที่เกิดขึ้นและดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน ด้านการควบคุมนั้น ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจน เริ่มต้นมาจาก
  • การแบ่งช่วงชน ชนชั้น หรือการแบ่งช่วงของชนในสังคม ประเด็นที่ถูกเน้นย้ำที่สุดก็คือ การยกระดับของสถาบันกษัตริย์ขึ้นมา อ้างอิงความบริสุทธิ์ของสายเลือด ขีดเส้นแบ่งระหว่างราชวงศ์กับหม่อมราชวงศ์ลงมา
  • การยกระดับการพูดถึงวันเฉลิมเป็นวันหยุด นั่นคือการแบ่งช่วงของคนในสังคมให้ชัดเจนมากขึ้น 
นอกจาก การควบคุมและการแบ่งช่วงของสังคม ก็ยังมีการสร้างพื้นที่ของสังคมขึ้นมา เราจะพบว่า ในประชุมประกาศความสะอาดความสกปรก มีการพูดถึงพื้นทางทางสังคมในหลายมิติ 

ในการควบคุมพฤติกรรมของคน ก็มีมีการพูดถึงความสุภาพ หยาบคายและบทบาทของรัฐในการควบคุมก็คือ พยายามทำให้สกปรกหายไป กลายเป็นความสะอาด ทำให้ความหยาบคายหายไป กลายเป็นความสุภาพ

การควบคุมแบบนี้คือ การสร้างพื้นที่แบบหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นพื้นที่ที่รัฐจะต้องเข้าไปดูแล ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ แต่ถูกเน้นขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ...รัฐมีหน้าที่ทำนุบำรุงโดยการสร้างพื้นที่และรัฐเป็นคนดูแล

ด้านการบริการที่เกิดขึ้น คือ ส่งเสริมการค้าขาย บริการด้านความสะอาด การส่งเสริมด้านสมบัติส่วนบุคคล และที่น่าสนใจก็คือ ความรู้เรื่องสุขภาพอนามัย ซึ่งเริ่มเป็นความรู้ที่เข้าไปสู่เรื่องของตัวบุคคลมากขึ้น
"นอกจากเรื่องควบคุมและบริการแล้ว มีการพยายามที่จะจัดกระบวนใหม่ ในการช่วงที่ระบบไพร่พังทลายลง เราจะพบการประกาศในเรื่องของมูลนาย ไพร่ จีน เจ้าภาษี ซึ่งเป็นความปั่นป่วนของระบบไพร่ โดยรัชกาลที่ 4 พยายามที่จะจัดการด้วยการขยายอำนาจรัฐลงไปมากขึ้น นี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนระบบไพร่มาสู่ระบบใหม่" (การเปลี่ยนแปลงระดับล่าง) เนื่องจากในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนเป็นรัฐสมัยใหม่ ไม่มีใครมีอำนาจเด็ดขาด 
ดังนั้น ใครสามารถช่วงชิงพื้นที่ได้ ก็จะมีอำนาจมากขึ้น ในช่วงนั้นเอง อนาคตของขุนนางก็ไม่ได้วางอยู่บนฐานเศรษฐกิจแบบส่วยและแรงงานแบบเดิมแล้ว แต่ขึ้นอยู่กับระบบตลาด 

ดังนั้น ขุนนางจึงแตกเป็นกลุ่ม ไม่มีใครมีอำนาจเด็ดขาด

ประชุมประกาศของรัชกาลที่ 4 สามารถทำให้ทุกคนเห็นซึ่งกันและกันได้ ด้วยการหยิบเอาเรื่องนินทาขึ้นมาประกาศให้ทุกคนรู้ และการที่ทำให้ทุกคนเห็นซึ่งกันและกัน ได้ก็สามารถลดปัญหาเรื่องการรวมกลุ่มเพื่อแย่งอำนาจ และยิ่งจะทำให้การเมืองภายในกลุ่มต่างๆ ลดลง กระบวนการเปิดทำให้ทุกคนหยั่งรู้ได้ว่าใครจะเดินไปทางไหนและพระองค์ก็สามารถหยั่งรู้ได้มากกว่าคนอื่นๆ ด้วย

อีกด้านของอำนาจ เวลากับความรู้

นอกจาก การแบ่งช่วงชั้นสร้างพื้นที่ทางสังคมแล้ว อีกประการที่สำคัญ คือ ร.4 พยายามที่จะควบคุมเวลา การอธิบายเวลาที่เป็นมาตรฐานเดียว หรือพยายามที่จะทำให้เป็นมาตรฐานเดียว สามารถจัดปฏิทินชีวิตของคนไทยขึ้นมาได้ สามารถทำให้แต่ละจังหวัด แต่ละช่วงใน 1 ปี ถูกกำกับโดยพระมหากษัตริย์

การควบคุมเวลาได้ หมายถึง การมีอำนาจมากขึ้น 

นอกจากนั้นแล้ว ก็มีการควบคุมทางเศรษฐกิจ คือ การสร้างมาตรฐานกลางในการแลกเปลี่ยนขึ้น คือ สิ่งที่เราเรียกว่าเงินตรา โดยสร้างความเชื่อถือขึ้นมา สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเริ่มระบบแลกเปลี่ยนในสังคมเงินตราคือการสร้างความเชื่อถือให้ได้

อีกประการ คือ การสร้างสิ่งที่เป็นความรู้ขึ้นมา การแสดงเป็นผู้มีภูมิปัญญาในทุกๆ มิติ ได้แสดงว่าเป็นผู้มีความรู้ทางด้านอดีตของสังคมไทย พร้อมๆ ไปกับการพยากรณ์อนาคตด้วย จึงทำให้รัชกาลที่ 4 สามารถที่ถ่ายทอดอำนาจมายังพระโอรสด้วย

สถานะกษัตริย์จากประกาศรัชกาลที่ 4


เมื่อพิจารณาจากประชุมประกาศแล้วสามารถจำแนกสถานะออกเป็น 2 ส่วนคือ

ประการแรก ลายลักษณ์ ที่ถ่ายทอดมาจาก สิ่งที่พระมหากษัตริย์ประสงค์จะสื่อให้กับผู้รับสาร เป็นสื่อในระยะแรก อย่างน้อย 6 ปีก่อนตั้งโรงพิมพ์

ลายลักษณ์ ที่ถ่ายทอดออกมาในช่วงแรกนี้ ออกมาในรูปของจารีต คือ การรับสั่ง หรือเขียนแล้วให้อาลักษณ์เอาไปคัดลอกต่อ เพราะฉะนั้น ประกาศที่เราได้อ่านกัน จึงเป็นอกสารลายลักษณ์ที่ผ่านการถ่ายทอด 2 แบบคือ ถ่ายทอดจากสิ่งที่พระองค์เขียน หรือผ่านการถ่ายทอดจากสิ่งที่พระองค์รับสั่ง

อย่างไรก็ตาม สถานะของประกาศมีลักษณะพิเศษคือว่า เป็นคำสั่งของพระเจ้าแผ่นดิน 
เพราะฉะนั้น ประกาศจึงเป็นเอกสารลายลักษณ์ที่บอกตัวตนของจักรพรรดิราช และเมื่ออ่านจากประกาศรัชกาลที่ 4 แล้ว จะพบว่า แม้คนรุ่นหลังจะมองว่ารัชกาลที่ 4 เป็นกษัตริย์สมัยใหม่ แต่แท้จริงแล้ว "ตัวตน" ที่พระองค์ พยายามถ่ายทอดในประกาศอันนี้ก็คือ การบอกสถานภาพของพระองค์ ในฐานะองค์จักรพรรดิราช ซึ่งเป็นสมมติเทพที่อาจจะมีราก หรือความเป็นมาในแบบจารีตประเพณี

ตัวตน ที่จะบอกว่าเป็นคำสั่งของพระจักรพรรดิราชอยู่ที่พระนามาภิไธย ปรากฏอยู่ตอนต้นๆ ของประกาศซึ่งระบุชัดว่าตัวผู้ประกาศเป็นใคร

พระนามาภิไธย บอกความฐานะเป็นสมมติเทพแห่งองค์พระอิศวร และยังมีความสำคัญ 2 ประการคือ ระบุพระนามเฉพาะพระองค์ซึ่งไม่เคยมี ชื่อเฉพาะของกษัตริย์ไม่มีเคยมาก่อน

พระนามาภิไธยของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือเป็นครั้งแรกที่มีการตั้งชื่อเฉพาะของกษัตริย์ แล้วก็ใช้เรียกในเวลาที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ เพราะก่อนหน้านั้นจะไม่มีการตั้งชื่อพระมหากษัตริย์ที่เป็นชื่อเฉพาะ

ชื่อพระจอมเกล้า ยังเป็นชื่อที่สืบทอดความหมายดั้งเดิม คือ พระนามที่พระราชบิดาตั้งให้ก่อนครองราชย์คือ มงกุฎ ความหมายของพระจอมเกล้าและพระมงกุฎก็คือ ที่อยู่สูงสุด ก็คือที่อยู่สูงสุดเหนือร่างกายของมนุษย์ เพราะฉะนั้นพระนามของพระองค์ จึงย้ำฐานะของพระองค์ในฐานะเจ้าเหนือหัว ทรงเป็นจักรพรรดิราชไม่ได้เป็นกษัตริย์แบบอื่นเลย

ในขณะเดียวกับที่ทรงตั้งชื่อกษัตริย์แทนพระองค์แล้ว ก็ทำให้ต้องถวายชื่อให้องค์กษัตริย์องค์ก่อนหน้านี้ในราชวงศ์จักรีอีก 3 พระองค์ด้วยการจัดทำพระพุทธรูปฉลองพระองค์ถวาย การตั้งชื่อขนานพระนามที่สำคัญที่สุดก็คือ การขนานพระนามของพระเชษฐา ก็คือรัชกาลที่ 3 ท่านให้พระนามของพระเชษฐา ต่างกับพระนามของพระองค์เอง

พระนามของพระเชษฐา จะมีลักษณะของสามัญชน ในขณะที่พระนามของท่าน จะบ่งบอกความหมายที่อยู่สูงสุด อยู่เหนือร่างกายของมนุษย์ และยังอ้างอิงชาติกำเนิดที่ต่างกัน โดยอ้างเชื้อสายที่ต่างกันจากการกำเนิดจากพระราชมารดาที่มาจากสายเจ้า ในขณะที่พระเชษฐาเป็นสามัญชน การอ้างอิงนี้มีความสำคัญมาก เพราะในท้ายที่สุด จะมีประกาศอีกชุดหนึ่งที่จะบ่งบอกถึงความแตกต่างของชาติกำเนิด เพื่อที่จะทำให้การสืบสายสายสันตติวงศ์มีความชัดเจนขึ้น

ในสร้อยพระนามที่ว่า "มหาชนนิกรสโมสรสมมติ" นั้น เป็นสร้อยพระนามที่กำลังประกาศความหมายให้ทราบโดยทั่วกันว่า วิธีการได้มาซึ่งการดำรงสถานะกษัตริย์ของพระองค์นั้น ผ่านมติเห็นชอบร่วมกันของเหล่านิกร คือ ที่ประชุมที่ประกอบด้วยเจ้านายกับขุนนาง ท่วงทำนองการอธิบายแบบนี้ดูไม่ไกลเกินไปกว่าความรับรู้ของพระองค์ ที่มีต่อสภาพความเป็นไปและการปกครองในสังคมอื่น

ทั้งนี้ เมื่ออ่านประกาศประกอบกับพระราชหัตถเลขา ซึ่งเป็นพระราชสาสน์ฉบับหนึ่งในปี 2402 ถึงประธานาธิบดีสหรัฐ เนื้อความระบุว่าทรงชื่นชมระบบเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่ทรงเห็นว่าทำให้การสืบทอดอำนาจผู้นำเป็นไปโดยสันติ ไม่ต้องขัดแย้ง ไม่ต้องแข่งขันอำนาจกัน พระองค์อาจจะทรงเปรียบเทียบกับสภาวะที่พระองค์ทรงเคยประสบมาก่อน ที่ทำให้ต้องทรงยอมรับสภาพชะตากรรม ที่ไม่ทรงต้องการเลย ด้วยการผนวชเพื่อลี้ภัยการเมือง และบางทีพระองค์อาจจะกำลังวางพื้นฐานวัฒนธรรม การสืบทอดพระราชอำนาจแบบสันติ เพื่อพระราชโอรสองค์สำคัญที่สุดที่เป็นพระราชปิโยรสในอนาคต

พระนามาภิไธย ที่อิงความหมายอยู่กับชาติกำเนิดอันดีแล้ว อาจจะบ่งบอกความหมายที่ซ่อนอยู่ในนั้นได้ แต่สิ่งที่สำคัญทั้งหมดของประกาศก็คือ การบอกคุณสมบัติของจักรพรรดิอย่างพระองค์เท่านั้น ที่จะเป็นเจ้าของคำสั่งที่จะทำให้คนอ่านต้องปฏิบัติตาม

ประชุมประกาศ: การกำหนดไวยากรณ์ภาษา 

ประกาศรัชกาลที่ 4 ก่อให้เกิดการสร้างแบบแผนของภาษาในสาสน์ลายลักษณ์ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน  จากการศึกษาพบว่า แบบแผนสาสน์ลายลักษณ์ประกอบด้วยรูปแบบการเขียน ไวยากรณ์ภาษา การสร้างศัพท์และความหมายใหม่ ในด้านรูปแบบการเขียน มีการแบ่งประเภทของประกาศได้แก่ หมายรับสั่ง พระอักษรสาสน์ตรา ใบบอก

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ทรงกำหนดหลักเกณฑ์ว่า หมายรับสั่งจะต้องใช้แบบไหน ใครเป็นผู้ใช้ ใช้อย่างไร เป็นครั้งแรกที่มีการอธิบายรูปแบบการเขียน ในประชุมประกาศทั้งหมดนี้

สิ่งสำคัญอีกประการก็คือ การกำหนดว่าต้องบันทึกลงในกระดาษสมุดฝรั่ง ซึ่งไม่แน่ว่ารูปของวัสดุที่ใช้คือการใช้กระดาษสมุดฝรั่งและรูปแบบที่ต้องพลิกจากหน้าไปหลัง ซึ่งเปลี่ยนไปจากเอกสารลายลักษณ์สมุดไทย ที่ใช้วิธีพับทบซึ่งอ่านเป็นม้วนยาวๆ อ่านเรียงตามความยาวมีผลแตกต่างอย่างไร แต่น่าจะมีนัยสำคัญซึ่งเปลี่ยนวัฒนธรรมการอ่านของคนไทยในเวลานั้นซึ่งยังมีอยู่น้อยนิด

นอกจากนี้ พระองค์ได้ประกาศให้ความรู้เรื่องการผันวรรณยุกต์ มีการใช้พยัญชนะตามอักษรสามหมู่ ตลอดถึงการใช้สระและวรรณยุกต์ให้ถูกต้อง

ในด้านการสร้างศัพท์และความหมาย ทรงบัญญัติศัพท์เป็นจำนวนมากและมีนัยที่สำคัญทางการเมืองด้วย และเป็นความหมายใหม่ 

นอกจาก จะประดิษฐ์ตัวอักษร ท่านเป็นนักประดิษฐ์ศัพท์ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เป็นราชาศัพท์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นศัพท์ที่ยืนยันถึงจิตสำนึกในการใช้ภาษา เพื่อรักษาและสืบทอดโครงสร้างสังคมการเมืองที่ลดหลั่นฐานะกันภายใต้ระบบความสัมพันธ์แบบมูลนายไพร่ ซึ่งจริงๆ แล้วสังคมแบบนี้ก็น่าจะหมายถึงสังคมศักดินานั่นเอง

ประกาศรัชกาลที่ 4 ภาพผ่านของการเปลี่ยนแปลงสังคม


เงื่อนไขอะไร สภาพแวดล้อมอะไรที่ทำให้เกิดประชุมประกาศ กว่า 343 ฉบับ  สังคมสยามในช่วงรัชกาลที่ 4 คือสภาพของ 2 กระแสที่เข้ามาปะทะและทำปฏิกิริยากัน 2 กระแสที่ว่านั้น อาจจะหมายถึงการปะทะระหว่างกระแสของความเป็นสมัยใหม่ (Modernity) กับลักษณะดั้งเดิมของสยาม (Tradition) ก็ได้ หรืออาจจะหมายถึง การปะทะระหว่างเรื่องส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวมก็ได้
"เราสามารถมองประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 เป็นเหมือนบันทึกการเดินทางของคนๆ หนึ่งในการดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นสองข้างทางที่คนๆ หนึ่งเดินทางผ่าน ชีวิต 2 ข้างทางนั้นอาจจะหมายถึงสยาม..."
สิ่งที่น่าสนใจ หากมองภาพสังคมสยามผ่านประชุมประกาศก็คือ ในช่วงระยะเวลา 18 ปีที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ เราจะพบว่าในช่วงระยะ 3-4 ปีแรกที่ทรงครองราชย์ คือ ตั้งแต่ 2394 - 2397 ก่อนหน้าที่เซอร์จอห์น บาวริ่งจะเข้ามา ภาพของสองข้างทางจะเป็นแบบหนึ่ง แต่หลังจากปี 2398 เป็นต้นมา เมื่อดูจากประกาศรัชกาลที่ 4 เราก็จะพบว่าภาพ 2 ข้างทางเปลี่ยนแปลงไป... "อาจจะไม่ถึงกับจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ก็มีความเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของภาพชีวิต" ตัวอย่างของความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือ ในช่วงระยะ 2 ปีแรกที่ทรงครองราชย์ ประกาศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศให้หรือประกาศห้าม เกือบทั้งหมดจะเป็นเรื่องของพระราชประเพณี คณะสงฆ์ การกำหนดชื่อเรียกสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเมืองหรือข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ แต่เมื่อปี 2398 เป็นต้นมา เราจะพบเนื้อหาสาระที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าสนธิสัญญาบาวริ่ง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือการเกิดขึ้นของสิ่งใหม่ๆ 

ที่น่าสนใจคือ ในปีที่สนธิสัญญาบาวริ่งครบรอบ10 ปี จะพบว่าในปีนั้น มีประกาศซึ่งไม่มากในแง่ปริมาณ แต่เป็นประกาศที่สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลง

สังคมปลูกข้าวและสังคมค้าขาย

เราเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง จากประชุมประกาศ ที่ได้รับผลจากสนธิสัญญาบาวริ่ง 

ประการแรก เราเห็นความกระตือรือร้น ที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมสยาม ให้เป็นสังคมของการปลูกข้าว เป็นสังคมของการส่งออกข้าว

ประการต่อมา เมื่ออ่านตัวประกาศ เนื้อหาใจความเกี่ยวกับเศรษฐกิจจำนวนมาก เป็นแนวคิดแบบ อดัม สมิธ เช่น การตักเตือนให้ซื้อข้าว ก่อนที่ข้าวจะขาดตลาด ก่อนที่จะแพงขึ้นไป ก่อนที่ลูกค้าต่างชาติจะมากวาดซื้อ ภาษาคำอธิบายในการเชิญชวนให้ปลูกข้าว เช่น การลดอากรค่านา การพยายามที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของกลไกราคา กลไกตลาด..."เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นอุดมการณ์แบบ อดัม สมิธ" ในประกาศหลายฉบับเห็นได้ชัดว่า เรื่องของกลไกราคา กลไกตลาด หรือการค้าเสรีจะถูกแฝงอยู่ในประกาศเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น 

หลังปี พ.ศ. 2398 ซึ่งมีการเปิดการค้าเสรีเกือบทุกเรื่อง แม้ว่าจะมีการเกรงกลัวว่าข้าวจะขาดตลาด หรือว่า ฤดูการผลิตปีต่อไป อาจจะต่ำเพราะฝนอาจจะแล้ง ทว่ารัชกาลที่ 4 ทรงยืนยันโดยตลอดว่า จะไม่มีการห้ามการส่งออกข้าว หรือว่าห้ามลูกค้าชาวต่างชาติเข้ามาซื้อข้าว โดยมีประกาศออกมาย้ำเตือนว่าพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้เปิดการค้าขายข้าวอย่างเสรี และทรงเตือนว่าถ้ากลัวว่าจะมีการซื้อข้าวแพงก็ให้รีบซื้อ โดยภาพรวมของการเปลี่ยนแปลง ที่สามารถมองเห็นได้จากประชุมประกาศคือ การเปลี่ยนภาพสังคมไทยเข้าสู่การเป็นสังคมปลูกข้าว และสังคมของการค้า

สังคมเงินตรา 

ประการต่อมาที่เห็นได้ชัดคือ สังคมของการใช้เงินตรา ทั้งนี้ รศ.ฉลองอ้างถึงเกร็ดจากประชุมประกาศที่สะท้อนว่า รัฐมีความกังวลอยู่ตลอดเวลาว่า การค้าซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งไปสู่การแลกเปลี่ยนโดยการใช้เงินตรา จะนำไปสู่ปัญหาสำคัญประการหนึ่งคือ การที่ตัวกลางของการแลกเปลี่ยนคือตัวเงินตราไม่เพียงพอ

ฉะนั้น ภายในช่วงระยะเวลาเพียง 12-13 ปี ตั้งแต่ปี 2398-2407 มีการปรับ หรือเพิ่มการใช้เงินตราเข้ามาถึง 3 ครั้งด้วยกัน 

ครั้งแรกสุด คือ ในปี 2398 มีการประกาศให้การใช้เงิน เหรียญนอกใช้ได้อย่างถูกกฎหมาย โดยไม่ต้องตีตราก่อน ซึ่งนี่คือการสะท้อนให้เห็นการขยายตัวของการใช้เงินตรา และการค้าอย่างน่าตกใจที่เดียว 

ไม่เพียงเท่านั้น ในปี 2405 เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเงินตรา ที่จะมาใช้ในการแลกเปลี่ยนมีการนำเงินตราแบบใหม่เข้ามาใช้ คือ เงินอัฐ เงินโสฬส และอีก 3 ปีต่อมา ก็มีเงินตราแบบใหม่ขึ้นมาหมุนเวียนใช้ที่เรียกว่า เงินเสี้ยวทองแดง

นอกจากนี้ ยังมีประกาศไม่ให้เอาเหรียญเมืองนอกมาแต่งตัวให้กับเด็ก ซึ่งในประกาศจะให้เหตุผลหลายๆ อย่างที่น่าสนใจ เช่นแต่งแล้วเหมือนคนป่าคนดอย หรือกลัวจะถูกปล้น... 
"การนิยมเอาเหรียญไปห้อย เป็นเครื่องแต่งตัว เป็นการดึงเงินตราออกจากตลาด แทนที่จะเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน ซึ่งช่วยให้การค้ามันไหลไปได้ดี ก็จะร่อยหรอเป็นอุปสรรคต่อการค้า"  
สิ่งที่น่าสนใจ สำหรับสังคมที่ใช้เงินตราก็คือ ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 4 นี้เอง เป็นสมัยแรกที่ปรากฏว่ามีการทำเงินปลอมเกิดขึ้น "ไม่มีเหตุผลที่ผู้คนจะทำเงินปลอมมาใช้ ถ้าหากว่าเงินตราไม่มีความสำคัญ ในบรรดาประกาศรัชกาลที่ 4 ตั้งแต่ 2398 เป็นต้นมา โดยที่ก่อนหน้านั้นไม่มีปรากฏประกาศที่เกี่ยวข้องกับเงินปลอม นี่คือปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยมาก่อน"

สังคมอ่อนไหว

ประการสุดท้าย คือ ภาพของสังคมที่ละเอียดอ่อนต่อการเปลี่ยนแปลง จากประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ก่อน พ.ศ. 2398 ไม่ปรากฏประกาศ ที่สะท้อนความวิตกกังวล เกี่ยวกับข่าวลือที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมไทย แต่หลังปี 2398 เป็นต้นมา มีประกาศที่สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลเกี่ยวกับข่าวลือ โดยมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น ดาวหาง แผ่นดินไหว สุริยุปราคา รวมไปถึงประกาศที่สะท้อนให้เห็นถึงความกังวล เกี่ยวกับความวิตกของราษฎร ที่เห็นฝรั่งเข้ามาเดินเพ่นพ่าน การที่มีแขก หรือฝรั่งเข้ามาซื้อข้าวในเมืองไทย

ลักษณะของข่าวเล่าลือ สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในลักษณะวิกฤติ ซึ่งสะท้อนว่าผู้คนไม่เคยเห็นความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้มาก่อน มีองค์ประกอบใหม่ ที่ทำให้ผู้คนไม่แน่ใจกับความมั่นคงในชีวิต... สังคมสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 ภาพซึ่งปรากฏความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากสนธิสัญญาบาวริ่ง เป็นภาพซึ่งแกะรอยจากประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 นั่นเอง

ร่วมรำลึก ๑๓ ปี พฤษภาทมิฬ

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ พฤษภาคม ๒๕๓๕

กรณีพฤษภาคม ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งของประชาชนไทย เพราะไม่เพียงแต่มีขนาดใหญ่โต ผู้คนเข้าร่วมหลายแสนคน สามารถทำลายระบบเผด็จการทหารลงไปได้เท่านั้น หากยังนำมาสู่การสร้างสรรค์ประชาธิปไตย และการปฏิรูปทางการเมืองโดยเฉพาะการจัดทำและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ผู้ที่เข้าร่วมหรือรับรู้การต่อสู้ดังกล่าวคงยังจำได้ว่า การต่อสู้นี้เริ่มขึ้นตั้งแต่คืนวันที่ ๗ เมษายน เมื่อเรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร ไปนั่งอดข้าวประท้วงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.สุจินดา คราประยูร หน้ารัฐสภา การต่อสู้ค่อยๆ ขยายตัวกลายเป็นการต่อสู้ใหญ่ในเดือนพฤษภาคม ตั้งแต่วันที่๔ พฤษภาคม โดยใช้รูปแบบการต่อสู้ สลับกันไประหว่างการชุมนุมใหญ่กับการเดินขบวนหลายครั้งหลายที่และใช้โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์ติดตามตัว และโทรสารส่งข่าวและระดมคนมาชุมนุมและเดินขบวน ยุติลงด้วยชัยชนะในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม เมื่อพล.อ.สุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่ง

แต่ทว่า ลักษณะเด่นที่สุดของการต่อสู้ใหญ่เดือนพฤษภาคม เมื่อ๑๓ ปีที่แล้ว มิใช่ขนาดและรูปแบบของการต่อสู้ หากเป็นลักษณะของผู้นำและผู้เข้าร่วมการต่อสู้ ที่นอกจากส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง จนได้รับการเรียกขานว่า เป็น " ม็อบรถยนต์ หรือม็อบมือถือ " แล้ว ยังมีพรรคการเมืองที่รวมกันเป็นพันธมิตรประชาธิปไตย ๔ พรรค พรรคพลังธรรม พรรคความหวังใหม่ พรรคเอกภาพ และพรรคประชาธิปัตย์ ถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ การต่อสู้ของประชาชนไทยที่มีพรรคการเมืองมานำ และที่สำคัญ การต่อสู้กรณีพฤษภาคม ๒๕๓๕ ถูกปราบปรามอย่างนองเลือด มีคนเสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหาย หลายร้อยคนพวกเขาเป็นวีรชนประชาธิปไตย ผู้สละเลือด พลีชีพเพื่อโค่นล้มคณะผู้รักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ นำระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงคืนมา

ฉะนั้น เมื่อถึงเดือนพฤษภาคมทุกปี ผู้ที่ร่วมการต่อสู้ ญาติของวีรชน กลุ่มและองค์กรประชาธิปไตยจะจัดงานรำลึก เพื่อฟื้นความจำ เสริมความสำนึกทางประวัติศาสตร์ และสืบทอดภารกิจประชาธิปไตย รวมทั้งเพื่อติดตามความคืบหน้าในการสร้างอนุสรณ์สถานวีรชนพฤษภาคม และการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายในกรณีนี้

ความจริงแล้ว วัตถุประสงค์ทั้งหมดเคยเป็นมติคณะรัฐมนตรีมาหลายชุดโดยเฉพาะของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร สมัยที่แล้ว โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ในการจัดสร้างอนุสรณ์สถานในบริเวณสวนสาธารณะ ที่เป็นที่ตั้งเดิมของกรมประชาสัมพันธ์ การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ เช่น การรักษาพยาบาล การให้ทุนศึกษา การฝึกอาชีพและฟื้นฟูสมรรถภาพ และการให้สิทธิค่าลดหย่อน หรือค่าบริการต่างๆ ของรัฐ และการจ่ายค่าทดแทน และความเสียหายสมควรที่จะได้รับตามความเหมาะสมจำเป็น และตามควรแก่กรณี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และผู้แทนคณะกรรมการอิสระฯ โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบไปพิจารณาดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

ทำไมต้องวางศิลาฤกษ์สร้างอนุสรณ์สถานวีรชนพฤษภาคมปีนี้ เหตุผลง่ายๆ ก็คือ จะต้องลงมือก่อสร้างได้แล้ว หลังจากที่รัฐบาลตั้งแต่รัฐบาลนายชวน หลีกภัย เคยมีมติคณะรัฐมนตรีให้จัดสร้างอนุสรณ์สถานฯที่สวนสันติพร มาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๓๖ อย่าลืมว่า อนุสรณ์สถานวีรชน ๑๔ ตุลาคม ใช้เวลา ๒๗ ปี จึงเริ่มก่อสร้างกันได้ เพราะการเคลื่อนไหวสร้างอนุสาวรีย์วีรชนประชาชนไม่ว่ากรณีใดๆ เป็นการต่อสู้ทางความคิดและการเมือง มีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะอำนาจส่วนหนึ่ง มักไม่เห็นด้วยให้สร้างอนุสาวรีย์ดังกล่าว

ส่วนประเด็นการหาผู้สูญหายจากเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕ การลักพาตัวหรือ การอุ้มผู้มีความ
คิดทางการเมืองแตกต่างกัน ทั่งที่เกิดก่อนหน้าและหลังกรณีนี้ จากผู้นำคนงาน นายทนง โพธิ์อ่าน มาถึงทนายสมชาย นิละไพจิตร เท่าที่ศึกษาปัญหาคนหาย พอสรุปได้ว่า สังคมไทยไม่มีบทเรียนประสบการณ์ในการหาผู้สูญหาย ไม่เหมือนในหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ อินโดนีเชีย และศรีลังกา 

ดังนั้น ในงานรำลึกพฤษภาประชาธรรม ๒๕๔๘ จึงเอาประเด็นนี้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยจะมีพ่อ แม่ ลูกเมียของผู้สูญหายมาเล่าถึงความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน และผู้ที่เคยร่วมการติดตามค้นหาผู้สูญหายมาถ่ายทอดบทเรียนประสบการณ์ให้ฟัง นี่จะเป็นส่วนหนึ่งของการรำลึกถึงกรณีพฤษภาคม ๒๕๓๕ 

ความจริงแล้ว กรณีนี้มีเรื่องที่จะต้องรำลึก สืบทอดอีกมาก ตั้งแต่สภาพทางการเมืองที่ทำให้นายทหารกลุ่มหนึ่ง ก้าวขึ้นมามีอำนาจและบทบาททางการเมือง จนนำไปสู่รัฐประหาร ของคณะผู้รักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (ร.ส.ช. ) เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ การมีรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับ ร.ส.ช. การเลือกตั้งทั่วไป ๒๕๓๕ /๑ และการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ. สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี การอดอดอาหารและจัดเวทีประท้วงหน้ารัฐสภา การจัดชุมนุมใหญ่ของพรรคการเมืองพันธมิตรประชาธิปไตย การจัดชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวงและการประกาศอดอาหารของพล.ต.จำลอง ศรีเมือง การชุมนุมใหญ่หน้ารัฐสภา และการเดินขบวนกลับไปยังสนามหลวง (๖ -๗ พ.ค.) การชุมนุมและเดินขบวนไปยึดถนนราชดำเนิน การจัดตั้งสมาพันธ์ประชาธิปไตย และเดิน
ขบวนการถูกสกัดกั้น จับกุมและปราบปราม (๑๗ -๑๘ พ.ค.) พระเจ้าอยู่หัวโปรดให้ พล.อ.สุจินดา และพล.ต.จำลองเข้าเฝ้า พล.อ.สุจินดา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามข้อเรียกร้องของประชาชน และกระแสสูงของการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยหลังกรณีนี้

สุดท้าย การรำลึก นึกถึงกรณีพฤษภาคม ๒๕๓๕ จะต้องประสานกับสภาพทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน และมองไปข้างหน้าว่า ดอกผล บทเรียนประสบการณ์ของการต่อสู้ใหญ่เดือนพฤษภาคมเมื่อ๑๓ ปีที่แล้ว ยังดำรงอยู่และนำมาใช้ได้เพียงใด

"เปียงหลวง" ดินแดนแห่งความหลากหลาย

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เปียงหลวง

ดินแดนที่เรียกขานกันว่า "เปียงหลวง" ชุมชนแห่งความหลากหลายติดแนวชายแดนไทย-พม่า ทางฟากฝั่งตะวันตกของอำเภอเวียงแหง อำเภอเล็กๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ บนถนนโชตนาสายหลักจากเชียงใหม่-เชียงดาว ก่อนตัดแยกเมืองงาย เลี้ยวซ้ายไปตามทางตะวันตก ก่อนแยกทางแม่จา เส้นทางที่สัญจรไปก็เริ่มขึ้นสู่เนินเขาสูง คดเคี้ยวไปตามดงป่าเขียวสดรกครึ้ม ผ่านป่าสน บางช่วงของถนนถึงกับไต่ไปบนยอดเขาจากลูกหนึ่งไปอีกลูกหนึ่ง ครั้นพอเข้าเขตอำเภอเวียงแหง ถนนกลับดิ่งลึกลงไปในความลาดต่ำลดเลี้ยวลงไป เมื่อมองลิบๆ ไกลออกไปเบื้องหน้า มองเห็นจุดเล็กๆ สีขาว กระจัดกระจายอยู่ในหุบเขา "นั่นละ เวียงแหง อำเภอที่ซุกซ่อนอยู่ในหุบเขา" หากมุ่งผ่านไปอีก 18 กิโลเมตร จนพบกับซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้านเปียงหลวง

เปียงหลวง มีความหลากหลายทั้งในเรื่องของคนพลเมือง วิถีการดำรงอยู่ วัฒนธรรมประเพณี รวมไปถึงความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ที่มีมานานนับหลายร้อยปี โดยที่โดดเด่นมากที่สุด ก็คือ เป็นชุมชนที่มีผู้คนหลายเชื้อชาติชนเผ่าอาศัยอยู่ร่วมกัน

คนส่วนใหญ่ของชุมชนบ้านเปียงหลวงนั้น อพยพมาจากรัฐฉาน ประเทศพม่า อีกทั้งกลุ่มผู้เข้ามาก่อตั้งชุมชนแห่งนี้ ต่างเคยเป็นทหารของกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ และยังมีกลุ่มคนจีนตั้งถิ่นฐานอยู่รวมกัน ตามประวัติศาสตร์บอกว่า คนจีนกลุ่มนี้เป็นอดีตทหารจีนคณะชาติ หรือก๊กมินตั๋ง 

นอกจากนั้น มีชนเผ่าลีซอ ปะหล่อง และชาวไทยที่อาศัยอยู่ร่วมกันมานาน

เมื่อพูดถึงความเป็นมาของชาวไทใหญ่ หลายคนต่างยอมรับกันดีว่า ชนชาติไต หรือไทใหญ่ เป็นเชื้อชาติที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่มาก่อน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประชากรส่วนใหญ่อยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า และบางส่วนอยู่ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน และอีกส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ในเขตภาคเหนือของประเทศไทย

เมื่อเอ่ยคำเรียกขานถึง ไทใหญ่ ในแต่ละพื้นที่จึงย่อมเรียกแตกต่างกัน 
คนจีนในยูนนาน เรียกชาวไทใหญ่ว่า "เซม" 

คนพม่าเรียกชาวไทใหญ่ว่า "ชาน" ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า "สยาม" ต่อมาจึงกลายเพี้ยนเป็น "ฉาน" หรือที่มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "Shan" และในที่สุด จึงเรียกแผ่นดินของคนไทใหญ่ว่า รัฐชาน หรือรัฐฉาน(Shan State) นับแต่นั้นมา

ในขณะที่คนไทยล้านนามักชอบเรียก ชาวไทใหญ่ว่า "เงี้ยว" แต่คนไทใหญ่ไม่ชอบเท่าใดนัก เพราะเป็นคำที่ส่อในเชิงดูหมิ่นดูแคลน 

ครั้นเมื่อถามพี่น้องชาวไทใหญ่ พวกเขากลับเรียกตัวเองว่า "ไต"
"คำว่าชนชาติไทย-ไต เปรียบเหมือนคำว่า "ช้าง" ช้างมีขา มีหู มีงา มีงวง และหาง ชนชาติไทย-ไต ก็มีกลุ่มชาติพันธุ์ไทย คือไทยน้อย กลุ่มชาติพันธุ์ไต คือ ไทใหญ่ และกลุ่มชาติพันธุ์ไทเขิน" ชายชื้น คำแดงยอดไตย ได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องภูมิปัญญาพื้นบ้านไทย-ไต เอาไว้อย่างน่าสนใจ

ทำไมเปียงหลวง จึงมีทั้งกลุ่มคนจีนและคนไทใหญ่ ถึงมาอยู่รวมกัน!?
"กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวไทใหญ่ ชายแดนไทย-พม่า กรณีศึกษา : หมู่บ้านเปียงหลวง" ของ "วันดี สันติวุฒิเมธี" ได้บันทึกไว้ว่า คนไทใหญ่นั้น มีเอกลักษณ์ทางภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ก่อนที่ยุคล่าอาณานิคมจะเกิดขึ้น และอังกฤษได้เข้ามายึดและผนวกดินแดนรัฐฉาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศพม่าเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งๆ ที่ชาวไทยใหญ่เคยปกครองตนเอง ด้วยระบบเจ้าฟ้า ประจำอยู่ในแต่ละเมืองต่างๆ ทั้งหมด 33 เมือง

หลายคนยังจดจำ กับบันทึกตอนหนึ่งของประวัติศาสตร์แห่งการขอคืนเอกราช และในหนังสือ 12 กุมภาพันธ์ 1947 นายพลออง ซาน ได้เดินทางไปร่วมประชุมกับเจ้าฟ้าไทใหญ่ รวมทั้งตัวแทนชนชาติคะยาห์ คะฉิ่น มอญ และชิน ที่เมืองปางโหลง ตอนกลางของรัฐฉาน เพื่อลงนามขอเอกราชจากอังกฤษร่วมกัน ในสัญญาที่ชื่อว่า "ลิ่กห่มหมายปางโหลง" หรือ "สัญญาปางโหลง" ได้บันทึกเอาไว้ว่า "ชาวไทใหญ่และชนชาติอื่นๆ จะต้องอยู่ร่วมกันในสหภาพพม่าเป็นเวลา 10 ปี นับจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ หลังจากนั้นจึงมีสิทธิแยกตัวออกมาปกครองตนเอง"

ทว่า ระหว่างการประชุมร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 1947 นายพลออง ซาน พร้อมด้วยนักการเมืองพม่าคนสำคัญ 5 คน ได้ถูกคนร้ายเข้าลอบยิงจนเสียชีวิต ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกลางพม่ากับชนกลุ่มน้อยเริ่มเปลี่ยนแปลงไป

เนื่องจากผู้นำพม่าคนใหม่ นำโดย อู นุ และเนวิน มีทัศนคติและนโยบายต่อชนกลุ่มน้อยต่างจาก ออง ซาน อย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ ขณะที่ ออง ซาน พยายามเน้นความเท่าเทียมและผลักดันให้ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิตามสัญญาปางโหลง แต่อู นุ และ เนวิน กลับไม่ต้องการให้ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิตามสัญญาดังกล่าว โดยเฉพาะสิทธิในการแยกตัวไปปกครองประเทศอิสระ เพราะนั่นหมายถึง รัฐบาลกลางพม่า จะต้องสูญเสียรายได้จากทรัพยากรในดินแดนชนกลุ่มน้อยอย่างมหาศาล การยอมให้ชนกลุ่มน้อยแยกตัวออกไป จึงเป็นสิ่งที่ผู้นำพม่าหลายคนไม่เห็นด้วย

เมื่อรัฐบาลทหารพม่า ไม่ยอมให้แยกตัวเป็นอิสระ สงครามความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่า จึงเริ่มปะทุขึ้นมานับแต่นั้นเป็นต้นมา ในขณะไฟสงครามระหว่างไทใหญ่กับรัฐบาลพม่ายังไม่มอดดับ กลับมีกองพล 93 ของรัฐบาลจีนคณะชาติ หรือก๊กมินตั๋ง ได้ถอยร่นลงมาจากมณฑลยูนนาน ของประเทศจีน เข้ามาอยู่ในรัฐฉาน ของไทใหญ่ จนทำให้ทหารพม่าเข้ามาปราบปรามกองพล 93 กับกองกำลังกู้ชาติคะฉิ่น ซึ่งถือว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อพม่า ทำให้ชาวไทใหญ่ ต้องตกเป็นเหยื่อสงคราม การสู้รบทั้งสองฝ่าย บ้างถูกเกณฑ์ไปเป็นลูกหาบ และทำงานกลางสนามรบ จนทำให้ล้มตายกันเป็นจำนวนมาก

หลังสงครามระหว่างทหารจีนคณะชาติกับรัฐบาลพม่าสิ้นสุดลงในปี 2501 ไฟสงครามก็ปะทุอีกครั้งหนึ่ง เมื่อรัฐบาลพม่าละเมิดข้อตกลงเดิม ไม่ยอมให้ชาวไทใหญ่แยกตัวออกมาปกครองตนเอง หลังจากที่อยู่ร่วมกันมาครบ 10 ปี

ปี พ.ศ.2501 เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะ จึงได้รวบรวมพลคนไทใหญ่ และก่อตั้งกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่" หนุ่มศึกหาญ" ขึ้นต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราช เนื่องจาก รัฐบาลนายพลเนวิน ได้ฉีกสัญญาปางโหลงนั้นทิ้งไป

นั่นคือที่มาของประวัติของชุมชนเปียงหลวง หลังจากที่เจ้าน้อย ซอหยันต๊ะ ตั้งกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ขึ้นที่ สบจ็อด เมืองปั่น ในเขตรัฐฉาน ใกล้ๆ กับชายแดนบ้านเปียงหลวง หลังจากนั้นได้ตั้งกองบัญชาการอยู่ที่บ้านเปียงหลวง โดยมีกองบัญชาการย่อยอยู่ทั้ง 40 จุด ตั้งแต่เขตชายแดนแม่ฮ่องสอน เปียงหลวง และดอยอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ไปจนถึงชายแดน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ว่ากันว่า ประชากรของชุมชนบ้านเปียงหลวงในขณะนั้น มีเพียงพ่อค้าชาวไทใหญ่ที่เดินทางมาค้าขายระหว่างไทยกับรัฐฉาน เพียงสิบกว่าหลังคาเท่านั้น ต่อมา เมื่อมีกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่และชาวบ้านที่หนีภัยจากการสู้รบเข้ามา จึงมีประชากรเพิ่มมากขึ้น

ต่อมา ปี 2512 นายพลโมเฮง หรือเจ้ากอนเจิง หนึ่งในผู้นำไทใหญ่ได้รวมกลุ่มกับเจ้าน้อย ซอ
หยั่นต๊ะ จัดตั้งขบวนการกู้ชาติโดยใช้ชื่อว่า กองทัพสหพันธ์ปฏิวัติรัฐฉาน หรือ Shan United Revolution Army(SURA) โดยมีนายพลโม เฮง เป็นประธาน และเจ้าน้อย ซอหยั่นต๊ะ เป็นรองประธาน และใช้บ้านเปียงหลวงเป็นกองบัญชาการใหญ่ ดังนั้นประชากรส่วนใหญ่ของหมู่บ้านเปียงหลวง จึงเป็นทหารและครอบครัวไทใหญ่นับตั้งแต่นั้นมา

"เมืองแห่งอิสรภาพของชาวไทใหญ่
ตามข้อตกลงปางโหลงมอบให้
สัญญากันไว้เป็นมั่นเหมาะ
แล้วกลับคำกันได้หรือไร
ใครทรยศก็รู้อยู่แก่ใจ
มิใช่เราไทใหญ่แน่นอน
ความจริงของเราย่อมประจักษ์
สัญญาปางโหลงที่ให้นั้น
จากไปพลันกับอองซานหรือไฉน..."

บทเพลง "ลิ่กห่มหมายปางโหลง" หรือ "สัญญาปางโหลง" ของ สายมาว นักร้องชื่อดังชาวไทใหญ่ สะท้อนแว่วมาในห้วงยามค่ำคืนนั้น ฟังแล้วช่างบาดลึกเข้าไปในจิตใจของคนไตทั่วไป โดยเฉพาะคนไตพลัดถิ่นที่จำต้องถอยร่นออกมาจากแผ่นดินเดิมของตน

ครั้งหนึ่ง สายมาว เคยถูกรัฐบาลทหารพม่าจับขังคุกนานกว่าสองปี หลังจากเขาเขียนและร้องเพลงบทนี้ บางห้วง มีท่วงทำนองแห่งความทุกข์ ความบ่นพ้อ น้อยใจ ในการวิถีการต่อสู้อันยาวนาน บางท่วงทำนองบทเพลง กลับถั่งท้นอุดมการณ์ มากล้นความหวัง

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

ตั้งอยู่บนเขาพนมรุ้ง บ้านตาเป็ก ตำบลตาเป็ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จากตัวจังหวัดบุรีรัมย์ สามารถเดินทางไป พนมรุ้งได้ 2 เส้นทาง คือ
1. ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-นางรอง (ทางหลวงหมายเลข 218) ระยะทาง 50 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 24(โชคชัย -เดชอุดม ช่วง นางรอง - ประโคนชัย)ไป 14 กิโลเมตร ถึงบ้านตะโก เลี้ยวขวาผ่านบ้านตาเป็กไปพนมรุ้งเป็นระยะทางอีก 12 กิโลเมตร

2. ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย ทางหลวงหมายเลข 219 เป็นระยะทาง 44 กิโลเมตร จากตัวอำเภอประโคนชัย มีทางแยกไปพนมรุ้ง ระยะทางอีก 21 กิโลเมตร (เส้นทางนี้ผ่านทางแยกเข้าปราสาทเมืองต่ำด้วย)

ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีอายุการก่อสร้างและใช้เป็นเทวสถานต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ลงมาถึงพุทธศตวรรษที่ 17 จนถึงพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอม หันมานับถือศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงคงจะได้รับการดัดแปลงเป็นพุทธศาสนาลัทธิมหายานในช่วงนั้น ตัวโบราณสถาน ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตร จากพื้นราบ

คำว่า "พนมรุ้ง" หรือ"วนํรุง" เป็นภาษาเขมรแปลว่า "ภูเขาใหญ่" 

ปราสาทพนมรุ้ง หันไปทางทิศตะวันออก ประกอบด้วยอาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ตั้งเรียงรายขึ้นไป จากลาดเขาทางขึ้นจนถึงปรางค์ประธาน บนยอดอันเปรียบเสมือนวิมาน ที่ประทับของพระศิวะ
บันไดทางขึ้น ช่วงแรกทำเป็นตระพังสามชั้น ผ่านขึ้นมาสู่พลับพลาชั้นแรก จากนั้นเป็นทางเดิน ซึ่งมีเสานางเรียงปักอยู่ที่ขอบทางทั้งสองข้างเป็นระยะๆ ถนนทางเดินนี้ ทอดไปสู่สะพานนาคราช ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างดินแดนแห่งมนุษย์และสรวงสวรรค์

ด้านข้างของทางเดินทางทิศเหนือมีพลับพลาสร้างด้วยศิลาแลง 1 หลังเรียกกันว่า โรงช้างเผือก 
สุดสะพานนาคราช เป็นบันไดทางขึ้นสู่ปราสาท ซึ่งทำเป็นชานพักเป็นระยะๆ รวม 5 ชั้นสุดบันไดเป็นชานชาลาโล่งกว้าง ซึ่งมีทางนำไปสู่สะพานนาคราชหน้าประตูกลางของระเบียงคด อันเป็นเส้นทางหลักที่จะผ่านเข้าสู่ลานชั้นในของปราสาท และจากประตูนี้ยังมีสะพานนาคราชรับอยู่อีกช่วงหนึ่ง ก่อนถึงปรางค์ประธาน ปรางค์ประธาน หรือส่วนที่สำคัญที่สุด ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมมณฑป คือห้องโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เชื่อมอยู่ทางด้านหน้า ที่ส่วนประกอบของปรางค์ประธาน ตั้งแต่ฐานผนังด้านบนและด้านล่าง เสากรอบประตู เสาติดผนัง ทับหลัง หน้าบัน ซุ้มชั้นต่างๆ ตลอดจนกลีบขนุนปรางค์ ล้วนสลักลวดลายประดับ ทั้งลวดลายดอกไม้ ใบไม้ ภาพฤาษี เทพประจำทิศ ศิวะนาฏราชที่ทับหลังและหน้าบันด้านหน้าปรางค์ประธาน ลักษณะของลวดลายและรายละเอียดอื่นๆ ช่วยให้กำหนดได้ว่า ปรางค์ประธานพร้อมด้วยบันไดทางขึ้น และสะพานนาคราชสร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 17

ภายในลานชั้นในด้านตะวันตกเฉียงใต้ มีปรางค์ขนาดเล็ก 1 องค์ ไม่มีหลังคา จากหลักฐานทางศิลปะ
กรรมที่ปรากฏ เช่น ภาพสลักที่หน้าบัน ทับหลัง บอกให้ทราบได้ว่าปรางค์องค์นี้สร้างขึ้นก่อนปรางค์ประธานมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16

นอกจากนี้ ยังมีฐานปรางค์ก่อด้วยอิฐ ซึ่งมีอายุเก่าลงไปอีก คือประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 อยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์ประธาน และที่มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ร่วมสมัยกันกับพลับพลาที่สร้างด้วยศิลาแลงข้างทางเดินที่เรียกว่า "โรงช้างเผือก"

กรมศิลปากรได้ทำการซ่อมแซมและบูรณะปราสาทหินพนมรุ้ง โดยวิธีอนัสติโลซิส คือ รื้อของเดิมลงมาโดยทำรหัสไว้ จากนั้นทำฐานใหม่ให้แข็งแรง แล้วนำชิ้นส่วนที่รื้อรวมทั้งที่พังลงมา กลับไปก่อใหม่ที่เดิม โดยใช้วิธีการสมัยใหม่ช่วย และเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ปีพุทธศักราชที่ 2531 ได้มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งอย่างเป็นทางการ

เมื่อวันที่ 21พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน และปลายปีเดียวกัน ก็ได้รับทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์กลับคืนมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้มีความงดงามและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะมีงานนมัสการรอยพระพุทธบาทพนมรุ้ง จัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี

มะเมี๊ยะ ไม่มีจริง?

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ มะเมี๊ยะ

หญิงอันเป็นที่รักของเจ้านายฝ่ายเหนือ เมืองเชียงใหม่ แต่ต้องถูกพลัดพรากด้วยเหตุที่ว่า กันไปทั้งเชื้อชาติและการเมือง หลากหลายแง่ความเห็น ที่แม้จะแตกต่างกันไปก่อนหน้านี้แต่ยังคงอยู่ในกรอบที่ว่า "มะเมี๊ยะผู้นี้มีตัวตนจริง" ตามคำบอกเล่าและบันทึกในหนังสือ ของอดีตนักหนังสือพิมพ์ผู้ล่วงลับ (ปราณี ศิริธร) ส่งผลไปถึงการสืบค้นของผู้คนที่สนใจหลายกลุ่ม ถึงชีวิตช่วงบั้นปลายและล่วงลับของเธอว่า
อยู่ที่ไหน? 
จบชีวิตลงอย่างไร ?
เถ้ากระดูกของเธอว่าอยู่ที่ไหนกันแน่ ?

แต่ข้อมูลล่าสุด ที่ "พลเมืองเหนือ" ได้รับ กลับปฏิเสธข้อสันนิษฐานก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง "มะเมี๊ยะไม่มีตัวตน" เป็นเช่นนั้นจริงหรือ ?
ข้อมูลล่าสุด "ชีมะเมี๊ยะ" อยู่มะละแหม่ง

ก่อนจะไปถึงหลักฐานชิ้นนั้น ได้มีความเคลื่อนไหวของข้อมูลในมุมที่เชื่อว่า "มะเมี๊ยะ" มีจริง เป็นการทำงานต่อเนื่องของ รศ.จีริจันทร์ ประทีปเสน นายกสมาคมนักศึกษาเก่าคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ซึ่งติดตามชีวิตรักของเจ้าน้อยสุขเกษมและมะเมี๊ยะมานานหลายปี และเคยตีความเนื้อหาของเรื่องดังกล่าวนี้ จัดทำเป็นละคร "ตามรอยมะเมี๊ยะ" ขึ้นมาเมื่อปีที่ผ่านมา และระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม ที่ผ่านมา ก็ได้เดินทางไปสืบหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้ง เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2548 ที่ห้องประชุมบริษัทเม็งรายกล่องกระดาษ จำกัด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มีการเสวนาเรื่อง "ตามรอยมะเมี๊ยะ ครั้งที่2" ขึ้น

รศ.จีริจันทร์ กล่าวว่า จากการประมวลหลักฐานทางเอกสาร คือหนังสือ "เพ็ชรลานนาเล่ม 1-2" หนังสือ "ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่" ซึ่งแต่งโดยนายปราณี ศิริพร ณ พัทลุง และหนังสือ "โอลด์มูลเนียน" ของ RR. Langh M Carier และได้เดินทางไปเมืองเมาะละแหม่ง รับฟังคำบอกเล่าของเจ้าอาวาส วัดแจ้ตะหลั่น เมืองเมาะละแหม่ง และนางด่อเอจิ แม่เฒ่าเชื้อสายไทยใหญ่ ซึ่งมีย่าเป็นโยมอุปัฏฐากของแม่ชีด่อปาระมี
ทำให้ได้ข้อสันนิษฐานว่ามะเมี๊ยะน่าจะมีตัวตนที่แท้จริง และน่าจะเป็นคนเดียวกับแม่ชีด่อปาระมี หรือแม่ชีด่อนางข่อง แต่ขณะนี้ได้เสียชีวิตไปแล้ว

ข้อสันนิษฐานที่ทำให้คณะทำงานของรศ.จีริจันทร์ เชื่อได้ว่า มะเมี๊ยะน่าจะเป็นคนเดียวกับแม่ชีด่อปาระมี คือระยะเวลาในการออกบวช และการเสียชีวิต ซึ่งใกล้เคียงกัน คือเริ่มบวชเมื่ออายุ 16-17 ปี และเสียชีวิตเมื่ออายุ 75 ปี

นอกจากนี้ เจ้าอาวาสวัดแจ้ตะหลั่น ยังยืนยันรูปพรรณสัณฐานของมะเมี๊ยะ ว่าเป็นหญิงสาวที่สวย ขาว และสูงเพรียว ซึ่งคล้ายคลึงกับแม่ชีรูปดังกล่าว พร้อมระบุว่าแม่ชีรายดังกล่าวเป็นผู้มีฐานะดี มีข้าวของเครื่องใช้ เป็นของมีราคาแพง และจากการพูดคุยกับคุณยายด่อเอจิ ซึ่งเป็นหลานของโยมอุปัฏฐากของแม่ชีรายดังกล่าว ยังทราบว่าเมื่อสอบถามสาเหตุของการมาบวชว่า เป็นเพราะอกหักหรือไม่ แม่ชีก็มักจะโกธร ไม่พูดจาและลุกหนีไป

รศ.จีริจันทร์ กล่าวว่า ความเชื่อดังกล่าวนี้ ยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ที่สรุปตามข้อมูลเท่าที่ได้สอบถามมา แต่จะต้องหาหลักฐานมายืนยันเพิ่มเติมอีกครั้ง เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่แน่นอนรอบด้านเพื่อนำมายืนยันเพิ่มเติมโดยจะต้องสืบค้นต่อไป

ทั้งนี้สิ่งที่ต้องการจะได้มากที่สุด และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในการทำงาน เพื่อนำมาสู่ข้อสรุปคือ
อยากเรียกร้องให้คนเก่าแก่ โดยเฉพาะเจ้านายฝ่ายเหนือ ที่เป็นคนใกล้ชิด หรือเคยได้สดับตรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม เชื่อว่าจะสามารถรวบรวมข้อมูล ให้นำไปสู่ข้อสรุปที่กระจ่างชัดมากขึ้น

จดหมายจากผู้ที่ใช้ชื่อว่า "เหนือฟ้า ปัญญาดี"
ส่งมาถึงบรรณาธิการพลเมืองเหนือ เมื่อ 6 มีนาคม 2548 อาจเป็นหลักฐานหนึ่งได้หรือไม่ ? 
หากแต่เนื้อหา ได้ต่างจากข้อสันนิษฐานแรกอย่างสิ้นเชิง เราไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า "เหนือฟ้า ปัญญาดี" คือใคร ? และเกี่ยวพันชิดใกล้กับ "ปราณี ศิริธร" ผู้เขียนตำนานรักของเจ้าน้อยสุขเกษมกับมะเมี๊ยะลึกซึ้งเพียงไร มิตินี้จึงน่าจะได้ขยายความ

หากแต่บทความของเขา ขอใช้สิทธิ์ผู้อ่านพลเมืองเหนือ เปิดอีกมิติหนึ่งของ "มะเมี๊ยะ" ในข้อมูลที่เขามีอยู่และเขียนมันขึ้นมา อยู่ที่ว่าผู้อ่านท่านอื่น จะวิเคราะห์และยอมรับข้อมูลชุดนี้มากน้อยเพียงไร และนี่คือบทความที่เขาส่งมา

ปฏิเสธ : ไม่มี มะเมี๊ยะ" ในเมาะละแหม่ง
แล้วนางเป็นใคร? อยู่ที่ไหน?
โปรยหัวไว้แบบนี้ ใครๆ ที่เคยอ่านเรื่องราวของ "มะเมี๊ยะ" ดี คงต้องพูดกันว่า ผมเขียนแบบคนไม่รู้จริงทั้งๆ ที่ใครก็รู้กันว่า "มะเมี๊ยะ" นั้นเป็นใคร มาจากไหน เป็นคนรักของใคร อาจทำให้ใครบางคนอ่านเรื่องราวของผมไม่จบ พาลโยนหนังสือทิ้งไป โทษฐานที่เขียนอย่างคนไร้สติ และเป็นขบถในความคิดของคนอื่น

สำหรับเรื่องนี้ ขอให้ทุกคนโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านว่า ควรน่าจะเชื่อดีหรือไม่ ผู้อ่านบาง
ท่านอาจคิดว่าผมอวดดีอย่างไรถึงมา "หักดิบ" ในความเชื่อและฝังใจจากเรื่องเดิมที่คุณปราณีได้เขียนขึ้นมา ซึ่งในเรื่องนี้ก็แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละคน ไม่สงวนสิทธิ์ในการเชื่ออยู่แล้วครับท่าน

เมื่อไม่มี "มะเมี๊ยะ" ในเมาะละแหม่ง แล้วนางอยู่ที่ไหน??? 
ทุกคนอาจสงสัย แล้วย้อนถามว่า ก็ในเมื่อนางเป็นคนของพม่า... 
ผมขอบอกตามตรงว่า เรื่องนี้มีเบื้องลึก และเบื้องหลังมากมายที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผย

"มะเมี๊ยะ เป๋นสาวแม่ก๊า คนพม่าเมืองเมาะละแหม่ง"

เสียงเพลง "มะเมี๊ยะ" จากการร้องของสุนทรี เวชานนท์ และเนื้อร้องที่แสนสะเทือนใจของ จรัล มโนเพ็ชร แต่งขึ้นโดยได้อาศัยเค้าโครงเรื่อง "มะเมี๊ยะ" ของคุณปราณี ศิริธร ที่เขียนรวบรวมไว้ในหนังสือ เพ็ชร์ลานนา เมื่อพ.ศ.๒๕๐๗ จนเพลงเป็นที่รู้จักกันไปทั้งประเทศ

ย้อนหลังไปเมื่อพ.ศ. ๒๕๐๖ คุณปราณี ศิริธร อดีตนักเขียนสารคดี และนักหนังสือพิมพ์ในเชียงใหม่ อ้างว่า ได้รับฟังคำบอกเล่าจากเจ้าในสกุลคนหนึ่ง ถึงเรื่องความรักของเจ้าน้อยบุตรชายของเจ้าในคุ้มเมืองเชียงใหม่ว่า เจ้าน้อย ถูกส่งไปเรียนหนังสือที่เมืองเมาะละแหม่งและได้พบรักกับสาวชาวพม่า

เมื่อเดินทางกลับมาเมืองเชียงใหม่ จึงได้นำสาวคนรักกลับมาด้วย โดยหวังว่าจะบอกเรื่องความรักของตนเองให้เจ้าพ่อ เจ้าแม่ได้รับทราบ แต่เหตุการณ์กลับทำให้สาวคนรักต้องถูกส่งกลับพม่า ทั้งสองจึงพลัดพรากจากกัน ไม่ได้พบกันจวบจนทั้งสองได้ตายจากกัน

จากเรื่องความรักของคนทั้งสอง ได้ถูกคุณปราณีเขียนลงในหนังสือ เพ็ชรล้านนนา พ.ศ. ๒๕๐๗ โดยกล่าวถึงความรักของคนทั้งสองนั้น ประพฤติผิด "ฮีตฮอย" ต่อบรรพบุรุษ รวมไปถึงการเมือง ที่เชียงใหม่กลัวว่า จะมีความผิดต่อสยาม ในฐานะที่เชียงใหม่เป็นประเทศราชในขณะนั้น ทางเชียงใหม่จึงได้ส่งตัวสาวคนรักของเจ้าน้อยกลับคืนพม่าตามลำพัง เรื่องราวจึงจบลงเพียงเท่านั้น

ต่อมาต้นปี พ.ศ.๒๕๒๓ คุณปราณีได้เขียนหนังสือเรื่อง "ผู้บุกเบิกแห่งเชียงใหม่" ใกล้จะเสร็จคุณปราณีได้เขียน "ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่" ควบคู่กันไปอีกเล่มหนึ่ง โดยบอกว่า เรื่องนี้ได้เขียนต่อจากในหนังสือเพ็ชร์ลานนา ที่เขียนค้างไว้เมื่อสิบกว่าปีก่อน ซึ่งคุณปราณีบอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นภายในคุ้มเมืองเชียงใหม่ เรื่องราวต่างๆ จึงรู้กันแต่ภายใน คนภายนอกไม่เคยได้เห็นหน้า หรือรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของสาวพม่าคนนั้นเลย เพราะอาจถูกห้ามไม่ให้พูดถึง

จนกระทั่งนางถูกส่งกลับเมืองพม่าเรื่องราวต่างๆ จึงเงียบสงบลง ไม่มีใครพูดถึงอีกเลย

คุณปราณีเล่าว่า "เมื่อพี่ (คุณปราณีชอบให้เรียกตัวเองว่า "พี่" ) ลงมือจะเขียนเรื่องนี้ ก็ติดอยู่ที่ไม่รู้ชื่อสาวพม่าคนรักของเจ้าน้อย จึงจำเป็นต้องสมมุติชื่อขึ้นมา โดยได้ใช้ชื่อ "มะเมี๊ยะ" ซึ่งเป็นชื่อของผู้หญิง ชาวไทยใหญ่ที่พี่รู้จักดี และมีบ้านอยู่ใกล้กันนำมาใช้" อีกเหตุผลหนึ่งที่คุณปราณีใช้ชื่อนี้เพราะเรียกง่าย จำง่าย และเมื่อได้ยินแล้วสะดุดหู

จากคำพูดของคุณปราณีที่เล่าให้ฟังในตอนนั้น ผมไม่เคยคิดเลยว่า อีกยี่สิบห้าปีต่อมา มันจะเป็นกุญแจดอกสำคัญ ที่จะไขไปสู่ความลับ ที่ผู้ที่สนใจในเรื่องนี้พยายามที่จะศึกษาค้นคว้า แต่ก็พบกับทางตัน จึงทำให้แต่ละคนก่อเกิดจินตนาการอันล้ำลึก เคลิบเคลิ้มไปกับเรื่องราวต่างๆ ที่คุณปราณีเขียนขึ้นมา

ผมได้อ่านพบบทความของนักวิชาการท่านหนึ่งกล่าวว่า "ประเด็นที่ต้องค้นคว้าต่อไปว่า เหตุใดมะเมี๊ยะจึงเปลี่ยนชื่อ และเหตุใดต้องใช้ชื่อว่า "นังเหลียน" (ความจริงควรจะเรียกว่า "นางเหลียน" เพราะคำว่า "นาง" ใช้เรียกนำหน้าชื่อเพศหญิง ส่วนคำว่า "จาย" นั้นใช้เรียกนำหน้าชื่อเพศชาย ซึ่งหมายถึง "นาย" ในภาษาไทย ตามการเรียกชื่อของชาวไทยใหญ่)

ข้อความดังกล่าว ทำให้ผมต้องทำตัวเป็นนักสืบ ออกติดตามสืบสาวหาเรื่องราว ก็ได้ความว่า ซอยศิริธร (บ้านคุณปราณีอยู่ในซอยศิริธร และได้ใช้นามสกุลของตัวเอง เป็นชื่อซอยข้างวัดป่าเป้า) เมื่อก่อนนั้น ถ้าทุกคนที่เคยอาศัย หรือผ่านไปมาบริเวณถนนมณีนพรัตน์ คงเคยเห็นอาจจำได้ว่า หน้าปากซอยจะมีห้องแถวเรือนไม้จำนวน 6 ห้อง ห้องแรกอยู่ติดปากซอย จะเป็นร้านซ่อมนาฬิกา ห้องที่สองเป็นที่พักอาศัย ห้องที่สามเป็นร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ และห้องสุดท้ายเป็นร้านขายผลไม้ดองและแช่อิ่มชื่อร้านเกรียงไกรพานิช (ปัจจุบันห้องแถวเรือนไม้ถูกรื้อลงสร้างเป็นตึกแถวขึ้นมาแทน)

สอบถามคนที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้นมานาน ก็ทราบว่า ห้องแรกที่เปิดเป็นร้านซ่อมนาฬิกานั้นเป็นครอบครัวไทยใหญ่ มีเพียง ๓ คน พ่อแม่และลูกสาวเท่านั้น ตัวพ่อและแม่นั้นมีอายุมากแล้ว คนที่รู้จักมักเรียกกันว่า "ส่างอ่อง" และ "แม่นางเหม่" ส่วนลูกสาวนั้นจำไม่ได้ว่าชื่ออะไร แต่เป็นครูสอนหนังสือ ซึ่งครอบครัวนี้คุณปราณีรู้จัก และสนิทสนมอย่างดีเป็นพิเศษ จึงทำให้น่าคิดว่า คุณปราณีน่าจะนำชื่อของ "แม่นางเหม่" มาใช้ตามที่เคยได้เล่าไว้

จึงสอบถามในเชิงลึก ได้ความว่าแท้ที่จริงแล้ว "แม่นางเหม่" มีชื่อจริงว่า "แม่นางเมี๊ยะ" เมื่อเรียกกันนานๆ เข้าก็เพี้ยนเสียงเป็น "เหม่" ในพม่าคำนำหน้าชื่อผู้หญิง หรือเพศหญิงนิยมใช้คำว่า "มะ" (ไม่ใช่ "หมะ" ตามที่พูดหรือ เขียนกันอยู่ในขณะนี้) จะใช้นำหน้าชื่อผู้หญิงตั้งแต่เด็กจนเป็นสาว เป็นคำเรียกขานแบบทั่วๆ ไป เมื่อคุณปราณีนำชื่อ "แม่นางเมี๊ยะ" มาใช้จึงเรียกตามแบบพม่าว่า "มะเมี๊ยะ"

ส่วนคำว่า "ด่อ" จะใช้นำหน้าชื่อผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว หรือมีอายุตั้งแต่ ๓๕ ปีขึ้นไปเช่น "ด่อนางเหลียน" ส่วน "ส่างอ่อง" และ "แม่นางเหม่" ได้เสียชีวิตลง หลังจากย้ายออกจากห้องแถวเรือนไม้ได้ไม่นาน

นี่คงเป็นเบื้องลึกและเบื้องหลังอีกข้อหนึ่ง ที่ทำให้คนที่สนใจและนักวิชาการหลายๆ ท่านติดตามเสาะหา "มะเมี๊ยะ" ไม่พบในเมืองเมาะละแหม่ง และเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รู้ว่า อันตัวตนของ "มะเมี๊ยะ" จริงๆ นั้นมิใช่สาวชาวพม่า ที่มีหน้าตาจิ้มลิ้มพริ้มเพรา สวยงามหยาดเยิ้ม ดังที่คุณปราณีได้เขียนพร่ำพรรณนาเอาไว้ เพียงแต่เป็นหญิงชาวไทยใหญ่แก่ๆ ธรรมดาๆ คนหนึ่งเท่านั้น

สำหรับความรักของคนทั้งสองนั้น ในความรู้สึกของผมบอกได้ว่า มันไม่ใช่ตำนานหรือประวัติศาสตร์หน้าใดหน้าหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ ความประสงค์ของคุณปราณีที่เขียนขึ้นมานั้น เพียงต้องการที่จะเล่าถึงความรักของหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ที่ต่างเชื้อชาติและภาษาที่ไม่สมหวังรักในอดีต ให้ชนรุ่นหลังได้รับรู้เพียงเพิ่มเติมสีสันให้กับเรื่องราว เพื่อชวนน่าอ่านและน่าติดตามก็เท่านั้น

ตอนนี้ ถ้าคุณปราณียังมีชีวิตอยู่ จะแน่ใจกันสักแค่ไหนว่าเราๆ ท่านๆ ทั้งหลายจะได้รับคำตอบที่เป็นจริงว่า "มะเมี๊ยะ" นั้นเป็นเพียงนางในจินตนาการที่แต่งขึ้น หรือว่ามีตัวตนจริงๆ กันแน่

กุยต๊ะ เรื่องเล่าจากขุนเขา

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กุยต๊ะ
"กุยต๊ะ" แปลว่า วังที่หวงห้าม เล่ากันว่าเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้วมีพระภิกษุก่อตั้งวัดใกล้ลำห้วยแม่จันทะ ซึ่งมีปลาชุกชุมมาก จึงได้ประกาศเป็นเขตอภัยทาน ชุมชนกะเหรี่ยงแถบนี้นับถือศาสนาพุทธและลัทธิความเชื่อในอดีต เช่น ฤาษี

พวกเขาเชื่อว่าบรรพบุรุษสืบสาแหรกมาจากฤาษีหมู่บ้านเลตองคุ ที่อยู่ห่างออกไปราว 30 กิโลเมตร โดยมีตำนานเล่าว่าหลายทศวรรษมาแล้วฤาษีเลตองคุ 100 คน ไล่ฆ่าทหารพม่าราบคาบถึง 1,500 คน ซึ่งหนุ่มปกากญอที่กุยต๊ะนิยมไว้จุกกลางศีรษะตามฤาษี

หมู่บ้านกุยต๊ะตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ลึกเข้าไปจากอำเภออุ้มผาง ราว 80 กิโลเมตร ชาวบ้านทั้งหมดกว่า 76 หลังคาเรือน เป็นชาวปกากญอที่อยู่อาศัยมาดั้งเดิม และบางส่วนอพยพหนีภัยสงครามจากพม่ามาอยู่อาศัยนับ 10 ปีแล้ว สถานภาพปัจจุบันของชาวบ้านมีบัตรประชาชน 120 คน มีบัตรชาวเขา 51 คน และไม่มีบัตร 46 คน

เรื่องราวของปากญอบ้านกุยต๊ะ 16 ครอบครัว ร่วมร้อยคน ที่มีผู้นำหนุ่มชื่อจอวาโพ อดข้าวอยู่หลายวันประท้วงต่อชะตากรรม ที่ไม่สามารถทำไร่ทำนาบนผืนดินได้ ดังเช่นอดีตเพราะมีการเข้ามาจับกุมชาวบ้าน รวมทั้งสถานภาพเรื่องสัญชาติที่ยังค้างคา ล้วนคือความยากลำบากในการดำรงชีวิตของผู้คนในชุมชน

ครั้งนั้นพวกเขาเริ่มหยุดทำนาทำไร่ เพราะ "กรึมตี" หรือพระเจ้าของพวกเขาบอกให้หยุดทำนา ให้นำข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวไว้ได้มารวมกันที่ยุ้งฉาง เลิกกินข้าวกินปลา ไม่ให้เบียดเบียนสัตว์ สัตว์ที่เลี้ยงไว้ให้ปล่อยไป เล่าลือออกไปสู่ภายนอก

ชายหนุ่มวัย 38 ปี ไว้จุกกลางศีรษะคาดด้วยผ้าทอสีชมพู นุ่งผ้าทอสีพื้น เช่น สีเขียว คือเอกลักษณ์ของจอวาโพ ชายหนุ่มที่นำพาพี่น้องร่วมร้อยอดข้าวในปีที่ผ่านมา วันนี้เขายังคงยึดมั่นตามวิถีทางที่ศรัทธาเคียงคู่ "โกล่ง"หรือเจดีย์ ที่พวกเขาร่วมกันสร้างสูงตระหง่านอยู่บนเนินเหนือหมู่บ้าน

สังขารล่อง วันเน่า วันพญาวัน 3 วันสำคัญ ปี๋ใหม่เมือง

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ วันเน่า

การดำหัวภายในบ้าน คือต้องมาจัดน้ำขมิ้นส้มป่อยอีกอย่างน้อยสองส่วน ส่วนหนึ่งเสกเป่าด้วยมงคลคาถา แล้วเรียกภรรยาหรือบุตรธิดาสมาชิกในครอบครัวมาดำหัว โดยที่หัวหน้าครอบครัวอาจใช้น้ำขมิ้นส้มป่อยประพรมหรือลูบศีรษะทุกคน พร้อมกล่าวคำอวยชัยให้พร และอีกส่วนหนึ่งจะเอาสระสรงวัตถุมงคล เช่น พระพุทธรูป รูปเคารพ พระเครื่องตลอดจนเครื่องรางต่างๆ เป็นการชำระล้างจัญไรและคงไว้แต่สิ่งที่ดีงาม สิ่งนี้ล้วนเป็นกิจกรรมเฉพาะ ที่เป็นการปฏิบัติกับสิ่งที่ใกล้ตัว และกระทำในช่วงเวลาเริ่มต้นของเทศกาลคือ "วันสังขานต์ล่อง"

รุ่งขึ้นอีกวันถือเป็นวันสุกดิบ ล้านนาเรียก "วันเน่า" ในวันนี้ทุกครัวเรือนจะจัดเตรียมสิ่งของที่จะทำบุญและของที่จะนำไปดำหัวในวันถัดไป คือ "วันพระญาวัน" และในวันพระญาวัน จะมีการทำบุญที่วัดเรียกว่า "ทานขันข้าว" (อ่าน - ตานขันเข้า) คือทำบุญด้วยอาหาร เป็นสำรับเหมือนทำบุญเทศกาลทั่วไป แปลกแต่ในโอกาสนี้ ในสำรับนอกจากจะมีอาหาร น้ำหยาด (น้ำสำหรับกรวด) แล้วมักจะมีน้ำส้มป่อยด้วย

ทั้งนี้ก็ด้วยวัตถุประสงค์ เพื่อดำหัวบรรพบุรุษและวิญญาณผู้ที่จากไป ผ่านกุศลพิธีทางพุทธศาสนา นอกจากนี้ บางคนถือโอกาสสรงน้ำพระพุทธรูป พระพุทธบาท พระธาตุเจดีย์ และสรงน้ำพระครูบามหาเถระผู้ทรงศีล ครั้นเวลาสายหลายคนทำพิธีดำหัวกระดูกบรรพบุรุษ หอผีปู่ย่า หอเจ้าที่ เทวดาเรือน เป็นต้น ในขณะที่หลายคนไปดำหัวบิดามารดา และเครือญาติที่เคารพนับถือ

กล่าวมาถึงตรงนี้ มีข้อที่ควรสังเกตคือ จากความหมายเดิมที่เป็นการดำหัวตนเองและครอบครัว เพื่อชำระสิ่งอัปมงคล เริ่มเพิ่มความหมายไปในเชิงเคารพสักการะ เป็นการนำน้ำขมิ้นส้มป่อยและเครื่องสักการะเผื่อแผ่ไปยังผู้ควรสักการะ โดยอาการอันนอบน้อม แต่ก็ยังอยู่ในฐานะที่ยังไม่ไกลตัว กาลก็ยังเป็นช่วง
กลางๆ ของเทศกาล คือวันพระญาวันโดยเฉพาะในช่วงเช้า

ช่วงบ่ายของวันพระญาวันเป็นต้นไป การดำหัวจะขยายไปสู่ผู้มีพระคุณ ต่อคนในวงกว้างหรือผู้มีอำนาจในการบังคับบัญชา อาทิ พระสงฆ์ผู้ทรงคุณเป็นอเนก กษัตริย์และราชวงศ์ชั้นสูง ขุนนาง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างๆ เช่น อธิการบดี ผู้อำนวยการ เป็นต้น การดำหัวระดับนี้เป็นเรื่องของคนจำนวนมาก เครื่องสักการะจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น เช่น น้ำส้มป่อยจะบรรจุในขันหรือสลุงขนาดใหญ่ ขันหรือพานดอกไม้ธูปเทียนขนาดใหญ่
ดอกไม้จัดเป็นพุ่มที่เรียก "ต้นดอก" 
ขี้ผึ้งประดับบนโครงไม้ที่เรียกว่า "ต้นเผิ้ง" 
เทียนแขวนประดับบนโครงไม้ทรงพุ่มที่เรียก "ต้นเทียน" 
หมากแห้งทำเป็นสายๆ แล้วรวมกันสิบสายเป็นหนึ่งพวง ใช้จำนวนสิบพวง (หมากหมื่น) 
มัดให้เป็นตั้งที่เรียก "หมากสุ่ม" 
หมากดิบเป็นลูกๆ ประดับบนโครงไม้ทรงพุ่มที่เรียก "หมากเบ็ง" 
ใบพลูจัดเรียงเย็บเข้ากับโครงไม้แล้วจัดเป็นพุ่มที่เรียก "พลูสุ่ม" 
เมี่ยง บุหรี่ จัดให้เป็นพุ่มสวยงามและมีขนาดพออุ้มหรือถือได้

จัด "จองอ้อย" คือแคร่คานหาม ที่มีกระบะและมีขาสูงระดับเอว มีคานหาม ภายในบรรจุเครื่องอุปโภคบริโภคเช่น ผ้าห่ม ผ้าขะม้า ผ้าขนหนู หัวหอม กระเทียม กล้วยทั้งเครือ มะพร้าวอ่อนทั้งทะลาย มะม่วง มะปราง ฟัก แฟง แตง และพืชผักตามฤดูกาล เครื่องสักการะต่างๆ เมื่อมีปริมาณมาก ก็ต้องใช้คนเป็นจำนวนมากเป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งอาจมีการจัดขบวนแห่ มีเครื่องดนตรีประโคมและมีการแสดง หรือฟ้อนรำประกอบอย่างครึกครื้น

เมื่อขบวนแห่ไปถึงสถานที่ ที่เป็นที่อยู่อาศัยบุคคลที่จะดำหัว หรือสถานที่ที่จัดไว้ ก็จะวางสิ่งสักการะต่างๆ ลงเฉพาะหน้าท่านเหล่านั้น และเมื่อถึงเวลาอันควร จะจัดให้บุคคลอาจเป็นผู้อาวุโสในกลุ่ม หรือหัวหน้างานถือพานดอกไม้ธูปเทียนคนหนึ่ง ถือขันน้ำส้มป่อยคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งเป็นผู้นำกล่าวคำสักการะพร้อมขอขมาลาโทษ และขอพรปีใหม่ตามลำดับด้วยสุนทรวาจาว่า
"อัชชะ ในวันนี้ ก็เปนวันดี ปีเก่าข้ามล่วงพ้นไปแล้ว ปีใหม่แก้วก็มารอดมาเถิง ผู้ข้าทังหลายก็มาร่ำเพิงยังคุณูปการะอันมากนานา จิ่งน้อมนำมายังมธุบุปผาลาชาดวงดอก เข้าตอกดอกไม้ลำเทียน เพื่อมาสักการะคารวะยังท่าน กาละพร่ำนี้ ผู้ข้าก็ได้ตกแต่งแปลงพร้อมน้อมนำมายังน้ำคัมภีโรทกะ สุคันโธทกะ คือว่าน้ำน้ำขมิ้นส้มป่อย เพื่อจักมาขอสู่มาคารวะ สระเกล้าดำหัว เหตุว่าได้เมามัวประมาทลาสามวลมาก ผู้ข้าก็หากกลัวเปนบาปกัมม์ ขอท่านจุ่งเมตตาธัมม์ผายโผดลดโทษมวลมี ลวดปันพรดี เปนสิริศรีมังคละใน
กาละบัดนี้ แด่เต๊อะ"
กล่าวจบ ผู้ถือพานดอกไม้ธูปเทียนและน้ำส้มป่อย ทำการมอบคล้ายอาการประเคนสิ่งของแด่พระสงฆ์ ส่วนผู้ได้รับการดำหัวก็ยื่นมือทั้งสองข้างรับไว้ แล้วเอามือจุ่มน้ำส้มป่อยลูบศีรษะตนเอง 

ทั้งนี้ อาจสลัดน้ำส้มป่อยใส่ผู้มาดำหัว พร้อมกล่าวคำอันเป็นสิริมงคล ก่อนจะให้พรตามโวหาร ดังเช่น

"เอวัง โหนตุ ดีและ อัชชะในวันนี้ก็เปนวันดี สะหรี ศุภะมังคละอันวิเศษ เหตุว่าระวิสังขานต์ ปีเก่าก็ได้ข้ามล่วงล้นพ้นไปแล้ว ปีใหม่แก้วพระญาวันก็มารอดเถิงเทิงยาม บัดนี้ท่านทังหลายได้ไหลหลามตกแต่ง แปลงพร้อมน้อมนำมายังมธุบุปผาลาชาดวงดอกเข้าตอกดอกไม้เทียนงาม มาแปลงห้างยังสิ่งคาระวะสระเกล้าดำหัว ยังตนตัวแห่งผู้ข้า บัดนี้ผู้ข้าก็มีธัมมเมตตาอว่ายหน้าปฏิคหะรับเอาแล้ว เพื่อหื้อแล้วเสียคำมักคำผาถนา แล้วจักลดโทสานุโทส โผดอโหสิกัมม์ ปันพรงามปีใหม่ หื้อมียศใหญ่วัยงาม โชคลาภตามบังเกิด
สุขะเลิศเพิงพาว อายุหมั้นยืนยาวร้อยซาวขวบเข้า นั้นจุ่งจักมีเที่ยงแท้ดีหลี
สัพพีติโย วิวัชชันตุ สัพพะโรโค วินัสสตุ
มา เต ภวัตวันตะราโย สุขี ทีฆายุโก ภะวะ
อะภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน
จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง"


เสียงแห่งการให้พร จบลงด้วยสำเนียงล้านนาว่า "อายุ วัณโณ สุขัง ป๊ะลัง" เสียง "สาธุ" ของผู้รับพรตามมาโดยอัตโนมัติหลังสุดของพิธี อาจมีพรให้โอวาท ตามด้วยการผูกข้อมือแก่ผู้ที่มาดำหัว เพื่อเป็น
ศิริมงคลแถมท้าย หรือนอกเหนือจากนี้ อาจมีบางคนประสงค์ที่จะดำหัวอย่างใกล้ชิดเป็นกรณีพิเศษ ก็จะนำน้ำส้มป่อยไปทำการมอบให้ผู้ใหญ่ เพื่อที่ท่านจะได้ดำหัวท่านเอง ทั้งนี้ไม่มีธรรมเนียมปฏิบัติที่ว่าเอาน้ำส้มป่อยไปรดที่มือท่าน เหมือนกับภาคอื่นๆ ที่นิยมปฏิบัติกันเป็นปกติ

ดังที่ได้กล่าวทั้งหมด การดำหัวเป็นพิธีกรรมที่เป็นเรื่องเฉพาะของสูง เริ่มตั้งแต่ศีรษะของตนเอง ศีรษะของบุคคลอันเป็นที่รัก ทั้งที่อยู่ในระดับเสมอตนหรือด้อยอาวุโส ศีรษะของผู้อยู่ระดับอันควรสักการะ 

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าเป็นพิธีกรรมที่มีวิธีปฏิบัติโดยตรงหรือโดยอ้อม คือผ่านกุศลกรรม ได้แก่ การทำบุญอุทิศ หรือแม้กระทั่งการราดรด สระสรงด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อยกับสิ่งควรเคารพ วัตถุ สถานที่ รูปเคารพ อาทิ วัตถุมงคล อัฐิบรรพบุรุษ อนุสรณ์สถาน เทวรูป พุทธรูป 

ซึ่งพิธีกรรมอาจมีความซับซ้อน ในเชิงปฏิบัติตามสภาวะอันควร นั่นเป็นพิธีกรรม ที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อรับใช้สังคม และเป็นที่สังเกตว่าการรดน้ำสาดน้ำซึ่งกันและกันด้วยน้ำธรรมดาในช่วงกาลเวลาเดียว ซึ่งแม้จะมีสถานะเป็นเพียงกิจกรรม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำในระบบคิดเดียวกัน แตกต่างกันเฉพาะกระบวนการและวิธีการเท่านั้น

การกระทำกับของสูง เป็นการแสดงความเคารพ มนุษย์หากรู้จักเคารพตนเอง เคารพผู้อื่นหรือสิ่งอื่นที่ควรเคารพ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้มีคุณธรรมระดับสูงทั้งคารวธรรม กตเวทิตาธรรม และเมตตาธรรม การดำหัวจึงถือเป็นพิธีกรรมและกิจกรรมที่ผ่านการรินหลั่งน้ำที่ฉ่ำเย็น เป็นความหมายของชาวล้านนา อันจะนำพามาซึ่งความผาสุกร่วมกันตราบชั่วนิรันตกาล.

ดำหัวปีใหม่ ความหมายของล้านนา

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ดําหัวปี๋ใหม่

การดำหัว มีความหมายโดยทั่วไปหมายถึง "การสระผม" คือชำระสิ่งสกปรกออกจากศีรษะ ทว่ายังมีอีกความหมายหนึ่ง ซึ่งเป็นความหมายเชิงความเชื่อ โดยเฉพาะชาวล้านนา เชื่อว่าเป็นการชำระสิ่งอัปมงคลได้ด้วย การดำหัวโดยทั่วไปแต่โบราณ มักใช้น้ำผสมน้ำจากผลมะกรูดและเมือกจากใบหมี่ แต่การดำหัวเพื่อชำระสิ่งอัปมงคล จะใช้น้ำขมิ้นส้มป่อย

ในช่วงปีใหม่หรือเทศกาลสงกรานต์ ชาวล้านนาจะนิยมดำหัว เพื่อชำระสิ่งอัปมงคลให้ตกไปตามปีเก่า และการดำหัวนี้พบว่า มีการขยายเป็นวงกว้างยิ่งขึ้น กล่าวคือนอกจากจะดำหัวตนเองแล้ว ยังเผื่อแผ่ไปยังสมาชิกในครอบครัวด้วยความอาทรห่วงใย ขยายไปสู่สิ่งที่ควรเคารพนับถือทั้งวัตถุ วิญญาณและตัวบุคคลในที่สุด และกิจกรรมการดำหัวนี้ จะมีความสัมพันธ์กับสิ่งที่ใกล้ตัวขยายออกไปพร้อมกับระยะเวลาก่อนหลัง ดังจะได้กล่าวเป็นลำดับต่อไป

เริ่มจากการดำหัวตนเอง พิธีนี้จะทำใน "วันสังขานต์ล่อง" ซึ่งตรงกับภาคกลาง คือวันมหาสงกรานต์ ถือกันว่าเป็นวันสิ้นปี ในส่วนของพิธีในปฏิทินบัตร ที่ใช้ประเภทสงกรานต์ของล้านนาที่เรียกว่า "หนังสือปีใหม่" ความตอนหนึ่งกล่าวว่า
"ในวันสังขานต์ล่องนั้น หื้อไปสู่สระน้ำใหญ่ แม่น้ำใหญ่ หนทางใฅว่สี่เส้นหรือต้นไม้ใหญ่ กระทำการสระสรง สระเกล้าดำหัวเสียจิ่งดี การสระเกล้าดำหัว หื้อเบ่นหน้าเฉพาะหน แล้วหื้อนุ่งผ้าใหม่ เหน็บดอก อันเปนพระญาดอกประจำปี จักวุฒิจำเริญแล" 
หมายความว่า ในวันสังขานต์ล่อง ให้ไปสู่สระน้ำใหญ่ แม่น้ำใหญ่ สี่แยกหรือต้นไม้ใหญ่ แล้วดำหัวโดยผินหน้าไปตามทิศ ที่โบราณกำหนดในแต่ละปี เสร็จแล้วให้สวมเสื้อผ้าใหม่ ทัดดอกไม้ประจำปี ซึ่งเรื่องนี้มีรายละเอียดทั้งข้อปฏิบัติทางพิธีกรรม ทิศทางที่ควรผินหน้าและ ดอกไม้อันเป็นนามปี กล่าวคือ

การดำหัว ในทางปฏิบัติต้องทำสะตวง (กระทง) บัดพลีด้วย ดอกไม้ธูปเทียน อาหาร ขนม หมากพลู บุหรี่ อย่างละ ๔ ชิ้น โดยจะมีส่วนประกอบสำคัญเป็นเศษไม้ รูปปั้นอมนุษย์ รูปปั้นสัตว์ ตามปีเกิดของตน ดังนี้
ปีเกิด - เศษไม้ - รูปปั้น
- ไจ้ (ชวด) โพธิ์ ผีอารักษ์ อีแร้ง กวาง
- เป้า (ฉลู) บุนนาค สุนัข
- ยี (ขาล) ไผ่ ผีอารักษ์ งู
- เหม้า (เถาะ) หว้า ไก่ งู
- สี (มะโรง) ต้นข้าว ไก่ หมู
- ใส้ (มะเส็ง) หาด ผีอารักษ์
- สะง้า (มะเมีย) แค สุนัข
- เม็ด (มะแม) แค สุนัข
- สัน (วอก) กระเชา สุนัข
- เร้า (ระกา) ก่อ เสือโคร่ง
- เส็ด (จอ) ยอ เสือแผ้ว
- ใก๊ (กุน) กอบัว ยักษ์

เมื่อเตรียมสิ่งของไว้พร้อมแล้ว ก็เริ่มประกอบพิธีโดยหันหน้าเฉพาะทิศทางที่กำหนด เรื่องทิศนี้ โบราณกล่าวไว้ว่า สังขานต์ล่องวันไหน ก็ให้บ่ายหน้าสู่ทิศนั้นๆ ดังนี้
- สังขานต์ล่องวันอาทิตย์ หันหน้าไปทิศ ตะวันตกเฉียงเหนือ
- สังขานต์ล่องวันจันทร์ หันหน้าไปทิศ ตะวันตก
- สังขานต์ล่องวันอังคาร หันหน้าไปทิศ ใต้
- สังขานต์ล่องวันพุธ หันหน้าไปทิศ ใต้
- สังขานต์ล่องวันพฤหัสบดี หันหน้าไปทิศ ตะวันออกเฉียงเหนือ
- สังขานต์ล่องวันศุกร์ หันหน้าไปทิศ ตะวันออก
- สังขานต์ล่องวันเสาร์ หันหน้าไปทิศ ตะวันตกเฉียงใต้

จากนั้นจึงกล่าวคำโอกาสว่า 
"ดูราเจ้ากู เราอยู่จิ่มกันบ่ได้ ภัยยะอันใหญ่ จักเกิดมีมาชะแล ขอเจ้ากูจุ่งมารับเอาเครื่องสักการะปูชามวลฝูงนี้ แล้วจุ่งมาพิทักษ์รักษาผู้ข้าหื้ออยู่สุขสวัสดี นั้นจุ่งจักมี เที่ยงแท้ดีหลีเทอะ" 
ว่าจบให้ตัดเล็บ ตัดเศษผมใส่ในสะตวง แล้วเสกเป่าน้ำขมิ้นส้มป่อยด้วยคาถาว่า 

"โอม สิริมา มหาสิริมา เตชะยะสะลาภา อายุวัณณา ภะวันตุ เม" 

แล้วสระเกล้าดำหัวด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อย ให้น้ำตกลงในสะตวง กระทำดังนี้แล้ว ให้ผลัดผ้าเก่า นุ่งห่มด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ พร้อมทัดทรงด้วย ดอกไม้อันเป็นนามปี ที่ถือว่าเป็น พระญาดอกไม้ ประจำปีนั้น ๆ เรื่องนี้ก็มีตำราไว้ว่าให้เอาตัวเลขจุลศักราชปีใหม่นั้นตั้ง หารด้วย ๘ เศษ เท่าไหร่ ดูตามนี้
- เศษ ๑ ดอกเอื้อง
- เศษ ๒ ดอกแก้ว
- เศษ ๓ ดอกซ้อน (มะลิ)
- เศษ ๔ ดอกประดู่
- เศษ ๕ ดอกบัว
- เศษ ๖ ดอกส้มสุก (อโศก)
- เศษ ๗ ดอกบุนนาค
- เศษ ๐ ดอกลิลา (ซ่อนกลิ่น)

หลังจากทัดดอกไม้มงคลประจำปีแล้ว ให้ยกสะตวงขึ้นเวียนรอบศีรษะ ๓ รอบ สุดท้ายนำสะตวงไปลอยน้ำหรือวางในที่อันควร แล้วหันหลังกลับบ้านทันที โดยไม่ให้เหลียวหลังไปมองสะตวงนั้นอีก

พิธีกรรมที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งยังมิได้กล่าวรวมไปถึงพิธีที่อิงศาสนา อาศัยกุสโลบายทางเมตตา คือพึ่งพาสัตว์เป็นพาหนะ นำสิ่งอัปมงคลออกจากร่างกาย โดยหมายฝากกับสัตว์ผ่านการปลดปล่อย ลอยไปกับน้ำ ย่ำไปกับดิน หรือบินไปสู่อากาศ ที่นิยมปฏิบัติในปัจจุบันคือ นำน้ำขมิ้นส้มป่อยมาเสกด้วยคาถาว่า "สัพพะทุกขา สัพพะภะยา สัพพะโรคา วินาสันตุ อะเสสะโต" แล้วเอาน้ำนั้นลูบศีรษะ สลัดใส่สัตว์แล้วปล่อยไป


สนั่น ธรรมธิ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ความเป็นมาแมคโดนัลด์

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ แมคโดนัลด์

ตำนานความอร่อยของแฮมเบอร์เกอร์ร้านแมคโดนัลด์ ได้เริ่มขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2491 โดยผู้บุกเบิกคือ พี่น้องดิ๊กและแมค แมคโดนัลด์ ที่เปิดร้านแฮมเบอร์เกอร์ชื่อว่า "แมคโดนัลด์" เป็นแบบไดร์ฟทรู ในซานเบอร์นาดิโน เมืองเล็กๆ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย

ภายหลังทั้งสองได้ขายกิจการให้กับนายเรย์มอนด์ อัลเบิร์ต คร็อค เพื่อนำไปขยายสาขา จนทั่วสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มต้น สาขาแรกที่รัฐอิลลินอยส์ ในปีพ.ศ. 2498 จวบจนทุกวันนี้มีร้าน แมคโดนัลด์ กว่า 30,000 สาขา ใน 121 ประเทศทั่วโลก (ข้อมูล มกราคม 2546) และนายเรย์มอน อัลเบิร์ต คร็อค ได้รับยกย่องให้เป็น บิดาแห่งอุตสาหกรรมอาหารบริการด่วน

สำหรับแมคโดนัลด์ประเทศไทยนั้น เริ่มต้นขึ้นในปีพ.ศ.2528 โดยนายเดช บุลสุข ผู้มีความประทับใจในรสชาติ และบริการของแมคโดนัลด์ เมื่อครั้งได้รับทุน American Field Service (AFS) ไปศึกษาในสหรัฐอเมริกา ได้รับเลือกให้เป็นผู้ร่วมดำเนินการร้านแมคโดนัลด์ในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นประเทศที่ 35 ของโลก โดยมีสาขาแรกที่อัมรินทร์ พลาซ่า ร้านแมคโดนัลด์ทั่วโลกดำเนินกิจการ ปัจจุบันประเทศไทยมีสาขาของแมคโดนัลด์ ในกรุงเทพฯ 36 สาขา และตามจังหวัดใหญ่ๆ ทั่วประเทศ อาทิ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา กาญจนบุรี อยุธยา ภูเก็ต 15 สาขา

โดยมีหัวใจการทำงานคือ "QSC&V" ซึ่งหมายถึง Quality คุณภาพอาหารที่ดีมีมาตรฐานสม่ำเสมอ
Service การบริการที่รวดเร็ว อบอุ่นและเป็นมิตร Cleanliness การรักษาความสะอาด และสุขอนามัย
และ Value คุณค่าของอาหารและบริการที่คุ้มค่าคุ้มราคา

อะไรหว่า "สมิธโซเนียน" ?

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ สถาบันสมิธโซเนียน

"สถาบันสมิธโซเนียน" เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ยิ่งใหญ่อลังการของสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ ณ กรุงวอชิงตัน และเป็นต้นแบบสำคัญในการจัดทำ "สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ" ของไทย
ว่ากันว่า รัฐสภาของสหรัฐอเมริกาใช้เวลายี่สิบปีเต็มๆ ในการโต้เถียงกันว่า "สมิธโซเนียน" ควรจะเป็นอะไรกันแน่ และใช้เวลาอีกหลายสิบปีหลังจากนั้น กว่าจะก่อตัวเป็นพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ ที่ครอบคลุมหลายสาขาในปีพ.ศ.2389

ต้นสายปลายเหตุของการถือกำเนิดนั้น เนื่องด้วยบุรุษผู้ไม่เคยเยือนสหรัฐเลย นามว่า เจมส์ สมิธสัน ได้ยกทรัพย์สมบัติของเขาให้แก่สหรัฐ ซึ่งขณะนั้นเป็นประเทศเกิดใหม่ เพื่อทำหน้าที่เพิ่มพูนและเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชน

ลักษณะเด่นของสมิธโซเนียนนั้น มีคณะกรรมการดูแล ซึ่งมีทั้งตัวแทนภาครัฐและประชาชน ทำให้มันปลอดพ้นจากความแปรผันทางการเมือง มีอิสรภาพในทางความคิดและวิชาการ

ด้าน "ภัณฑารักษ์" หรือผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ ก็มิได้ทำหน้าที่เฝ้าของ ดูแลปัดฝุ่นของ และแอบหลับเวลาไม่มีคน แต่ต้องมีความเป็นนักวิชาการ หรือนักวิทยาศาสตร์ ที่รับผิดชอบงานบางด้านของพิพิธภัณฑ์ ต้องรู้จักวัตถุสิ่งของในความรับผิดชอบของตนเองอย่างละเอียดลึกซึ้ง ทำวิจัยเพิ่มเมื่อมีของเพิ่มมากขึ้น ค้นคิดเกี่ยวกับการจัดแสดง รวมทั้งผลักดันกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ

ในอดีตภัณฑารักษ์ได้รับอิสระทางความคิดและทางวิชาการสูงมาก ขนาดว่าสามารถเสนอความคิดที่ขัดแย้ง เสนอทฤษฎีที่คนส่วนมากไม่ชอบ หรือทำวิจัยในบางส่วนของโลกที่สหรัฐฯ ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูต แต่ปัจจุบันไม่เป็นที่แน่ชัดนัก

ปัจจุบัน สมิธโซเนียน มีพิพิธภัณฑ์อยู่ 17 แห่ง ศูนย์วิจัย 9 แห่ง และโครงการศึกษาอีก 12 โครงการ มีผู้ปฏิบัติงานเกือบ 6,000 คน ไม่รวมอาสาสมัคร และเป็นนักวิทยาศาสตร์กว่า 500 คน นักวิชาการระดับปริญญาเอกสาขาศิลปะและมนุษยศาสตร์หลายร้อยคน มีนิทรรศการเคลื่อนที่หมุนเวียนไปแสดงตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วประเทศปีละ 200 นิทรรศการ ทั้งหลายทั้งมวลทำให้ปีหนึ่งๆ มีผู้เข้าชมราว 24-28 ล้านคน