ดำหัวปีใหม่ ความหมายของล้านนา

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ดําหัวปี๋ใหม่

การดำหัว มีความหมายโดยทั่วไปหมายถึง "การสระผม" คือชำระสิ่งสกปรกออกจากศีรษะ ทว่ายังมีอีกความหมายหนึ่ง ซึ่งเป็นความหมายเชิงความเชื่อ โดยเฉพาะชาวล้านนา เชื่อว่าเป็นการชำระสิ่งอัปมงคลได้ด้วย การดำหัวโดยทั่วไปแต่โบราณ มักใช้น้ำผสมน้ำจากผลมะกรูดและเมือกจากใบหมี่ แต่การดำหัวเพื่อชำระสิ่งอัปมงคล จะใช้น้ำขมิ้นส้มป่อย

ในช่วงปีใหม่หรือเทศกาลสงกรานต์ ชาวล้านนาจะนิยมดำหัว เพื่อชำระสิ่งอัปมงคลให้ตกไปตามปีเก่า และการดำหัวนี้พบว่า มีการขยายเป็นวงกว้างยิ่งขึ้น กล่าวคือนอกจากจะดำหัวตนเองแล้ว ยังเผื่อแผ่ไปยังสมาชิกในครอบครัวด้วยความอาทรห่วงใย ขยายไปสู่สิ่งที่ควรเคารพนับถือทั้งวัตถุ วิญญาณและตัวบุคคลในที่สุด และกิจกรรมการดำหัวนี้ จะมีความสัมพันธ์กับสิ่งที่ใกล้ตัวขยายออกไปพร้อมกับระยะเวลาก่อนหลัง ดังจะได้กล่าวเป็นลำดับต่อไป

เริ่มจากการดำหัวตนเอง พิธีนี้จะทำใน "วันสังขานต์ล่อง" ซึ่งตรงกับภาคกลาง คือวันมหาสงกรานต์ ถือกันว่าเป็นวันสิ้นปี ในส่วนของพิธีในปฏิทินบัตร ที่ใช้ประเภทสงกรานต์ของล้านนาที่เรียกว่า "หนังสือปีใหม่" ความตอนหนึ่งกล่าวว่า
"ในวันสังขานต์ล่องนั้น หื้อไปสู่สระน้ำใหญ่ แม่น้ำใหญ่ หนทางใฅว่สี่เส้นหรือต้นไม้ใหญ่ กระทำการสระสรง สระเกล้าดำหัวเสียจิ่งดี การสระเกล้าดำหัว หื้อเบ่นหน้าเฉพาะหน แล้วหื้อนุ่งผ้าใหม่ เหน็บดอก อันเปนพระญาดอกประจำปี จักวุฒิจำเริญแล" 
หมายความว่า ในวันสังขานต์ล่อง ให้ไปสู่สระน้ำใหญ่ แม่น้ำใหญ่ สี่แยกหรือต้นไม้ใหญ่ แล้วดำหัวโดยผินหน้าไปตามทิศ ที่โบราณกำหนดในแต่ละปี เสร็จแล้วให้สวมเสื้อผ้าใหม่ ทัดดอกไม้ประจำปี ซึ่งเรื่องนี้มีรายละเอียดทั้งข้อปฏิบัติทางพิธีกรรม ทิศทางที่ควรผินหน้าและ ดอกไม้อันเป็นนามปี กล่าวคือ

การดำหัว ในทางปฏิบัติต้องทำสะตวง (กระทง) บัดพลีด้วย ดอกไม้ธูปเทียน อาหาร ขนม หมากพลู บุหรี่ อย่างละ ๔ ชิ้น โดยจะมีส่วนประกอบสำคัญเป็นเศษไม้ รูปปั้นอมนุษย์ รูปปั้นสัตว์ ตามปีเกิดของตน ดังนี้
ปีเกิด - เศษไม้ - รูปปั้น
- ไจ้ (ชวด) โพธิ์ ผีอารักษ์ อีแร้ง กวาง
- เป้า (ฉลู) บุนนาค สุนัข
- ยี (ขาล) ไผ่ ผีอารักษ์ งู
- เหม้า (เถาะ) หว้า ไก่ งู
- สี (มะโรง) ต้นข้าว ไก่ หมู
- ใส้ (มะเส็ง) หาด ผีอารักษ์
- สะง้า (มะเมีย) แค สุนัข
- เม็ด (มะแม) แค สุนัข
- สัน (วอก) กระเชา สุนัข
- เร้า (ระกา) ก่อ เสือโคร่ง
- เส็ด (จอ) ยอ เสือแผ้ว
- ใก๊ (กุน) กอบัว ยักษ์

เมื่อเตรียมสิ่งของไว้พร้อมแล้ว ก็เริ่มประกอบพิธีโดยหันหน้าเฉพาะทิศทางที่กำหนด เรื่องทิศนี้ โบราณกล่าวไว้ว่า สังขานต์ล่องวันไหน ก็ให้บ่ายหน้าสู่ทิศนั้นๆ ดังนี้
- สังขานต์ล่องวันอาทิตย์ หันหน้าไปทิศ ตะวันตกเฉียงเหนือ
- สังขานต์ล่องวันจันทร์ หันหน้าไปทิศ ตะวันตก
- สังขานต์ล่องวันอังคาร หันหน้าไปทิศ ใต้
- สังขานต์ล่องวันพุธ หันหน้าไปทิศ ใต้
- สังขานต์ล่องวันพฤหัสบดี หันหน้าไปทิศ ตะวันออกเฉียงเหนือ
- สังขานต์ล่องวันศุกร์ หันหน้าไปทิศ ตะวันออก
- สังขานต์ล่องวันเสาร์ หันหน้าไปทิศ ตะวันตกเฉียงใต้

จากนั้นจึงกล่าวคำโอกาสว่า 
"ดูราเจ้ากู เราอยู่จิ่มกันบ่ได้ ภัยยะอันใหญ่ จักเกิดมีมาชะแล ขอเจ้ากูจุ่งมารับเอาเครื่องสักการะปูชามวลฝูงนี้ แล้วจุ่งมาพิทักษ์รักษาผู้ข้าหื้ออยู่สุขสวัสดี นั้นจุ่งจักมี เที่ยงแท้ดีหลีเทอะ" 
ว่าจบให้ตัดเล็บ ตัดเศษผมใส่ในสะตวง แล้วเสกเป่าน้ำขมิ้นส้มป่อยด้วยคาถาว่า 

"โอม สิริมา มหาสิริมา เตชะยะสะลาภา อายุวัณณา ภะวันตุ เม" 

แล้วสระเกล้าดำหัวด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อย ให้น้ำตกลงในสะตวง กระทำดังนี้แล้ว ให้ผลัดผ้าเก่า นุ่งห่มด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ พร้อมทัดทรงด้วย ดอกไม้อันเป็นนามปี ที่ถือว่าเป็น พระญาดอกไม้ ประจำปีนั้น ๆ เรื่องนี้ก็มีตำราไว้ว่าให้เอาตัวเลขจุลศักราชปีใหม่นั้นตั้ง หารด้วย ๘ เศษ เท่าไหร่ ดูตามนี้
- เศษ ๑ ดอกเอื้อง
- เศษ ๒ ดอกแก้ว
- เศษ ๓ ดอกซ้อน (มะลิ)
- เศษ ๔ ดอกประดู่
- เศษ ๕ ดอกบัว
- เศษ ๖ ดอกส้มสุก (อโศก)
- เศษ ๗ ดอกบุนนาค
- เศษ ๐ ดอกลิลา (ซ่อนกลิ่น)

หลังจากทัดดอกไม้มงคลประจำปีแล้ว ให้ยกสะตวงขึ้นเวียนรอบศีรษะ ๓ รอบ สุดท้ายนำสะตวงไปลอยน้ำหรือวางในที่อันควร แล้วหันหลังกลับบ้านทันที โดยไม่ให้เหลียวหลังไปมองสะตวงนั้นอีก

พิธีกรรมที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งยังมิได้กล่าวรวมไปถึงพิธีที่อิงศาสนา อาศัยกุสโลบายทางเมตตา คือพึ่งพาสัตว์เป็นพาหนะ นำสิ่งอัปมงคลออกจากร่างกาย โดยหมายฝากกับสัตว์ผ่านการปลดปล่อย ลอยไปกับน้ำ ย่ำไปกับดิน หรือบินไปสู่อากาศ ที่นิยมปฏิบัติในปัจจุบันคือ นำน้ำขมิ้นส้มป่อยมาเสกด้วยคาถาว่า "สัพพะทุกขา สัพพะภะยา สัพพะโรคา วินาสันตุ อะเสสะโต" แล้วเอาน้ำนั้นลูบศีรษะ สลัดใส่สัตว์แล้วปล่อยไป


สนั่น ธรรมธิ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น