แรลลี่รถโฟล์ค ปี พ.ศ.2512

การจัดแรลลี่ ได้มีการจัดขึ้นต่างกรรมต่างวาระในที่ต่างๆ ทั้งในยุโรปและเอเชีย จนกระทั่งสหประชาชาติเห็นความสำคัญในการจัดการแข่งขันแรลลี่ระหว่างประเทศ จึงได้จัดแรลลี่ขึ้นในภูมิภาคเอเชีย เส้นทางเวียงจันทน์ถึงสิงคโปร์ เมื่อพ.ศ.2512 มีบริษัทรถยนต์หลายบริษัทส่งตัวแทนเข้าร่วมแข่งขันทั้งยุโรปและเอเชีย

ในการแข่งขันครั้งนั้นทาง บริษัทโฟล์คสวาเก้น ซึ่งมีหม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต ขอให้ผม (ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์) เป็นตัวแทนโฟล์คเข้าแข่งขัน ในฐานะที่เป็นคนชอบขับรถ มีประสบการณ์ในการขับรถ และได้รับคำชมว่าเป็นคนขับรถที่มีฝีมือ ซ้ำยังทำหน้าที่ถวายการรับใช้ในการขับรถพระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้า รำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เป็นประจำอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ยังมีประสบการณ์จากการขับรถและเดินทางในยุโรปเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ผมเคยทำสถิติบันทึกไว้ว่า ผมเดินทางในยุโรปไม่ต่ำกว่า 10,000 กิโลเมตร โดยเฉพาะได้เคยขับรถถวายการรับใช้ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ท่องเที่ยวในฤดูร้อนเป็นประจำ แต่ละวันขับรถเป็นระยะทางกว่า 500 กิโลไม่ต่ำกว่า 15 วัน แต่การไปท่องเที่ยวแบบนั้นเป็นการขับรถที่ราบเรียบ แวะชมสถานที่ท่องเที่ยว กินอาหารอร่อยๆ แวะพักโรงแรมเป็นการเดินทางที่มีความสุขตลอดระยะทาง ไม่ใช่การแข่งขันแรลลี่ที่มีกฎเกณฑ์ กำหนดเวลาจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งอย่างชัดเจน และเส้นทางการแข่งขันแรลลี่ก็มีความลำบากมากน้อยแตกต่างกันไป

เมื่อมีการทาบทามจากบริษัทโฟล์คสวาเก้น ให้เข้าแข่งขันแรลลี่ ผมก็ตอบรับด้วยความยินดี เพราะว่าผู้ทาบทามเป็นญาติผู้พี่ ในการแข่งขันครั้งนั้นรถแต่ละคันจะมี Navigator และผู้ช่วยขับรวม 3 คน เส้นทางจากเวียงจันทน์ ไปสิ้นสุดสิงคโปร์ ระยะทางถ้าผมจำไม่ผิดก็ประมาณ 2,000 กิโลเมตร อย่าลืมว่าเมื่อปี 2512 เส้นทางคดเคี้ยวอ้อมไปอ้อมมา เป็นถนนลูกรังรถวิ่งผ่านไปฝุ่นฟุ้งกระจาย สะพานทอดข้ามลำน้ำ คู คลอง ยังเป็นสะพานไม้ชั่วคราวไม่ราบเรียบเหมือนเดี๋ยวนี้

ผู้ที่เข้าแข่งขันในคราวนั้น มีด้วยกันหลายชาติ เป็นร้อยคัน ต่างก็นำรถมาตั้งต้นที่เวียงจันทน์ ขับมาจุดแรกที่สวนอัมพรได้พัก 1 คืน รุ่งเช้าขับลงไปชุมพรพักนิดหน่อย พอ 2 ทุ่มออกจากสี่แยกปฐมพร จ.ชุมพร ผ่าน ระนอง ทุ่งสง นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง หาดใหญ่ ถึงสะเดาตอน 6 โมงเช้า แต่ระยะทางที่หฤโหดเป็นจุดที่อันตรายที่สุด คือช่วงระหว่าง จ.ตรัง ถึง จ.พัทลุง บนเขาพับผ้า ซึ่งมีโค้งหักศอกตลอดเส้นทาง แต่จะต้องขับให้ได้ในเวลา 60 นาทีตามกฎเกณฑ์ต้องใช้ฝีมือ และเทคนิคในการเลี้ยวโค้งแบบหักข้อศอกเป็นอันมาก การแข่งขันครั้งนั้น พระองค์เจ้าพีระพงศ์ ที่เรารู้จักกันในนาม "นักแข่งรถเจ้าดาราทอง" ประสบอุบัติเหตุชนเขาต้องออกจากการแข่งขัน รถที่เข้าแข่งขันหลายสิบคันประสบอุบัติเหตุ จนทำให้ทีมงานของเบียร์สิงห์ถอนตัว สำหรับผมขับจากชุมพรถึงสะเดาคนเดียวจนได้รับสมญาว่า "เฒ่าตีนผี" ผู้เข้าแข่งขันทุกคันต้องช่วยเหลือตัวเอง ไม่มีทีมซ่อมรถ หรือช่วยระหว่างทาง รถของนักแข่งประเทศลาว เจ้าคำปัน มาถึงสิงคโปร์หลังนักแข่งคนอื่น 3 วัน เจ้าคำปัน บอกว่า "มาบ่ฮอด ตีนข้อยแตกสี่ตีน" ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด คือ โตโยต้า ซึ่งมีปรีดา จุลมณฑล เป็นทีมขับ ได้รางวัลยอดเยี่ยม เป็นที่ฮือฮาของคนทั่วไป ที่นักขี่จักรยานระดับชาติมาได้รางวัลยอดเยี่ยมแข่งแรลลี่ครั้งนี้

ข้อมูลโดย ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์

แรลลี่ซีตรอง รุ่นแทรคชั่น เส้นทางกัวลาลัมเปอร์–เชียงราย

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ซีตรองแทรคชั่น

เมื่อได้ยินคำว่า Rally ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ หมายถึง การแข่งขันรถยนต์ทางไกลที่มีผู้นิยมจัดเส้นทางแรลลี่ระยะทางไกลจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวด้วยรถยนต์

ทราบมาว่า จะมีการจัดแข่งขันแรลลี่ข้ามประเทศขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในเส้นทางกัวลาลัมเปอร์–เชียงราย โดยใช้ชื่อการแข่งขันครั้งนี้ว่า "CITROEN RALLY TRACTIONS SANS FROTIERES FRANCE" เป็น แรลลี่ทัวร์ของคณะ TRACTIONS SANS FROTIERES FRANCE จากประเทศเบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย เพื่อกระชับสัมพันธไมตรีและเรียนรู้วัฒนธรรมวิถี ชีวิตไทย พร้อมทำกิจกรรมสาธารณกุศล 

การแข่งขันครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากปี 2552 คุณญาณ (Mr.Yann) และคุณเจอราดีน (Mrs. Geradine) สองสามีภรรยาชาวฝรั่งเศส ขับรถยนต์ตู้ซีตรองรุ่นฮาชีล (HACHILLE) หรือรุ่นหน้าหมูโบราณ (รุ่นปี ค.ศ.1947) เข้ามาท่องเที่ยวเมืองไทย โดยขับรถตระเวนไปตามจังหวัดต่างๆ บันทึกภาพและเหตุการณ์ ที่ได้พบเห็นอย่างละเอียด ที่สำคัญ ทั้งสองได้มาพบกับคุณเจษฎา เดชสกุลฤทธิ์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์รถโบราณ เจษฎามิวเซียม ที่มีรถเก่าโบราณแบบและรุ่นต่างๆ ทั่วโลกกว่า 1,000 คัน

เมื่อกลับไปฝรั่งเศส สองสามีภรรยาเกิดความประทับใจ จึงนำเรื่องราวที่ได้พบเห็นในประเทศไทยเขียนลงนิตยสาร GAZOLINE และทำข่าวสารคดีท่องเที่ยวทั่วโลก ในรายการโทรทัศน์ VOYAGE CHANEL ออกอากาศ 160 ประเทศทั่วโลก ทางสมาคมรถยนต์ซีตรองแทรคชั่นไร้พรมแดน (CITROEN TRACTIONS SANS FROTIERES) จึงได้ป่าวประกาศไปถึงสมาชิกผู้รักรถโบราณ ชักชวนกันนำรถซีตรองรุ่นแทรคชั่น เดินทางท่องเที่ยวประเทศไทยและมาเลเซียโดยใช้เวลา 21 วัน และที่สำคัญที่สุดคือ มาดูซิว่าคนไทยธรรมดาๆ อย่างคุณเจษฎา ทำไมจึงมีพิพิธภัณฑ์สะสมรถโบราณ ที่หายากมากมายขนาดนี้ แถมยังให้เข้าชมฟรีด้วย อย่ากระนั้นเลยโปรแกรมการแข่งขันแรลลี่ครั้งนี้จึงเกิดขึ้น

เริ่มจากเอารถซีตรองโบราณทั้งหมดลงเรือ มาขึ้นที่กัวลาลัมเปอร์ และท่องเที่ยวในมาเลเซีย 8 วัน จากนั้นเข้ามาประเทศไทยทางด่านสะเดา พักค้างคืนจุดแรกที่ จ.ตรัง ผ่านชุมพรจนมาถึงหัวหินพัก 1 คืน จึงขับขึ้นมาจนถึงพิพิธภัณฑ์รถโบราณ เจษฎามิวเซียม อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ชมรถโบราณให้หายอยากแล้วเข้าที่พักที่โรงแรมสวนสามพราน เพื่อร่วมงานเลี้ยงต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่อลังการ ตามแบบฉบับสวนสามพราน รุ่งขึ้นเดินทางขึ้นเหนือ พักนครสวรรค์ พิษณุโลก แห่งละ 1 คืน ขับต่อไปเที่ยวชมมรดกโลกที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 1 คืน จากนั้นขึ้นไปค้างลำปางอีก 1 คืน และไปจบที่ จ.เชียงราย อยู่ท่องเที่ยวชมความงามของล้านนา ทำกิจกรรมสาธารณกุศลรวม 3 คืน จึงล่องกลับมาพักที่พิษณุโลก 1 คืน เรื่อยมาจนถึงอยุธยา พักชมอุทยานประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาอีก 1 คืน

รุ่งเช้าเป็นวันที่ 11 สิงหาคม 2553 ขบวนรถจะขับเข้ากรุงเทพฯ มาเยี่ยมคารวะ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล แล้วจะเอารถทั้งหมดไปจอดไว้ที่สนามเสือป่า คราวนี้ล่ะสนุกแน่ๆ สำหรับฝรั่งต่างชาติ เพราะคณะผู้เข้าแข่งขันแรลลี่ทุกคน จะไปทัวร์ที่ถนนข้าวสาร ที่เลื่องชื่อลือชา เพื่อชมวิถีชีวิตคนไทย และรับประทานอาหารเย็นที่นี่ พอตกค่ำก็จะนั่งรถ London Bus ชมแสงสีไฟประดับประดางานเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และความงามยามราตรีของกรุงเทพฯ

รุ่งเช้าเป็นวันที่ 12 สิงหาคม 2553 ขบวนรถทั้งหมดจะร่วมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยจะขับรถเป็นขบวนไปตามถนนราชดำเนิน เลี้ยวเข้าเยี่ยมคารวะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกบริเวณเสาชิงช้า กิจกรรมตอนบ่ายจะอยู่รอบๆเกาะรัตนโกสินทร์ ตกเย็นก็จะได้ดื่มด่ำรสชาติอาหารไทยกับบรรยากาศสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบนเรือสำราญ

อีก 2 วันก็จะไปชมเมืองโบราณ วังสวนผักกาด มาบุญครอง วัดยานนาวา พระบรมมหาราชวัง และร่วมงานเลี้ยงอำลาที่ หอประชุมกองทัพเรือ ในวันที่ 15 ส.ค.2553 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายในเมืองไทย เวลา 01.25 น. ก็ขึ้นเครื่องบินกลับ ส่วนรถก็ลงเรือที่ท่าเรือกรุงเทพฯ กลับไปเจอเจ้าของที่บ้าน

เท่าที่เล่ามานี้ก็อยากให้พวกเราชาวไทย ที่อยู่ตามเส้นทางที่ขบวนแรลลี่ทัวร์คณะนี้แล่นผ่าน ไปช่วยกันต้อนรับและทักทาย ถ่ายรูปในฐานะเจ้าของบ้านก็ไม่ผิดกติกา กิจกรรมการแข่งขันแรลลี่ทัวร์แบบนี้ เมื่อฝรั่งเขากลับไปบ้านเขาแล้ว เขาจะได้ไปเล่าสู่กันฟังว่าประเทศไทยสวยงาม มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย เป็นการการันตีว่าบ้านเมืองของเราสงบสุขแล้ว

ต้องขอชมเชย คุณเจษฎา เดชสกุลฤทธิ์ และทีมงานที่เป็นเจ้าภาพดูแลคณะแรลลี่ทั้งหมด

ชวนเที่ยว ชวนกินอาหารโบราณในตลาดเช้าวัดสิงห์

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ แกงบวน

คนที่มีเทพจรลงเท้า  อยู่กับที่ทางไหนนานๆ ไม่ได้ มันต้องให้รุ่มร้อน จนต้องเดินทางไปตามที่ต่างๆ วนเวียนกันไปไม่รู้จบ บางครั้งก็ถือโอกาสวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ท่องเที่ยวไปตามชุมชนเก่าแก่ ตลาดน้ำโบราณที่ยังสืบทอดวิถีชีวิต จารีตประเพณีไว้อย่างเหนียวแน่น เป็นสถานที่น่าท่องเที่ยวในวันหยุด

ในคราวนี้จึงขอชวนท่านมาเที่ยว ที่ตลาดเช้าของชุมชนโบราณที่อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ระยะทางห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 200 กิโลเมตร ใช้เส้นทางบางบัวทอง-สุพรรณบุรี กินเวลาชั่วโมงเศษก็จะ ถึงอำเภอวัดสิงห์ เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท

อำเภอวัดสิงห์เป็นหนึ่งใน 8 อำเภอของจังหวัดชัยนาท ในอดีตอำเภอวัดสิงห์ เป็นแหล่งค้าขายใหญ่ที่สุดของจังหวัด มีท่าข้าว ท่าถ่าน ทำให้การค้าขายสมัยนั้นเจริญรุ่งเรืองมาก และยังเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำท่าจีนที่มีจุดเริ่มต้น ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งมีรูปเหมือนหลวงปู่ศุข ซึ่งเป็นเกจิอาจารย์ เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และยังเป็นอาจารย์ของเสด็จกรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์ อีกด้วย

ใกล้ๆ กับอำเภอวัดสิงห์ไปทาง อำเภอหนองมะโมง มีชุมชนบ้านสะพานหิน บ้านกุดจอก มีการทอผ้าตามแบบดั้งเดิมของชาวบ้าน ซึ่งบรรพบุรุษเป็นชาวลาวเวียง ซึ่งอพยพย้ายถิ่นฐานมาจากเวียงจันทน์ สมัยรัชกาลที่ 1 และได้นำเอาลวดลายการทอผ้าติดตัวเข้ามาแต่ครั้งกระนั้น  การทอผ้าด้วยสีแดงสดใสประดับเชิงผ้า ด้วยลายตีนจกมาสวมใส่อย่างสวยงาม จึงเป็นความงดงามของชาวบ้านสะพานหินมาจนทุกวันนี้

ด้านวัฒนธรรมทางอาหารการกิน  ตลาดเช้าอำเภอวัดสิงห์มีของกินพื้นบ้าน ทั้งคาวหวานมาขายตั้งแต่เช้ามืดเป็นประจำ มีผู้มาฝากท้องไว้กับตลาดเช้ามากมายทุกครัวเรือน ในฐานะนักชิม จึงเป็นคนหนึ่งที่เป็นลูกค้าตลาดเช้าของอำเภอวัดสิงห์ มีข้าวแกงอร่อยหลายเจ้าให้เลือกรับประทาน  หรือซื้อใส่ห่อกลับบ้าน มีอาหารชนิดหนึ่งเป็น แกงโบราณ คือ "แกงบวน" เป็นแกงเครื่องในหมู ตับ ไต ไส้ พุง ของหมูซึ่งชาวจีนนำหมูมาเลี้ยงในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อประมาณ 400 ปีก่อน ซึ่งคนไทย เพิ่งจะได้ลิ้มรสเนื้อหมูเป็นครั้งแรก แตกต่างกับอาหารไทย ซึ่งจะกินปลานานาชนิด นำมาแปรรูปเป็นเครื่องจิ้ม เป็นปลาร้า ปลาจ่อม ปลาเจ่า เป็นต้น เครื่องจิ้มเหล่านี้ทำจากปลาในรูปแบบต่างๆ สมกับคำพังเพยของไทยว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เป็นอาหารหลักของไทยมาตั้งแต่โบราณกาล

ชาวอำเภอวัดสิงห์จะทำแกงบวนจำหน่ายในวันพระ ที่ตลาดเช้าเป็นประจำ แกงชนิดนี้ต้องอาศัยการล้างเครื่องในหมูให้สะอาดปราศจากกลิ่น ปรุงรสด้วยน้ำใบมะตูม คั้นใบขี้เหล็ก (ตามตำรับลาวเวียง) มีรสหวานนำ เค็มตาม ชื้นเครื่องในจิ้มพริกขี้หนูตำดองกับน้ำส้มสายชูและเกลือ ให้มีน้ำจิ้ม เปรี้ยว เค็ม เผ็ด ซดน้ำแกงตามสวรรค์ ก็อยู่ในปากและลิ้นของเรานี่เอง

แกงบวนของวัดสิงห์ จะหากินได้ทุกวันพระในตลาดเช้า อำเภอวัดสิงห์เท่านั้น ถ้าไม่ใช่วันพระ หาทั่วตลาดก็ไม่ได้กินจะบอกให้

การไปเที่ยวตลาดเช้าอำเภอวัดสิงห์นั้น ท่านจะต้องไปตลาดเช้าอย่าให้เกิน 6 โมงเช้า มิฉะนั้นท่านจะพบแต่ตลาดสายหยุด ประมาณ 7 โมงเช้าตลาดก็จะเริ่มวายแล้ว ทางที่ดีถ้าท่านไม่มีพรรคพวกที่มีบ้านอยู่วัดสิงห์ ท่านจะต้องออกเดินทางแต่เช้ามืด ในตลาดจะมีชาวบ้านนำพืชผักสวนครัวมาขายเอง มีทั้งผักบุ้ง หน่อไม้ มะเขือ ถั่วฝักยาว รวมไปถึงหมู เนื้อ และปลานานาชนิดจากแม่นํ้า

มีทางแก้สำหรับคนที่ไม่มีพรรคพวกเป็นคนวัดสิงห์ก็คือ หาที่นอนใกล้ตลาดเช้าวัดสิงห์ ซึ่งจะไปนอนที่ พญาไม้ รีสอร์ท ของทันตแพทย์กฤตผล พรพิบูลย์ บนเกาะเทโพ ที่เป็นรีสอร์ต 4 ดาว ร่มรื่นด้วยแมกไม้ริมแม่น้ำสะแกกรัง นอนหลับสบายท่ามกลางธรรมชาติ ตื่นเช้ามืดเดินทางมาตลาดเช้าอำเภอวัดสิงห์ที่อยู่ห่างประมาณ 20 กิโลเมตร ทันเวลาตลาดเช้าอำเภอวัดสิงห์อย่างสบายๆ

ตอนบ่ายหาโอกาสไปเยี่ยม ชุมชนลาวเวียงที่บ้านสะพานหิน หาซื้อผ้าทอที่มีสีสวยสดงดงาม กลับมาตัดเป็นเสื้อผ้าสวมใส่ที่ไม่มีใครเหมือนอีกด้วย

การท่องเที่ยวในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ จะทำให้ท่านได้พบวิถีชีวิตของชุมชนโบราณ อาหารการกินที่สืบทอดมาจนทุกวันนี้