โลกของ"มุนินทร์" แรงแค่เงา หรือแรงเกินไปกับโลก "มุตตา" ผู้อาภัพ...

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ แรงเงา

พ่อแม่ใครช่างตั้งชื่อ แล้วยิ่งเป็นลูกแฝดสองคน ที่ต่างกันราวฟ้ากับดิน คนหนึ่งเก่งจนร้ายกาจ แต่อีกคนเชื่องช้าเนิบนาบ สมกับคำแปลของชื่อ ที่มีความหมายถึง "แก้ว" ชนิดหนึ่งสมัยโบราณ สีหมอกอ่อนๆ คล้ายสีไข่มุก ถ้าเป็นไข่มุกจริงๆ ยังดูมีค่าเสียกว่า แต่นี่ยิ่งแปลความหมายชื่อตัวเอง ก็ยิ่งช้ำ ดูต่ำต้อยเสียเหลือเกิน

โลกของตัวละครตัวหนึ่ง จากบทประพันธ์ของ นันทนา วีระชน ที่โด่งดังไปทั่วบ้านทั่วเมือง ด้วยสองอารมณ์ของความน่าสมเพช สงสารที่โดนผู้ชายหลอก และการถูกประณามหยามเหยียดที่บังอาจไปแย่งสามีของชาวบ้านเขา...นานาจิตตัง ใครอยู่ฝ่ายไหน ที่อาจจะมีสถานการณ์ที่บ้านคล้ายกับในละคร ก็คงเชียร์ฝ่ายนั้น และต่อต้านฝ่ายตรงกันข้าม ส่วนเรื่องปมด้อยของตัวละคร ถ้าเอามาพินิจพิเคราะห์ดีๆ จะเห็นว่า แม่แก้วสีหม่นแบบไข่มุกคนนี้ มีชีวิตที่น่าสนใจไม่น้อย

เริ่มจากการเป็นลูกที่ต้องแข่งขันกับแฝดคนพี่ ที่เปรี้ยวจี๊ดจ๊าด ดูคล่องแคล่วและเก่งกาจจนร้ายกาจ ทำให้สังคมส่วนใหญ่ รวมถึงพ่อแม่เธอเองก็อดชื่นชม (จนบางทีก็เกินหน้าเกินตา) มิได้ แล้วคนที่อ่อนแอซึ่งในความเป็นจริง ก็มีความอ่อนหวานนุ่มนวล เป็นกุลสตรีที่น่าชื่นชม แต่ทว่าสังคมยุคปัจจุบันแทบไม่ต้องการเธออีกแล้ว แล้วเธอจะมีที่ยืนอยู่ที่ตรงไหนได้ 

นอกจาก เปลี่ยนตัวเอง เพื่อลบปมในใจให้ได้เท่านั้นเอง

ความผิดของมุตตา น่าจะเรียกว่าผิดพลาดเสียมากกว่า ที่มีแฟนตาซีหรือจินตนาการ ที่ไม่อยู่ในโลกของความเป็นจริงสักเท่าไร คงด้วยปมด้อยที่คนหลายคน มักปล่อยให้มันมีอิทธิพลกับชีวิต (impact) โดยที่ไม่ได้แก้ไข หรืออาจจะไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำ มาคอยตอกย้ำให้เธอทำตัวเป็นนางเอกโดยความเต็มใจ แต่ความเป็นนางเอกของเธอจริงๆ แล้ว ลึกลงไปอีกขั้นในจิตใจของเธอนั้น เธอเป็นนางมารร้ายโดยไม่รู้ตัวเลย เพราะได้ใช้ความเป็นนางเอกแย่งชิงสิ่งที่ตนเองต้องการ (ต้องขอบอกว่ามีอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียวในสังคม) คงต้องหาให้ได้ว่า เธอ enjoy หรือสนุกอยู่กับการเจ็บปวดโดยไม่รู้ตัว เวลาที่เจ็บปวด และเก็บกด ก็จะระเบิดออกมาเป็นระยะๆ ดูโดยรวมแล้ว ก็ไม่ได้ต่างจากนางมารร้ายสักเท่าไรนัก แต่บางครั้งการมีความน่าสงสารบังหน้า ก็อาจจะทำให้หลายคนเคลิบเคลิ้มตามไป จนอาจจะชวนกันเดินหลงทางได้เช่นเดียวกัน และนี่ก็คือเรื่องราวของผู้หญิง ที่อาจจะเป็นตัวแทนของหญิงหลายคน ที่ขาดสภาพการรักตัวเอง ปกป้องตัวเอง แม้กระทั่งบางคนที่มองดูตัวเองไร้คุณค่า ด้วยการมองข้ามคุณค่า หรือกองคุณค่าตัวเองไว้ที่มุมใดมุมหนึ่งของชีวิต แล้วเอาปม (ที่คิดว่า) ด้อยมาชูให้เด่น แต่กลับนำทางชีวิตไปสู่ความมืดมน...

เพื่ออะไร!!! ก็คงมาจากการเลี้ยงดูแต่เยาว์วัยนั่นเอง...

พ่อแม่เป็นผู้ให้ชีวิต ตอนกำเนิดและช่วงเลี้ยงดู แต่มนุษย์ทุกคนจะต้องต่อสู้ดิ้นรน เพื่อให้มีศักยภาพเป็นของตัวเอง เพื่อที่วันหนึ่งเราจะได้เอาชนะอุปสรรคทั้งปวง ไม่ว่าจะมาจากภายนอก หรือแม้กระทั่งภายในใจของเราเอง

ซึ่งอุปสรรคภายในใจสำคัญยิ่งกว่าสิ่งใด...อุปสรรคที่ว่านั้นคือ “ความคิดและอารมณ์” ของเรา หากเราคุมอารมณ์ไม่ได้ ความคิดก็มักเตลิดเปิดเปิง หรือหากเราคุมความคิดไม่ได้ อารมณ์ของเราก็ย่อมแปรปรวน

ทั้งหมดทั้งปวง ถ้ามองดีๆ ก็ล้วนแล้วแต่เราทำขึ้นมาเองทั้งนั้น 

คำว่า “ทิฐิ” จะเป็นผลลัพธ์ จากการไม่สามารถคุมอารมณ์และความคิดได้

เมื่อเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น ชีวิตก็อาจจะแขวนอยู่บนเส้นด้าย หรือหนักกว่านั้น ก็แขวนอยู่บนขื่อบ้าน เหมือนที่มุตตากระทำต่อความคิดและอารมณ์ของเธอ...

ทำให้เธอต้องจบชีวิตอย่างโดดเดี่ยว แต่คนข้างหลังก็เสียใจและเจ็บแค้น...แถมไม่มีประโยชน์อะไรเกิดขึ้นเลยแม้แต่นิดเดียว จากการตาย...เรื่องราวของเธอจบลงไปแล้ว แต่เรื่องราวของพี่สาว ที่หน้าเหมือนเธอ ก็กำลังเริ่มต้นอีกครั้ง ด้วยความดุเด็ดเผ็ดมัน ถูกใจหลายคนที่ชอบความรุนแรงแฝงความบันเทิง จะดีหรือไม่ หากการแก้แค้นจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น...ต้องร้องเพลงให้แม่สาวที่ชื่อแปลว่า "จอมนักปราชญ์ผู้เก่งกาจ" จากเมืองนอก ด้วยเนื้อเพลงที่ว่า 
“เธอกลับมาครานี้ ไม่เป็นเหมือนเธอคนก่อน ไม่คอยอ้อนวอนไม่ง้อให้เป็นเหมือนเก่า” อีกแล้ว
เพราะเธอมาแก้แค้น ให้น้องสาวฝาแฝดที่เสียชีวิตไป ด้วยความเข้าใจว่าถูกผู้ชายหลอกให้ชอกช้ำระกำทรวง แถมยังตายทั้งกลมอีกต่างหาก ในหัวใจของพี่สาวและยิ่งเป็นฝาแฝดด้วยแล้ว คงไม่มีใครไม่เสียใจ และความเสียใจเหล่านั้น ก็สามารถแปรเปลี่ยนไปเป็นความแค้นได้ไม่ยากเลย

ในช่วงเวลาของความโกรธของคนเรา ซึ่งคงไม่ต่างจากตอนเศร้าหรือลุ่มหลง เราสามารถที่จะทำอะไรได้ง่ายดาย และบางครั้งเราก็สามารถที่จะมีพลังมากมาย อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จนทำให้แรงอาฆาตพยาบาท สามารถนำไปใช้ในการทำร้ายคนอื่นได้ โดยเฉพาะเมื่อเรามีความเก็บกด ไม่กล้าแสดงออก ก็ยังมีพลัง (ที่ซ่อนอยู่ในสภาพห่อเหี่ยว) เพื่อที่จะสามารถทำร้ายร่างกายตนเองได้เช่นเดียวกัน

ในยามที่เราไม่รู้เหตุผลที่มากเพียงพอ หรือตัดสินไปอย่างวู่วาม สิ่งที่จะห้ามความโกรธไม่ให้ส่งพลังทำลายล้างออกไปได้ คงไม่มีอะไรดีเท่ากับ “สติ” เพราะสติ จะช่วยติดเบรกพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ให้เราได้อย่างมาก ช่วยแปรเปลี่ยนอารมณ์ที่แปรปรวนให้ลดลง จนสามารถทำให้เหตุผลขึ้นมาแซงหน้าได้ 

เมื่อนั้น ความหายนะก็จะค่อยๆ ลดลง 

อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วต้องฝึกฝนทั้งสิ้น จะให้ครูบาอาจารย์ หรือนักจิตบำบัดที่ไหนมาช่วย ก็คงไม่สำคัญเท่ากับตัวเราเอง ที่จะเปิดใจยอมรับ เพื่อเรียนรู้จักตัวเองหรือเปล่า นี่คือจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ก็เลยมีหลายคนตั้งคำถามว่า จะแก้แค้นอย่างไรให้สาสม เมื่อเขามาทำร้ายคนที่เรารัก...นั่นเอง 

คนส่วนใหญ่มักทำใจไม่ได้ แต่ที่ทำใจไม่ได้ เพราะตอนนั้นอารมณ์มันพลุ่งพล่าน แต่หากเชื่อในเรื่องกาลเวลา ที่ช่วยเยียวยาทุกสิ่งอย่าง คุณก็จะได้ประสบการณ์และความภาคภูมิใจ ที่แสดงให้เห็นว่าตนสามารถรอได้ และผลดีที่ตามมาคือ การช่วยชะลอความสูญเสีย ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่ยังมีไฟแห่งความโกรธอยู่ ไม่ว่าคุณจะเก่งมาจากไหน จะชื่อเสียงเรียงนามน่าชื่นชมขนาดใดก็ตาม หากไม่เป็นไปตามชื่อของตนเอง ก็ป่วยการที่จะมีชื่อดีๆ ให้เป็นศักดิ์เป็นศรีแก่ตนเอง และความคาดหวังและความรักที่พ่อแม่มีให้ตลอดมา...

แม้ชีวิตเมียหลวงจะน่าสงสาร ที่ถูกแย่งความรักจากสามีไป แต่ก็มีเมียหลวงจำนวนไม่น้อย ที่สามีทนความร้ายกาจของเธอไม่ไหว จนต้องเผลอใจไปหาคนใหม่ทดแทน จะด้วยความเหงาทางใจหรือนิสัยที่รักสนุกไม่รู้จักพอก็ตาม ก็จะเกิดปัญหาตามมาทั้งสิ้น และหากวันหนึ่ง เมื่อคุณเผอิญพลาดพลั้งไปอยู่ในวังวนของคนเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ โดยเฉพาะผู้ชายเจ้าชู้ที่ชอบอ้างว่า ไม่มีความสุขกับเมียหลวง แล้วไปเที่ยวหลอกให้คนที่จะมาเป็นเมียน้อยตายใจ ...จนเกิดเรื่องเกิดราวมากมาย ถึงขั้นต้องทำร้ายกัน ก็ควรทบทวนถามตัวเองว่า คู่ควรหรือไม่ ที่จะไปตบตีกับคนพรรค์นั้น ใครรวยกว่า สวยกว่า เด่นกว่าไม่สำคัญ มันสำคัญที่พฤติกรรม การใช้ความรุนแรงเหล่านั้นต่อหน้าสาธารณชน หรือลอบทำร้ายคนอื่นแบบลับหลังก็ตาม มิใช่วิสัยของวิญญูชนในการแก้ปัญหา

ลองถามตัวเองดูสักนิดสิว่า ถ้าเราอยากจะทำตัวดูมีคุณค่า อยากมีจิตใจที่สุขสงบ...จะไปเกลือกกลั้วกะพวกเขาเหล่านั้นทำไมให้มีมลทิน ยิ่งแก้แค้นก็ยิ่งหมองมัว เพราะไม่เคยมีใครมีความสุขจากการใช้อารมณ์เลยสักคนเดียว

จุดไฟเผาบ้านใครสักคน ที่เราโกรธเกลียดได้ คงจะสะใจพิลึก ถ้ามั่นใจว่าไฟเหล่านั้นไม่ลามกลับมาเผาใจตัวเอง ให้ร้อนรุ่มสุมทรวงด้วยแรงอาฆาตมาดร้าย การตอบแทนคนที่ทำร้ายเรา หรือคนที่เรารักยังมีอีกหลายช่องทางที่ดีๆ มากกว่าการทำร้ายกันเพื่อความสะใจ...แรงอาฆาตของเงาแห่งความโกรธจะหมดไป ด้วยแรงใจแห่งการให้อภัย.

สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) ก่อตั้งธรรมยุต

สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) ก่อตั้งธรรมยุต บรรลุพระนิพพาน

สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) เกิดเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2349 ซึ่งเป็นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ถิ่นฐานเดิมของท่านอยู่แถวๆ วัดเทวราชกุญชรในปัจจุบัน

ไม่มีหลักฐานว่า ท่านบรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่เมื่อไหร่ ทราบแต่ว่า ท่านบรรพชาที่วัดสังเวชวิศยาราม ย่านบางลำพู เมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งต่อมาขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างวัดราชโอรสขึ้นก็โปรดให้ท่านไปอยู่ที่วัดราชโอรส

ในปี 2369 หรือรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 3 นั่นเอง ท่านได้อุปสมบทที่วัดเทวราชกุญชรแล้วไปอยู่ในสำนักวัดราชาธิวาส โดยไปศึกษาที่วัดเบญจมบพิตรบ้าง วัดชนะสงครามบ้าง

สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) รูปนี้ มีความสำคัญนัก เพราะท่านเป็น 1 ใน 10 รูป ที่ร่วมกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเป็นพระวชิรญาณเถระก่อตั้งวงศ์พระธรรมยุตขึ้นในประเทศไทย ครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระผนวช และประทับอยู่ที่วัดสมอราย หรือวัดราชาธิวาส นั้น ทรงศึกษาและปฏิบัติแล้วพบว่า "หลักการปฏิบัติสับสน ขาดหลักอ้างอิงที่แน่นอน เป็นแต่เพียงรับฟังคำบอกเล่าของโบราณาจารย์ ปฏิบัติไปก็ยิ่งห่างไกลจากความรู้" หลังตั้งพระทัยว่าจะศึกษาให้แตกฉาน ก็ทรงสอบระเบียบแบบแผนและคัมภีร์ต่างๆ แล้วพบว่า "ศาสนวงศ์อันตรธานมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งโน้นแล้ว" จึงทรงตั้งสัจจกิริยาธิษฐานในอุโบสถวัดมหาธาตุฯ ว่า "ข้าพเจ้าออกบวชด้วยความเชื่อ ความเลื่อมใส มิได้เพ่งต่ออามิส สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นต้น ถ้าวงศ์บรรพชาอุปสมบทมีเนื่องมาแต่สุคตทศพลยังมีอยู่ ณ ประเทศใด ทิศใด ขอให้ประสบหรือได้ยินข่าวให้ได้ภายในสามวันหรือเจ็ดวัน ถ้าไม่เป็นดังนั้น ข้าพเจ้าก็จักเข้าใจว่า ศาสนวงศ์นั้นสิ้นแล้ว" ไม่กี่วันหลังจากนั้น พระองค์ก็ได้พบพระเถระชาวรามัญผู้รู้ข้อวัตรปฏิบัติแตกฉานในพระไตรปิฎก

หลังจากนั้นทรงได้อุปสมบทใหม่ เพราะสงสัยว่า การอุปสมบทในคราวก่อนนั้นจะมีความผิดพลาดไม่สมบูรณ์อยู่ หรือที่เรียกว่า ทัฬหีกรรม อุปสมบทที่สีมาน้ำวัดสมอราย มีพระรามัญ 20 รูป ทุกรูปมีกาลพรรษาล่วง 20 พรรษา มาเป็นพระอุปัชฌาย์และพระคู่สวด โดยให้สลับพระอุปัชฌาย์และพระคู่สวดทุกหนึ่งจบรวม 6 ครั้ง

เมื่อทรงผนวชเสร็จแล้ว ก็ทรงให้ศิษย์หลวง 9 รูปร่วมอุปสมบทใหม่ในพิธีนั้นด้วย หนึ่งในนั้นคือ สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ)

นั่นเป็นการอุปสมบทครั้งที่ 4 ของท่าน ซึ่งไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เพราะตามประวัติ สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) อุปสมบทถึง 7 ครั้ง หลังบวชครั้งที่ 4 และเรียนพระปริยัติในสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ต่อมาท่าน "ไม่สู้ชอบใจพระกรรมวาจาจารย์ของท่าน" ท่านจึงเข้าอุปสมบทใหม่ซ้ำอีก เพื่อให้แน่ใจว่า การอุปสมบทของท่านบริสุทธิ์จริงๆ

ครั้นต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบว่า การอุปสมบทแบบรามัญนั้นไม่มีการสวดบุพพกิจ ท่านจึงอุปสมบทใหม่อีกเป็นครั้งที่ 6 ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อท่านไปนมัสการพระปฐมเจดีย์แล้วได้ปฏิญาณตนเป็นอุปสัมบันภิกษุต่อพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอุทิศบรรพชา และเป็นการบรรพชาครั้งที่ 7 ของท่าน ศิษย์รุ่นหลังได้วิเคราะห์ไว้ว่า การที่ท่านได้อุปสมบทถึง 7 ครั้งนั้นชี้ให้เห็นว่า "ท่านมุ่งความบริสุทธิ์ในชีวิตพรหมจรรย์มากเพียงไร" นอกจากเรื่องนี้แล้ว เรื่องราวความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยของท่านนั้นปรากฏตกทอดมาอีกเรื่องหนึ่งคือ ปกติท่านจะจำวัดผู้เดียวในกุฏิใหญ่คณะ 5 แต่มีคืนหนึ่งอสุรกายปรากฏขึ้นในรูปหญิงสาว นับแต่นั้นมาท่านจึงให้พระเณรมานอนเป็นเพื่อน เพราะเกรงว่าจะมีผู้พบแล้วเข้าใจผิด นอกจากศึกษาปริยัติแล้ว สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) ยังมุ่งปฏิบัติโดยเฉพาะอสุภกรรมฐาน แม้แต่ภาพถ่ายของท่านที่ตกมาถึงคนรุ่นหลังก็ยังเป็นรูปที่ท่านกำลังนั่งพิจารณากองกระดูกอยู่

ตามประวัตินั้นบ่งชัดว่า สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) เป็นผู้มั่นคงในพระรัตนตรัยมาก ท่านจะสวดมนต์ไหว้พระวันละ 3 ครั้ง กล่าวคือ หลังฉันเช้าแล้วจะไหว้พระสวดมนต์ที่กุฏิเพียงลำพัง พอ 4 โมงเช้าจะไหว้พระในพระอุโบสถพร้อมพระภิกษุสามเณร พลบค่ำก็จุดเทียนไหว้พระพร้อมกับลูกวัด ครั้งหนึ่งซึ่งพิเคราะห์กันแล้วเชื่อว่าจะเป็นสมัยรัชกาลที่ 5 มีพระราชพิธีจัดสวดมนต์ในวังหลวง สังฆการีได้มานิมนต์ท่านเข้าไปร่วมสวดมนต์ด้วย โดยนิมนต์ท่านให้เข้าวังในเวลา 4 โมงเย็น ท่านก็ตอบว่า "4 ทุ่มข้าจะไป" เพราะที่วัดโสมนัสฯ สวดมนต์เย็นไหว้พระเสร็จกันตอน 3 ทุ่ม พอพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก พระภิกษุทั้งหลายก็เข้าประจำที่ ขาดแต่สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เลยทรงถามสังฆการี ว่า ไปนิมนต์ท่านอย่างไร ท่านถึงยังไม่มา สังฆการีก็กราบทูลตามความดังกล่าว จึงมีรับสั่งว่า "ท่านไม่อยากเข้าวังแล้ว ทีหลังอย่าไปนิมนต์ท่าน" พอสังฆการีไปกราบเรียนให้สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) ทราบ สมเด็จฯ ท่านจึงว่า "เออ ข้างๆ วัดของข้านี้ก็อิ่มแล้ว"

สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) เป็นที่ได้รับการยกย่องอย่างยิ่งจากพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 3 รัชกาล คือ รัชกาลที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 คราวรัชกาลที่ 5 ทรงผนวชนั้น ท่านได้รับนิมนต์ให้เข้าไปประจำที่พระพุทธรัตนสถาน ซึ่งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อถวายพระธรรมปริยายแด่พระองค์จนกระทั่งลาผนวช และในรัชกาลนั้นเองที่ทรงสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระวันรัต โดยปรากฏในประกาศทรงแต่งตั้งตอนหนึ่งว่า "มีพรรษายุกาลเจริญมาก ประกอบด้วยรัตตัญญูมหาเถระธรรมยั่งยืนมานานปละมีปฏิภาณปรีชาตรีปิฎกกลาโกศลฉลาดในธรรมโมบาย ขวนขวายในการสั่งสอนนิกรบรรษัททั้งคฤหัสถ์บรรพชิต เป็นพาหุลกิจนิตยสมาทานมิได้ย่อหย่อน เป็นที่มหานิกรนับถือ เป็นปูชนียฐานบุญเขตที่ควรเคารพบูชา และมีสุตาคมและศีลาธิคุณมั่น..." กล่าวกันว่า สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) นั้น เป็นที่นับถือของหมู่พระสงฆ์ธรรมยุตมากเป็นพิเศษ ภาษาสมัยใหม่ก็คงเรียกว่า นับถือท่านเป็นไอดอลของพระธรรมยุต