ดังนั้น เราจึงต้องหาพลังงานทดแทนใหม่ๆ ที่น่าจะนำมาใช้แทนน้ำมันได้บ้าง “ปาล์มน้ำมัน” พืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่สำหรับอนาคต น่าจะเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ ณ เวลานี้
บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) คุณพิทักษ์ รัชกิจ-ประการ ผู้มีประสบการณ์ด้านการปลูกปาล์มน้ำมัน เล่าให้ว่า ขณะนี้บริษัทในเครือกำลังปลูกปาล์มน้ำมันแบบยกร่องที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ฟังแล้วแปลกใจ ไม่คิดว่าปาล์มน้ำมันสามารถปลูกยกร่องเหมือนปลูกพืชผักสวนครัวทั่วๆ ไปได้ จึงได้พากันเข้าไปดูที่ตำบลบางเดชะ อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี บนเนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ มีต้นปาล์มกว่า 70,000 ต้น ขึ้นเป็นแถวเป็นแนวเขียวขจีสุดลูกหูลูกตา เห็นแล้วรู้สึกว่าเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจมาก
ปาล์มน้ำมันมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ชาวโปรตุเกสได้นำปาล์มน้ำมันเข้ามาปลูกในทวีปเอเชีย โดยเริ่มปลูกที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นแห่งแรก และแพร่กระจายไปยังมาเลเซีย ต่อมาปี พ.ศ.2472 จึงได้มีการนำปาล์มน้ำมันเข้ามาปลูกในประเทศไทยครั้งแรก โดยปลูกเป็นปาล์มประดับที่สถานีทดลองยางคอหงส์ จ.สงขลา และสถานีกสิกรรมพลิ้ว จ.จันทบุรี และในปี พ.ศ.2511 ได้มีการปลูกปาล์มเพื่อการส่งเสริมเป็นพื้นที่ใหญ่ โดยโครงการนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จ.สตูล และโครงการบริษัทอุตสาหกรรมน้ำมันและสวนปาล์ม จำกัด (สวนเจียรวานิช) จ.กระบี่
ปัจจุบันจังหวัดที่ปลูกปาล์มมากที่สุดจะอยู่ในเขตภาคใต้เป็นหลัก โดยเฉพาะที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ ชุมพร นอกจากนี้ยังขยายพื้นที่ปลูกไปยังจังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และในภาคกลาง ภาคอีสาน โดยในปีพ.ศ.2554 ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันทั่วประเทศมากกว่า 4 ล้านไร่
ปาล์มน้ำมันเป็นพืชตระกูลปาล์ม ลักษณะลำต้นเดี่ยว ขนาดลำต้นประมาณ 12-20 นิ้ว เมื่ออายุประมาณ 1-3 ปี ลำต้นจะถูกหุ้มด้วยโคนกาบใบ แต่เมื่ออายุมากขึ้นโคนกาบใบจะหลุดร่วงเห็นลำต้นชัดเจน ผิวของลำต้นคล้ายๆ ต้นตาล ลักษณะใบเป็นรูปก้างปลา โคนกาบใบจะมีลักษณะเป็นซี่คล้ายหนามแต่ไม่คมมาก เมื่อไปถึงกลางใบหนามดังกล่าวจะพัฒนาเป็นใบ การออกดอกเป็นพืชที่แยกเพศคือ ต้นที่เป็นเพศผู้ก็จะให้เกสรตัวผู้อย่างเดียว ต้นที่ให้เกสรตัวเมียจึงจะติดผล ลักษณะผลเป็นทะลาย ผลจะเกาะติดแน่นจนไม่สามารถสอดนิ้วมือเขาไปที่ก้านได้ เวลาเก็บผลปาล์มจึงต้องใช้มีดงอเกี่ยวที่โคนทะลายแล้วดึงให้ขาด ก่อนที่จะตัดทะลายปาล์มต้องตัดทางปาล์ม (ใบ) ก่อน เพราะผลปาล์มจะตั้งอยู่บนทางปาล์ม กระบวนการตัดทางปาล์มและตัดทะลายปาล์มลงมา เรียกรวมๆ ว่า “แทงปาล์ม”
ปาล์มน้ำมันมีประโยชน์ คือ เป็นวัตถุดิบที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค บริโภค และ ผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ ได้แก่ น้ำมันปรุงอาหาร เนยเทียม เนยขาว ขนมชนิดต่างๆ ผงซักฟอก สบู่ เทียนไข นมข้นหวาน เครื่องสำอาง ยาปฏิชีวนะ น้ำมันไบโอดีเซล รวมทั้งสินค้าอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกจำนวนมาก น้ำมันปาล์มสามารถนำมาใช้ในการประกอบอาหารได้ดี เนื่องจากมีคุณสมบัติทนความร้อนได้สูง ไม่ทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง มีราคาถูกกว่าน้ำมันพืชชนิดอื่น และปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ปลอดจากสารตกแต่งพันธุกรรม (GMOs) จึงปลอดภัยต่อผู้บริโภค
ปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตน้ำมัน 2 ประเภท คือ น้ำมันปาล์มดิบที่ได้จากการสกัดเนื้อปาล์มและน้ำมันที่ได้จากการสกัดเมล็ดในปาล์ม นอกจากนี้ใน น้ำมันที่สกัดจากเนื้อปาล์มยังประกอบด้วยสารเบต้าแคโรทีน (Beta–carotene) สารโปรวิตามิน เอ (Pro vitamin A) และ วิตามินอี (Vitamin E) ในปริมาณที่สูง รวมทั้งผลพลอยได้ต่างๆ ที่ได้จากการเพาะปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นสารชีวมวลจำนวนมาก เช่น ทะลายปาล์มสามารถเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ผลิตเอทานอล กะลาใช้ผลิตถ่านกัมมันต์ (ถ่านที่ได้จากการนำไม้หรือวัสดุใกล้เคียงอื่นๆ เช่น กะลามะพร้าว มาผ่านกระบวนการคาร์บอไนซ์ โดยการเผาและอัดแรงดันที่อุณหภูมิสูงๆ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นถ่านซึ่งมีความพรุนสูงมาก มีการใช้ประโยชน์มากมายหลายด้าน เช่น ในการดูดซับสารต่างๆ การกำจัดคลอรีน เป็นต้น)
กระบวนการสกัดน้ำมันจากส่วนของเปลือกและจากส่วนของเมล็ดในพบว่า เมื่อใช้ทะลายสด ปาล์มน้ำมัน 100 กิโลกรัม จะได้น้ำมันปาล์มดิบประมาณ 21 % และน้ำมันเมล็ดในประมาณ 3.55% รวมแล้วจะได้น้ำมันประมาณ 24.55 % น้ำมันปาล์มดิบจากเนื้อปาล์มเอง เมื่อนำไปกลั่นให้บริสุทธิ์จะได้ผลิตภัณฑ์หลัก คือ น้ำมันปาล์มโอเลอิน ที่ใช้สำหรับการบริโภคเป็นหลัก รองลงมา คือ น้ำมันปาล์มสเตอรีน ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเนยเทียม อุต-สาหกรรมเทียนไข น้ำมันกรดปาล์ม ที่นำไปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอลด้วย
ดังนั้น ปาล์มน้ำมันจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สามารถนำไปผลิตพลังงานทดแทน คือ การผลิตไบโอดีเซลและผลิตภัณฑ์ร่วม ตลอดจนผลพลอยได้ต่างๆ ของอุตสาหกรรมสามารถนำไปผลิตเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ ได้หลากหลายอุตสาหกรรม
คราวนี้ลองมาดูว่าน้ำมันปาล์มนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซลได้อย่างไร ไบโอดีเซล คือ เชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลที่ผลิตได้จากน้ำมันพืชไขมันสัตว์ หรือแม้แต่น้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว ซึ่งได้รับการกำจัดยางเหนียวและสิ่งสกปรกออก แล้วนำไปผ่านกระบวนการทางเคมีที่เรียกว่า Transesterification โดยการเติมแอลกอฮอล์ เช่น เมทานอล หรือเอทานอล และตัวเร่งปฏิกิริยา เช่น โซเดียมไฮดรอกไซด์ หรือโปตัสเซียมไฮดรอกไซด์ภายใต้สถาวะการเกิดปฏิกิริยาที่เหมาะสม เพื่อเปลี่ยนไขมันหรือเปลี่ยนโครงสร้างของน้ำมันจาก Triglycerides ให้เป็นโมโนอัลคิลเอสเตอร์(Mono Alkyl Ester) ได้แก่ เมทิลเอสเตอร์ (Methyl Eater) และกลีเซอรีน (Glycerine) หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นกระบวนการแยกกลีเซอรีนออกจากน้ำมันนั่นเอง
สำหรับสวนปาล์มน้ำมันแห่งนี้ จะปลูกปาล์มน้ำมันสายพันธุ์เดลิคอมแพ็ค คอมแพ็ตกาน่า คอมแพ็คไนจีเรีย และเนื้อเยื่อ (clone) ซึ่งถือเป็นสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ทนแล้งได้ในระดับปานกลางอีกด้วย ส่วนการปลูกแบบยกร่องมีข้อดี คือ สามารถให้น้ำแก่ต้นปาล์มโดยผ่านระบบคูน้ำได้ทั่วถึง และป้องกันน้ำท่วมได้ด้วย เพราะหากมีฝนตกมากเกินไป น้ำจะไหลมาลงที่คูน้ำได้ คูน้ำมีขนาดกว้าง 2.4 เมตร ลึก 1.6 เมตร ร่องปลูกกว้าง 11 เมตร 1 ร่องปลูกได้ 2 แถวและปลูกแบบสามเหลี่ยมด้านเท่า ซึ่งถือเป็นการปลูกที่เหมาะสมที่สุด เพราะจะปลูกได้เต็มเนื้อที่มากที่สุด ต้นปาล์มกระจายตัวได้ดี ได้รับแสงอาทิตย์ที่เหมาะสม
นอกจากเขาจะปลูกปาล์มเพื่อเป็นพลังงานทดแทนตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว ยังได้แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็น สวนปาล์มสาธิตที่มีปาล์มน้ำมันมากกว่า 20 สายพันธุ์ทั้งในและต่างประเทศ ทำการ ทดลองและผลิตกล้าปาล์มน้ำมันที่ได้มาตรฐานเพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับเกษตรกรด้วย
ขอขอบคุณ คุณพิทักษ์ รัชกิจประการ บริษัท อาร์แอนด์ดี เกษตรพัฒนา จำกัด กรมวิชาการเกษตร ที่ให้ข้อมูลและพาไปชมสวนปาล์มน้ำมันยกร่องที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หากเกษตรกร ท่านใดสนใจติดต่อไปได้ที่บริษัทอาร์แอนด์ดี เกษตรพัฒนา จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจด้านแปลงเพาะกล้าปาล์มน้ำมันที่มีประสิทธิภาพมาเป็นเวลากว่า 7 ปีในเขตจังหวัดชุมพร ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 08-5214-8668, 08-7935-0001 จะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำเป็นอย่างดี
ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ทนภัยธรรมชาติได้ดีกว่าพืชอื่น และเป็นอีกทางเลือกใหม่สำหรับเกษตรกร ใช้เวลาปลูกประมาณ 3 ปี สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตต่อไปได้อีก 25 ปี แถมยังมีรายได้ดีทีเดียว แต่ที่สำคัญปาล์มน้ำมันเป็นพืชระยะยาว ถ้าได้พันธุ์ไม่ดีไปปลูกก็จะเสียหายไม่ได้ผลผลิตปาล์มที่ดี...