100 ปี ไททานิค ตำนานแห่งเรือ (ที่ไม่มีวัน) จม

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ RMS Titanic

ในโลกใบนี้ล้วนมีเหตุการณ์สำคัญต่างๆ เกิดขึ้นมากมายให้เราได้รำลึกถึง แต่มีเพียงไม่กี่เหตุการณ์ที่ทำให้ผู้คนได้ระลึกถึงความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ หนึ่งในเหตุการณ์นั้นคือการล่มของเรือไททานิค (RMS Titanic) อันที่จริงแล้วตัวเลขผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ไททานิค ไม่ได้สูงไปกว่าเหตุการณ์หายนะอื่นๆ แต่ด้วยความที่เรือเดินสมุทรขนาดยักษ์ ที่มีความหรูหรา เป็นเรือแห่งความฝันและผู้คนต่างนิยามว่านี่คือ เรือที่ไม่มีวันจม จึงกลายเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญ และดับความโอหังของมนุษย์ที่จะต่อกรธรรมชาติอันยิ่งใหญ่

ก่อนหน้าเรือไททานิคจะชนกับภูเขาน้ำแข็ง ในทะเลแถบแอตแลนติกเหนือ ลูกเรือในห้องวิทยุได้รับคำเตือนจากเรือลำอื่นๆ ที่อยู่ในเส้นทางเดียวกัน ถึงภูเขาน้ำแข็งยักษ์ในเส้นทางที่พวกเขากำลังมุ่งหน้าไปหลายครั้ง แต่ดูเหมือนว่าพนักงานห้องวิทยุจะยุ่งอยู่กับการส่งโทรเลขถึงแผ่นดินใหญ่ให้ผู้โดยสาร และคิดว่าเป็นหน้าที่ของต้นเรือในการดูแลเรื่องเส้นทาง

ที่สำคัญ พนักงานวิทยุนี้ไม่ได้เป็นลูกเรือโดยตรงของสายการเดินเรือ ไวต์ สตาร์ (White Star Line) ผู้สร้างเรือไททานิค จึงเป็นไปได้ว่าไม่รู้ระบบการทำงานภายในเรือ ที่จำเป็นต้องแจ้งให้กัปตันและต้นเรือทราบ

กระทั่งผู้บังคับเรือได้รับแจ้งว่าพบภูเขาน้ำแข็งอยู่ในเส้นทาง แต่ด้วยกำลังเดินเรือด้วยความเร็ว 21 นอต ทำให้ไม่สามารถหันหัวเรือหลบได้ทัน จึงถูกชนด้านกราบขวาเรือ เป็นเหตุให้อับปางลงในเวลา 02.15 น. ของวันที่ 15 เม.ย. 1912

ในเวลานั้นเรือที่ใกล้ไททานิคที่สุดคือ เรือแคลิฟอร์เนียน (SS Californian) กลับไม่ได้รับสัญญาณขอความช่วยเหลือ เพราะเจ้าหน้าที่ห้องวิทยุหลับ ส่วนเรือที่ได้รับสัญญาณคือเรือคาร์พาเธีย ((RMS Capathia) ของสายการเดินเรือคูนาร์ด (Cunard Line) ซึ่งเป็นคู่แข่งของสายการเดินเรือไวต์ สตาร์ ต้องใช้เวลาเดินทางถึง 4 ชั่วโมง เพื่อเดินทางมาช่วยเหลือ อีกทั้งเรือชูชีพยังมีไม่เพียงพอและเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ฝึกซ้อมและทราบจำนวนที่นั่งที่แท้จริง เหตุการณ์ในครั้งนั้นจึงมีผู้เสียชีวิตราว 1,500 คน เป็นความประมาทอย่างไม่ให้โอกาสกัปตันเอ็ดเวิร์ด จอห์น สมิธ ซึ่งเป็นกำลังฝีมือดีและกำลังจะเกษียณอายุงานและลูกเรือได้แก้ตัวอีกเลย


หลังจากไททานิคล่ม ได้มีการตั้งกฎการเดินเรือใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น การกำหนดให้มีลูกเรือทำงานในห้องวิทยุตลอด 24 ชั่วโมงที่มีการเดินเรือ เพราะเจ้าหน้าที่ห้องวิทยุเรือแคลิฟอร์เนียนที่อยู่ใกล้ที่สุดหลับ มีการกำหนดให้มีเรือชูชีพเท่ากับจำนวนผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมดอย่างเคร่งครัด รวมทั้งเขียนจำนวนที่นั่งบนเรือชูชีพที่รองรับได้อย่างชัดเจนจากปัญหาเรือชูชีพบนไททานิค

ปัจจุบันซากเรือไททานิคได้กลายเป็นจุดอนุรักษ์ขององค์การสหประชาชาติ ห้ามให้มีการดำลงไปเก็บสิ่งของบนเรือเพื่อนำมาซื้อขาย สงวนไว้เป็นสถานที่อนุรักษ์ทางประวัติศาสตร์ ว่าเหตุการณ์ไททานิค ใช่เพียงความสูญเสียชีวิตผู้คนและทรัพย์สิน แต่ยังหมายถึงการดับความฝันของมนุษย์ ที่อยากแสดงความยิ่งใหญ่ด้วยการสร้างเรือที่ไม่มีวันจม ในยุคใหม่ของการเดินเรือข้ามมหาสมุทร แต่สุดท้ายก็ต้องพ่ายให้กับธรรมชาติด้วยความประมาทของมนุษย์เอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น