รูน อักขระแห่งเวทย์มนตร์โบราณ

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Rune

ท่ามกลางความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและฟิสิกส์ขั้นสูง ที่กำลังขับเคลื่อนโลกเบี้ยวๆ ของเราใบนี้ให้เดินหน้าต่อไปนั้น อีกสิ่งหนึ่งที่ยังถ่วงดุลอำนาจของวิทยาศาสตร์มาโดยตลอดก็คือ “ไสยศาสตร์” ซึ่งมักจะหมายความโดยรวมถึงเรื่องลึกลับ และเวทมนตร์ที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักของเหตุและผล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผี วิญญาณ รวมทั้งเรื่องของเวทมนตร์คาถาที่เกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ด้วยเช่นกัน และบ่อยครั้งที่เวทมนตร์คาถาต่างๆ มักจะถูกแสดงออกในรูปของ “อักขระ” ไม่ว่าจะเป็นการสักยันต์ หรือการปลุกเสกต่างๆ ก็มักจะมี “อักขระ” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่นอกจากอักขระขอมที่มักจะใช้ในการลงยันต์แล้วนั้น ก็ยังมีอักขระอีกไม่น้อยที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำนายและเวทมนตร์คาถาโดยตรง และสัปดาห์นี้คอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียล โดยทีมงานนิตยสารต่วย ’ตูน ก็จะนำท่านไปรู้จักกับหนึ่งในอักขระที่ว่ามานี้ก็คือ อักษร “รูน” (Rune) ซึ่งเป็นอักขระแห่งดินแดนยุโรปโบราณครับ

ในปัจจุบันมีอาจารย์และนักพยากรณ์หลายท่าน ที่ใช้อักษรรูนเป็นตัวช่วยในการทำนายและคาดเดาถึงเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า นอกจากนั้นอักษรรูนยังสามารถบอกถึงการวิเคราะห์และหาผลลัพธ์ในสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้อีกด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการทำนาย หรือเสี่ยงทายด้วยอักษรรูนจะมีความแม่นยำมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับความเข้าใจในอักษรรูนของผู้ทำนายเป็นสำคัญ

ตำนานของอักษรรูนเองก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ถ้าว่ากันตามตำนานเทพนิยายแถบสแกนดิเนเวียน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอักษรรูนแล้ว ต้องกล่าวว่าผู้ที่ประดิษฐ์อักขระชนิดนี้ขึ้นมาให้มนุษย์ได้ใช้ก็คือ เทพเจ้าแห่งสงคราม บทกวี ความรู้และความฉลาดผู้มีนามว่า โอดิน (Odin) ตำนานเล่าว่าเทพโอดินได้ห้อยหัวเป็นค้างคาวอยู่บนต้นไม้ ที่เรียกว่า “อิกดราซิล” (Yggdrasil) เป็นเวลา 9 วัน 9 คืน (บ้างก็ว่าท่านห้อยหัวให้โลหิตไหลลงศีรษะ เพื่อเป็นการทรมานร่างกาย) จนท่านได้เกิดญาณพิเศษ รับรู้เรื่องราวต่างๆ มากมาย ความรู้มหาศาลหลั่งไหลเข้าสู่ตัวท่าน ภายในเวลา 9 คืนนั้น ท่านได้ล่วงรู้ถึงความลับทั้งหมดทั้งมวลบนโลกใบนี้ แต่สิ่งที่ท่านเองได้ตระหนักถึงก็คือ ท่านคงจะหมดลมหายใจในไม่ช้า แล้วความรู้มหาศาลที่ท่านได้รับรู้มาเล่า มันก็ต้องหายไปหมดด้วยน่ะสิ

ไหนๆ ก็ต้องทนทรมานเจ็บปวดร่างกายมาตั้ง 9 วัน 9 คืนแล้ว จะให้ความรู้และสรรพวิชาที่ได้รับมาต้องสูญเปล่าก็ใช่ที่ ก็เลยคิดจะแบ่งปันความรู้เหล่านั้นให้มนุษย์โลกได้เรียนรู้กันด้วย เทพโอดินจึงได้ทำการประดิษฐ์อักษรรูนขึ้นมาเพื่อแจกจ่ายความรู้ที่ท่านได้รับมาใน 9 คืนอันแสนทรมานให้กับมนุษย์โลก 

ดังนั้น ถ้าอ้างอิงตามตำนานนี้ อักษรรูนจึงเป็นอักขระที่ได้มาจาก “ความตาย” ของมหาเทพโอดิน อักขระชนิดนี้จึงมีความพิเศษในด้านของเวทมนตร์คาถาและสรรพความรู้โบราณ เป็นอักขระศักดิ์สิทธิ์แห่งสแกนดิเนเวียน ที่ใช้สำหรับปลุกเสกคาถาและร่ายคำสาปในไสยเวทต่างๆ โดยเฉพาะการร่ายคาถาลงบนอาวุธเพื่อให้สังหารศัตรูได้อย่างแม่นยำ จะเห็นได้ว่าเวทมนตร์ที่แฝงอยู่ในอักษรรูนนั้น ศักดิ์สิทธิ์และทรงพลังเป็นอย่างมาก มากถึงขั้นที่โรงเรียนฮอกวอตส์ในวรรณกรรมเยาวชนอย่างพ่อมดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ต้องเปิดสอนวิชาการศึกษาอักษรรูนโบราณกันเลยทีเดียว!! (เจ.เค. โรว์ลิ่ง เธอใส่ใจในทุกรายละเอียดจริงๆ) แต่ถึงอย่างนั้น ที่กล่าวไปข้างต้นทั้งหมด ก็เป็นอักษรรูนในมุมมองของ “นักพยากรณ์” ที่อ้างความศักดิ์สิทธิ์ตามตำนานของมหาเทพโอดินเท่านั้น แล้วถ้าในมุมมองของนักวิชาการด้านอักขระโบราณบ้างล่ะ เขามองอักษรรูนกันอย่างไร

อักษรรูน คาดว่าพัฒนามาจากอักษรโรมัน ซึ่งเป็นต้นแบบของภาษาอังกฤษในปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่มีนักวิชาการท่านใดสามารถฟันธงประเด็นนี้ลงไปอย่างชัดเจนได้ ที่พอจะทราบก็คือ หลักฐานทางโบราณคดีที่จารึกด้วยอักษรรูนนั้น ปรากฏในหลายชนเผ่าแถบยุโรป ไม่ว่าจะเป็นชาวกอธ (Goth) เผ่าเจอร์มานิค (Germanic) ชาวเดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ อังกฤษ และเยอรมัน ซึ่งเป็นไปได้ว่าอักษรรูนนั้น เฟื่องฟูในยุโรปตอนเหนือ ตั้งแต่ยุคก่อนการเข้าไปของศาสนาคริสต์เสียด้วยซ้ำ ทำให้นักวิชาการส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า คำว่า “รูน” ซึ่งเป็นชื่อเรียกอักษรแห่งเวทมนตร์โบราณนั้น น่าจะมาจากคำว่า “raunen” ซึ่งเป็นภาษาเยอรมันแปลว่า “กระซิบ” (Whisper) ซึ่งก็บอกเป็นนัยถึงความศักดิ์สิทธิ์ของอักษรรูนได้ไม่น้อยเลย

นอกจากนั้น นักวิชาการยังค้นพบแผ่นหิน แผ่นไม้ และแผ่นโลหะที่จารึกด้วยอักษรรูนกว่า 5,000 ชิ้น กระจายตัวทั่วยุโรป นั่นย่อมหมายความว่า ชนเผ่าแห่งยุโรปตอนเหนือนั้น ก็เป็นผู้ที่อ่านออกเขียนได้และมีตัวอักษรใช้เช่นกันมาเนิ่นนานแล้ว

แน่นอนว่าในตำนาน เราอาจจะบอกได้ว่ามหาเทพโอดินเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรรูนขึ้นมาจากความตายของตัวเอง แต่ถ้ามองในมุมของประวัติศาสตร์ล่ะ ใครเป็นผู้คิดค้นอักษรรูนขึ้นมา คำตอบก็คงจะไม่แตกต่างจากเรื่องลึกลับทั่วโลกนั่นแหละว่า ยังไม่มีนักวิชาการท่านใดสามารถตอบได้ บ้างก็บอกว่าอาจจะเป็นพวกกอธ หรือไม่ก็เป็นชนเผ่าบริเวณหุบเขาในสวิตเซอร์แลนด์ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่นักวิชาการหลายท่านคิดเห็นตรงกันก็คือ อักษรโรมันต้องส่งอิทธิพลบางอย่างให้กับอักษรรูนด้วยเป็นแน่

อักษรรูนประกอบไปด้วยอักขระ 24 ตัว เป็นพยัญชนะ 18 ตัว และสระ 6 ตัว บางครั้งนักวิชาการก็เรียกขานอักษรรูนว่า อักขระ “ฟูทาร์ค” (Futhark) ซึ่งมาจากอักษร 6 ตัวแรกของอักษรรูน (f u th ark) ก็คล้ายๆ กับที่เราเรียกระบบตัวอักษรว่า “Alphabet” ก็ด้วยว่ามาจากอักษร 2 ตัวแรกในภาษากรีก ซึ่งก็คือ Alpha และ Beta นั่นเอง

ทิศทางการอ่านอักษรรูนสามารถอ่านได้ทั้งจากซ้ายไปขวา และขวาไปซ้าย แต่ส่วนมากจะพบว่าเขียนจากซ้ายไปขวาเสียมากกว่า และที่นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นที่ลงรอยกันว่า อักษรรูนได้รับอิทธิพลจากอักษรโรมัน ก็เพราะว่ามีอักขระบางตัวที่คล้ายคลึงกับอักษรโรมันด้วย เช่น ตัว ri b f h s และ t ซึ่งอักขระบางตัวก็อยู่ในลักษณะกลับหัว เช่น u และ l แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีอักษรอีกหลายตัวที่ไม่คล้ายคลึงกับอักษรโรมัน เช่น g w j และ p จึงทำให้ไม่สามารถสรุปได้ว่า อักษร รูนนี้มีความสัมพันธ์กับอักษรโรมันในด้านใดบ้าง

ดังนั้น ในทุกวันนี้ ถ้ามองอักษรรูนจากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านอักขระโบราณแล้วก็ต้องบอกว่า รูนเป็นหนึ่งในอักขระที่ยังถอดความไม่ได้อย่างสมบูรณ์ แม้ว่าเราจะสามารถเข้าใจได้ว่าอักษรรูนแต่ละตัวนั้นแทนเสียงอะไร และอ่านอย่างไร แต่เราก็ยังไม่สามารถเข้าใจความหมายที่ถ่องแท้ที่ภาษาโบราณแห่งสแกนดิเนเวียนนี้ กำลังบอกพวกเราได้เลย นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า อักษรรูนนั้นก็ไม่ต่างจากอักขระอีทรัสคัน ที่สามารถอ่านออกเสียงได้ เพราะอักขระอีทรัสคันนั้น ใช้อักษรกรีก แต่เราไม่สามารถเข้าใจความหมายที่ภาษาต้องการสื่อกับพวกเราได้มากเท่าใดนัก อักษรรูนก็เช่นกัน ความหมายที่ถอดความออกมาได้โดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญนั้นก็ยังคลุมเครืออยู่ไม่น้อย เนื่องด้วยเรายังขาดความรู้ทางด้านภาษาเจอร์มานิคยุคแรกอยู่มากพอสมควรเลยทีเดียว

ดังนั้น การตีความและเข้าใจความหมายของอักษรรูนในปัจจุบันนั้น ก็เป็นเพียงแค่การศึกษาตีความและคาดเดาความหมาย จากหลักฐานเพียงน้อยนิดที่ยังคลุมเครืออยู่เท่านั้น ดังที่ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรรูนได้กล่าวเอาไว้ว่า “จารึกอักษรรูนทุกชิ้นที่ค้นพบสามารถสื่อความหมายได้มากเกินกว่าที่นักวิชาการได้เคยตีความเอาไว้”

คิดแล้วก็น่าแปลก ที่อักขระแห่งเวทมนตร์โบราณ ซึ่งใช้ในการทำนายและพยากรณ์กันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน กลับเป็นเพียงตัวเขียนที่ยังถอดความไม่ได้อย่างสมบูรณ์ ในมุมมองของนักวิชาการด้านภาษาโบราณ แต่ก็อย่างว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถให้คำตอบได้ และการพยากรณ์ด้วยอักขระ ที่แลกมาด้วยชีวิตของมหาเทพโอดินอย่างอักษรรูน ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งความลึกลับแห่งโลกโบราณที่ยากที่จะเข้าใจด้วยหลักของเหตุและผลก็เป็นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น