ร่วมรำลึก ๑๓ ปี พฤษภาทมิฬ

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ พฤษภาคม ๒๕๓๕

กรณีพฤษภาคม ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งของประชาชนไทย เพราะไม่เพียงแต่มีขนาดใหญ่โต ผู้คนเข้าร่วมหลายแสนคน สามารถทำลายระบบเผด็จการทหารลงไปได้เท่านั้น หากยังนำมาสู่การสร้างสรรค์ประชาธิปไตย และการปฏิรูปทางการเมืองโดยเฉพาะการจัดทำและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ผู้ที่เข้าร่วมหรือรับรู้การต่อสู้ดังกล่าวคงยังจำได้ว่า การต่อสู้นี้เริ่มขึ้นตั้งแต่คืนวันที่ ๗ เมษายน เมื่อเรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร ไปนั่งอดข้าวประท้วงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.สุจินดา คราประยูร หน้ารัฐสภา การต่อสู้ค่อยๆ ขยายตัวกลายเป็นการต่อสู้ใหญ่ในเดือนพฤษภาคม ตั้งแต่วันที่๔ พฤษภาคม โดยใช้รูปแบบการต่อสู้ สลับกันไประหว่างการชุมนุมใหญ่กับการเดินขบวนหลายครั้งหลายที่และใช้โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์ติดตามตัว และโทรสารส่งข่าวและระดมคนมาชุมนุมและเดินขบวน ยุติลงด้วยชัยชนะในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม เมื่อพล.อ.สุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่ง

แต่ทว่า ลักษณะเด่นที่สุดของการต่อสู้ใหญ่เดือนพฤษภาคม เมื่อ๑๓ ปีที่แล้ว มิใช่ขนาดและรูปแบบของการต่อสู้ หากเป็นลักษณะของผู้นำและผู้เข้าร่วมการต่อสู้ ที่นอกจากส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง จนได้รับการเรียกขานว่า เป็น " ม็อบรถยนต์ หรือม็อบมือถือ " แล้ว ยังมีพรรคการเมืองที่รวมกันเป็นพันธมิตรประชาธิปไตย ๔ พรรค พรรคพลังธรรม พรรคความหวังใหม่ พรรคเอกภาพ และพรรคประชาธิปัตย์ ถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ การต่อสู้ของประชาชนไทยที่มีพรรคการเมืองมานำ และที่สำคัญ การต่อสู้กรณีพฤษภาคม ๒๕๓๕ ถูกปราบปรามอย่างนองเลือด มีคนเสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหาย หลายร้อยคนพวกเขาเป็นวีรชนประชาธิปไตย ผู้สละเลือด พลีชีพเพื่อโค่นล้มคณะผู้รักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ นำระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงคืนมา

ฉะนั้น เมื่อถึงเดือนพฤษภาคมทุกปี ผู้ที่ร่วมการต่อสู้ ญาติของวีรชน กลุ่มและองค์กรประชาธิปไตยจะจัดงานรำลึก เพื่อฟื้นความจำ เสริมความสำนึกทางประวัติศาสตร์ และสืบทอดภารกิจประชาธิปไตย รวมทั้งเพื่อติดตามความคืบหน้าในการสร้างอนุสรณ์สถานวีรชนพฤษภาคม และการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายในกรณีนี้

ความจริงแล้ว วัตถุประสงค์ทั้งหมดเคยเป็นมติคณะรัฐมนตรีมาหลายชุดโดยเฉพาะของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร สมัยที่แล้ว โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ในการจัดสร้างอนุสรณ์สถานในบริเวณสวนสาธารณะ ที่เป็นที่ตั้งเดิมของกรมประชาสัมพันธ์ การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ เช่น การรักษาพยาบาล การให้ทุนศึกษา การฝึกอาชีพและฟื้นฟูสมรรถภาพ และการให้สิทธิค่าลดหย่อน หรือค่าบริการต่างๆ ของรัฐ และการจ่ายค่าทดแทน และความเสียหายสมควรที่จะได้รับตามความเหมาะสมจำเป็น และตามควรแก่กรณี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และผู้แทนคณะกรรมการอิสระฯ โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบไปพิจารณาดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

ทำไมต้องวางศิลาฤกษ์สร้างอนุสรณ์สถานวีรชนพฤษภาคมปีนี้ เหตุผลง่ายๆ ก็คือ จะต้องลงมือก่อสร้างได้แล้ว หลังจากที่รัฐบาลตั้งแต่รัฐบาลนายชวน หลีกภัย เคยมีมติคณะรัฐมนตรีให้จัดสร้างอนุสรณ์สถานฯที่สวนสันติพร มาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๓๖ อย่าลืมว่า อนุสรณ์สถานวีรชน ๑๔ ตุลาคม ใช้เวลา ๒๗ ปี จึงเริ่มก่อสร้างกันได้ เพราะการเคลื่อนไหวสร้างอนุสาวรีย์วีรชนประชาชนไม่ว่ากรณีใดๆ เป็นการต่อสู้ทางความคิดและการเมือง มีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะอำนาจส่วนหนึ่ง มักไม่เห็นด้วยให้สร้างอนุสาวรีย์ดังกล่าว

ส่วนประเด็นการหาผู้สูญหายจากเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕ การลักพาตัวหรือ การอุ้มผู้มีความ
คิดทางการเมืองแตกต่างกัน ทั่งที่เกิดก่อนหน้าและหลังกรณีนี้ จากผู้นำคนงาน นายทนง โพธิ์อ่าน มาถึงทนายสมชาย นิละไพจิตร เท่าที่ศึกษาปัญหาคนหาย พอสรุปได้ว่า สังคมไทยไม่มีบทเรียนประสบการณ์ในการหาผู้สูญหาย ไม่เหมือนในหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ อินโดนีเชีย และศรีลังกา 

ดังนั้น ในงานรำลึกพฤษภาประชาธรรม ๒๕๔๘ จึงเอาประเด็นนี้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยจะมีพ่อ แม่ ลูกเมียของผู้สูญหายมาเล่าถึงความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน และผู้ที่เคยร่วมการติดตามค้นหาผู้สูญหายมาถ่ายทอดบทเรียนประสบการณ์ให้ฟัง นี่จะเป็นส่วนหนึ่งของการรำลึกถึงกรณีพฤษภาคม ๒๕๓๕ 

ความจริงแล้ว กรณีนี้มีเรื่องที่จะต้องรำลึก สืบทอดอีกมาก ตั้งแต่สภาพทางการเมืองที่ทำให้นายทหารกลุ่มหนึ่ง ก้าวขึ้นมามีอำนาจและบทบาททางการเมือง จนนำไปสู่รัฐประหาร ของคณะผู้รักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (ร.ส.ช. ) เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ การมีรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับ ร.ส.ช. การเลือกตั้งทั่วไป ๒๕๓๕ /๑ และการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ. สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี การอดอดอาหารและจัดเวทีประท้วงหน้ารัฐสภา การจัดชุมนุมใหญ่ของพรรคการเมืองพันธมิตรประชาธิปไตย การจัดชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวงและการประกาศอดอาหารของพล.ต.จำลอง ศรีเมือง การชุมนุมใหญ่หน้ารัฐสภา และการเดินขบวนกลับไปยังสนามหลวง (๖ -๗ พ.ค.) การชุมนุมและเดินขบวนไปยึดถนนราชดำเนิน การจัดตั้งสมาพันธ์ประชาธิปไตย และเดิน
ขบวนการถูกสกัดกั้น จับกุมและปราบปราม (๑๗ -๑๘ พ.ค.) พระเจ้าอยู่หัวโปรดให้ พล.อ.สุจินดา และพล.ต.จำลองเข้าเฝ้า พล.อ.สุจินดา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามข้อเรียกร้องของประชาชน และกระแสสูงของการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยหลังกรณีนี้

สุดท้าย การรำลึก นึกถึงกรณีพฤษภาคม ๒๕๓๕ จะต้องประสานกับสภาพทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน และมองไปข้างหน้าว่า ดอกผล บทเรียนประสบการณ์ของการต่อสู้ใหญ่เดือนพฤษภาคมเมื่อ๑๓ ปีที่แล้ว ยังดำรงอยู่และนำมาใช้ได้เพียงใด

"เปียงหลวง" ดินแดนแห่งความหลากหลาย

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เปียงหลวง

ดินแดนที่เรียกขานกันว่า "เปียงหลวง" ชุมชนแห่งความหลากหลายติดแนวชายแดนไทย-พม่า ทางฟากฝั่งตะวันตกของอำเภอเวียงแหง อำเภอเล็กๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ บนถนนโชตนาสายหลักจากเชียงใหม่-เชียงดาว ก่อนตัดแยกเมืองงาย เลี้ยวซ้ายไปตามทางตะวันตก ก่อนแยกทางแม่จา เส้นทางที่สัญจรไปก็เริ่มขึ้นสู่เนินเขาสูง คดเคี้ยวไปตามดงป่าเขียวสดรกครึ้ม ผ่านป่าสน บางช่วงของถนนถึงกับไต่ไปบนยอดเขาจากลูกหนึ่งไปอีกลูกหนึ่ง ครั้นพอเข้าเขตอำเภอเวียงแหง ถนนกลับดิ่งลึกลงไปในความลาดต่ำลดเลี้ยวลงไป เมื่อมองลิบๆ ไกลออกไปเบื้องหน้า มองเห็นจุดเล็กๆ สีขาว กระจัดกระจายอยู่ในหุบเขา "นั่นละ เวียงแหง อำเภอที่ซุกซ่อนอยู่ในหุบเขา" หากมุ่งผ่านไปอีก 18 กิโลเมตร จนพบกับซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้านเปียงหลวง

เปียงหลวง มีความหลากหลายทั้งในเรื่องของคนพลเมือง วิถีการดำรงอยู่ วัฒนธรรมประเพณี รวมไปถึงความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ที่มีมานานนับหลายร้อยปี โดยที่โดดเด่นมากที่สุด ก็คือ เป็นชุมชนที่มีผู้คนหลายเชื้อชาติชนเผ่าอาศัยอยู่ร่วมกัน

คนส่วนใหญ่ของชุมชนบ้านเปียงหลวงนั้น อพยพมาจากรัฐฉาน ประเทศพม่า อีกทั้งกลุ่มผู้เข้ามาก่อตั้งชุมชนแห่งนี้ ต่างเคยเป็นทหารของกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ และยังมีกลุ่มคนจีนตั้งถิ่นฐานอยู่รวมกัน ตามประวัติศาสตร์บอกว่า คนจีนกลุ่มนี้เป็นอดีตทหารจีนคณะชาติ หรือก๊กมินตั๋ง 

นอกจากนั้น มีชนเผ่าลีซอ ปะหล่อง และชาวไทยที่อาศัยอยู่ร่วมกันมานาน

เมื่อพูดถึงความเป็นมาของชาวไทใหญ่ หลายคนต่างยอมรับกันดีว่า ชนชาติไต หรือไทใหญ่ เป็นเชื้อชาติที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่มาก่อน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประชากรส่วนใหญ่อยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า และบางส่วนอยู่ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน และอีกส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ในเขตภาคเหนือของประเทศไทย

เมื่อเอ่ยคำเรียกขานถึง ไทใหญ่ ในแต่ละพื้นที่จึงย่อมเรียกแตกต่างกัน 
คนจีนในยูนนาน เรียกชาวไทใหญ่ว่า "เซม" 

คนพม่าเรียกชาวไทใหญ่ว่า "ชาน" ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า "สยาม" ต่อมาจึงกลายเพี้ยนเป็น "ฉาน" หรือที่มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "Shan" และในที่สุด จึงเรียกแผ่นดินของคนไทใหญ่ว่า รัฐชาน หรือรัฐฉาน(Shan State) นับแต่นั้นมา

ในขณะที่คนไทยล้านนามักชอบเรียก ชาวไทใหญ่ว่า "เงี้ยว" แต่คนไทใหญ่ไม่ชอบเท่าใดนัก เพราะเป็นคำที่ส่อในเชิงดูหมิ่นดูแคลน 

ครั้นเมื่อถามพี่น้องชาวไทใหญ่ พวกเขากลับเรียกตัวเองว่า "ไต"
"คำว่าชนชาติไทย-ไต เปรียบเหมือนคำว่า "ช้าง" ช้างมีขา มีหู มีงา มีงวง และหาง ชนชาติไทย-ไต ก็มีกลุ่มชาติพันธุ์ไทย คือไทยน้อย กลุ่มชาติพันธุ์ไต คือ ไทใหญ่ และกลุ่มชาติพันธุ์ไทเขิน" ชายชื้น คำแดงยอดไตย ได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องภูมิปัญญาพื้นบ้านไทย-ไต เอาไว้อย่างน่าสนใจ

ทำไมเปียงหลวง จึงมีทั้งกลุ่มคนจีนและคนไทใหญ่ ถึงมาอยู่รวมกัน!?
"กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวไทใหญ่ ชายแดนไทย-พม่า กรณีศึกษา : หมู่บ้านเปียงหลวง" ของ "วันดี สันติวุฒิเมธี" ได้บันทึกไว้ว่า คนไทใหญ่นั้น มีเอกลักษณ์ทางภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ก่อนที่ยุคล่าอาณานิคมจะเกิดขึ้น และอังกฤษได้เข้ามายึดและผนวกดินแดนรัฐฉาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศพม่าเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งๆ ที่ชาวไทยใหญ่เคยปกครองตนเอง ด้วยระบบเจ้าฟ้า ประจำอยู่ในแต่ละเมืองต่างๆ ทั้งหมด 33 เมือง

หลายคนยังจดจำ กับบันทึกตอนหนึ่งของประวัติศาสตร์แห่งการขอคืนเอกราช และในหนังสือ 12 กุมภาพันธ์ 1947 นายพลออง ซาน ได้เดินทางไปร่วมประชุมกับเจ้าฟ้าไทใหญ่ รวมทั้งตัวแทนชนชาติคะยาห์ คะฉิ่น มอญ และชิน ที่เมืองปางโหลง ตอนกลางของรัฐฉาน เพื่อลงนามขอเอกราชจากอังกฤษร่วมกัน ในสัญญาที่ชื่อว่า "ลิ่กห่มหมายปางโหลง" หรือ "สัญญาปางโหลง" ได้บันทึกเอาไว้ว่า "ชาวไทใหญ่และชนชาติอื่นๆ จะต้องอยู่ร่วมกันในสหภาพพม่าเป็นเวลา 10 ปี นับจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ หลังจากนั้นจึงมีสิทธิแยกตัวออกมาปกครองตนเอง"

ทว่า ระหว่างการประชุมร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 1947 นายพลออง ซาน พร้อมด้วยนักการเมืองพม่าคนสำคัญ 5 คน ได้ถูกคนร้ายเข้าลอบยิงจนเสียชีวิต ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกลางพม่ากับชนกลุ่มน้อยเริ่มเปลี่ยนแปลงไป

เนื่องจากผู้นำพม่าคนใหม่ นำโดย อู นุ และเนวิน มีทัศนคติและนโยบายต่อชนกลุ่มน้อยต่างจาก ออง ซาน อย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ ขณะที่ ออง ซาน พยายามเน้นความเท่าเทียมและผลักดันให้ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิตามสัญญาปางโหลง แต่อู นุ และ เนวิน กลับไม่ต้องการให้ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิตามสัญญาดังกล่าว โดยเฉพาะสิทธิในการแยกตัวไปปกครองประเทศอิสระ เพราะนั่นหมายถึง รัฐบาลกลางพม่า จะต้องสูญเสียรายได้จากทรัพยากรในดินแดนชนกลุ่มน้อยอย่างมหาศาล การยอมให้ชนกลุ่มน้อยแยกตัวออกไป จึงเป็นสิ่งที่ผู้นำพม่าหลายคนไม่เห็นด้วย

เมื่อรัฐบาลทหารพม่า ไม่ยอมให้แยกตัวเป็นอิสระ สงครามความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่า จึงเริ่มปะทุขึ้นมานับแต่นั้นเป็นต้นมา ในขณะไฟสงครามระหว่างไทใหญ่กับรัฐบาลพม่ายังไม่มอดดับ กลับมีกองพล 93 ของรัฐบาลจีนคณะชาติ หรือก๊กมินตั๋ง ได้ถอยร่นลงมาจากมณฑลยูนนาน ของประเทศจีน เข้ามาอยู่ในรัฐฉาน ของไทใหญ่ จนทำให้ทหารพม่าเข้ามาปราบปรามกองพล 93 กับกองกำลังกู้ชาติคะฉิ่น ซึ่งถือว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อพม่า ทำให้ชาวไทใหญ่ ต้องตกเป็นเหยื่อสงคราม การสู้รบทั้งสองฝ่าย บ้างถูกเกณฑ์ไปเป็นลูกหาบ และทำงานกลางสนามรบ จนทำให้ล้มตายกันเป็นจำนวนมาก

หลังสงครามระหว่างทหารจีนคณะชาติกับรัฐบาลพม่าสิ้นสุดลงในปี 2501 ไฟสงครามก็ปะทุอีกครั้งหนึ่ง เมื่อรัฐบาลพม่าละเมิดข้อตกลงเดิม ไม่ยอมให้ชาวไทใหญ่แยกตัวออกมาปกครองตนเอง หลังจากที่อยู่ร่วมกันมาครบ 10 ปี

ปี พ.ศ.2501 เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะ จึงได้รวบรวมพลคนไทใหญ่ และก่อตั้งกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่" หนุ่มศึกหาญ" ขึ้นต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราช เนื่องจาก รัฐบาลนายพลเนวิน ได้ฉีกสัญญาปางโหลงนั้นทิ้งไป

นั่นคือที่มาของประวัติของชุมชนเปียงหลวง หลังจากที่เจ้าน้อย ซอหยันต๊ะ ตั้งกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ขึ้นที่ สบจ็อด เมืองปั่น ในเขตรัฐฉาน ใกล้ๆ กับชายแดนบ้านเปียงหลวง หลังจากนั้นได้ตั้งกองบัญชาการอยู่ที่บ้านเปียงหลวง โดยมีกองบัญชาการย่อยอยู่ทั้ง 40 จุด ตั้งแต่เขตชายแดนแม่ฮ่องสอน เปียงหลวง และดอยอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ไปจนถึงชายแดน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ว่ากันว่า ประชากรของชุมชนบ้านเปียงหลวงในขณะนั้น มีเพียงพ่อค้าชาวไทใหญ่ที่เดินทางมาค้าขายระหว่างไทยกับรัฐฉาน เพียงสิบกว่าหลังคาเท่านั้น ต่อมา เมื่อมีกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่และชาวบ้านที่หนีภัยจากการสู้รบเข้ามา จึงมีประชากรเพิ่มมากขึ้น

ต่อมา ปี 2512 นายพลโมเฮง หรือเจ้ากอนเจิง หนึ่งในผู้นำไทใหญ่ได้รวมกลุ่มกับเจ้าน้อย ซอ
หยั่นต๊ะ จัดตั้งขบวนการกู้ชาติโดยใช้ชื่อว่า กองทัพสหพันธ์ปฏิวัติรัฐฉาน หรือ Shan United Revolution Army(SURA) โดยมีนายพลโม เฮง เป็นประธาน และเจ้าน้อย ซอหยั่นต๊ะ เป็นรองประธาน และใช้บ้านเปียงหลวงเป็นกองบัญชาการใหญ่ ดังนั้นประชากรส่วนใหญ่ของหมู่บ้านเปียงหลวง จึงเป็นทหารและครอบครัวไทใหญ่นับตั้งแต่นั้นมา

"เมืองแห่งอิสรภาพของชาวไทใหญ่
ตามข้อตกลงปางโหลงมอบให้
สัญญากันไว้เป็นมั่นเหมาะ
แล้วกลับคำกันได้หรือไร
ใครทรยศก็รู้อยู่แก่ใจ
มิใช่เราไทใหญ่แน่นอน
ความจริงของเราย่อมประจักษ์
สัญญาปางโหลงที่ให้นั้น
จากไปพลันกับอองซานหรือไฉน..."

บทเพลง "ลิ่กห่มหมายปางโหลง" หรือ "สัญญาปางโหลง" ของ สายมาว นักร้องชื่อดังชาวไทใหญ่ สะท้อนแว่วมาในห้วงยามค่ำคืนนั้น ฟังแล้วช่างบาดลึกเข้าไปในจิตใจของคนไตทั่วไป โดยเฉพาะคนไตพลัดถิ่นที่จำต้องถอยร่นออกมาจากแผ่นดินเดิมของตน

ครั้งหนึ่ง สายมาว เคยถูกรัฐบาลทหารพม่าจับขังคุกนานกว่าสองปี หลังจากเขาเขียนและร้องเพลงบทนี้ บางห้วง มีท่วงทำนองแห่งความทุกข์ ความบ่นพ้อ น้อยใจ ในการวิถีการต่อสู้อันยาวนาน บางท่วงทำนองบทเพลง กลับถั่งท้นอุดมการณ์ มากล้นความหวัง

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

ตั้งอยู่บนเขาพนมรุ้ง บ้านตาเป็ก ตำบลตาเป็ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จากตัวจังหวัดบุรีรัมย์ สามารถเดินทางไป พนมรุ้งได้ 2 เส้นทาง คือ
1. ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-นางรอง (ทางหลวงหมายเลข 218) ระยะทาง 50 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 24(โชคชัย -เดชอุดม ช่วง นางรอง - ประโคนชัย)ไป 14 กิโลเมตร ถึงบ้านตะโก เลี้ยวขวาผ่านบ้านตาเป็กไปพนมรุ้งเป็นระยะทางอีก 12 กิโลเมตร

2. ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย ทางหลวงหมายเลข 219 เป็นระยะทาง 44 กิโลเมตร จากตัวอำเภอประโคนชัย มีทางแยกไปพนมรุ้ง ระยะทางอีก 21 กิโลเมตร (เส้นทางนี้ผ่านทางแยกเข้าปราสาทเมืองต่ำด้วย)

ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีอายุการก่อสร้างและใช้เป็นเทวสถานต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ลงมาถึงพุทธศตวรรษที่ 17 จนถึงพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอม หันมานับถือศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงคงจะได้รับการดัดแปลงเป็นพุทธศาสนาลัทธิมหายานในช่วงนั้น ตัวโบราณสถาน ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตร จากพื้นราบ

คำว่า "พนมรุ้ง" หรือ"วนํรุง" เป็นภาษาเขมรแปลว่า "ภูเขาใหญ่" 

ปราสาทพนมรุ้ง หันไปทางทิศตะวันออก ประกอบด้วยอาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ตั้งเรียงรายขึ้นไป จากลาดเขาทางขึ้นจนถึงปรางค์ประธาน บนยอดอันเปรียบเสมือนวิมาน ที่ประทับของพระศิวะ
บันไดทางขึ้น ช่วงแรกทำเป็นตระพังสามชั้น ผ่านขึ้นมาสู่พลับพลาชั้นแรก จากนั้นเป็นทางเดิน ซึ่งมีเสานางเรียงปักอยู่ที่ขอบทางทั้งสองข้างเป็นระยะๆ ถนนทางเดินนี้ ทอดไปสู่สะพานนาคราช ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างดินแดนแห่งมนุษย์และสรวงสวรรค์

ด้านข้างของทางเดินทางทิศเหนือมีพลับพลาสร้างด้วยศิลาแลง 1 หลังเรียกกันว่า โรงช้างเผือก 
สุดสะพานนาคราช เป็นบันไดทางขึ้นสู่ปราสาท ซึ่งทำเป็นชานพักเป็นระยะๆ รวม 5 ชั้นสุดบันไดเป็นชานชาลาโล่งกว้าง ซึ่งมีทางนำไปสู่สะพานนาคราชหน้าประตูกลางของระเบียงคด อันเป็นเส้นทางหลักที่จะผ่านเข้าสู่ลานชั้นในของปราสาท และจากประตูนี้ยังมีสะพานนาคราชรับอยู่อีกช่วงหนึ่ง ก่อนถึงปรางค์ประธาน ปรางค์ประธาน หรือส่วนที่สำคัญที่สุด ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมมณฑป คือห้องโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เชื่อมอยู่ทางด้านหน้า ที่ส่วนประกอบของปรางค์ประธาน ตั้งแต่ฐานผนังด้านบนและด้านล่าง เสากรอบประตู เสาติดผนัง ทับหลัง หน้าบัน ซุ้มชั้นต่างๆ ตลอดจนกลีบขนุนปรางค์ ล้วนสลักลวดลายประดับ ทั้งลวดลายดอกไม้ ใบไม้ ภาพฤาษี เทพประจำทิศ ศิวะนาฏราชที่ทับหลังและหน้าบันด้านหน้าปรางค์ประธาน ลักษณะของลวดลายและรายละเอียดอื่นๆ ช่วยให้กำหนดได้ว่า ปรางค์ประธานพร้อมด้วยบันไดทางขึ้น และสะพานนาคราชสร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 17

ภายในลานชั้นในด้านตะวันตกเฉียงใต้ มีปรางค์ขนาดเล็ก 1 องค์ ไม่มีหลังคา จากหลักฐานทางศิลปะ
กรรมที่ปรากฏ เช่น ภาพสลักที่หน้าบัน ทับหลัง บอกให้ทราบได้ว่าปรางค์องค์นี้สร้างขึ้นก่อนปรางค์ประธานมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16

นอกจากนี้ ยังมีฐานปรางค์ก่อด้วยอิฐ ซึ่งมีอายุเก่าลงไปอีก คือประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 อยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์ประธาน และที่มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ร่วมสมัยกันกับพลับพลาที่สร้างด้วยศิลาแลงข้างทางเดินที่เรียกว่า "โรงช้างเผือก"

กรมศิลปากรได้ทำการซ่อมแซมและบูรณะปราสาทหินพนมรุ้ง โดยวิธีอนัสติโลซิส คือ รื้อของเดิมลงมาโดยทำรหัสไว้ จากนั้นทำฐานใหม่ให้แข็งแรง แล้วนำชิ้นส่วนที่รื้อรวมทั้งที่พังลงมา กลับไปก่อใหม่ที่เดิม โดยใช้วิธีการสมัยใหม่ช่วย และเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ปีพุทธศักราชที่ 2531 ได้มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งอย่างเป็นทางการ

เมื่อวันที่ 21พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน และปลายปีเดียวกัน ก็ได้รับทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์กลับคืนมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้มีความงดงามและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะมีงานนมัสการรอยพระพุทธบาทพนมรุ้ง จัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี

มะเมี๊ยะ ไม่มีจริง?

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ มะเมี๊ยะ

หญิงอันเป็นที่รักของเจ้านายฝ่ายเหนือ เมืองเชียงใหม่ แต่ต้องถูกพลัดพรากด้วยเหตุที่ว่า กันไปทั้งเชื้อชาติและการเมือง หลากหลายแง่ความเห็น ที่แม้จะแตกต่างกันไปก่อนหน้านี้แต่ยังคงอยู่ในกรอบที่ว่า "มะเมี๊ยะผู้นี้มีตัวตนจริง" ตามคำบอกเล่าและบันทึกในหนังสือ ของอดีตนักหนังสือพิมพ์ผู้ล่วงลับ (ปราณี ศิริธร) ส่งผลไปถึงการสืบค้นของผู้คนที่สนใจหลายกลุ่ม ถึงชีวิตช่วงบั้นปลายและล่วงลับของเธอว่า
อยู่ที่ไหน? 
จบชีวิตลงอย่างไร ?
เถ้ากระดูกของเธอว่าอยู่ที่ไหนกันแน่ ?

แต่ข้อมูลล่าสุด ที่ "พลเมืองเหนือ" ได้รับ กลับปฏิเสธข้อสันนิษฐานก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง "มะเมี๊ยะไม่มีตัวตน" เป็นเช่นนั้นจริงหรือ ?
ข้อมูลล่าสุด "ชีมะเมี๊ยะ" อยู่มะละแหม่ง

ก่อนจะไปถึงหลักฐานชิ้นนั้น ได้มีความเคลื่อนไหวของข้อมูลในมุมที่เชื่อว่า "มะเมี๊ยะ" มีจริง เป็นการทำงานต่อเนื่องของ รศ.จีริจันทร์ ประทีปเสน นายกสมาคมนักศึกษาเก่าคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ซึ่งติดตามชีวิตรักของเจ้าน้อยสุขเกษมและมะเมี๊ยะมานานหลายปี และเคยตีความเนื้อหาของเรื่องดังกล่าวนี้ จัดทำเป็นละคร "ตามรอยมะเมี๊ยะ" ขึ้นมาเมื่อปีที่ผ่านมา และระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม ที่ผ่านมา ก็ได้เดินทางไปสืบหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้ง เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2548 ที่ห้องประชุมบริษัทเม็งรายกล่องกระดาษ จำกัด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มีการเสวนาเรื่อง "ตามรอยมะเมี๊ยะ ครั้งที่2" ขึ้น

รศ.จีริจันทร์ กล่าวว่า จากการประมวลหลักฐานทางเอกสาร คือหนังสือ "เพ็ชรลานนาเล่ม 1-2" หนังสือ "ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่" ซึ่งแต่งโดยนายปราณี ศิริพร ณ พัทลุง และหนังสือ "โอลด์มูลเนียน" ของ RR. Langh M Carier และได้เดินทางไปเมืองเมาะละแหม่ง รับฟังคำบอกเล่าของเจ้าอาวาส วัดแจ้ตะหลั่น เมืองเมาะละแหม่ง และนางด่อเอจิ แม่เฒ่าเชื้อสายไทยใหญ่ ซึ่งมีย่าเป็นโยมอุปัฏฐากของแม่ชีด่อปาระมี
ทำให้ได้ข้อสันนิษฐานว่ามะเมี๊ยะน่าจะมีตัวตนที่แท้จริง และน่าจะเป็นคนเดียวกับแม่ชีด่อปาระมี หรือแม่ชีด่อนางข่อง แต่ขณะนี้ได้เสียชีวิตไปแล้ว

ข้อสันนิษฐานที่ทำให้คณะทำงานของรศ.จีริจันทร์ เชื่อได้ว่า มะเมี๊ยะน่าจะเป็นคนเดียวกับแม่ชีด่อปาระมี คือระยะเวลาในการออกบวช และการเสียชีวิต ซึ่งใกล้เคียงกัน คือเริ่มบวชเมื่ออายุ 16-17 ปี และเสียชีวิตเมื่ออายุ 75 ปี

นอกจากนี้ เจ้าอาวาสวัดแจ้ตะหลั่น ยังยืนยันรูปพรรณสัณฐานของมะเมี๊ยะ ว่าเป็นหญิงสาวที่สวย ขาว และสูงเพรียว ซึ่งคล้ายคลึงกับแม่ชีรูปดังกล่าว พร้อมระบุว่าแม่ชีรายดังกล่าวเป็นผู้มีฐานะดี มีข้าวของเครื่องใช้ เป็นของมีราคาแพง และจากการพูดคุยกับคุณยายด่อเอจิ ซึ่งเป็นหลานของโยมอุปัฏฐากของแม่ชีรายดังกล่าว ยังทราบว่าเมื่อสอบถามสาเหตุของการมาบวชว่า เป็นเพราะอกหักหรือไม่ แม่ชีก็มักจะโกธร ไม่พูดจาและลุกหนีไป

รศ.จีริจันทร์ กล่าวว่า ความเชื่อดังกล่าวนี้ ยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ที่สรุปตามข้อมูลเท่าที่ได้สอบถามมา แต่จะต้องหาหลักฐานมายืนยันเพิ่มเติมอีกครั้ง เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่แน่นอนรอบด้านเพื่อนำมายืนยันเพิ่มเติมโดยจะต้องสืบค้นต่อไป

ทั้งนี้สิ่งที่ต้องการจะได้มากที่สุด และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในการทำงาน เพื่อนำมาสู่ข้อสรุปคือ
อยากเรียกร้องให้คนเก่าแก่ โดยเฉพาะเจ้านายฝ่ายเหนือ ที่เป็นคนใกล้ชิด หรือเคยได้สดับตรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม เชื่อว่าจะสามารถรวบรวมข้อมูล ให้นำไปสู่ข้อสรุปที่กระจ่างชัดมากขึ้น

จดหมายจากผู้ที่ใช้ชื่อว่า "เหนือฟ้า ปัญญาดี"
ส่งมาถึงบรรณาธิการพลเมืองเหนือ เมื่อ 6 มีนาคม 2548 อาจเป็นหลักฐานหนึ่งได้หรือไม่ ? 
หากแต่เนื้อหา ได้ต่างจากข้อสันนิษฐานแรกอย่างสิ้นเชิง เราไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า "เหนือฟ้า ปัญญาดี" คือใคร ? และเกี่ยวพันชิดใกล้กับ "ปราณี ศิริธร" ผู้เขียนตำนานรักของเจ้าน้อยสุขเกษมกับมะเมี๊ยะลึกซึ้งเพียงไร มิตินี้จึงน่าจะได้ขยายความ

หากแต่บทความของเขา ขอใช้สิทธิ์ผู้อ่านพลเมืองเหนือ เปิดอีกมิติหนึ่งของ "มะเมี๊ยะ" ในข้อมูลที่เขามีอยู่และเขียนมันขึ้นมา อยู่ที่ว่าผู้อ่านท่านอื่น จะวิเคราะห์และยอมรับข้อมูลชุดนี้มากน้อยเพียงไร และนี่คือบทความที่เขาส่งมา

ปฏิเสธ : ไม่มี มะเมี๊ยะ" ในเมาะละแหม่ง
แล้วนางเป็นใคร? อยู่ที่ไหน?
โปรยหัวไว้แบบนี้ ใครๆ ที่เคยอ่านเรื่องราวของ "มะเมี๊ยะ" ดี คงต้องพูดกันว่า ผมเขียนแบบคนไม่รู้จริงทั้งๆ ที่ใครก็รู้กันว่า "มะเมี๊ยะ" นั้นเป็นใคร มาจากไหน เป็นคนรักของใคร อาจทำให้ใครบางคนอ่านเรื่องราวของผมไม่จบ พาลโยนหนังสือทิ้งไป โทษฐานที่เขียนอย่างคนไร้สติ และเป็นขบถในความคิดของคนอื่น

สำหรับเรื่องนี้ ขอให้ทุกคนโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านว่า ควรน่าจะเชื่อดีหรือไม่ ผู้อ่านบาง
ท่านอาจคิดว่าผมอวดดีอย่างไรถึงมา "หักดิบ" ในความเชื่อและฝังใจจากเรื่องเดิมที่คุณปราณีได้เขียนขึ้นมา ซึ่งในเรื่องนี้ก็แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละคน ไม่สงวนสิทธิ์ในการเชื่ออยู่แล้วครับท่าน

เมื่อไม่มี "มะเมี๊ยะ" ในเมาะละแหม่ง แล้วนางอยู่ที่ไหน??? 
ทุกคนอาจสงสัย แล้วย้อนถามว่า ก็ในเมื่อนางเป็นคนของพม่า... 
ผมขอบอกตามตรงว่า เรื่องนี้มีเบื้องลึก และเบื้องหลังมากมายที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผย

"มะเมี๊ยะ เป๋นสาวแม่ก๊า คนพม่าเมืองเมาะละแหม่ง"

เสียงเพลง "มะเมี๊ยะ" จากการร้องของสุนทรี เวชานนท์ และเนื้อร้องที่แสนสะเทือนใจของ จรัล มโนเพ็ชร แต่งขึ้นโดยได้อาศัยเค้าโครงเรื่อง "มะเมี๊ยะ" ของคุณปราณี ศิริธร ที่เขียนรวบรวมไว้ในหนังสือ เพ็ชร์ลานนา เมื่อพ.ศ.๒๕๐๗ จนเพลงเป็นที่รู้จักกันไปทั้งประเทศ

ย้อนหลังไปเมื่อพ.ศ. ๒๕๐๖ คุณปราณี ศิริธร อดีตนักเขียนสารคดี และนักหนังสือพิมพ์ในเชียงใหม่ อ้างว่า ได้รับฟังคำบอกเล่าจากเจ้าในสกุลคนหนึ่ง ถึงเรื่องความรักของเจ้าน้อยบุตรชายของเจ้าในคุ้มเมืองเชียงใหม่ว่า เจ้าน้อย ถูกส่งไปเรียนหนังสือที่เมืองเมาะละแหม่งและได้พบรักกับสาวชาวพม่า

เมื่อเดินทางกลับมาเมืองเชียงใหม่ จึงได้นำสาวคนรักกลับมาด้วย โดยหวังว่าจะบอกเรื่องความรักของตนเองให้เจ้าพ่อ เจ้าแม่ได้รับทราบ แต่เหตุการณ์กลับทำให้สาวคนรักต้องถูกส่งกลับพม่า ทั้งสองจึงพลัดพรากจากกัน ไม่ได้พบกันจวบจนทั้งสองได้ตายจากกัน

จากเรื่องความรักของคนทั้งสอง ได้ถูกคุณปราณีเขียนลงในหนังสือ เพ็ชรล้านนนา พ.ศ. ๒๕๐๗ โดยกล่าวถึงความรักของคนทั้งสองนั้น ประพฤติผิด "ฮีตฮอย" ต่อบรรพบุรุษ รวมไปถึงการเมือง ที่เชียงใหม่กลัวว่า จะมีความผิดต่อสยาม ในฐานะที่เชียงใหม่เป็นประเทศราชในขณะนั้น ทางเชียงใหม่จึงได้ส่งตัวสาวคนรักของเจ้าน้อยกลับคืนพม่าตามลำพัง เรื่องราวจึงจบลงเพียงเท่านั้น

ต่อมาต้นปี พ.ศ.๒๕๒๓ คุณปราณีได้เขียนหนังสือเรื่อง "ผู้บุกเบิกแห่งเชียงใหม่" ใกล้จะเสร็จคุณปราณีได้เขียน "ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่" ควบคู่กันไปอีกเล่มหนึ่ง โดยบอกว่า เรื่องนี้ได้เขียนต่อจากในหนังสือเพ็ชร์ลานนา ที่เขียนค้างไว้เมื่อสิบกว่าปีก่อน ซึ่งคุณปราณีบอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นภายในคุ้มเมืองเชียงใหม่ เรื่องราวต่างๆ จึงรู้กันแต่ภายใน คนภายนอกไม่เคยได้เห็นหน้า หรือรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของสาวพม่าคนนั้นเลย เพราะอาจถูกห้ามไม่ให้พูดถึง

จนกระทั่งนางถูกส่งกลับเมืองพม่าเรื่องราวต่างๆ จึงเงียบสงบลง ไม่มีใครพูดถึงอีกเลย

คุณปราณีเล่าว่า "เมื่อพี่ (คุณปราณีชอบให้เรียกตัวเองว่า "พี่" ) ลงมือจะเขียนเรื่องนี้ ก็ติดอยู่ที่ไม่รู้ชื่อสาวพม่าคนรักของเจ้าน้อย จึงจำเป็นต้องสมมุติชื่อขึ้นมา โดยได้ใช้ชื่อ "มะเมี๊ยะ" ซึ่งเป็นชื่อของผู้หญิง ชาวไทยใหญ่ที่พี่รู้จักดี และมีบ้านอยู่ใกล้กันนำมาใช้" อีกเหตุผลหนึ่งที่คุณปราณีใช้ชื่อนี้เพราะเรียกง่าย จำง่าย และเมื่อได้ยินแล้วสะดุดหู

จากคำพูดของคุณปราณีที่เล่าให้ฟังในตอนนั้น ผมไม่เคยคิดเลยว่า อีกยี่สิบห้าปีต่อมา มันจะเป็นกุญแจดอกสำคัญ ที่จะไขไปสู่ความลับ ที่ผู้ที่สนใจในเรื่องนี้พยายามที่จะศึกษาค้นคว้า แต่ก็พบกับทางตัน จึงทำให้แต่ละคนก่อเกิดจินตนาการอันล้ำลึก เคลิบเคลิ้มไปกับเรื่องราวต่างๆ ที่คุณปราณีเขียนขึ้นมา

ผมได้อ่านพบบทความของนักวิชาการท่านหนึ่งกล่าวว่า "ประเด็นที่ต้องค้นคว้าต่อไปว่า เหตุใดมะเมี๊ยะจึงเปลี่ยนชื่อ และเหตุใดต้องใช้ชื่อว่า "นังเหลียน" (ความจริงควรจะเรียกว่า "นางเหลียน" เพราะคำว่า "นาง" ใช้เรียกนำหน้าชื่อเพศหญิง ส่วนคำว่า "จาย" นั้นใช้เรียกนำหน้าชื่อเพศชาย ซึ่งหมายถึง "นาย" ในภาษาไทย ตามการเรียกชื่อของชาวไทยใหญ่)

ข้อความดังกล่าว ทำให้ผมต้องทำตัวเป็นนักสืบ ออกติดตามสืบสาวหาเรื่องราว ก็ได้ความว่า ซอยศิริธร (บ้านคุณปราณีอยู่ในซอยศิริธร และได้ใช้นามสกุลของตัวเอง เป็นชื่อซอยข้างวัดป่าเป้า) เมื่อก่อนนั้น ถ้าทุกคนที่เคยอาศัย หรือผ่านไปมาบริเวณถนนมณีนพรัตน์ คงเคยเห็นอาจจำได้ว่า หน้าปากซอยจะมีห้องแถวเรือนไม้จำนวน 6 ห้อง ห้องแรกอยู่ติดปากซอย จะเป็นร้านซ่อมนาฬิกา ห้องที่สองเป็นที่พักอาศัย ห้องที่สามเป็นร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ และห้องสุดท้ายเป็นร้านขายผลไม้ดองและแช่อิ่มชื่อร้านเกรียงไกรพานิช (ปัจจุบันห้องแถวเรือนไม้ถูกรื้อลงสร้างเป็นตึกแถวขึ้นมาแทน)

สอบถามคนที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้นมานาน ก็ทราบว่า ห้องแรกที่เปิดเป็นร้านซ่อมนาฬิกานั้นเป็นครอบครัวไทยใหญ่ มีเพียง ๓ คน พ่อแม่และลูกสาวเท่านั้น ตัวพ่อและแม่นั้นมีอายุมากแล้ว คนที่รู้จักมักเรียกกันว่า "ส่างอ่อง" และ "แม่นางเหม่" ส่วนลูกสาวนั้นจำไม่ได้ว่าชื่ออะไร แต่เป็นครูสอนหนังสือ ซึ่งครอบครัวนี้คุณปราณีรู้จัก และสนิทสนมอย่างดีเป็นพิเศษ จึงทำให้น่าคิดว่า คุณปราณีน่าจะนำชื่อของ "แม่นางเหม่" มาใช้ตามที่เคยได้เล่าไว้

จึงสอบถามในเชิงลึก ได้ความว่าแท้ที่จริงแล้ว "แม่นางเหม่" มีชื่อจริงว่า "แม่นางเมี๊ยะ" เมื่อเรียกกันนานๆ เข้าก็เพี้ยนเสียงเป็น "เหม่" ในพม่าคำนำหน้าชื่อผู้หญิง หรือเพศหญิงนิยมใช้คำว่า "มะ" (ไม่ใช่ "หมะ" ตามที่พูดหรือ เขียนกันอยู่ในขณะนี้) จะใช้นำหน้าชื่อผู้หญิงตั้งแต่เด็กจนเป็นสาว เป็นคำเรียกขานแบบทั่วๆ ไป เมื่อคุณปราณีนำชื่อ "แม่นางเมี๊ยะ" มาใช้จึงเรียกตามแบบพม่าว่า "มะเมี๊ยะ"

ส่วนคำว่า "ด่อ" จะใช้นำหน้าชื่อผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว หรือมีอายุตั้งแต่ ๓๕ ปีขึ้นไปเช่น "ด่อนางเหลียน" ส่วน "ส่างอ่อง" และ "แม่นางเหม่" ได้เสียชีวิตลง หลังจากย้ายออกจากห้องแถวเรือนไม้ได้ไม่นาน

นี่คงเป็นเบื้องลึกและเบื้องหลังอีกข้อหนึ่ง ที่ทำให้คนที่สนใจและนักวิชาการหลายๆ ท่านติดตามเสาะหา "มะเมี๊ยะ" ไม่พบในเมืองเมาะละแหม่ง และเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รู้ว่า อันตัวตนของ "มะเมี๊ยะ" จริงๆ นั้นมิใช่สาวชาวพม่า ที่มีหน้าตาจิ้มลิ้มพริ้มเพรา สวยงามหยาดเยิ้ม ดังที่คุณปราณีได้เขียนพร่ำพรรณนาเอาไว้ เพียงแต่เป็นหญิงชาวไทยใหญ่แก่ๆ ธรรมดาๆ คนหนึ่งเท่านั้น

สำหรับความรักของคนทั้งสองนั้น ในความรู้สึกของผมบอกได้ว่า มันไม่ใช่ตำนานหรือประวัติศาสตร์หน้าใดหน้าหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ ความประสงค์ของคุณปราณีที่เขียนขึ้นมานั้น เพียงต้องการที่จะเล่าถึงความรักของหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ที่ต่างเชื้อชาติและภาษาที่ไม่สมหวังรักในอดีต ให้ชนรุ่นหลังได้รับรู้เพียงเพิ่มเติมสีสันให้กับเรื่องราว เพื่อชวนน่าอ่านและน่าติดตามก็เท่านั้น

ตอนนี้ ถ้าคุณปราณียังมีชีวิตอยู่ จะแน่ใจกันสักแค่ไหนว่าเราๆ ท่านๆ ทั้งหลายจะได้รับคำตอบที่เป็นจริงว่า "มะเมี๊ยะ" นั้นเป็นเพียงนางในจินตนาการที่แต่งขึ้น หรือว่ามีตัวตนจริงๆ กันแน่