การดำหัวภายในบ้าน คือต้องมาจัดน้ำขมิ้นส้มป่อยอีกอย่างน้อยสองส่วน ส่วนหนึ่งเสกเป่าด้วยมงคลคาถา แล้วเรียกภรรยาหรือบุตรธิดาสมาชิกในครอบครัวมาดำหัว โดยที่หัวหน้าครอบครัวอาจใช้น้ำขมิ้นส้มป่อยประพรมหรือลูบศีรษะทุกคน พร้อมกล่าวคำอวยชัยให้พร และอีกส่วนหนึ่งจะเอาสระสรงวัตถุมงคล เช่น พระพุทธรูป รูปเคารพ พระเครื่องตลอดจนเครื่องรางต่างๆ เป็นการชำระล้างจัญไรและคงไว้แต่สิ่งที่ดีงาม สิ่งนี้ล้วนเป็นกิจกรรมเฉพาะ ที่เป็นการปฏิบัติกับสิ่งที่ใกล้ตัว และกระทำในช่วงเวลาเริ่มต้นของเทศกาลคือ "วันสังขานต์ล่อง"
รุ่งขึ้นอีกวันถือเป็นวันสุกดิบ ล้านนาเรียก "วันเน่า" ในวันนี้ทุกครัวเรือนจะจัดเตรียมสิ่งของที่จะทำบุญและของที่จะนำไปดำหัวในวันถัดไป คือ "วันพระญาวัน" และในวันพระญาวัน จะมีการทำบุญที่วัดเรียกว่า "ทานขันข้าว" (อ่าน - ตานขันเข้า) คือทำบุญด้วยอาหาร เป็นสำรับเหมือนทำบุญเทศกาลทั่วไป แปลกแต่ในโอกาสนี้ ในสำรับนอกจากจะมีอาหาร น้ำหยาด (น้ำสำหรับกรวด) แล้วมักจะมีน้ำส้มป่อยด้วย
ทั้งนี้ก็ด้วยวัตถุประสงค์ เพื่อดำหัวบรรพบุรุษและวิญญาณผู้ที่จากไป ผ่านกุศลพิธีทางพุทธศาสนา นอกจากนี้ บางคนถือโอกาสสรงน้ำพระพุทธรูป พระพุทธบาท พระธาตุเจดีย์ และสรงน้ำพระครูบามหาเถระผู้ทรงศีล ครั้นเวลาสายหลายคนทำพิธีดำหัวกระดูกบรรพบุรุษ หอผีปู่ย่า หอเจ้าที่ เทวดาเรือน เป็นต้น ในขณะที่หลายคนไปดำหัวบิดามารดา และเครือญาติที่เคารพนับถือ
กล่าวมาถึงตรงนี้ มีข้อที่ควรสังเกตคือ จากความหมายเดิมที่เป็นการดำหัวตนเองและครอบครัว เพื่อชำระสิ่งอัปมงคล เริ่มเพิ่มความหมายไปในเชิงเคารพสักการะ เป็นการนำน้ำขมิ้นส้มป่อยและเครื่องสักการะเผื่อแผ่ไปยังผู้ควรสักการะ โดยอาการอันนอบน้อม แต่ก็ยังอยู่ในฐานะที่ยังไม่ไกลตัว กาลก็ยังเป็นช่วง
กลางๆ ของเทศกาล คือวันพระญาวันโดยเฉพาะในช่วงเช้า
ช่วงบ่ายของวันพระญาวันเป็นต้นไป การดำหัวจะขยายไปสู่ผู้มีพระคุณ ต่อคนในวงกว้างหรือผู้มีอำนาจในการบังคับบัญชา อาทิ พระสงฆ์ผู้ทรงคุณเป็นอเนก กษัตริย์และราชวงศ์ชั้นสูง ขุนนาง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างๆ เช่น อธิการบดี ผู้อำนวยการ เป็นต้น การดำหัวระดับนี้เป็นเรื่องของคนจำนวนมาก เครื่องสักการะจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น เช่น น้ำส้มป่อยจะบรรจุในขันหรือสลุงขนาดใหญ่ ขันหรือพานดอกไม้ธูปเทียนขนาดใหญ่
ดอกไม้จัดเป็นพุ่มที่เรียก "ต้นดอก"
ขี้ผึ้งประดับบนโครงไม้ที่เรียกว่า "ต้นเผิ้ง"
เทียนแขวนประดับบนโครงไม้ทรงพุ่มที่เรียก "ต้นเทียน"
หมากแห้งทำเป็นสายๆ แล้วรวมกันสิบสายเป็นหนึ่งพวง ใช้จำนวนสิบพวง (หมากหมื่น)
มัดให้เป็นตั้งที่เรียก "หมากสุ่ม"
หมากดิบเป็นลูกๆ ประดับบนโครงไม้ทรงพุ่มที่เรียก "หมากเบ็ง"
ใบพลูจัดเรียงเย็บเข้ากับโครงไม้แล้วจัดเป็นพุ่มที่เรียก "พลูสุ่ม"
เมี่ยง บุหรี่ จัดให้เป็นพุ่มสวยงามและมีขนาดพออุ้มหรือถือได้
จัด "จองอ้อย" คือแคร่คานหาม ที่มีกระบะและมีขาสูงระดับเอว มีคานหาม ภายในบรรจุเครื่องอุปโภคบริโภคเช่น ผ้าห่ม ผ้าขะม้า ผ้าขนหนู หัวหอม กระเทียม กล้วยทั้งเครือ มะพร้าวอ่อนทั้งทะลาย มะม่วง มะปราง ฟัก แฟง แตง และพืชผักตามฤดูกาล เครื่องสักการะต่างๆ เมื่อมีปริมาณมาก ก็ต้องใช้คนเป็นจำนวนมากเป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งอาจมีการจัดขบวนแห่ มีเครื่องดนตรีประโคมและมีการแสดง หรือฟ้อนรำประกอบอย่างครึกครื้น
เมื่อขบวนแห่ไปถึงสถานที่ ที่เป็นที่อยู่อาศัยบุคคลที่จะดำหัว หรือสถานที่ที่จัดไว้ ก็จะวางสิ่งสักการะต่างๆ ลงเฉพาะหน้าท่านเหล่านั้น และเมื่อถึงเวลาอันควร จะจัดให้บุคคลอาจเป็นผู้อาวุโสในกลุ่ม หรือหัวหน้างานถือพานดอกไม้ธูปเทียนคนหนึ่ง ถือขันน้ำส้มป่อยคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งเป็นผู้นำกล่าวคำสักการะพร้อมขอขมาลาโทษ และขอพรปีใหม่ตามลำดับด้วยสุนทรวาจาว่า
"อัชชะ ในวันนี้ ก็เปนวันดี ปีเก่าข้ามล่วงพ้นไปแล้ว ปีใหม่แก้วก็มารอดมาเถิง ผู้ข้าทังหลายก็มาร่ำเพิงยังคุณูปการะอันมากนานา จิ่งน้อมนำมายังมธุบุปผาลาชาดวงดอก เข้าตอกดอกไม้ลำเทียน เพื่อมาสักการะคารวะยังท่าน กาละพร่ำนี้ ผู้ข้าก็ได้ตกแต่งแปลงพร้อมน้อมนำมายังน้ำคัมภีโรทกะ สุคันโธทกะ คือว่าน้ำน้ำขมิ้นส้มป่อย เพื่อจักมาขอสู่มาคารวะ สระเกล้าดำหัว เหตุว่าได้เมามัวประมาทลาสามวลมาก ผู้ข้าก็หากกลัวเปนบาปกัมม์ ขอท่านจุ่งเมตตาธัมม์ผายโผดลดโทษมวลมี ลวดปันพรดี เปนสิริศรีมังคละใน
กาละบัดนี้ แด่เต๊อะ"
กล่าวจบ ผู้ถือพานดอกไม้ธูปเทียนและน้ำส้มป่อย ทำการมอบคล้ายอาการประเคนสิ่งของแด่พระสงฆ์ ส่วนผู้ได้รับการดำหัวก็ยื่นมือทั้งสองข้างรับไว้ แล้วเอามือจุ่มน้ำส้มป่อยลูบศีรษะตนเอง
ทั้งนี้ อาจสลัดน้ำส้มป่อยใส่ผู้มาดำหัว พร้อมกล่าวคำอันเป็นสิริมงคล ก่อนจะให้พรตามโวหาร ดังเช่น
"เอวัง โหนตุ ดีและ อัชชะในวันนี้ก็เปนวันดี สะหรี ศุภะมังคละอันวิเศษ เหตุว่าระวิสังขานต์ ปีเก่าก็ได้ข้ามล่วงล้นพ้นไปแล้ว ปีใหม่แก้วพระญาวันก็มารอดเถิงเทิงยาม บัดนี้ท่านทังหลายได้ไหลหลามตกแต่ง แปลงพร้อมน้อมนำมายังมธุบุปผาลาชาดวงดอกเข้าตอกดอกไม้เทียนงาม มาแปลงห้างยังสิ่งคาระวะสระเกล้าดำหัว ยังตนตัวแห่งผู้ข้า บัดนี้ผู้ข้าก็มีธัมมเมตตาอว่ายหน้าปฏิคหะรับเอาแล้ว เพื่อหื้อแล้วเสียคำมักคำผาถนา แล้วจักลดโทสานุโทส โผดอโหสิกัมม์ ปันพรงามปีใหม่ หื้อมียศใหญ่วัยงาม โชคลาภตามบังเกิด
สุขะเลิศเพิงพาว อายุหมั้นยืนยาวร้อยซาวขวบเข้า นั้นจุ่งจักมีเที่ยงแท้ดีหลี
สัพพีติโย วิวัชชันตุ สัพพะโรโค วินัสสตุ
มา เต ภวัตวันตะราโย สุขี ทีฆายุโก ภะวะ
อะภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน
จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง"
เสียงแห่งการให้พร จบลงด้วยสำเนียงล้านนาว่า "อายุ วัณโณ สุขัง ป๊ะลัง" เสียง "สาธุ" ของผู้รับพรตามมาโดยอัตโนมัติหลังสุดของพิธี อาจมีพรให้โอวาท ตามด้วยการผูกข้อมือแก่ผู้ที่มาดำหัว เพื่อเป็น
ศิริมงคลแถมท้าย หรือนอกเหนือจากนี้ อาจมีบางคนประสงค์ที่จะดำหัวอย่างใกล้ชิดเป็นกรณีพิเศษ ก็จะนำน้ำส้มป่อยไปทำการมอบให้ผู้ใหญ่ เพื่อที่ท่านจะได้ดำหัวท่านเอง ทั้งนี้ไม่มีธรรมเนียมปฏิบัติที่ว่าเอาน้ำส้มป่อยไปรดที่มือท่าน เหมือนกับภาคอื่นๆ ที่นิยมปฏิบัติกันเป็นปกติ
ดังที่ได้กล่าวทั้งหมด การดำหัวเป็นพิธีกรรมที่เป็นเรื่องเฉพาะของสูง เริ่มตั้งแต่ศีรษะของตนเอง ศีรษะของบุคคลอันเป็นที่รัก ทั้งที่อยู่ในระดับเสมอตนหรือด้อยอาวุโส ศีรษะของผู้อยู่ระดับอันควรสักการะ
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าเป็นพิธีกรรมที่มีวิธีปฏิบัติโดยตรงหรือโดยอ้อม คือผ่านกุศลกรรม ได้แก่ การทำบุญอุทิศ หรือแม้กระทั่งการราดรด สระสรงด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อยกับสิ่งควรเคารพ วัตถุ สถานที่ รูปเคารพ อาทิ วัตถุมงคล อัฐิบรรพบุรุษ อนุสรณ์สถาน เทวรูป พุทธรูป
ซึ่งพิธีกรรมอาจมีความซับซ้อน ในเชิงปฏิบัติตามสภาวะอันควร นั่นเป็นพิธีกรรม ที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อรับใช้สังคม และเป็นที่สังเกตว่าการรดน้ำสาดน้ำซึ่งกันและกันด้วยน้ำธรรมดาในช่วงกาลเวลาเดียว ซึ่งแม้จะมีสถานะเป็นเพียงกิจกรรม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำในระบบคิดเดียวกัน แตกต่างกันเฉพาะกระบวนการและวิธีการเท่านั้น
การกระทำกับของสูง เป็นการแสดงความเคารพ มนุษย์หากรู้จักเคารพตนเอง เคารพผู้อื่นหรือสิ่งอื่นที่ควรเคารพ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้มีคุณธรรมระดับสูงทั้งคารวธรรม กตเวทิตาธรรม และเมตตาธรรม การดำหัวจึงถือเป็นพิธีกรรมและกิจกรรมที่ผ่านการรินหลั่งน้ำที่ฉ่ำเย็น เป็นความหมายของชาวล้านนา อันจะนำพามาซึ่งความผาสุกร่วมกันตราบชั่วนิรันตกาล.