ทะเลสาบสงขลา

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ทะเลสาบสงขลา

ทะเลสาบสงขลา เป็นทะเลสาบที่มีลักษณะเป็นทะเลสาบเปิด (ลากูน) คือ เป็นทะเลสาบท่มีทางเปิดติดต่อกับทะเลภายนอก (อ่าวไทย) จัดเป้ฯทะเลสาบเปิดที่ใหญ่แห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทยในเขตจังหวัดสงขลาและพัทลุง

ลักษณะของทะเลสาบเป็นที่ลุ่มต่ำ ได้รับน้ำจากแม่น้ำลำคลองหลายสยที่อยู่โดยรอบ ก้นทะเลสาบมีลักษณะท้องแบนคล้ายกระทะ ความเค็มและความสมดุลของน้ำในทะเลสาบมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เนื่องจากน้ำมีการผสมกับน้ำทะเลที่เข้ามาอยู่ตลอดเวลา

ทะเลสาบสงขลามีพื้นที่ประมาณ 1,040 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 616,750 ไร่ ความกว้างจากทิศตะวันตกไปตะวันออกประมาณ 20 กม. ส่วนความยาวจากทิศเหนือไปทิศใต้ประมาณ 75 กม. ทะเลสาบแบ่งออกเป็น 3 ตอนคือ

ทะเลสาบตอนล่าง มีพื้นที่ 223 ตารางกิโลเมตร ความลึกเฉลี่ย 1.5 เมตร แหล่งน้ำตอนนี้มีลักษณะเป็นเค็มและน้ำกร่อย มีอาณาเขตตั้งแต่ช่วงปากทะเลสาบไปจนถึงช่องแคบปากรอ


ทะเลสาบตอนบน หรือที่เรียกว่า ทะเลหลวง มีพื้นที่ประมาณ 786 ตารางกิโลเมตร ความลึกเฉลี่ย 2 เมตร แหล่งน้ำส่วนนี้ตอนเหนือสุดจะเป็นน้ำจืด ตั้งแต่เขตอำเภอปากพยูนลงมาจนถึงช่องแคบปากรอจะเป็นน้ำกร่อย

ทะเลน้อย เป็นแหล่งน้ำที่อยู่คนละส่วนกับทะเลสาบ แต่มีลำคลองน้ำจืดสายหนึ่งเชื่อมต่อแหล่งน้ำทั้งสองเข้าด้วยกัน มีเนื้อที่ประมาณ 30 ตารางกิโลเมตร ความลึกเฉลี่ย 1.5 เมตร เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ประกอบด้วยพืชนานาชนิด รอบๆ เป็นป่าพรุผืนใหญ่จรดเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช

ทะเลสาบมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชุมชนโดยรอบ โดยเป็นแหล่งโปรตีนแลเป็นแหล่งทำมาหากินของประชากรไม่น้อยกว่า 7,500 ครอบครัว ที่อาศัยทรัพยากรจากทะเลสาบทั้งพืชและสัตว์ และเป็นประโยชน์ทางอ้อมแก่ประชากรไม่น้อยกว่า 100,000 ครอบครัว

จากการสำรวจพบว่า พันธุ์ปลาในทะเลสาบสงขลามีทั้งหมด 700 ชนิด สัตวน้ำประเภทปูและกุ้งมีทั้งสิ้น 20 ชนิด ได้มีการประเมินการจับสัตว์น้ำจากลุ่มน้ำทะเลสาบทั้งหมดของโครงการลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา แจ้งว่า จะมีปริมาณสัตว์น้ำถูกจับขึ้นมาใช้ประโยชน์ทั้งสิ้นประมาณ 7,000 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท/ปี

ข้อมูลจากหนังสือ นิเวศสามน้ำ โดยคณะอนุกรรมการด้านที่ดินและน้ำ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ยี่เป็งเชียงใหม่..มีหรือไม่มี?

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ นางนพมาศ

หลายปีดีดัก เมื่อมีการชักรถกระทงใหญ่ จุดที่จูงใจบนกระทงคืออนงค์นาฏ งามวิลาศสดใส ยิ้มละไมบนใบหน้า เธอมีนามาสมมุติว่า "นางนพมาศ"

นางนพมาศ เป็นใคร มาจากไหน หลายท่านทราบดีแล้ว แต่ก็มีหลายท่านอยากให้เล่าสู่ทบทวน คงต้องหวนย้อนไปที่ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งกล่าวว่า "นางนพมาศ" เป็นธิดาของพระศรี มหาปุโรหิตราชครู อยู่ในราชสำนักของพระร่วงเจ้า เมื่อจุลศักราช 600 เศษ ด้วยความงดงามเป็นเลิศ และมีสติปัญญาเฉียบแหลมเป็นที่เลื่องลือ พระร่วงเจ้าจึงโปรดให้รับเข้าเป็นบาทบริจาริกาโดยใกล้ชิด ต่อมาทรงโปรดให้แต่งตั้งเป็น "ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมเอก"

ในสมัยนั้น ครั้นถึงวันเพ็ญเดือนสิบสอง เมื่อสุโขทัยจัดให้มีงานนักขัตตฤกษ์ มีการแข่งเรือเล่นเพลงเรือ พิธีจองเปรียงด้วย ประทีปเปรียงเจือด้วยไขข้อพระโค พร้อมชักโคมลอย โคมแขวนเป็นพุทธบูชาด้วย และในงานนี้ (ปีไหน ไม่ได้ระบุ) นางนพมาศได้มีบทบาทที่โดดเด่น กล่าวคือขณะหมู่ราชบุตรต่างประดิษฐ์โคมประเทียบ รูปทรงสัณฐานอันวิจิตร แล้วชักแขวนเป็นระเบียบตามแนวโคมชัยเสาระหงตรงหน้าพระที่นั่งชลพิมานถวายพระร่วงเจ้า เพื่ออุทิศสักการะบูชาพระเกศแก้วจุฬามณี และฝ่ายสตรีที่เป็นสนมกำนัล ก็ทำโคมลอยร้อยด้วยบุปผชาติเป็นรูปต่างๆ ประกวดกันเพื่อพระร่วงเจ้าจะได้อุทิศบูชาพระพุทธบาท ณ ฝั่งน้ำนัมมทานที แต่นางนพมาศ ได้คิดประดิษฐ์โคมลอยให้งดงามและแปลกแยกจากคนอื่น โดยในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ฉบับหอพระสมุด วชิรญาณ กล่าวว่า 
"จึงเลือกผกา เกษรสีต่างๆ ประดับเป็นรูปดอกกุมุทบานกลีบ รับกับแสงจันทร์ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ ล้วนแต่พันธุ์ดอกไม้ ซ้อนสีสลับ เป็นลวดลาย แล้วก็เอาผลพฤกษาลดาชาติมาแกะ จำหลักเป็นรูปมยุราพนานกวิหคหงษ์ ให้จับจิกเกษรบุบผชาติ อยู่ตามกลีบดอกกระมุท เป็นระเบียบเรียบเรียงไปด้วยสีย้อมสดส่าง ควรจะทอดทัศนายิ่ง ทั้งเสียบแซมเทียนธูปแลประทีปน้ำมันเปรียงเจือด้วยไขข้อพระโค"
เมื่อพระร่วงเจ้าทอดพระเนตร ก็ตรัสชมว่างามประหลาดกว่าที่เคยมี แล้วตรัสถามว่า "นางคิดเช่นไรหรือ" 
นางก็บังคมทูลว่า 
"ข้าพระองค์สำคัญใจคิดเห็นว่า เป็นนักขัตตฤกษ์วันเพ็ญเดือนสิบสอง ปราศจากเมฆมลทิน อันว่าดวงดอกชาติโกสุมภ์ประทุมมาลย์ มีแต่จะเบ่งบานกลีบรับแสงพระอาทิตย์ ถ้าชาติอุบลเหล่าใดบานผกาเกษรรับแสงพระจันทร์แล้ว ก็ได้ชื่อว่าดอกกระมุท ข้าพระองค์จึ่งทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุท ซึ่งบังเกิดมีอยู่ยังนัมมทานที อันเป็นที่บวรพุทธบาทประดิษฐาน กับแกะรูปมยุราพนานกวิหคหงษ์ประดับ แลมีประทีปเปรียงเจือด้วยไขข้อพะโคถวาย ในการทรงพระราชอุทิศครั้งนี้ด้วย จะให้ถูกต้องสมกับนัตขัตตฤกษ์ วันเพ็ญเดือนสิบสอง พระราชพิธีจองเปรียงโดยพุทธศาสน์ไสยศาสน์"
ครั้นพระองค์ได้ทรงสดับก็ดำรัสว่า นางนพมาศมี 
"ปัญญาฉลาดสมกับที่เกิดมาในตระกูลนักปราชญ์ กระทำถูกต้อง ควรจะถือเอาเป็นเยี่ยงอย่างได้ จึงมีพระราชบริหารบัญญัติสาปสรรค์ว่า แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงกาลกำหนดนักขัตตฤกษ์ วันเพ็ญเดือนสิบสองพระราชพิธีจองเปรียงแล้ว ก็ให้กระทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุท อุทิศสักการะบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน" 
ตรงนี้มีความต่อท้ายว่า 
"อันว่าโคมลอยรูปดอกกระมุท ก็ปรากฏมาจนเท่าทุกวันนี้ แต่คำโลกสมมุติเปลี่ยนชื่อเรียกว่า ลอยกระทงลอยประทีป"
จากความดังกล่าว บทบาทสำคัญของนางคือประดิษฐ์โคมลอย (คือโคมลอยน้ำอันได้แก่กระทงนั่นเอง) ซึ่งมีความหมายได้ทั้งสองทาง คือพุทธและไสย 

ส่วนนางนพมาศจะมีตัวตนในสมัยพระร่วงเจ้า แห่งกรุงสุโขทัยหรือไม่ 
นักวิชาการหลายท่านได้วิพากษ์กันอย่างกว้างขวางมาแล้ว และก่อนหน้านั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงให้คำวิจารณ์ไว้ว่า 
"โดยทางโวหารแล้วใครๆ อ่านหนังสือนี้ด้วยความสังเกต จะเห็นได้โดยง่ายว่า เป็นหนังสือที่แต่งขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง แต่ในรัชกาลที่ ๒ กับที่ ๓ ไม่ก่อนนั้นขึ้นไปและไม่มีหลังนั้นลงไปเป็นแน่ ถ้าจะหาพยานจงเอาสำนวน หนังสือเรื่องนี้ไปเทียบกับสำนวนหนังสือจารึกครั้งกรุงสุโขทัย เช่น หนังสือไตรภูมิพระร่วง เป็นต้น หรือแม้ที่สุดจะเอาไปเทียบกับหนังสือที่แต่งเพียงในชั้นกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ก็จะเห็นได้แน่นอนว่า สำนวนหนังสือเรื่องนางนพมาศนี้เป็นหนังสือแต่งใหม่เป็นแน่ ซ้ำยังมีข้อความที่กล่าวผิดที่จับได้ โดยแจ่มแจ้งว่าเป็นของใหม่หลายแห่ง.."
อย่างไรเสียประเด็นนี้จะไม่ขอสืบความ เพราะมีคำถามที่น่าสนใจมากกว่าว่า สุโขทัยกับล้านนาไทย ใครลอยกระทงก่อน?

คำตอบก็เห็นจะได้แก่ "ล้านนาไทย" เพราะในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์หน้าที่ 20 ได้กล่าวอ้างอิงถึงตำนานจามเทวีวงศ์ว่า 
"ด้วยเหตุเห็นว่า นักปราชญ์ผู้มีปัญญากล่าวพิสดารไว้แล้ว ถ้าผู้ใดจะใคร่รู้ใคร่ฟัง จงไปเสวนาในตำรับจามเทวีวงศ์โน้นเทอญ." 
เรื่องนี้มีรายละเอียดที่สามารถติดตามได้ในเรื่องของประเพณีลอยโขมด ซึ่งมีหลายท่านเขียนไว้แล้ว

ทีนี้มาถึงประเด็นสำคัญคือนางนพมาศมาปรากฏที่เชียงใหม่เมื่อใด 
ผู้เขียนคิดเอาเองว่า แต่เดิมชาวเชียงใหม่ก็น่าจะจุดประทีป หรือเซ่นสักการะตามสถานที่อันควรแก่การบูชา หรือลอยคงคาวาริน ตามความเชื่อและศรัทธา แม้เดี๋ยวนี้ก็เป็นเช่นนั้น ไม่ใช่เฉพาะแต่เอากระทงลงลอยในน้ำ นางนพมาศคงมาภายหลัง คือมาพร้อมกับค่านิยมในการแห่ขบวน และการแห่ขบวนกระทงมักเป็นกระทงขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดภาพที่อลังการ พร้อมนี้ก็ได้เพิ่มนางงาม เพื่อจูงใจคนดู และนางงามที่ว่า ถ้าจะให้สัมพันธ์สอดคล้องกัน ก็สมมุติเป็นนางนพมาศ

ตามเรื่องราวที่กล่าวข้างต้นแล้ว การแห่ขบวนในเชียงใหม่ลักษณะนี้เริ่มมีเมื่อไหร่ 
เรื่องนี้ "ศรีเลา เกษพรหม" กล่าวถึงความเป็นมาในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย-ภาคเหนือ เล่มที่ 12 หน้า 5852 ว่า 
"ครั้งที่นายทิม โชตนา เป็นนายกเทศมนตรีเมืองเชียงใหม่ ในช่วง พ.ศ.2490 นั้นก็ได้สนับสนุนการท่องเที่ยวโดยจัดให้มีการลอยกระทงมากขึ้น และมีการเฉลิมฉลองบริเวณถนนท่าแพ โดยเฉพาะบริเวณหน้าพุทธสถาน การลอยกระทงแบบกรุงเทพฯ ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีขึ้นอย่างจริงจังเมื่อมีการตั้งสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ.2512 โดยจัดให้มีการลอยกระทงสองวันคือ ในวันเพ็ญเดือนยี่ ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบสอง จะมีการลอยกระทงขนาดเล็กและในวันแรม 1 ค่ำ จะมีการลอยกระทงหรือประกวดกระทงขนาดใหญ่โดยเริ่มกันที่หน้าเทศบาลเมืองเชียงใหม่ไปถึงสะพานนวรัฐ"
ส่วน สงวน โชติสุขรัตน์ กล่าวไว้ใน "ประเพณีลอยโขมด" จากนิตยสารโยนก ฉบับประจำเดือนกันยายน พ.ศ.2497 ว่า 
"อันประเพณีลอยโขมด หรือลอยกระทงนี้ เป็นประเพณีดั้งเดิมที่สืบเนื่องกันมาแต่โบราณกาลแล้ว เฉพาะในนครเชียงใหม่ เพิ่งจะมารื้อฟื้นและทำกันเป็นการใหญ่เมื่อปีที่แล้วมานี้" คำว่า "ปีที่แล้ว" คือ พ.ศ.2496 
ดังนั้น นางนพมาศน่าจะมานั่งกระทง ซึ่งเป็นกระทงใหญ่ตั้งแต่ช่วง 2490-2496 เป็นต้นมา

แล้วโจทย์ที่ถามว่าเชียงใหม่มี หรือไม่มีนางนพมาศ 
ก็จะได้คำตอบว่า "มี" คือมีตั้งแต่โดยประมาณ พ.ศ.2490-2496 จนถึงปัจจุบัน 

แล้วในอนาคตควรมีหรือไม่ 
คงต้องถามใจท่านเมื่ออ่านบทความนี้จบ

ที่มาของวัฒนธรรมการต้มเกลือแบบพื้นบ้านโบราณ

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ต้มเกลือ

ป่าทามซึ่งเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของลุ่มน้ำมูนตอนกลางในอีสานใต้ ที่มาของวัฒนธรรมการต้มเกลือแบบพื้นบ้านโบราณ

ป่าทามราษีไศล นอกจากมีพรรณพืช พันธุ์สัตว์มากมายแล้วยังเป็น แหล่งเกลือโบราณ โดยมีบ่อเกลือถึง 150 บ่อ กระจายอยู่ทั่วไปก่อนการสร้างเขื่อน การต้มเกลือเป็นเสมือนวิถีชีวิตส่วนหนึ่งของชาวบ้านที่นี่ ตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย มีการใช้เกลือในการบริโภคในครัวเรือน ใช้แลกข้าว แลกข้าวของเครื่องใช้ แม้กระทั่งซื้อขายในปัจจุบัน

ภูมิปัญญาของคนต้มเกลือ ที่ราษีไศลไม่ใช่แค่การนำเกลือในดินขึ้นมาเท่านั้น แต่คือการรู้จักอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ซึ่งถ่ายทอดมาสู่ลูกหลานให้รู้จักใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน  เกลือยังขึ้นอ่อนอยู่ ถ้าดูที่หน้าดินจะเห็นเพียงบางๆ ต้องขึ้นลักษณะเป็นช่อ จึงสามารถต้มได้
"เกลือที่อื่นไม่เหมือนกัน มันไม่มีรสชาติ ถ้าเป็นเกลือต้มเอง โรยกินกับข้าวหุงร้อนๆ จะเค็มหอมรสชาติมันผิดกัน น้ำปลาไม่ต้องมีเลย"
นอกจากนี้ วัฒนธรรมเกลือยังสัมพันธ์กับวัฒนธรรมปลา เนื่องจากเป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำปลาร้า อาหารยอดนิยมของชาวอีสาน
"เกลือที่ต้มเอง เมื่อใช้ทำปลาร้าจะทำให้มีกลิ่นหอม ไม่เหม็นอับ และยังทำให้เนื้อปลามีสีแดง แต่ถ้าใช้เกลือทะเล จะทำให้มีกลิ่นอับ รวมทั้งทำให้เนื้อปลาเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ" 
ฤดูกาลในการต้มเกลือของชาวบ้าน จะเริ่มขึ้นในช่วงมีนาคม เมื่อลมร้อนพัดผ่านมา โดยจะผ่านพ้นไปในเดือนพฤษภาคมก่อนฝนมาเยือน ซึ่งชาวบ้านใช้วิธีต้มเกลือแบบโบราณ โดยวัสดุต่างๆ ยังคงใช้วัสดุธรรมชาติ ที่หาได้จากป่าทาม มีเพียงหม้อต้มเกลือ ที่เปลี่ยนจากหม้อดินเผา มาเป็นหม้อที่ดัดแปลงมาจากปี๊บ เนื่องจากหาง่ายและให้ความร้อนเร็ว

ขั้นตอนการต้มเกลือ เริ่มตั้งแต่ไปสำรวจดูบ่อเกลือที่เคยต้มว่า "ส่าเกลือ" ขึ้นมากพอที่จะต้มได้หรือไม่ โดยสังเกตดูว่า ถ้ามีลักษณะเป็นฟันปลาค้าว หรือเป็นแท่งคล้ายผงชูรส จะต้มได้เกลือมากและเกลือมีคุณภาพดี จากนั้นจึงขูดผิวดิน (บ่อเกลือไม่ได้มีลักษณะเหมือนบ่อน้ำ แต่เป็นพื้นดินที่มีเกลือ) หรือดินขี้ทามากองรวมกันไว้ แล้วคลุมด้วยพลาสติกทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ เพื่อหมักให้ส่าเกลือที่ยังไม่แก่พอมีคุณภาพและให้ส่าเกลือแก่เสมอกัน

ก่อนต้มเกลือต้องผ่านขั้นตอนการหมักในรางหมัก ซึ่งเป็นรางดินแทนรางไม้ที่เคยใช้ในอดีต โดยขุดดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้างยาวประมาณ 1 เมตร นำดินเหนียวย่ำให้ละเอียดราดลงบนรางดิน นำผ้าพลาสติกรองไว้อีกชั้นหนึ่ง ไม่ให้น้ำซึมออกและขุดดินให้ลึกต่ำกว่ารางหมัก แล้วนำท่อไม้ไผ่ทำเป็นท่อน้ำต่อออกจากรางดิน โดยการหมักต้องปิดท่อไว้ก่อน และนำเศษฟาง หรือเศษหญ้ามาวางทับรู พร้อมกับใช้เปลือกหอยปิดพอให้น้ำไหลสะดวก จากนั้นนำดินขี้ทาใส่ลงไปเหลือขอบปากหลุมไว้ 5-10 ซม. ตักน้ำใส่ทิ้งไว้ 1 คืนจึงเปิดท่อให้น้ำเกลือไหลลงภาชนะ

จากนั้น จะมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำเกลือ ด้วยการนำครั่งมาต้ม หรือเผาให้ละลาย แล้วปั้นติดกับเชือกเมื่อนำไปหย่อนลงในถังน้ำเกลือ ถ้าครั่งลอยอยู่เหนือน้ำ แสดงว่ามีความเค็มมาก โดยน้ำกรองครั้งที่สามจะเริ่มมีความเค็มน้อยลง และสามารถใช้ไม้น้ำแดง หรือลูกสีดา (ฝรั่ง) มาตรวจสอบ โดยใช้วิธีเดียวกันได้ด้วย

การต้มเกลือจะใช้ไม้ฟืนจากป่าทามเป็นเชื้อเพลิง เนื่องจากอยู่บริเวณใกล้ แต่ปัจจุบันการยึดครองพื้นที่โดยไมยราบยักษ์ ได้ทำให้แหล่งไม้ฟืนหายไป โดยการต้มจะนำน้ำเกลือที่เค็มจัด และปานกลางผสมเข้าด้วยกัน ส่วนที่มีความเค็มน้อย จะใช้ในการหมักดินขี้ทาต่อไป ระหว่างการต้มให้ปล่อยทิ้งไ ว้ไม่ควรคนบ่อย เพราะจะทำให้ได้เกลือเม็ดเล็กจนเกินไป เมื่อน้ำงวดปล่อยทิ้งไว้จนเกลือตกผลึกสีขาว จากนั้นตักใส่ตะกร้าไม้ไผ่ ทิ้งให้แห้ง แล้วตักใส่ถุงปุ๋ย ซึ่งเกลือที่ต้มใหม่ สีจะขาวขุ่น เมื่อทิ้งไว้นานๆ จึงจะขาว

ซึ่งการต้มเกลือนั้น ต้องอาศัยทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น และประสบการณ์ที่สั่งสมเรียนรู้จากการปฏิบัติมาจนเชี่ยวชาญ เป็นเหมือนวิถีชีวิตที่อยู่คู่กันมาของชุมชน 

นอกจากนี้ ยังมีพิธีกรรมความเชื่อ สำคัญที่ทำให้การต้มเกลือเป็นไปอย่างเพียงพอ และไม่รบกวนธรรมชาติมากจนเกินไป โดยก่อนที่จะมีการต้มเกลือ ชาวบ้านจะมีการบอกกล่าว พ่อเพียแม่เพีย ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ่อเกลือ เหมือนกับที่ชาวนาไหว้แม่โพสพนั่นเอง และหลังจากที่ต้มเกลือจนพอแล้วจะมีการปลูกเกลือ

โดยการนำเกลือใส่ถุงพลาสติก ไปฝังไว้ลึกประมาณ 1 คืบบริเวณบ่อเกลือ และบอกกับพ่อเพียแม่เพียเพื่อให้มีเกลือต้มอีกครั้ง ในฤดูกาลต้มเกลือในปีถัดไป ซึ่งมีความเชื่อว่า หากผู้ใดที่ปลูกเกลือแล้ว ยังกลับมาต้มอีกในฤดูกาลนั้น จะต้องมีอันเป็นไป

จะเห็นได้ว่าความเชื่อเหล่านี้ เป็นเหมือนสิ่งที่คอยควบคุมการต้มเกลือของชาวบ้านมาโดยตลอด ระยะเวลาอันยาวนาน นั่นแสดงให้เห็นว่า ตราบใดที่ความคิดความเชื่อยังคงอยู่กลับชุมชน วิกฤติการที่เคยเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นการต้มเกลือแบบอุตสาหกรรม มีการสูบน้ำเกลือจากใต้ดิน จนทำให้เกิดแผ่นดินทรุดตัว หรือความขัดแย้งในกรณีเหมืองโปแตส ที่อุดรธานี ก็จะไม่เกิดขึ้นหากเราสามารถเรียนรู้การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ในแบบที่ไม่ใช่ผู้ทำลาย แต่อยู่ร่วมอย่างรู้คุณเช่นเดียวกับคนต้มเกลือราษีไศล

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ข้อมูลจากวิจัยไทบ้านป่าทามราศีไศล

น้ำพระทัยฯ ทรงเปี่ยมล้นหลั่งคนกรุง เสด็จทรงเปิด “รถไฟฟ้า” แก้ปัญหาจราจร

หนึ่งในพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่9) ยังคงตราตรึงอยู่ในจิตใจของประชาชนชาวไทย ที่พระองค์ทรงห่วงใยประชาชนของพระองค์ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ที่จะต้องประสบปัญหากับการจราจรที่ติดขัด จึงเป็นที่มาของการก่อสร้างรถไฟใต้ดินภายใต้การกำกับดูแล โดย “การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” (รฟม.) กระทรวงคมนาคม และเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2547 วันที่ประชาชนคนไทยได้ปลาบปลื้มกับพระบารมีของ 3 พระองค์ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ทรงเปิดการเดินรถไฟฟ้า “โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (หัวลำโพง-บางซื่อ)” อย่างเป็นทางการ

ซึ่งในวันนั้นได้มีเหล่าข้าราชบริพาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี รวมทั้งผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เฝ้าฯ รอรับเสด็จ โดยที่พระองค์เสด็จฯ ลงชั้นใต้ดินด้วยลิฟต์โดยสาร และทอดพระเนตรในชั้นขายบัตรโดยสาร และนั่งรถไฟฟ้าระยะทาง 150 เมตร ไปยังมณฑลพิธี โดยสองข้างทางมีนิทรรศการแสดงวิวัฒนาการของรถไฟฟ้า

ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชปฏิสันฐานกับนายกรัฐมนตรีในระหว่างเสด็จพระราชดำเนิน เมื่อถึงบริเวณมลฑลพิธี ซึ่งคณะเจ้าหน้าที่ได้ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่ทุกพระองค์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในสมุดเยี่ยมของรฟม. จากนั้นตัวแทนคณะรัฐมนตรีได้กล่าวคำถวายรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน


ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปยังแท่นไฟฟ้าเพื่อกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้าย โครงการ “รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล” พร้อมกัน 3 จุด พร้อมเสด็จพระราชดำเนินไปที่ชั้นชานชาลา เพื่อทรงขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคล บริเวณตู้โดยสารตู้แรก จากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินหัวลำโพง ไปยังสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินบางซื่อ เพื่อทรงทดลองระบบและเส้นทางด้วยพระองค์เอง รวมทั้งสิ้น 18 สถานี แล้วกลับมายังศูนย์ซ่อมบำรุงรักษาและศูนย์ควบคุมการเดินรถ เพื่อทรงเปิดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้ามหานครอย่างเป็นทางการ ก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับ


ทั้งนี้ “ประภัสร์ จงสงวน” ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในสมัยนั้น ได้เผยว่า ในการเสด็จพระราชดำเนินเปิดโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสนพระทัยเป็นอย่างมากต่อโครงการรถไฟฟ้า หลังจากกดปุ่มเปิดระบบการเดินรถไฟฟ้าใต้ดินแล้ว ทรงสอบถามเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ใช้ในการก่อสร้าง พร้อมกับทรงรับสั่งขอให้รัฐบาลเร่งรัดการก่อสร้างส่วนต่อขยาย ของโครงการรถไฟฟ้ามหานค รให้มีโครงข่ายครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดให้กับประชาชนได้มากขึ้นในอนาคต


สำหรับการที่ในหลวงเสด็จ ทรงเปิดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้ามหานครอย่างเป็นทางการ เป็นจุดเริ่มต้นของการขยายตัวเมือง เมื่อมีความสะดวกด้านการเดินทาง สิ่งอื่นๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ ด้านการพัฒนาที่ดิน ก็จะตามมา ทำให้ประชาชนมีช่องทาง การใช้ที่ดินทำกิน โดยรอบๆ แนวรถไฟฟ้ามากขึ้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้