จากประวัติศาสตร์อันยาวนาน 512 ปี ตามหลักศิลาจารึกบนหินทรายแดง กล่าวถึงประวัติวัดศรีสุพรรณไว้ว่า ราวพ.ศ.2043 พระเมืองแก้ว หรือ พระเจ้าพิลก ปนัดดาธิราช ร่วมกับพระราชมารดาเจ้า โปรดเกล้าฯ ให้ ขุนหลวงจ่าคำ นำพระพุทธรูปองค์หนึ่งมาประดิษฐานแล้วสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น เดิมเรียกชื่อว่า “ศรีสุพรรณอาราม” ต่อมาได้สร้างมหาวิหาร พระบรมธาตุเจดีย์ พระอุโบสถหลังเดิม ผูกพัทธสีมาเมื่อพ.ศ.2052 พร้อมทั้งสร้างศาสนสถานอื่นๆ แล้วมอบพื้นที่รอบกำแพงทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 20 วาให้แก่วัด และมอบข้าทาสไว้ดูแลวัดอีก 20 ครอบครัว
เมื่อปี พ.ศ.2547 ชาวบ้านและช่างฝีมือได้ร่วมกันสร้างพระอุโบสถเงินหลังแรกของโลก โดยมีปณิธานร่วมกันเพื่อ “ฝากศิลป์แก่แผ่นดินล้านนา ถวายไว้ในบวรพระพุทธศาสนา เทิดไท้องค์ราชันย์ รัชกาล ที่ 9” เนื่องจากพระอุโบสถหลังเดิมชำรุดทรุดโทรม ไม่สะดวกในการประกอบศาสนกิจ จึงคิดสร้างพระอุโบสถเงินบนฐานเดิม พัทธสีมาเดิม และพระประธานองค์เดิม โดยช่างภูมิปัญญาชาวบ้านร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานสลักลวดลายลงบนแผ่นเงินบริสุทธิ์ เงินผสมอะลูมิเนียม และวัสดุแทนเงิน ประดับตกแต่งทั้งภายนอกและภายในตลอดทั้งหลัง
องค์พระประธาน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า พระเจ้าเจ็ดตื้อ เป็นพระพุทธรูปขนาดหน้าตักกว้าง 3 ศอก สูง 4 ศอก ปางมารวิชัย เนื้อทองสัมฤทธิ์ ฝีมือช่างหลวง มีตำนานเล่าขานสืบกันมาว่า พระประธานองค์นี้ แสดงพุทธปาฏิหาริย์ลงสรงน้ำในสระข้างอุโบสถอยู่เป็นประจำ ประทานความสำเร็จสมปรารถนาสำหรับผู้มาอธิษฐานจิตกราบไหว้อยู่เนืองนิตย์ สถิตในจิตใจเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านศรีสุพรรณ และประชาชนทั่วไปตลอดมา
นอกจากพระอุโบสถเงินหลังเดียวของโลกแล้ว พระวิหารของวัดศรีสุพรรณ เปรียบดั่งโรงเรียนพุทธศิลปะชั้นเลิศของเมืองล้านนา เพราะได้แสดงฝีมือช่างในล้านนาทั้งสิบหมู่ไว้ในที่เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นช่างปั้น ช่างวาด ช่างดุน ช่างต้อง (ช่างตอกลาย) ช่างกระดาษ ช่างเขิน ช่างเงิน ช่างแกะสลัก ช่างลงรักปิดทอง ช่างดอกไม้ใบตอง
ภายในพระวิหารแบ่งเป็น 3 ส่วน เมื่อเข้าประตูไปแล้ว จะเป็นเรื่องราวของสิบหกชั้นฟ้าสิบห้าชั้นดิน และการปฏิบัติเพื่อเข้าสู่พระนิพพาน ในส่วนที่ 2 เป็นการรวบรวมรูปแบบของธาตุเจดีย์ และซุ้มโขงในล้านนาหลายร้อยแห่ง มาไว้ในจิตรกรรมฝาผนัง มีภาพพระธาตุประจำปีเกิดโดยศิลปินสุดยอดฝีมือของล้านนา 12 ท่าน ที่เขียนในปีเกิดของตน และส่วนที่ 3 คือเรื่อง พระพุทธองค์กับการหลุดพ้นจากห้วงวัฏสงสาร มีภาพพุทธชาดกบนแผ่นเงินตอกลายจำนวน 10 แผ่น ฝีมือศิลปินช่างเงินย่านวัวลายที่งดงามวิจิตร เรียกว่าเข้าไปแล้วหากชมเพื่อการศึกษาโดยพิจารณาอย่างละเอียด จะต้องใช้เวลาทั้งวัน
ในวัดศรีสุพรรณแห่งนี้ มีองค์พระพิฆเนศทั้งองค์ใหญ่และองค์เล็ก ภายในพระอุโบสถเงินหลายสิบองค์ พระพิฆเนศเป็นเทพที่มีผู้คนนับถือและเคารพมาก เนื่องจากเป็นเทพที่มีพระกรุณาเป็นหนึ่งในเทพทั้งหมด และถือเป็นปฐมเทพที่จะได้รับการบูชาก่อนเริ่มพิธีกรรมต่างๆ
วัดศรีสุพรรณจึงได้สร้างองค์พระพิฆเนศ บรมครูแห่งความสำเร็จ ขนาดหน้าตักกว้าง 1.25 เมตร สูง 1.50 เมตร ทรงเครื่องศิลปกรรมล้านนา และประกอบพิธีเทวาภิเษก ภายในหนึ่งวันหนึ่งคืน เพื่อประดิษฐานบนแท่นขันครูหลวง เป็นมิ่งขวัญของช่างสิบหมู่ล้านนา และสำหรับผู้มีจิตศรัทธาไว้บูชา
นอกจากนี้ยังมี พระบรมธาตุ วัดศรีสุพรรณ เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนแบบล้านนา ฝีมือช่างหลวง ทรงองค์ระฆังกลม บนฐานดอกบัวคว่ำบัวหงาย แปดชั้นแปดเหลี่ยม
ตั้งบนฐานรองรับทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สามสิบหก พระบรมธาตุเจดีย์ได้มีการบูรณะมาหลายครั้งแล้ว มีอายุประมาณเท่ากับพระวิหาร หรือหลังจากนั้นไม่นาน เพราะในพุทธศาสนาทางล้านนานั้น นิยมสร้างพระธาตุเจดีย์ไว้หลังพระวิหาร ว่ากันว่า หากลองไปยืนมองดูใกล้ๆ พระบรมธาตุเจดีย์ โดยยืนทางด้านทิศตะวันออกมุมองค์พระธาตุแล้วลองมองขึ้นไป จะเห็นพระบรมธาตุเจดีย์นี้เอียง
วัดศรีสุพรรณ ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนหัตถกรรมช่างหล่อ ถนนช่างหล่อ หัตถกรรมเครื่องเงิน เครื่องเขิน ถนนวัวลาย พระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ
คณะกรรมการวัด ภูมิปัญญาชาวบ้าน ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้สืบทอดเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษ โดยการรวบรวมภูมิปัญญาชาวบ้าน จัดตั้งเป็น “กลุ่มหัตถศิลป์ล้านนาวัดศรีสุพรรณ”
ต่อมาศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้การสนับสนุนจัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาศิลปะไทยโบราณ สล่าสิบหมู่ล้านนาวัดศรีสุพรรณ” ขึ้นภายในวัด
เพื่อถ่ายทอดและสืบสานงานศิลป์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และร่วมสนับสนุนการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืนขึ้น เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น หัตถกรรมเครื่องเงินของชาวบ้าน มีการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนในรูปแบบสหกรณ์
ไปเชียงใหม่คราวหน้า อย่าลืมเผื่อเวลาไว้สำหรับเที่ยวชมความงามของพระอุโบสถเงิน พระวิหาร และผลงานศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ วัดศรีสุพรรณ ถนนวัวลาย ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่แล้วจะได้รู้ว่าเชียงใหม่มีของดีให้ชมมากมายหลายอย่างจริงๆ
คณะกรรมการวัด ภูมิปัญญาชาวบ้าน ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้สืบทอดเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษ โดยการรวบรวมภูมิปัญญาชาวบ้าน จัดตั้งเป็น “กลุ่มหัตถศิลป์ล้านนาวัดศรีสุพรรณ”
ต่อมาศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้การสนับสนุนจัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาศิลปะไทยโบราณ สล่าสิบหมู่ล้านนาวัดศรีสุพรรณ” ขึ้นภายในวัด
เพื่อถ่ายทอดและสืบสานงานศิลป์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และร่วมสนับสนุนการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืนขึ้น เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น หัตถกรรมเครื่องเงินของชาวบ้าน มีการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนในรูปแบบสหกรณ์
ไปเชียงใหม่คราวหน้า อย่าลืมเผื่อเวลาไว้สำหรับเที่ยวชมความงามของพระอุโบสถเงิน พระวิหาร และผลงานศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ วัดศรีสุพรรณ ถนนวัวลาย ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่แล้วจะได้รู้ว่าเชียงใหม่มีของดีให้ชมมากมายหลายอย่างจริงๆ