พูดถึงสวนสัตว์เชียงใหม่ ส่วนแสดงที่เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมากที่สุด คือ ส่วนแสดงหมีแพนด้า ทั้งช่วงช่วง หลินฮุ่ย และหลินปิง เป็นดาวเด่นที่ดึงดูดให้คนไปเที่ยวชมสวนสัตว์เชียงใหม่กันเป็นจำนวนมาก
สวนสัตว์เชียงใหม่ได้รับนกเพนกวินฮัมโบลด์ จำนวน 10 ตัว จากสวนนกจูร่ง ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2540 และมีการเพาะพันธุ์นกเพนกวินได้ทุกปี นอกจากจะจัดแสดงอยู่ที่สวนสัตว์เชียง- ใหม่แล้ว ยังได้ส่งมอบนกเพนกวินที่เพาะพันธุ์เพิ่มขึ้นมาให้แก่สวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์เปิดเขาเขียว และสวนสัตว์สงขลา เพื่อนำไปจัดแสดงให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม
นกเพนกวินมีทั้งหมด 17 สายพันธุ์ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตอบอุ่น นกเพนกวินฮัมโบลด์ หรือนกเพนกวินเปรูเวียน เป็นนกที่บินไม่ได้ จัดเป็นนกเพนกวินขนาดกลาง เมื่อโตเต็มที่จะมีความยาวลำตัวประมาณ 65 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 4 กิโลกรัม มีหน้าอกและท้องสีขาว หลังและหัวสีดำ มีลายเส้นสีขาวคาดจากฐานปากผ่านด้านข้างหัวลงมาถึงคอ มีถิ่นอาศัยอยู่ในเขตร้อน ทางหมู่เกาะกูโน และชายฝั่งทะเลของประเทศเปรู และประเทศชิลีในทวีปอเมริกาใต้ อยู่ในอุณหภูมิประมาณ 22 ถึง 30 องศาเซลเซียส
นกเพนกวินฮัมโบลด์หาอาหารในทะเลกิน เช่น ปลา กุ้ง ปู ลูกนกเพนกวินกินอาหารที่พ่อแม่ขย้อนออกมาให้ นกเพนกวินสามารถดื่มได้ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม เพราะที่เหนือตามีต่อมขับเกลือส่วนเกินออกได้
นกเพนกวินฮัมโบลด์เป็นสัตว์สังคม อยู่รวมกันเป็นฝูง ส่งเสียงดังเพื่อติดต่อสื่อสารกัน เวลาทักทายจะใช้ปากหรือคอถูกัน วางไข่ ฟักไข่ ปีละหนึ่งครั้ง ครั้งละ 1 ถึง 3 ฟอง ใช้เวลาฟักไข่ 39 วัน โดยนกเพนกวินตัวผู้ทำหน้าที่ฟักไข่
ส่วนแสดงนกเพนกวินที่สวนสัตว์เชียงใหม่ แบ่งออกเป็นสองห้อง ห้องแรกเป็นห้องควบคุมอุณหภูมิที่ 25 องศาเซลเซียส ด้านหน้าเป็นกระจกใส ห้องที่สองเป็นห้องอุณหภูมิปกติตามธรรมชาติ เพื่อให้นกเพนกวินมีโอกาสได้รับแสงแดดซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีบ่อน้ำเชื่อมกันระหว่างสองห้อง ให้นกเพนกวิน เลือกได้ว่าจะอยู่ตรงส่วนไหน น้ำในบ่อมีการหมุนเวียนบำบัดเพื่อรักษาความสะอาดของส่วนจัดแสดง
ส่วนเจ้าโคอาล่า ที่หน้าตาดูคล้ายหมี และบางคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นสัตว์จำพวกเดียวกับหมีนั้น อันที่จริงโคอาล่าเป็นสัตว์จำพวกจิงโจ้
สวนสัตว์เชียงใหม่ได้รับมอบโคอาล่าจำนวน 4 ตัว จากสวนสัตว์ทารองกา ประเทศออสเตรเลีย ในวาระฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อปี พ.ศ.2549 ปัจจุบันสวนสัตว์เชียงใหม่มีโคอาล่าเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 5 ตัว ซึ่งทั้ง 5 ตัวนี้เกิดที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ที่บอกว่าโคอาล่าเป็นสัตว์จำพวกจิงโจ้ ก็เพราะโคอาล่าตัวเมียจะมีกระเป๋าหน้าท้องสำหรับให้ลูกอ่อนอาศัย โคอาล่าแรกเกิดมีความยาวเพียง 2 เซนติเมตร มีน้ำหนักไม่ถึงหนึ่งกรัม อาศัยอยู่ในกระเป๋าหน้าท้องของแม่ ลูกโคอาล่าจะเริ่มโผล่หัวออกมาจากกระเป๋าหน้าท้องของแม่เมื่ออายุได้ 22 สัปดาห์ พออายุ 30 สัปดาห์ จะมีน้ำหนักประมาณ 500 กรัม เริ่มใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่นอกกระเป๋าหน้าท้องของแม่ เมื่อถึงสัปดาห์ที่ 36 ลูกโคอาล่าจะมีน้ำหนักประมาณหนึ่งกิโลกรัม และจะไม่เข้าไปอยู่ในกระเป๋าหน้าท้องแม่อีกแล้ว ส่วนมากมักจะเกาะอยู่ที่ี่หลังของแม่
ในธรรมชาติโคอาล่าอาศัยอยู่ในป่าที่มีต้นยูคาลิปตัส พบได้ในรัฐควีนส์แลนด์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ รัฐวิคตอเรีย และรัฐเซาท์ออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย
โคอาล่ากินใบยูคาลิปตัสเป็นอาหาร ฟันและระบบย่อยอาหารถูกพัฒนามาเพื่อให้สามารถกินและย่อยใบยูคาลิปตัสได้ ใบยูคาลิปตัสมีสารอาหารน้อยมาก และมีสารที่มีพิษต่อสัตว์ แต่ระบบย่อยอาหารของโคอาล่าสามารถทำลายพิษนั้นได้ มีแบคทีเรียช่วยย่อยไฟเบอร์ให้กลายเป็นสารอาหารที่ดูดซึมได้ โคอาล่าไม่ค่อยกินน้ำ เพราะได้รับน้ำจากใบยูคาลิปตัสแล้ว ส่วนใหญ่โคอาล่ากินใบยูคาลิปตัสวันละ 2,000 ถึง 5,000 กรัม นอนวันละ 16 ถึง 24 ชั่วโมง เพื่อรักษาพลังงาน
นอกจากหมีแพนด้า นกเพนกวิน โคอาล่า สวนสัตว์เชียงใหม่ยังมีสัตว์อีกหลายชนิดให้นักท่องเที่ยวได้ชม สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับสวนสัตว์เชียงใหม่ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-5322-1179 ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.chiangmai zoo.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น