ตามรอยอดีตที่พิพิธภัณฑ์วัดเกตุเชียงใหม่


พิพิธภัณฑ์วัดเกตุเชียงใหม่ ตั้งขึ้นเมื่อ ประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว โดยเริ่มจาก การที่ชาวบ้านได้ช่วยกันซ่อมแซมกุฏิเก่า หรือโฮงตุ๊เจ้าหลวง เป็นอาคารตึกทรงจีนอายุกว่าร้อยปี ซึ่งเป็นกุฏิของพระครูชัย ศีลวิมล อดีตเจ้าอาวาสวัดเกตการาม หลังจากที่บูรณะแล้ว ชาวบ้านได้นำเอาหน้าบัน หน้าแหนบของวิหารหลังเก่ามาเก็บรักษาไว้ จนกระทั่งชาวบ้านเห็นความสำคัญ ก็เริ่มนำข้าวของเครื่องใช้โบราณ เช่น ถ้วยเก่า ผ้าเก่า เงินโบราณ รวมถึงเครื่องจักสานล้านนาที่หายากนำมามอบให้วัด เมื่อเห็นว่ามีของเก่าอยู่มาก ทางวัดจึงได้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ พื้นบ้านวัดเกตขึ้น

โดยเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2543 ในอดีตชุมชนท่าวัดเกต เป็นชุมชนโบราณตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออก จากเอกสารของวัดเกตการามระบุว่า วัดนี้สร้างขึ้นราว พ.ศ.1971 รัชสมัยพญาสามฝั่งแกน (พ.ศ.1945-1984) กษัตริย์ล้านนาแห่งราชวงศ์มังราย ลำดับที่ 8 จนถึงวันนี้วัดเกตการาม จึงมีอายุกว่า 580 ปีพอดี ในยุคสมัยรุ่งเรืองของการค้าขายทางเรือระหว่างเชียงใหม่กับหัวเมืองทางใต้จนถึงกรุงเทพฯ (พ.ศ.2317-2464) ท่าน้ำวัดเกต จึงถือเป็นย่านเศรษฐกิจของการขนส่งทางน้ำที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ ยุคนี้เองที่เริ่มมีคนต่างถิ่นต่าง เชื้อชาติและศาสนาเข้ามาตั้งถิ่นฐานในย่านวัดเกต ซึ่งได้แก่กลุ่มพ่อค้าชาวจีน

ชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนา ชาวอังกฤษเข้ามาตั้งสำนักงานทำไม้ในภาคเหนือ ชาวมุสลิมจากปากีสถาน อินเดียและชาวซิกข์จากแคว้นปัญจาบในอินเดีย ด้วยเหตุนี้ทำให้ชุมชนวัดเกตมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเห็นได้จากการที่มีศาสนสถานถึง 4 ศาสนาอยู่ในบริเวณใกล้เคียงคือ วัดเกตการามของชาวพุทธ คริสตจักรที่ 1 ของชาวคริสต์ มัสยิดอัตตักวาของชาวมุสลิมและวัดซิกข์ ช่วงปี พ.ศ.2464 เมื่อรัฐบาลได้มีการสร้างทางรถไฟจากเด่นชัยมาถึงเชียงใหม่และได้เข้ามามีบทบาทด้านการค้า และการขนส่งแทนการขนส่งทางน้ำ การค้าขายทางเรือจึงลดความสำคัญลงและหายไป ยุคของท่าน้ำวัดเกต อดีตศูนย์กลางเศรษฐกิจของเชียงใหม่จึงยุติลง ชุมชนวัดเกตกลายเป็นเพียงย่านที่อยู่อาศัยของลูกหลานบรรพบุรุษ ที่มาตั้งถิ่นฐานค้าขายในยุคแรกๆ 


ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดเกต นับว่าเป็นอีกพิพิธภัณฑ์หนึ่งที่มีสิ่งของโบราณหายากจัดแสดงไว้มากมาย ได้แก่ พระพุทธรูปแบบล้านนาและพม่า เครื่องถ้วยชามโบราณกว่า 1,000 ชิ้น และสิ่งของที่นับหาดูได้ยากยิ่งที่สุดในยุคนี้ก็คือ ธงช้างเผือก ซึ่งใช้ประดับบ้านเรือน เพื่อต้อนรับพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในวโรกาสที่เสด็จประพาสหัวเมืองล้านนา และตาลปัตรสมัยรัชกาลที่ 5


นอกจากนั้นยังจัดแสดงผ้าโบราณของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี และนิทรรศการภาพเก่าเมืองเชียงใหม่ในอดีต โดยของเก่ากว่าครึ่งในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดเกตได้ รับมอบจากนายอนันต์ ฤทธิ์เดช เจ้าของเฮือนรัตนา พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดเกต จึงนับเป็นตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่อยู่คู่ชุมชนเปรียบดั่งเพชรเม็ดงามที่ส่องประกายร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของอดีตเชียงใหม่ในรูปแบบวิถีชีวิตที่สงบ เรียบง่าย

ดังนั้น เมื่อมีโอกาสลองแวะเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้านชุมชนวัดเกต ก่อนเข้าไปซึมซาบเรื่องราวอดีตชุมทางการค้าทางเรือของเชียงใหม่ วัดเกตในวันนี้จึงมีทั้งของเก่าและของใหม่ มีทั้งย่านที่อยู่อาศัยและย่านท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ที่เป็นเอกลักษณ์ในแบบเฉพาะของวัดเกต ซึ่งรอคอยที่จะบอกเล่าเรื่องราวให้กับผู้มาเยือนพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดเกต เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน ตั้งแต่ 08.30- 16.30 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่ 0- 5320-4273