จากท่าเรือกลไฟ-คลังสินค้าจีนเก่าแก่สู่พื้นที่ประวัติศาสตร์

เมื่อ พ.ศ. 2393 (ค.ศ.1850) โดย พระยาพิศาล ศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) ต้นตระกูลพิศาลบุตร คนจีนที่เกิดบนแผ่นดินสยาม โดยบรรพบุรุษของท่านได้เดินทางจากเมืองจีนมาค้าขายและตั้งรกรากอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์

ท่าเรือ ฮวย จุ่ง ล้ง ถูกใช้เป็นท่าเรือกลไฟ (เรือโดยสารหรือบรรทุกสินค้าที่ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง มีขนาดใหญ่กว่าเรือไฟ นิยมใช้แล่นในทะเลหรือมหาสมุทร) โดยชาวจีนในสมัยนั้นนิยมใช้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาค้าขายหรือย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่บางกอก เอาเรือเทียบท่า พร้อมลงทะเบียนชาวต่างชาติที่นี่


นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งการค้าธุรกิจ โดยตัวอาคารท่าเรือเป็นร้านค้าและโกดังเก็บสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ฯลฯ อาคารด้านในที่ตั้งขนานกับแม่น้ำเป็นอาคารประธาน เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว (MAZU) คลองสาน

ภายหลังมีการสร้างโกดังเพิ่มเติมที่ริมฝั่งแม่น้ำ เพื่อรองรับการเก็บสินค้าจำนวนมาก และการเปลี่ยนแปลงของอาคารดั้งเดิมที่กลายเป็นที่อยู่อาศัยของคนงาน

จนเมื่อ พ.ศ. 2462 (ค.ศ.1919) ตระกูลหวั่งหลี โดยนายตัน ลิบ บ๊วย ก็เข้ามารับช่วงต่อเป็นเจ้าของ



“นอกจากจะเป็นท่าเรือแล้ว หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมที่นี่ถึงมีห้องจำนวนมาก ตามบันทึกเขาบอกว่าเป็นเหมือนโชวร์รูม ข้างในจะโชว์สินค้าที่ตัวเองเอามาขาย และปรับเปลี่ยนอีกเป็นโฮมออฟฟิศ ข้างบนเป็นบ้าน ส่วนข้างล่างใช้เป็นออฟฟิศไป” พีรยา บุญประสงค์ สถาปนิกอนุรักษ์เล่าให้เราฟัง

“เสาจะป่องกลาง เป็นเสาที่คนจีนนิยม ส่วนลายจิตรกรรมบนผนังที่เขียนสีด้วยพู่กันไม้เส้นเล็กๆ น่าจะเขียนตั้งแต่ตอนที่ปูนยังไม่แห้งดี ที่นี่เป็นศูนย์รวมของช่างฝีมือชาวจีนก็ว่าได้ เพราะจากการสำรวจแต่ละห้อง มันจะไม่คล้ายกันเลย ขนาดก็ไม่เท่ากันด้วย คือถ้ามองในแง่สุนทรียภาพ นอกเหนือจากประวัติศาสตร์ ที่นี่ก็มีอยู่เยอะมาก”

‘ล้ง’ ล้าง

กระบวนการปลุกฟื้นคืนชีพ ‘ล้ง’ เริ่มด้วยการสำรวจ ตรวจ และล้างอาคารสถาปัตยกรรมจีนเก่าแก่แบบ ‘ซาน เหอ หยวน’ (三合院) ซึ่งเป็นการออกแบบวางผังอาคารแบบจีนโบราณ ลักษณะอาคาร 3 หลังเชื่อมต่อกัน 3 ด้าน เป็นผังรูปทรงตัว U ให้เอี่ยมอ่อง