คริสตจักรที่ 1 สำเหร่ตั้งเด่นเป็นสง่ามา 150 ปี

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ คริสตจักรที่ 1 สำเหร่

คริสตจักรที่ 1 สำเหร่ เป็นคริสตจักรแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่เจริญนคร ซอย 59 เยื้องกับโรงพักสำเหร่ ที่สร้างมา 150 ปี ถือว่าเป็นเวลาที่เนิ่นนานจนถือเป็นโบราณสถาน แต่ถ้าเป็นการเผยแผ่คำสอนแห่งศาสนา ให้เป็นที่ยอมรับของคนที่นับถือศาสนาต่างกันไม่ถือว่านานเกินรอ โดยเฉพาะการเข้ามาแห่งคริสต์ศาสนาสู่ราชอาณาจักรสยามที่ใช้สันติวิธี ผ่านการศึกษาและอารยธรรมที่แตกต่าง

ที่หน้าบันโบสถ์มีจารึกตัวเลขอาระบิกว่า 1860 และ 1910 สถาปัตยกรรมของโบสถ์ หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องว่าวสีแดง หันหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่สร้างสิ่งประดับใดให้ลานตา ไม่ว่าภายนอกและภายใน เน้นความเรียบง่าย ห้องโถงในโบสถ์กว้างและลึก ที่กำแพงด้านหน้าของโบสถ์มีแผ่นศิลาจารึก บอกเล่าอดีตว่าสร้างและซ่อมแซมเมื่อไหร่ ใครบริจาคบ้าง 

ข้อความในจารึกว่า "เดิมวิหารนี้พวกครูอเมริกันคือ Rev. S.Mattoon, Rev.J Wilson Rev. S.R. House MD ช่วยกันสร้างขึ้น แต่ ณ ปีคริสต์ศักราช 1861 ถึงปีคริสต์ศักราช 1910 วิหารชำรุดลง จึงพวกศิษย์คริสเตียนสยามได้ช่วยกันบริจาคทรัพย์ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ เพิ่มให้ยาวกว่าเดิม 6 ศอกเศษ

วิหารสถานก่อสร้าง สืบบรรพ์ ห้าสิบฉนำนานครัน ครบถ้วน เครื่องล่างเครื่องบลอัน ออกโซมพ่อ บ่อซ่อมจะเสียถ้วน เล่ห์ให้เลือกก่อน จึงอาทรทั่วซ้องศรัทธา พวกคริสต์ศาสนานับพร้อม สละทรัพย์ออกบูชา ฉลองพระคริสต์แฮ ปฏิสังขรณ์น้อม แน่ สร้างกุศล รายชื่อผู้บริจาคมีหลายราย เช่น Wang Sung School (ตัวอักษรเลือนบางตัว) พูลศรี นายยอด คริสต์สัมพันธวงศ์ นายจิ้น แม่นาค แม่เหนียว แม่เนียน แม่เพียร แม่ทองอยู่ แม่ยี่สุ่น แม่หรุ่น แม่มาลี ครูจ้อย นายกิมเฉี่ยว เปลี่ยน แปลก เป็นต้น ส่วนจำนวนเงินที่บริจาคสูงสุด 1,005 ต่ำสุดคือ 10 (น่าจะเป็นเงินบาท)" แต่เดิมโบสถ์เตี้ย เนื่องจากปัญหาน้ำท่วม จึงยกพื้นสูงขึ้นกว่าเดิม 2.6 เมตร ส่วนบริเวณที่เคยเป็นลานเตียนโล่งนั้น บัดนี้กำลังถูกถมดินให้สูงขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 2 เมตร ซึ่งเมื่อทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ โบสถ์แห่งนี้จะดูโดดเด่นเป็นสง่ายิ่งขึ้น ส่วนที่หอระฆังมีตัวเลขจารึกว่า 1912 ตัวเลขดังกล่าวบอกปีที่สร้างและบูรณะ

ประวัติการได้ที่ดินจนกระทั่งสามารถสร้างโบสถ์ได้นั้น ในการฉลองคริสตจักรสำเหร่ 150 ปี คริสตจักรพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่ง นำเรื่องการได้ที่ดินมาพิมพ์ในหน้า 20-21 ว่า หลังจากตั้งโรงเรียนขึ้นในสถานที่ที่ในหลวงพระราชทานให้ โรงเรียนเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วจนเห็นได้ชัดว่า ที่ดินแปลงนี้ไม่อาจขยายให้พอเพียงกับความเจริญได้ เหตุนี้ มร.ดี โอ คิง จึงให้ของขวัญปีใหม่เป็นที่ดินแปลงหนึ่ง ทางตอนใต้ของฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ ต.สำเหร่ ได้ปลูกสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นภายหลัง ในเดือน พ.ย. 1857 (พ.ศ. 2400) ได้ย้ายที่ทำการมิชชันนารีไปอยู่ที่ใหม่ ในสถานที่ใหม่นี้กิจการสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ ได้เกิดขึ้นมาก และกิจการต่างๆ ของคริสเตียนได้ขยายติดต่อมาจนทุกวันนี้

หมอสมิธกล่าวถึงการได้ที่ดินผืนนี้ไว้ในหนังสือ The Golden Days in Bangkok ว่า มีพ่อค้าชาวอเมริกันคนหนึ่ง นายคิง (Mr. D.O King) ทำการค้าขายที่เมืองกวางตุ้ง ได้เดินทางมาเมืองไทยและต้องการซื้อที่ดินเพื่อขยายกิจการของเขาในกรุงเทพฯ แต่เขายังไม่มีสิทธิซื้อเพราะอยู่เมืองไทยยังไม่ครบ 10 ปี นายคิงจึงขอให้หมอแมตตูน (หมอมะตูน) เป็นผู้ซื้อที่ดินให้แก่ตน (หมอมะตูนอยู่ในสยามเกิน 10 ปีแล้วในขณะนั้น) โดยสัญญาว่าจะแบ่งที่ดินให้ส่วนหนึ่ง เพื่อให้เป็นที่ทำการของคณะมิชชันนารี แต่น่าเสียดายการค้าของนายคิงล้มเหลว ภาระในการซื้อขายที่ดินจึงเป็นของหมอมะตูน ต่อมาที่ดินนี้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของคณะมิชชันนารี ส่วนราคาที่ดินนั้น หมอสมิธ ซึ่งซื้อที่อีกแปลงหนึ่ง (น่าจะใกล้ๆ กัน) บอกว่าราคาน่าจะอยู่ที่ตารางวาละ 3 สลึง

หนังสือ 150 ปี คบเพลิง บีซีซี กล่าวว่า ที่ดินที่เป็นที่ตั้งคริสตจักรสำเหร่เคยเป็นที่ตั้งโรงเรียน Samray Boys' School นั้น แท้จริงไม่มีใครกล้ามาอยู่ เพราะเป็นแดนประหาร จึงซื้อได้ในราคาตารางวาละ 3 สลึง มีเรื่องการประหารเจ้าอนุเวียงจันทน์และขุนนางผู้หนึ่งที่ไปติดต่อกับฝ่ายใน ลูกขุนตัดสินให้ประหารชีวิต ณ บริเวณนี้ ในหนังสือ 150 ปี คบเพลิง บีซีซี กล่าวว่า ในปี 1853/2396 เกิดผู้นำคนสำคัญของคนไทย ในปีเดียวกันนี้ครอบครัวหมอมะตูนรับเด็กหญิงอายุ 9 ขวบ เป็นลูกของพราหมณ์ ชื่อจันทะ เป็นเด็กขี้โรคมาเลี้ยงไว้ ในปี 1857/2400 ครอบครัวมะตูนนำเด็กคนนี้ที่เปลี่ยนชื่อเป็นเอสเตอร์กลับไปสหรัฐ ได้รับการศึกษาเป็นพยาบาล เดินทางกลับสยามในปี 1861/2404 ขณะเดินทางกลับและอยู่บนเรือได้รับพระเยซูคริสต์

เอสเตอร์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หมอเต๋อ มีความรู้ความสามารถในฐานะนางผดุงครรภ์สมัยใหม่ ได้รับความไว้วางใจให้ถวายการประสูติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ส่วนหมอเฮาส์ ซึ่งอยู่คณะเดียวกับหมอมะตูน ได้รับเด็กชายชื่อแน ที่ป่วยหนักมาเป็นบุตรบุญธรรม ต่อมาได้แต่งงานกับนางเอสเตอร์ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองคนแรกของคริสตจักรสำเหร่ มีหมอมะตูนเป็นศิษยาภิบาลคนแรก จนกระทั่งหมอมะตูนกลับมาตุภูมิ 1865/2408 เนื่องจากสุขภาพทรุดโทรม

หมอมะตูน Rev. S.Mattoon ที่คนไทยเรียกชื่อว่าหมอมะตูน มีความสำคัญมาก หนังสือ 150 ปี คบเพลิง บีซีซี กล่าวว่า ท่านเป็นผู้ซื้อที่ดินสำเหร่ เป็นผู้ช่วยทำสนธิสัญญาระหว่างสยามกับทูตอเมริกัน ต่อมาได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลสหรัฐให้เป็นกงสุลอเมริกันคนแรกประจำประเทศสยาม และภรรยาหมอมะตูนเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนขึ้นในปี 1852/2395 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

ตัวหมอมะตูนเองเรียนภาษาไทยและสามารถใช้ได้อย่างรวดเร็ว จึงออกแจกใบปลิวไปจังหวัดต่างๆ เช่น พิษณุโลก อยุธยา พระบาท (สระบุรี) ฉะเชิงเทรา และบางกอก จำนวน 534,500 แผ่น ใบปลิวเหล่านี้พิมพ์จากโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์และหมอสมิธ เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ซึ่งต่างกับเหตุการณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ที่คณะมิชชันนารีประสบปัญหาต่างๆ มากมาย จนกระทั่งขอกลับหรือย้ายไปทำงานที่อื่น เช่น บอร์เนียว เป็นต้น แต่เมื่อรัชกาลที่ 4 เสด็จขึ้นครองราชย์เหตุการณ์ทุกอย่างได้เปลี่ยนไป เพราะพระองค์ทรงคุ้นเคยกับมิชชันนารีหลายคน บางคนเป็นครูถวายพระอักษรภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะหมอบรัดเลย์ทรงสนิทสนมมากจนกระทั่งทรงเรียกว่าเป็นพระสหาย

สำหรับหมอมะตูนนั้น ได้รับการโปรดปรานจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เช่นกัน เมื่อทำหน้าที่กงสุลอเมริกันประจำประเทศสยาม ก่อนที่หมอมะตูนจะเดินทางกลับสหรัฐอเมริกา หลังจากทำงานในสยามมา 12 ปี ท่านได้รับของขวัญเป็นเครื่องเงินชุดน้ำชามีมูลค่า 500 เหรียญสหรัฐ จากชาวอเมริกันในสยาม ในช่วงหลังท่านเดินทางกลับมาเมืองสยามอีก โดยอยู่อีก 6 ปี จึงเดินทางกลับสหรัฐอเมริกา

หมอเฮาส์ Rev. S.R. House MD หรือที่คนไทยเรียกว่าหมอเหา อยู่ในคณะเพรสไบตีเรียน เช่นเดียวกับหมอมะตูน เดินทางมาสยามพร้อมกันเมื่อปี 1847/2390 ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) หนังสือ 150 ปี คบเพลิง บีซีซี ยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกการศึกษาแผนใหม่ ทั้งๆ ที่คุณสมบัติทางการศึกษานั้นจบศัลยแพทย์ เมื่อมาปฏิบัติงานในเมืองสยามจึงกลายเป็นศัลยแพทย์คนแรกของประเทศนี้

เมื่อปฏิบัติงานได้ระยะหนึ่ง ซึ่งมีความสะดวกหลายประการในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 บิดาท่านให้เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้าน แต่ไม่มีเงินต้องหยิบยืมจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเงิน 1,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อใช้เป็นค่าเดินทาง ขณะอยู่ที่อเมริกาพบและแต่งงานกับแหม่มแฮร์เรียต แหม่มคนนี้เป็นครู เมื่อมาถึงเมืองไทยจึงเปิดโรงเรียนสอนนักเรียนหญิง คือโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ต่อมาคือโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยนั่นเอง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) มีปฏิสันถารกับหมอเฮาส์เมื่อกลับมาถึงสยาม ตอนหนึ่งพระองค์ตรัสถามว่า ไหนว่าจะไม่แต่งงาน คราวนี้ทำไมเอาเมียมาด้วย หมอเฮาส์ตอบว่าเกล้ากระหม่อมเพิ่งฉลาด ส่วนเงินที่หมอเฮาส์ยืมไป 1,000 เหรียญสหรัฐ พระองค์ทรงรับคืนโดยไม่คิดดอกเบี้ย ยังทรงพระกรุณาให้หมอเฮาส์กับภรรยาสร้างบ้านพักในบริเวณพระบรมมหาราชวังด้วย

หมอเฮาส์ใช้เวลาในสยาม 29 ปี ส่วนภรรยา 20 ปี ซึ่งมีทุกข์และลำบากมากกว่าความสบาย หากแต่ท่านอดทนเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้สร้างผลงานด้านการศึกษาสมัยใหม่ให้แก่สยามตราบเท่าทุกวันนี้

การมาประกาศศาสนาพระเยซูคริสต์ของคณะโปรเตสแตนต์ในประเทศสยามเริ่มปี 1824/2367 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ผ่านมา 36 ปี จึงมีที่ดินสร้างโบสถ์หรือคริสตจักรสำเหร่ที่ 1 ส่วนการสร้างโรงเรียนสำหรับกุลบุตร-ธิดาในสยามนั้น เมื่อผ่านมาได้ 28 ปี เริ่มปี 1852/2395 หรือ 13 ก.ย. 2395 อันเป็นวันเกิดของบีซีซี ซึ่งเป็นวันที่แหม่มมะตูนเปิดโรงเรียนสอนนักเรียนแห่งแรกที่หมู่บ้านมอญ และ 30 ก.ย. ปีเดียวกัน หมอเหาเปิดโรงเรียนประจำชายข้างวัดแจ้ง มีนักเรียน 27 คน

ทั้งหมดนี้เป็นคุณูปการเพียงส่วนหนึ่งคณะมิชชันนารีคุณภาพสูงจากสหรัฐอเมริกา ในยุคต้นแห่งรัตนโกสินทร์ โดยมีโบสถ์คริสตจักรสำเหร่ที่ 1 เป็นสัญลักษณ์

วัฒนธรรมการกินอาหาร ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ อาหารคริสต์มาส

ปลายเดือนธันวาคมอย่างนี้ ทำให้นึกถึงว่า "ปีเก่า" กำลังจะผ่านพ้นไป "ปีใหม่" กำลังจะเข้ามา เดือนนี้เป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคริสต์ศาสนิกชน ที่จะฉลองเทศกาลคริสต์มาสกันอย่างยิ่งใหญ่ เพราะเป็นเทศกาลสำคัญประจำปี

วัฒนธรรมการกินอาหารในเทศกาลคริสต์มาสของชาวอังกฤษ และประเทศอื่นในทวีปยุโรป จะมีการฉลองมื้อใหญ่ ที่เรียกว่า "คริสต์มาสดินเนอร์" ร่วมกันทั้งครอบครัว ซึ่งจะจัดขึ้นในวันก่อนคริสต์มาส (คริสต์มาสอีฟ) หรือในวันคริสต์มาสเลยก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละครอบครัว

โดยมากแล้วเท่าที่เห็นมา ชาวอังกฤษมักรับประทานอาหารมื้อพิเศษนี้ในวันที่ 24 ธันวาคม จะเริ่มเสิร์ฟตั้งแต่เที่ยง หรือบ่ายโมงเป็นต้นไป เพราะเป็นอาหารมื้อใหญ่ที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะมาร่วมสังสรรค์กัน

อาหารในเทศกาลคริสต์มาส สำหรับชาวอังกฤษ มักต้องมี "ไก่งวง" ถ้าบ้านไหนไม่กินไก่งวงก็จะใช้ "ห่าน" แทน โดยจะมีเครื่องสำหรับยัดไส้ไก่งวง หรือห่านอบ ที่มักทำด้วยขนมปังเก่า หั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า หอมหัวใหญ่ แครอท เซเลอรี่สับผัดกับเนยแล้วใส่ไข่ ใส่นม นิยมใส่ลูกเกาลัดบดและเบคอน เพื่อเพิ่มกลิ่นหอมและรสชาติให้อร่อยยิ่งขึ้น นำส่วนผสมเหล่านี้คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วยัดเข้าไปในตัวไก่งวง หรือห่านอบด้วยความร้อนไม่สูงมาก ใช้เวลาอบค่อนข้างนาน

ไก่งวง หรือห่านอบนี้ ต้องเสิร์ฟพร้อมเครื่องเคียง เช่น มันอบกรอบนอกนุ่มใน ไส้กรอกพันด้วยเบคอน ผักที่เรียกว่า Brussels Sprout ลักษณะคล้ายกะหล่ำปลีหัวเล็กๆ ซึ่งในฤดูหนาวจะมีผัก ชนิดนี้ขายสดๆ นำมาต้มแล้วเสิร์ฟกับเนย นอกจากนี้ก็มีผักประเภทหัว เช่น หัวไช้เท้า

จะตักเอาเครื่องที่ยัดไส้ไก่งวง หรือห่านอบไว้ออกมา หรือบางบ้านอาจจะทำเครื่องยัดไส้นี้แยกไว้ต่างหาก ใส่ถาดไว้เสิร์ฟกับเครื่องเคียง ราดน้ำเกรวี่ชุ่มๆ และมีแครนเบอร์รี่ซอสสำหรับกินกับไก่งวงด้วย ซึ่งไก่งวงนี้ ถ้าฝีมือการอบยังไม่ดีพอ เนื้อตรงส่วนอกไก่งวงจะแห้ง แต่ส่วนขาไก่งวงจะยังมีความชุ่มชื้นอยู่

เมื่อถึงเวลารับประทาน ผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ที่สุดของบ้าน จะเป็นผู้หั่นไก่งวงแบ่งให้สมาชิกทุกคนในครอบครัว แล้วจะใช้เวลารับประทานกันนานมาก มีการดื่มเครื่องดื่มต่างๆ เช่น เหล้า ไวน์ แชมเปญไปด้วย

ส่วนของหวาน ที่อังกฤษมีขนมที่เรียกว่า "คริสต์มาสพุดดิ้ง" ลักษณะ คล้ายฟรุตเค้ก แต่แตกต่างกันที่ ฟรุตเค้กใช้วิธีการอบ ส่วนคริสต์มาสพุดดิ้งใช้วิธีการนึ่ง โดยทำพุดดิ้งใส่ไว้ในโถ นึ่งจนสุกเนื้อนุ่มและร้อนมาก

เมื่อถึงเวลาเสิร์ฟ จะราดบรั่นดีลงไป แล้วจุดไฟให้ลุกพรึ่บขึ้นมา ทำให้มีกลิ่นหอมมากขึ้น และดูน่ากินขึ้นด้วย การเสิร์ฟ จะใช้ช้อนตักให้คนละชิ้น เสิร์ฟกับบรั่นดี บัตเตอร์ หรือบรั่นดีซอส

บรั่นดีบัตเตอร์นั้น มีวิธีทำคือ เอาเนยมาทำให้อ่อนตัวแล้วตีกับน้ำตาล ใส่บรั่นดีผสมลงไปให้เข้ากัน ส่วนบรั่นดีซอส ทำซอสครีมก่อน โดยนำไข่แดงมาตีกับน้ำตาลให้ขาว แล้วเอานมที่ต้มแล้วค่อยๆ เทลงไป นำไปตั้งไฟอุ่นๆ จนข้น กรองแล้วใส่บรั่นดีลงไป สำหรับนำไปราดคริสต์มาสพุดดิ้ง

รับประทานอาหารมื้อใหญ่กันในวันคริสต์มาสอีฟแล้ว เมื่อถึงวันคริสต์มาสเขาก็จะไม่ทำอาหารอีก จะกินของที่เหลือจากวันคริสต์มาสอีฟ เพราะถือว่าวันคริสต์มาสเป็นวันหยุดพักผ่อน

ส่วนการฉลองวันขึ้นปีใหม่ที่อังกฤษ จะเป็นการสังสรรค์กันคล้ายๆ ค็อกเทลปาร์ตี้ มีอาหาร มีเครื่องดื่ม แต่ไม่ได้นั่งโต๊ะอาหารกันเป็นกิจจะลักษณะ อาหารที่รับประทานก็ไม่ใช่พวกสัตว์ปีกอย่างไก่งวง หรือห่านที่นำมาอบ แต่จะเป็นเนื้อสันในอบ หมูอบ แกะอบ

ทางฝั่งอเมริกา เกือบหนึ่งเดือนก่อนถึงวันคริสต์มาส จะมีการฉลองเทศกาลขอบคุณพระเจ้า (Thanks-giving) แล้ว ซึ่งเขาก็กินไก่งวงกันในเทศกาลนั้นมาแล้ว บางบ้านที่อเมริกาไม่กินไก่งวง ก็จะกินแฮม ห่าน แกะ หรือเนื้อวัวแทน การกินไก่งวงที่อเมริกาเสิร์ฟคล้ายๆ กับที่อังกฤษ เป็นไก่งวงอบที่มีเครื่องยัดไส้เหมือนกัน แต่ที่อเมริกามีข้าวโพด ผลไม้แห้ง ลูกเกด หอยนางรม กุ้ง บางครั้งทำเครื่องยัดไส้แยกไว้ต่างหาก โดยไม่ใส่เข้าไปอบพร้อมไก่งวง เพราะเครื่องยัดไส้ต่างๆ นี้จะดูดความชุ่มชื้นของเนื้อไก่ออกมา ทำให้เนื้อไก่แห้ง กระด้าง ไม่อร่อย

อาหารที่เสิร์ฟกับเนื้อสัตว์ ไม่มีมันอบ แต่ทำเป็นมันบด ที่เรียกว่า mashed potatoes มีผล acorn squash คล้ายๆ ฟักทอง แต่เนื้อแข็งกว่า และหวานน้อยกว่าฟักทอง มีมันเทศที่เชื่อมแล้วเอาไปอบ เรียกว่า candied yam มีถั่วแขก มีสควอช (Squash ที่คล้ายซูกินี) และมีข้าวโพดด้วย เพราะอเมริกามีข้าวโพดมาก ผักที่เสิร์ฟจึงไม่เหมือนที่อังกฤษ

ของหวานสำหรับคริสต์มาสที่อเมริกา ไม่มีคริสต์มาสพุดดิ้ง แต่จะมีพายแทน เช่น พายฟักทอง พายถั่วพีคาน แอปเปิ้ล พาย กูสเบอร์รี่พาย บางทีก็มี ฟรุตเค้ก แครอทเค้ก มีเค้กที่เรียกว่า บุช เดอ โนเวล แปลว่า ท่อนไม้ของคริสต์มาส ทำจากสปันจ์เค้ก มีไส้เป็นช็อกโกแลต โรยน้ำตาลไอซิ่งด้านบน

เทศกาลคริสต์มาส เป็นเทศกาลที่ครอบครัวคริสต์ศาสนิกชน จะมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน มาสังสรรค์กัน ส่วนการฉลองปีใหม่ที่อเมริกา อาหารมื้อพิเศษในวันส่งท้ายปีเก่า ถ้าเป็นครอบครัวที่มีฐานะดีจะมีพวกสัตว์ปีกอย่างไก่งวงอบ แต่สมัยนี้หลายครอบครัวนิยมกินเนื้อวัว เนื้อหมู และบางครั้งมี เนื้อกวางเวนิสัน (Venison) ด้วย

ส่วนที่ออสเตรเลีย คริสต์มาสอยู่ในช่วงฤดูร้อน เนื้อทุกอย่าง เช่น แฮม ไก่งวง และไก่ จะเสิร์ฟแบบเย็น จะนิยมไปจัดปาร์ตี้บาร์บีคิวกันที่ชายทะเลมากกว่า อาหารที่นำมาปิ้งย่าง มีกุ้ง เนื้อสเต๊ก อกไก่ น่องไก่ ปีกไก่ ส่วน ของหวาน นอกจากผลไม้สดตามฤดูกาล อย่าง มะม่วง เชอร์รี่แล้ว ชาวออสเตรเลียนนิยมรับประทานขนมชื่อ Pavlova เป็น เมอแรงก์อบแต่ง หน้าด้วยวิปครีมและผลไม้สด และ Panettone ของหวานแบบของชาวออสเตรเลียเชื้อสายอิตาลี

ในโอกาสนี้ก็ขอกล่าวคำว่า "สวัสดี ปีใหม่" มายังผู้อ่านทุกท่านด้วย

ขอให้มีความสุขกายสุขใจ ไม่ เจ็บไม่จน ตลอดปี และตลอดไป

21 ธันวาคม 1913 กำเนิดเกมปริศนาอักษรไขว้ในหนังสือพิมพ์



Crossword ครอสเวิร์ด หรือที่รู้จักกันในชื่อภาษาไทยว่า "ปริศนาอักษรไขว้" เป็นหนึ่งในเกมส์สุดคลาสสิค ที่ไม่เพียงให้ความสนุก แต่ยังช่วยฝึกภาษาในการฝึกการใช้คำศัพท์ ที่หลายๆ คนต้องเคยเล่นผ่านกันมาบ้าง วันนี้มารู้จักรอสเวิร์ด กระดานแรกกันบ้าง

ผู้ที่ริเริ่มคือ อาร์เธอร์ วินน์ (Arthur Wynne) ที่มีอาชีพเป็นนักออกแบบเกมส์ปริศนา ในหนังสือพิมพ์ไทม์ ในการคิดค้นครั้งแรกเขาให้ชื่อเกมส์นี้ว่า Word-cross ได้ถูกตีพิมพ์ลงบนกระดาษเป็นครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ New York World  เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 1913 ซึ่งต่อมาก็ได้ออกฉบับรวมเล่ม ทำให้เกมปริศนาอักษรไขว้เป็นที่นิยมไปทั่วโลก