นางนพมาศ เป็นใคร มาจากไหน หลายท่านทราบดีแล้ว แต่ก็มีหลายท่านอยากให้เล่าสู่ทบทวน คงต้องหวนย้อนไปที่ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งกล่าวว่า "นางนพมาศ" เป็นธิดาของพระศรี มหาปุโรหิตราชครู อยู่ในราชสำนักของพระร่วงเจ้า เมื่อจุลศักราช 600 เศษ ด้วยความงดงามเป็นเลิศ และมีสติปัญญาเฉียบแหลมเป็นที่เลื่องลือ พระร่วงเจ้าจึงโปรดให้รับเข้าเป็นบาทบริจาริกาโดยใกล้ชิด ต่อมาทรงโปรดให้แต่งตั้งเป็น "ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมเอก"
ในสมัยนั้น ครั้นถึงวันเพ็ญเดือนสิบสอง เมื่อสุโขทัยจัดให้มีงานนักขัตตฤกษ์ มีการแข่งเรือเล่นเพลงเรือ พิธีจองเปรียงด้วย ประทีปเปรียงเจือด้วยไขข้อพระโค พร้อมชักโคมลอย โคมแขวนเป็นพุทธบูชาด้วย และในงานนี้ (ปีไหน ไม่ได้ระบุ) นางนพมาศได้มีบทบาทที่โดดเด่น กล่าวคือขณะหมู่ราชบุตรต่างประดิษฐ์โคมประเทียบ รูปทรงสัณฐานอันวิจิตร แล้วชักแขวนเป็นระเบียบตามแนวโคมชัยเสาระหงตรงหน้าพระที่นั่งชลพิมานถวายพระร่วงเจ้า เพื่ออุทิศสักการะบูชาพระเกศแก้วจุฬามณี และฝ่ายสตรีที่เป็นสนมกำนัล ก็ทำโคมลอยร้อยด้วยบุปผชาติเป็นรูปต่างๆ ประกวดกันเพื่อพระร่วงเจ้าจะได้อุทิศบูชาพระพุทธบาท ณ ฝั่งน้ำนัมมทานที แต่นางนพมาศ ได้คิดประดิษฐ์โคมลอยให้งดงามและแปลกแยกจากคนอื่น โดยในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ฉบับหอพระสมุด วชิรญาณ กล่าวว่า
"จึงเลือกผกา เกษรสีต่างๆ ประดับเป็นรูปดอกกุมุทบานกลีบ รับกับแสงจันทร์ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ ล้วนแต่พันธุ์ดอกไม้ ซ้อนสีสลับ เป็นลวดลาย แล้วก็เอาผลพฤกษาลดาชาติมาแกะ จำหลักเป็นรูปมยุราพนานกวิหคหงษ์ ให้จับจิกเกษรบุบผชาติ อยู่ตามกลีบดอกกระมุท เป็นระเบียบเรียบเรียงไปด้วยสีย้อมสดส่าง ควรจะทอดทัศนายิ่ง ทั้งเสียบแซมเทียนธูปแลประทีปน้ำมันเปรียงเจือด้วยไขข้อพระโค"เมื่อพระร่วงเจ้าทอดพระเนตร ก็ตรัสชมว่างามประหลาดกว่าที่เคยมี แล้วตรัสถามว่า "นางคิดเช่นไรหรือ"
นางก็บังคมทูลว่า
"ข้าพระองค์สำคัญใจคิดเห็นว่า เป็นนักขัตตฤกษ์วันเพ็ญเดือนสิบสอง ปราศจากเมฆมลทิน อันว่าดวงดอกชาติโกสุมภ์ประทุมมาลย์ มีแต่จะเบ่งบานกลีบรับแสงพระอาทิตย์ ถ้าชาติอุบลเหล่าใดบานผกาเกษรรับแสงพระจันทร์แล้ว ก็ได้ชื่อว่าดอกกระมุท ข้าพระองค์จึ่งทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุท ซึ่งบังเกิดมีอยู่ยังนัมมทานที อันเป็นที่บวรพุทธบาทประดิษฐาน กับแกะรูปมยุราพนานกวิหคหงษ์ประดับ แลมีประทีปเปรียงเจือด้วยไขข้อพะโคถวาย ในการทรงพระราชอุทิศครั้งนี้ด้วย จะให้ถูกต้องสมกับนัตขัตตฤกษ์ วันเพ็ญเดือนสิบสอง พระราชพิธีจองเปรียงโดยพุทธศาสน์ไสยศาสน์"ครั้นพระองค์ได้ทรงสดับก็ดำรัสว่า นางนพมาศมี
"ปัญญาฉลาดสมกับที่เกิดมาในตระกูลนักปราชญ์ กระทำถูกต้อง ควรจะถือเอาเป็นเยี่ยงอย่างได้ จึงมีพระราชบริหารบัญญัติสาปสรรค์ว่า แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงกาลกำหนดนักขัตตฤกษ์ วันเพ็ญเดือนสิบสองพระราชพิธีจองเปรียงแล้ว ก็ให้กระทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุท อุทิศสักการะบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน"ตรงนี้มีความต่อท้ายว่า
"อันว่าโคมลอยรูปดอกกระมุท ก็ปรากฏมาจนเท่าทุกวันนี้ แต่คำโลกสมมุติเปลี่ยนชื่อเรียกว่า ลอยกระทงลอยประทีป"
จากความดังกล่าว บทบาทสำคัญของนางคือประดิษฐ์โคมลอย (คือโคมลอยน้ำอันได้แก่กระทงนั่นเอง) ซึ่งมีความหมายได้ทั้งสองทาง คือพุทธและไสย
ส่วนนางนพมาศจะมีตัวตนในสมัยพระร่วงเจ้า แห่งกรุงสุโขทัยหรือไม่
นักวิชาการหลายท่านได้วิพากษ์กันอย่างกว้างขวางมาแล้ว และก่อนหน้านั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงให้คำวิจารณ์ไว้ว่า
"โดยทางโวหารแล้วใครๆ อ่านหนังสือนี้ด้วยความสังเกต จะเห็นได้โดยง่ายว่า เป็นหนังสือที่แต่งขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง แต่ในรัชกาลที่ ๒ กับที่ ๓ ไม่ก่อนนั้นขึ้นไปและไม่มีหลังนั้นลงไปเป็นแน่ ถ้าจะหาพยานจงเอาสำนวน หนังสือเรื่องนี้ไปเทียบกับสำนวนหนังสือจารึกครั้งกรุงสุโขทัย เช่น หนังสือไตรภูมิพระร่วง เป็นต้น หรือแม้ที่สุดจะเอาไปเทียบกับหนังสือที่แต่งเพียงในชั้นกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ก็จะเห็นได้แน่นอนว่า สำนวนหนังสือเรื่องนางนพมาศนี้เป็นหนังสือแต่งใหม่เป็นแน่ ซ้ำยังมีข้อความที่กล่าวผิดที่จับได้ โดยแจ่มแจ้งว่าเป็นของใหม่หลายแห่ง.."อย่างไรเสียประเด็นนี้จะไม่ขอสืบความ เพราะมีคำถามที่น่าสนใจมากกว่าว่า สุโขทัยกับล้านนาไทย ใครลอยกระทงก่อน?
คำตอบก็เห็นจะได้แก่ "ล้านนาไทย" เพราะในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์หน้าที่ 20 ได้กล่าวอ้างอิงถึงตำนานจามเทวีวงศ์ว่า
"ด้วยเหตุเห็นว่า นักปราชญ์ผู้มีปัญญากล่าวพิสดารไว้แล้ว ถ้าผู้ใดจะใคร่รู้ใคร่ฟัง จงไปเสวนาในตำรับจามเทวีวงศ์โน้นเทอญ."
เรื่องนี้มีรายละเอียดที่สามารถติดตามได้ในเรื่องของประเพณีลอยโขมด ซึ่งมีหลายท่านเขียนไว้แล้ว
ทีนี้มาถึงประเด็นสำคัญคือนางนพมาศมาปรากฏที่เชียงใหม่เมื่อใด
ทีนี้มาถึงประเด็นสำคัญคือนางนพมาศมาปรากฏที่เชียงใหม่เมื่อใด
ผู้เขียนคิดเอาเองว่า แต่เดิมชาวเชียงใหม่ก็น่าจะจุดประทีป หรือเซ่นสักการะตามสถานที่อันควรแก่การบูชา หรือลอยคงคาวาริน ตามความเชื่อและศรัทธา แม้เดี๋ยวนี้ก็เป็นเช่นนั้น ไม่ใช่เฉพาะแต่เอากระทงลงลอยในน้ำ นางนพมาศคงมาภายหลัง คือมาพร้อมกับค่านิยมในการแห่ขบวน และการแห่ขบวนกระทงมักเป็นกระทงขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดภาพที่อลังการ พร้อมนี้ก็ได้เพิ่มนางงาม เพื่อจูงใจคนดู และนางงามที่ว่า ถ้าจะให้สัมพันธ์สอดคล้องกัน ก็สมมุติเป็นนางนพมาศ
ตามเรื่องราวที่กล่าวข้างต้นแล้ว การแห่ขบวนในเชียงใหม่ลักษณะนี้เริ่มมีเมื่อไหร่
ตามเรื่องราวที่กล่าวข้างต้นแล้ว การแห่ขบวนในเชียงใหม่ลักษณะนี้เริ่มมีเมื่อไหร่
เรื่องนี้ "ศรีเลา เกษพรหม" กล่าวถึงความเป็นมาในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย-ภาคเหนือ เล่มที่ 12 หน้า 5852 ว่า
"ครั้งที่นายทิม โชตนา เป็นนายกเทศมนตรีเมืองเชียงใหม่ ในช่วง พ.ศ.2490 นั้นก็ได้สนับสนุนการท่องเที่ยวโดยจัดให้มีการลอยกระทงมากขึ้น และมีการเฉลิมฉลองบริเวณถนนท่าแพ โดยเฉพาะบริเวณหน้าพุทธสถาน การลอยกระทงแบบกรุงเทพฯ ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีขึ้นอย่างจริงจังเมื่อมีการตั้งสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ.2512 โดยจัดให้มีการลอยกระทงสองวันคือ ในวันเพ็ญเดือนยี่ ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบสอง จะมีการลอยกระทงขนาดเล็กและในวันแรม 1 ค่ำ จะมีการลอยกระทงหรือประกวดกระทงขนาดใหญ่โดยเริ่มกันที่หน้าเทศบาลเมืองเชียงใหม่ไปถึงสะพานนวรัฐ"ส่วน สงวน โชติสุขรัตน์ กล่าวไว้ใน "ประเพณีลอยโขมด" จากนิตยสารโยนก ฉบับประจำเดือนกันยายน พ.ศ.2497 ว่า
"อันประเพณีลอยโขมด หรือลอยกระทงนี้ เป็นประเพณีดั้งเดิมที่สืบเนื่องกันมาแต่โบราณกาลแล้ว เฉพาะในนครเชียงใหม่ เพิ่งจะมารื้อฟื้นและทำกันเป็นการใหญ่เมื่อปีที่แล้วมานี้" คำว่า "ปีที่แล้ว" คือ พ.ศ.2496
ดังนั้น นางนพมาศน่าจะมานั่งกระทง ซึ่งเป็นกระทงใหญ่ตั้งแต่ช่วง 2490-2496 เป็นต้นมา
แล้วโจทย์ที่ถามว่าเชียงใหม่มี หรือไม่มีนางนพมาศ
แล้วโจทย์ที่ถามว่าเชียงใหม่มี หรือไม่มีนางนพมาศ
ก็จะได้คำตอบว่า "มี" คือมีตั้งแต่โดยประมาณ พ.ศ.2490-2496 จนถึงปัจจุบัน
แล้วในอนาคตควรมีหรือไม่
คงต้องถามใจท่านเมื่ออ่านบทความนี้จบ