น้ำพระทัยฯ ทรงเปี่ยมล้นหลั่งคนกรุง เสด็จทรงเปิด “รถไฟฟ้า” แก้ปัญหาจราจร

หนึ่งในพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่9) ยังคงตราตรึงอยู่ในจิตใจของประชาชนชาวไทย ที่พระองค์ทรงห่วงใยประชาชนของพระองค์ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ที่จะต้องประสบปัญหากับการจราจรที่ติดขัด จึงเป็นที่มาของการก่อสร้างรถไฟใต้ดินภายใต้การกำกับดูแล โดย “การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” (รฟม.) กระทรวงคมนาคม และเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2547 วันที่ประชาชนคนไทยได้ปลาบปลื้มกับพระบารมีของ 3 พระองค์ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ทรงเปิดการเดินรถไฟฟ้า “โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (หัวลำโพง-บางซื่อ)” อย่างเป็นทางการ

ซึ่งในวันนั้นได้มีเหล่าข้าราชบริพาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี รวมทั้งผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เฝ้าฯ รอรับเสด็จ โดยที่พระองค์เสด็จฯ ลงชั้นใต้ดินด้วยลิฟต์โดยสาร และทอดพระเนตรในชั้นขายบัตรโดยสาร และนั่งรถไฟฟ้าระยะทาง 150 เมตร ไปยังมณฑลพิธี โดยสองข้างทางมีนิทรรศการแสดงวิวัฒนาการของรถไฟฟ้า

ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชปฏิสันฐานกับนายกรัฐมนตรีในระหว่างเสด็จพระราชดำเนิน เมื่อถึงบริเวณมลฑลพิธี ซึ่งคณะเจ้าหน้าที่ได้ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่ทุกพระองค์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในสมุดเยี่ยมของรฟม. จากนั้นตัวแทนคณะรัฐมนตรีได้กล่าวคำถวายรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน


ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปยังแท่นไฟฟ้าเพื่อกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้าย โครงการ “รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล” พร้อมกัน 3 จุด พร้อมเสด็จพระราชดำเนินไปที่ชั้นชานชาลา เพื่อทรงขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคล บริเวณตู้โดยสารตู้แรก จากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินหัวลำโพง ไปยังสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินบางซื่อ เพื่อทรงทดลองระบบและเส้นทางด้วยพระองค์เอง รวมทั้งสิ้น 18 สถานี แล้วกลับมายังศูนย์ซ่อมบำรุงรักษาและศูนย์ควบคุมการเดินรถ เพื่อทรงเปิดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้ามหานครอย่างเป็นทางการ ก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับ


ทั้งนี้ “ประภัสร์ จงสงวน” ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในสมัยนั้น ได้เผยว่า ในการเสด็จพระราชดำเนินเปิดโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสนพระทัยเป็นอย่างมากต่อโครงการรถไฟฟ้า หลังจากกดปุ่มเปิดระบบการเดินรถไฟฟ้าใต้ดินแล้ว ทรงสอบถามเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ใช้ในการก่อสร้าง พร้อมกับทรงรับสั่งขอให้รัฐบาลเร่งรัดการก่อสร้างส่วนต่อขยาย ของโครงการรถไฟฟ้ามหานค รให้มีโครงข่ายครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดให้กับประชาชนได้มากขึ้นในอนาคต


สำหรับการที่ในหลวงเสด็จ ทรงเปิดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้ามหานครอย่างเป็นทางการ เป็นจุดเริ่มต้นของการขยายตัวเมือง เมื่อมีความสะดวกด้านการเดินทาง สิ่งอื่นๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ ด้านการพัฒนาที่ดิน ก็จะตามมา ทำให้ประชาชนมีช่องทาง การใช้ที่ดินทำกิน โดยรอบๆ แนวรถไฟฟ้ามากขึ้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้