เปิดตำนาน ปลาร้า

“ปลาร้า” เป็นอาหารที่แพร่หลายในเอเชียอาคเนย์ มีกินกันทุกแห่งในดินแดนที่วัฒนธรรมมอญ-เขมร ได้เคยผ่านเข้าไป เมื่อ 2,000 ปี หรือ 3,000 ปีมาแล้ว

ทำไมคนโบราณจึงเกิดทำปล้าร้ากินกันขึ้นมา?
ตอบว่า เพราะธรรมชาติในหลายประเทศในเอเชียอาคเนย์อำนวย หรือบังคับให้ทำปลาร้า


ภูมิภาคนี้ตกอยู่ในเขตมรสุม ในระหว่างต้นฝนก็มีน้ำมาก แต่พอเข้าต้นหน้าแล้ง น้ำก็เริ่มลดระยะนี้ เป็นเวลาที่ปลาเล็กปลาน้อยขึ้นมากตมแก่งต่างๆ หรือตามแม่น้ำลำคลอง คนก็จับปลาเอามากิน แต่ปลามันมากเกินกว่าที่จะกินหมดได้ทัน จะทิ้งก็เสียดาย จึงเอาใส่เกลือเก็บไว้กินได้ตลอดปี แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังใส่เกลือไม่ทัน ปลาเริ่มจะขึ้นและมีกลิ่น ถึงจะมีกลิ่น ก็ยังใส่เกลือเก็บไว้กินจนได้ เลยอร่อยเพราะกลิ่นปลา

ต่อมาจะเอาปลามาทำปลาร้า จึงปล่อยให้ปลาขึ้นและเริ่มมีกลิ่น แล้วจึงเอามาใส่เกลือทำปลาร้า กลายเป็นวิธีทำปลาร้าที่ถูกต้องไป

ที่ว่าปลาร้าเป็นเรื่องของวัฒนธรรมมอญ-เขมรนั้น พิสูจน์ได้ด้วยความจริง เพราะมอญ-เขมรทุกวันนี้ก็ยังกินปลาร้ากันอย่างเอกอุ คือเข้ากับข้าวเกือบทุกอย่าง ใช้กินเป็นประจำเหมือนคนไทยใช้น้ำปลา
ยำแตงกวาเมืองเขมรเขายังใส่ปลาร้า นอกจากนั้นก็ยังใส่แกงใส่ผัดอื่นๆ อีกมาก

ในเมืองไทย แถวๆ อำเภอชั้นนอกของสุพรรณบุรีและตามอำเภอของอยุธยาที่ใกล้กับสุพรรณ คนไทยก็ยังใช้ทำกับข้าวแบบนี้ คือเจือปนไปทั่ว เพราะสุพรรณนั้นได้ตกอยู่ใต้อิทธพลวัฒนธรรมของมอญ ที่เรียกว่าทวาราวดีนั้นมาก แกงบอน แกงบวน แกงขี้เหล็ก เป็นกับข้าวมอญ เพราะเข้ากับปลาร้าทั้งนั้น

ดินแดนอื่นๆ ที่เคยอยู่ใต้วัฒนธรรมมอญ-เขมร นั้นได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา และลาว 

เวียดนามนั้นมีปลาร้า ถึงจะผสมสับประรดลงไปแบบเค็ม หมากนัสก็ยังเป็นปลาร้า ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว


ลาวเรียกปลาร้าว่า ”ปลาแดก” ทำไม?
ตอบว่า “แดก”นั้น เป็นกิริยาอย่างหนึ่งในภาษาไทยแปลว่า อัดหรือยัดอะไรเข้าไปในภาชนะ เช่น ไห จนแน่นที่สุดเท่าที่จะอัดเข้าไปได้ คนที่ใช้กิริยาอย่างนี้ในการกินอาหาร จึงเรียกในภาษไทยว่า แดก อีกเช่นเดียวกัน


พม่านั้นก็ยังมีมอญอยู่ จึงมีปลาร้ากิน ส่วนมาเลเซียนั้นวัฒนธรรมมอญ-เขมร เฉียดๆ ไป แต่ก็มีอะไรคล้ายๆ ปลาร้ากินเหมือนกัน

ปลาร้านั้นมีกลิ่น เพราะทำด้วยปลาที่เริ่มเน่า ปลาร้าจึงมีชื่อว่า เหม็น, ปลาร้าพันห่อด้วย ใบคา คาก็เหม็นคาวปลา คละคลุ้ง

นอกจากนั้น หากอะไรที่กลิ่นไม่ดี เราก็พูดกันว่า “มีกลิ่นทะแม่งๆ”
“ทะแม่ง” เป็นภาษามอญ แปลว่า ปลาร้า
ทางด้านโบราณคดี ปลาร้าจึงเป็นสิ่งกำหนดขอบเขตของวัฒนธรรมมอญ-เขมร ปลาร้าอยู่ที่ไหน วัฒนธรรมมอญ-เขมร เคยอยู่ที่นั่น และวัฒนธรรมมอญ-เขม่รนั้น ยังมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงเหนือชีวิตของคนจำนวนมากในเอเซียอาคเนย์

การกินหมาก ที่เคยแพร่หลายไปทั่ว ก็เนื่องอยู่ในวัฒนธรรมนี้ มีขนบธรรมเนียมและประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการกินหมากอยู่มาก
ภาษาเวียดนามปัจุบัน ก็เป็นภาษาที่อยู่ในกลุ่มภาษามอญ-เขมร และอื่นๆ อีกมาก

อย่าไปดูถูกปลาร้า ปลาร้ามีประโยชน์มากในทางโภชนาการ เพราะมีโปรตีนสูง เป็นประโยชน์แก่ผู้ยากไร้ หาแหล่งโปรตีนจากอื่น เช่น ทีโบนสเต็คไม่ได้

นอกจากนั้นก็ยังมีวิตามิน K ซึ่งได้จากปลาเน่าหรือเริ่มจะเน่า


ที่มาจากหนังสือ คึกฤทธิ์พ่อครัวหัวป่าก์